การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


การเยียวยาและการฟื้นฟู ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กระบวนการสมัชชาสุขภาพเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข 
กรณีศึกษา:   การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความ  
                      รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ
สถาบัยวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ว่าด้วยความอยู่เย็นเป็นสุข
             จุดหมายในชีวิตที่ปรารถนาของเราในภาวะวิกฤตของสังคมปัจจุบันคือ ความอยู่เย็นเป็นสุข  และเป็นความปรารถนาอย่างยิ่งของผู้ที่มีทุกข์จากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
               ความอยู่เย็นเป็นสุข(นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล)  ครอบคลุมทั้งสุขจากภายในและสุขอันเกิดขึ้นภายนอก  ความสุขภายใน คือความสุขที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีหรือไม่มีปัจจัยภายนอกโดยตรง ความสุขภายใน ซึ่งมักจะเป็นความสุขในระดับจิตและปัญญา จำแนกตีความได้ดังนี้
-          ความสุขจากการมีอิสรภาพ
คือ อิสรภาพจากการถูกครอบงำทางความคิด และจากอิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก
-          ความสุขจากความภาคภูมิใจ
คือ ความภาคภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่ ภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อธรรมชาติ ภาคภูมิใจในการทำความดี งดเว้นความชั่ว
-          ความสุขจากการเข้าถึงหลักศาสนา (ศีล)
คือ โอกาสในการเข้าถึงธรรมะ ยึดถือคุณธรรม และการปฏิบัติตามหลักศาสนา
-          ความสุขจากความสงบ (สมาธิ)
คือ ความสงบในจิตใจ ไม่ฟุ้งซ่าน
-          ความสุขจากความไม่ยึดมั่นถือมั่น (ปัญญา)
คือ ความไม่ยึดติดตัวตน และวัตถุ เข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิต
ความสุขภายในเหล่านี้ ส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้และเกิดขึ้นเฉพาะตน แต่อาจจะต้องอาศัยกลไกการสนับสนุนจากระบบสังคมภายนอกที่เอื้อต่อการเรียนรู้เหล่านี้ โดยเฉพาะกลไกทางศาสนา และวัฒนธรรม
ส่วนความสุขภายนอก มักจะสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆในการดำรงชีวิต รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สามารถจำแนกได้ดังนี้
-          ความสุขจากการมีปัจจัยสี่ พอเพียง
คือ การมีปัจจัยในการดำรงชีวิต ที่เพียงพอ ไม่ขาดแคลน มีอาหารบริโภคพอเพียง ปลอดสารพิษ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง มีรายได้เพียงพอกับการแสวงหาปัจจัยดำรงชีวิต
-          ความสุขจากการมีความมั่นคงในชีวิต
คือ การมีหลักประกันในชีวิตระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา อาชีพ สินทรัพย์ รวมทั้งการปราศจากภาระหนี้สิน และมีความปลอดภัยในชีวิต
-          ความสุขจากการมีครอบครัวอบอุ่น
คือ การมีครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความผูกพัน เอาใจใส่ มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน สนทนาอย่างเอื้ออาทร มีความกตัญญู มีระเบียบวินัย ปราศจากความรุนแรงในครอบครัว
-          ความสุขจากการมีชุมชนเข้มแข็ง
คือ การมีชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและเรียนรู้ร่วมกัน มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี มีกิจกรรมทางศาสนา มีธรรมาภิบาลในท้องถิ่น ปราศจากอาชญากรรม และความรุนแรงในชุมชน

-          ความสุขจากการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี คือ การมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมที่ดีถูกสุขลักษณะ ปราศจากมลภาวะทางกายภาพและชีวภาพ

ความอยู่เย็นเป็นสุขที่ปรารถนา

ความอยู่เย็นเป็นสุข   ที่เป็นอยู่และที่ปรารถนาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ใน ๔ มิติของสุขภาวะ ได้ถูกสะท้อนออกมา ดังต่อไปนี้
สุขภาวะทางกาย  คือ ร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย  จากสภาพเดิมตัวเลขโรคทางกายเลวร้ายกว่าพื้นที่อื่นอยู่แล้ว ขณะนี้นอกจากการบาดเจ็บ ล้มตาย เพิ่มขึ้น ความพิการมีจำนวนสูงขึ้น อาทิเช่นจาก กรณีตากใบ เกิดผู้พิการโดยไม่ควรจะเกิด เป็นต้น การฟื้นฟูกลุ่มคนพิการจึงเป็นความต้องการที่เร่งด่วน
สุขภาวะทางจิต ที่ปรารถนาคือการมีสุขภาพจิตดี ไม่เครียด มีความพอใจในความพอเพียง สามารถรับสภาพที่ประสบอย่างเข้มแข็ง  อดทน ตามวิถีศาสนา และยืนหยัดก้าวต่อไปอย่างมีพลัง  แต่ขณะนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกิดความเครียด หดหู่ หวาดระแวง หวาดกลัว  สับสน มากขึ้น และที่สำคัญคือ ตัวเองรับสภาพไม่ได้ เนื่องจากการไม่ยอมรับของสังคมรอบด้าน ถูกกล่าวหาว่าเป็นครอบครัวโจร ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายของทางการ ทำให้เกิดความท้อแท้ ไม่มีความหวัง และขาดความไม่ไว้วางใจ บางกลุ่มเกิดความเคียดแค้น ความคิดเชิงรุนแรง ก้าวร้าว
สุขภาวะทางสังคม  ในมิติครอบครัว ต้องการครอบครัวอบอุ่น บุคคลในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในมิติเศรษฐกิจ ต้องการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้พอเพียง ยั่งยืน ในมิติการศึกษา ต้องการให้ทุกคนในชุมชนอ่านออกเขียนได้ มีการศึกษาดี บุตรหลานได้รับการสนับสนุนด้านศึกษา ในมิติของการยอมรับ ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สังคมให้การยอมรับ ได้รับการดูแลจากสังคมอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องเป็นระบบ  ในมิติความมั่นคง ต้องการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถปรับความเป็นอยู่ในสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป    แต่ขณะนี้ ครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขาดผู้นำ ลูกขาดพ่อ ขาดกำลังหลักทางเศรษฐกิจทำให้เด็กลาออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยทำมาหากิน  ขณะเดียวกันครอบครัวกำลังถูกสังคมกดดัน  ไม่ยอมรับ  เกิดและกำลังสร้างพฤติกรรมและวาจาก้าวร้าวในชุมชน นำไปสู่ความหวาดระแวง กลัว ไม่มั่นใจในความปลอดภัย ไม่กล้าออกจากบ้านไปปฏิบัติศาสนกิจ และปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ  รวมถึงการไม่ไว้วางใจคนรอบข้าง
สุขภาวะทางปัญญา/ทางจิตวิญญาณ คือการมีความรัก กำลังใจจากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง หน่วยงานรัฐ  ความเอื้ออาทรต่อกัน ทั้งในระดับปัจเจกและชุมชน  ในมิติศาสนา เกิดความยึดมั่นในหลักศาสนาที่ถูกต้อง สามารถประกอบศาสนกิจได้ตามต้องการ นำไปสู่ความพอใจ ภูมิใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และสิ่งที่ตนได้รับ  ขณะที่ปัจจุบัน สังคมอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ความเอื้ออาทรลดน้อยลง

ปัจจัยเอื้อและอุปสรรคต่อความอยู่เย็นเป็นสุข
               
                ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนใต้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นไปได้ดังที่ปรารถนานั้น มีปัจจัยที่เอื้อและปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ดังต่อไปนี้
ระบบเศรษฐกิจ โดยหลักการเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการผลิตปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเป็นหลักประกันสำหรับชีวิตในระยะยาว การมองเศรษฐกิจ ควรเน้นไปที่ความพอดีและพอเพียงในการดำรงชีวิต จากข้อมูลในพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่สถานะเศรษฐกิจยังไม่อยู่ในภาวะความพอเพียง  บางส่วนพอมี แต่ไม่รู้ว่าจะยั่งยืนหรือไม่ รากเหง้าของปัญหามาจากการที่ไม่มีอาชีพที่มั่นคงรองรับ ผลิตผลขาดคุณภาพ ไม่มีตลาดรองรับผลผลิต  ขาดการส่งเสริม การส่งเสริมอาชีพที่มี ไม่ตรงกับความ ต้องการและความถนัด ขาดระบบการรักษาและฟื้นทุนของชุมชน ขณะเดียวกันพบว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง มีรายได้ครอบครัวลดลง เพราะขาดผู้หัวหน้าครอบครัว ขาดคนช่วย ผู้หญิงมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น และในภาพรวม แม้ว่าสิ่งแวดล้อมของภาคใต้จะมีความอุดมสมบูรณ์แต่ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องมาจากสถานการณ์ไม่สงบ
แนวทางการจัดการ ต้องสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบอาชีพ  ส่งเสริมอาชีพตามความถนัด โดยพัฒนาอาชีพจากฐานเดิม ควรสร้างนิสัยการออมทรัพย์ จัดให้มีองค์กรสนับสนุนกองทุนเช่นการตั้งกองทุนซะกาต เป็นกองทุนกลาง  สร้างระบบจัดการเพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายเช่นการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กลดภาระครอบครัว เพื่อให้แม่ได้ไปทำงานโดยรัฐและชุมชนสนับสนุนให้มีกลไกการจัดการที่ดี
ระบบสังคม สังคมที่ส่งผลต่อความอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน ประกอบด้วย องค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในระบบคุณค่า วิถีชีวิต และที่อยู่ในระบบที่จัดการโดยรัฐ หรืออยู่ในวงจรของการพัฒนาประเทศ ขณะนี้ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ต่างคนต่างอยู่มากขึ้น แบ่งพรรคแบ่งพวกเช่น ฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายชาวบ้าน แม้แต่ผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากการถูกทำร้ายก็ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้กระทำผิด คนเสียชีวิตและครอบครัวเหล่านั้นถูกสังคมประณาม ฝ่ายหนึ่งมองว่าเพราะเป็นสายข่าวให้รัฐ อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นกระบวนการก่อการร้าย ระบบคุณค่าในชุมชนถดถอย ทำให้ภูมิคุ้มกันของชุมชนถูกทำลาย ขณะเดียวกันระบบการจัดการโดยรัฐและชุมชนในการให้การเยียวยาฟื้นฟูไม่สามารถจัดการได้ สังคมยังไม่ยอมรับ รูปธรรมที่ชัดเจนเช่น  ลูกไม่กล้าไปโรงเรียน ไม่มีใครรับเข้าทำงาน ต้องคดีความ
เพื่อนบ้านมองว่าได้รับ ความช่วยเหลือแล้ว จึงไม่ช่วยอีก
ที่ผ่านมา ระบบความช่วยเหลือการเยียวยาจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ยังไม่ครอบคลุม
ไม่เสมอภาค ไม่ยุติธรรม มีเลือกปฏิบัติในบางกลุ่ม ได้รับการช่วยเหลือไม่ครบตามที่แจ้งกับชาวบ้าน
ช้า และไม่ต่อเนื่อง ไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงาน ต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อน ขาดการประสานงาน
แนวทางการจัดการ ต้องสร้างความเข้าใจและสร้างการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกันในพื้นที่พหุวัฒนธรรม พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง สร้างระบบของสังคมในการเยียวยาฟื้นฟูด้านจิตใจกันเองในชุมชน เช่นสร้างระบบสนับสนุนสวัสดิการสังคมในชุมชน มีศูนย์ประสานงานและศูนย์ข้อมูลความช่วยเหลือ
เพื่อดำเนินงานตรงตามความต้องการของชุมชนและป้องกันความซ้ำซ้อน
ระบบการศึกษา ระบบการศึกษาและเรียนรู้ ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ผ่านการสร้างเด็กและเยาวชนที่มีความคิด สามารถไตร่ตรองใช้วิจารญาณตัดสินใจ สามารถจัดการชีวิต และรู้เท่าทันปัจจัยแวดล้อมภายนอก จะช่วยให้เยาวชน มีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาสังคม แต่สภาพความจริงในพื้นที่ พบว่า ชุมชนความรู้น้อย  ทำให้ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ไม่ส่งเสริมให้บุตรหลานได้รับการศึกษาแบบสามัญแต่เน้นการศึกษาศาสนา ขาดค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่จะให้กับบุตรหลาน
ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมไม่ดี ไม่รู้จักการวางแผนชีวิต และ ครอบครัว ไม่รู้ช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อขอความช่วยเหลือ
แนวทางการจัดการ ควรจะต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษา โดยบูรณาการเรื่องของศาสนา กับสายสามัญ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่  นอกจากนี้ควรจัดการศึกษานอกระบบให้กับผู้ได้รับผลกระทบและกลุ่มอื่น
ระบบการเมืองและนโยบายระบบการเมือง การปกครอง นโยบายรัฐ ที่ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ มีผลต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของครอบครัว ชุมชน ผ่านปัจจัยดำรงชีวิต อาชีพ การทำงาน สวัสดิการของรัฐ ที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครัวเรือน แต่อย่างไรก็ดี การทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีกระจายไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และเน้นองค์ประกอบทางสังคม มีความสำคัญมากกว่าการเพิ่มภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแต่เพียงอย่างเดียว ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่กระจายอย่างทั่วถึงจะช่วยสร้างหลักประกันในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งการมีธรรมาภิบาลที่ดี และความสมานฉันท์ในการบริหารประเทศ ก็มีอิทธิพลต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมเช่นกัน  ข้อมูลที่ได้รับจากพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่า  รัฐทอดทิ้งพื้นที่ชายแดนใต้มานาน ทำให้เกิดการสะสมปัญหาและเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น การแก้ปัญหาของรัฐไม่มีการประสานงานกันเท่าที่ควร เช่น ไม่ได้รับการเยียวยาจาก หน่วยงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต   หน่วยงานตั้งรับ ไม่ได้ทำงานเชิงรุก
แนวทางการจัดการ  นโยบายต้องต่อเนื่องและยั่งยืน มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและถูกต้อง บูรณาการการเยียวยาและการฟื้นฟูในด้านต่างๆและเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ สร้างนโยบายที่ใช้วิถีธรรมชาติ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยในการเยียวยา
วัฒนธรรมและศาสนา สังคมที่เข้มแข็งคือสังคมที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม ยึดหลักการใช้ชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันเอง ได้แก่ ระบบเครือญาติ ระบบจารีตประเพณี ที่ควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม ส่งเสริมความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ ยึดหลักศาสนา ที่มีความเมตตา กรุณา เป็นฐานความคิดและการปฏิบัติต่อผู้อื่น รวมทั้งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ที่เคารพธรรมชาติในฐานะเป็นปัจจัยดำรงชีวิต และนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ช่วยให้มนุษย์อ่อนน้อมถ่อมตน ละอายและเกรงกลัวต่อบาป   สภาพปัจจุบันในพื้นที่พบว่า มีความเสื่อมถอยของการยึดมั่นในศาสนา ความเคร่งครัดน้อยลง เนื่องมาจากกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกผ่านสื่อต่าง ๆเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น เหตุการณ์ที่ผ่านมาสร้างความหวาดระแวงระหว่างศาสนิก สร้างกระแสที่ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา นำไปสู่กระแสความแตกแยกในสังคมใหญ่ของประเทศ
                แนวทางการจัดการ ควรส่งเสริมให้คนยึดมั่นในหลักศาสนาเพื่อยึดหนี่ยวจิตใจ นำไปสู่พลังในการดำเนินชีวิตต่อไป เพิ่มบทบาทขององค์กรทางศาสนาเพื่อการเยียวยาและการฟื้นฟู

ยุทธศาสตร์และกลไกการขับเคลื่อนเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข
ยุทธศาสตร์และกลไกการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ตามหลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ ยุทธศาสตร์การเรียนรู้และการจัดการความรู้ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสังคม และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งจะต้องบูรณาการและเชื่อมทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ในแต่ละระบบแต่ละกระบวนการ ต่อไปนี้ 
ยุทธศาสตร์และกลไก กระบวนการเรียนรู้ 
เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในชุมชน  โดยการสร้างพื้นที่ ช่องทางการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งกันและกัน  โดยมียุทธศาสตร์ดังนี้ 
·       การสร้างวาระชุมชน เพื่อนำไปสู่สภาซูลอ และการสร้างกฎกติกาของชุมชน ทำให้เกิดเวทีพูดคุยลดช่องว่างระหว่างผู้สูญเสียกับชุมชน  การเสริมความรู้เรื่องสานเสวนา
·       การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในชุมชน ให้เกิดความเข้าใจ และยอมรับซึ่งกันและกันในชุมชน ได้แก่
§ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มทักษะในการดำรงชีวิต เช่น การสื่อสารเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง  การรู้จักปฏิเสธ  การรู้จักการให้อภัย  และทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
§ การอบรมเพื่อการดูแลสังคม จิตใจ ในกลุ่มแกนนำชุมชน เพื่อเป็นผู้ให้การดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจเบื้องต้นแก่ประชาชน/ผู้ได้รับผลกระทบ
§ อบรมการดูแลสุขภาพของบุคคลในครอบครัว
§ จัดอบรมเยาวชนสัมพันธ์ด้านทักษะและ EQ
·       สร้างกระบวนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมในกลุ่มภาครัฐและกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย  รวมถึงองค์กรต่าง ๆทั้งภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่
·       การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยมีศูนย์ข้อมูลชุมชน ที่มีข้อมูลเชิงลึก  ที่ชัดเจน เป็นจริง มากเพียงพอ และชุมชนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รับคำปรึกษา ช่วยเหลือเบื้องต้น  โดยส่วนนี้ควรประสานกับ อบต, ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์และกลไกด้านการศึกษา
การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญมากในการขับเคลื่อนสังคม  ยุทธศาสตร์หลักมีดังต่อไปนี้
·       ปรับหลักสูตร  บูรณาการหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญและศาสนา ในโรงเรียนสายสามัญและโรงเรียนสอนศาสนา  เพิ่มรายวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม หลักการศาสนา เพิ่มหลักสูตรวิชาชีพจำเป็น เช่น ทักษะการดำเนินชีวิตระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม บริบทความหลากหลายทางวัฒนธรรม (การศึกษาทั้งในและนอกระบบ)
·       การจัดระบบการศึกษาและปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาในระบบ เช่น การส่งเสริมการศึกษานอกระบบ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  การสร้างอาสาสมัครส่งเสริมการศึกษาชุมชน
·       สร้างกระแสความตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา
·       พัฒนาสภาการศึกษาชุมชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
·       พัฒนาศักยภาพผู้สอนโรงเรียนตาดีกาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
·       การสนับสนุนทุนการศึกษา  เช่น การกำหนดนโยบายให้เปล่าด้านหนังสือเรียน วัสดุอุปกรณ์ การเรียน เครื่องแต่งกาย อาหารกลางวัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ยุทธศาสตร์และกลไกในระบบเศรษฐกิจ
ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการฟื้นทุนทางสังคม โดยมียุทธศาสตร์ดังนี้ 
·       ต้องจัดหาที่ทำกิน , ที่ดิน , ที่อยู่อาศัย อย่างถาวรให้กับประชาชน
·       จัดระบบออมทรัพย์ในชุมชน เช่น  กองทุนซะกาตในชุมชน
·       สนับสนุนการจัดระบบบริหารจัดการธุรกิจชุมชน ในด้านการผลิต  การจัดหา  การตลาด
·       สนับสนุนและส่งเสริมอาชีพ โดยอบรมวิชาชีพตามภูมิปัญญาท้องถิ่น  สร้างงานตามความถนัด พัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมอาชีพ
·       สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น ควรจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก เพื่อให้แม่ได้ไปทำงาน เป็นการสร้างระบบจัดการเพื่อลดภาระและลดค่าใช้จ่าย
ยุทธศาสตร์และกลไกด้านวัฒนธรรมและศาสนา
รากฐานที่ยึดจิตใจของคนในสังคม ให้มั่นคงได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับฐานด้านวัฒนธรรมและศาสนา  จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ละเลยไม่ได้  ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข มีดังนี้
·       สนับสนุนการฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่นภายใต้ความเข้าใจและการยอมรับในเรื่องความหลากหลายในพหุวัฒนรรม เช่น วันรายอ  วันอาซูรอ  วันเมาลิด วันชักพระ ประเพณีเวียนเทียน หรือการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สีลัต ดีเกฮูลู การประกวดร้องอานาเซด บรรยายธรรม อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในเยาวชน
·       ใช้หัวใจและหลักธรรมทางศาสนาในการทำการอบรมที่เรียกว่า ศาสนบำบัดและจิตบำบัด ในกลุ่มเป้าหมายเช่น เยาวชน ผู้ได้รับผลกระทบ ชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยมีเนื้อหาเพื่อการประยุกต์ใช้หลักศาสนากับการดำเนินชีวิต และเรียนรู้ในความหลากหลายของวิถีศาสนาและวัฒนธรรม  ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสานเสวนา และการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างนักจัดกระบวนการสานเสวนาและเยียวยา
ยุทธศาสตร์และกลไกด้านสื่อสารมวลชน
สื่อสารมวลชน มีอิทธิพลมากที่สุด เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกให้เข้าสู่ ระบบทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม ผลักดันสังคมให้พึ่งพากลไกของเงิน และการบริโภค นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ แข่งขัน ช่วงชิงโอกาส มากกว่าที่จะเอื้ออาทร และเสียสละให้กันและกัน เป็นสังคมที่ขาดการพัฒนาทางจิตใจ การจะกลับไปหาอุดมการณ์และค่านิยม ที่เน้นคุณค่าของมนุษย์ อันเป็นวิถีตะวันออกซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมได้อีกครั้งหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยอิทธิพลของสื่อสารมวลชน ยุทธศาสตร์ในเบื้องต้น จึงควรจะต้องเสริมสร้างศักยภาพสื่อสาธารณะได้แก่ สื่อบุคคล กลุ่มองค์กรเครือข่ายสื่อชุมชน เช่น  วิทยุชุมชนโดยเครือข่ายภาคประชาชน เป็นตัวประชาสัมพันธ์ สร้างกระแสให้เกิดความตระหนักในเรื่องการเยียวยา การฟื้นฟู และใช้สื่อเพื่อการเข้าถึงบริการของรัฐทางด้านการศึกษา เป็นต้น
ยุทธศาสตร์และกลไกในระบบการบริหารจัดการ
ที่ผ่านมา พบว่าการบริหารจัดการของรัฐและชุมชน เป็นปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาเกิดความล่าช้าและทวีความรุนแรง  ในประเด็นของการเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ ควรมีกลไกดังต่อไปนี้
·       รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออย่างมีระบบ โดยเป็นระบบที่มีความต่อเนื่อง เรียบง่าย รวดเร็วทุกด้านและทุกระดับ  ทั้งนี้จะต้องชี้แจงสร้างความเข้าใจ ควบคู่ กับการช่วยเหลือ
·       ระบบความช่วยเหลือจะต้องมีการมีส่วนร่วมและคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
·       จัดระบบสวัสดิการอย่างยั่งยืน
·       ด้านความมั่นคง ปลอดภัย เสริมสร้างความรู้ในการระมัดระวัง การป้องกันตนเอง
 ให้กับชุมชน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4397เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2005 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท