KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 130. การจัดการความหวัง


ในการทำงานที่ยากและซับซ้อน การมีความหวังก็จะทำให้เกิดพลัง ยิ่งเป็นความหวังร่วมกันของคนจำนวนมาก ก็ยิ่งมีพลังมาก

         ผมได้แรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกนี้ จากการฟังครูใหม่ (วิมลศรี ศุษิลวรณ์) นำเสนอการตีความ บทที่ ๑๘ ของหนังสือ Appreciative Inquiry    โดยมีชื่อบทว่า From Deficit Discourse to Vocabularies of Hope : The Power of Appreciation

         มองในมุมหนึ่ง การจัดการความรู้คือการจัดการความหวัง      การจัดการความหวังคือการตั้งเป้า  หรือกำหนดปณิธานความมุ่งมั่น (purpose) ร่วมกัน     หรือการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision)

        หนังสือดังกล่าว ระบุพื้นฐาน ๔ ประการของความหวัง
          ๑. ความสัมพันธ์ ในฐานะพื้นฐานของความหวัง     ความสัมพันธ์ที่ก่อความหวังได้แก่
                - ความรัก เอื้ออาทร และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
                - ความเห็นแก่ผู้อื่น มากกว่าตนเอง
                - ความเป็นชุมชน  ความรู้สึกปลอดภัย  มีความเชื่อ และค่านิยมเดียวกัน
         ๒. บรรยากาศเชิงสร้างสรรค์   ที่เปิดให้ผู้คนมีจินตนาการ  และมองเห็นช่องทางที่เปิดกว้างในอนาคต
         ๓. มิติเชิงศีลธรรม   ที่ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ต่อกันในระดับที่ลึกไปถึงจิตวิญญาณ  หรือใจถึงใจ
         ๔. มิติเชิงก่อเกิด (Generativity)    ความหวังทำให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์    นำไปสู่การกระทำ   และผลเชิงบวก  

        ที่จริงการจัดการความหวัง ก็คือ AI - Appreciative Inquiry หรือการใช้ทักษะ และวิธีการเชิงบวก ในการสร้างฝัน    หรือตั้งความหวัง   และทักษะในเชิงชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จเล็กๆ ให้ก่อตัวกันเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ นั่นเอง

        ความหวังมีพลังลี้ลับ     ผมเคยประสบด้วยตนเอง     ที่ผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัสทั่วตัว จากอุบัติเหตุรถยนต์    ที่ไม่น่ารอด กลับรอดอย่างปาฏิหาริย์   และกลับมามีร่างกายและสมองสมบูรณ์เหมือนเดิม    ผมถามเธอว่าระหว่างที่รู้สึกตัวครึ่งไม่รู้สึกตัวครึ่งเธอรู้สึกอย่างไร     เธอบอกว่าเธอบอกตัวเองว่าชีวิตกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย    เธอต้องต่อสู้อย่างที่สุดเพื่อจะมีชีวิตอยู่ เพราะลูกยังเล็ก    เธอบอกตัวเองอย่างนี้ตลอดเวลา    และเธอเชื่อว่าตนเองจะต้องรอดชีวิต     นี่คือตัวอย่างหนึ่งของพลังลี้ลับแห่งความหวัง

       ผมเชื่อว่า ในการทำงานที่ยากและซับซ้อน     การมีความหวังก็จะทำให้เกิดพลัง    ยิ่งเป็นความหวังร่วมกันของคนจำนวนมาก ก็ยิ่งมีพลังมาก

วิจารณ์ พานิช
๒ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 44018เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2006 15:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดิฉันจะใช้มากในการทำงานที่ยากๆคือสั่งตัวเองว่าเดี๋ยวก็ทำได้และไม่ท้อแท้   คล้ายๆกับการสร้างฉันทะและวิริยะในศาสนาพุทธค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท