ย้อนรอยการทำงานเมื่อครั้งอดีต


การทำงานให้สำเร็จการมี “ใจ”สำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีเพียง “ใจ” อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยส่วนประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง.......แต่สิ่งสำคัญคือต้องลดตัวตนของตนลงทั้งตำแหน่งและความรู้ที่คิดว่าเหนือคนอื่น แล้วเปิดใจ เปิดปาก เปิดหู และเปิดตา และมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน...งานที่คิดว่ายากสุดท้ายอาจกลายเป็นงานที่ง่ายก็ได้

                  ก่อนมาทำงานที่ สคส. ดิฉันเคยทำงานพัฒนาชนบทมาบ้างแต่เป็นการทำงานที่ส่งเสริมกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุและผล ให้กับครูและนักเรียนตามโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกล  ด้วยมีแนวคิดว่าความคิดที่มีเหตุและผลสามารถทำให้เด็กและเยาวชนสามารถดำรงชีวิต แก้ปัญหาและเอาตัวรอดในสังคมหรือบริบทนั้นๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เนื่องจากกลุ่มคนในชนบทเหล่านั้นแทบไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อระดับมัธยมศึกษา....


                ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนชาวเขาบางกลุ่มทางภาคเหนือเค้ามองว่าการเรียนในโรงเรียนไม่มีความสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่าจะเรียนหรือไม่เรียนก็ไม่มีผลกับการดำรงชีวิตประจำวันคือการหาของป่ามากินและนำไปขาย หรือในบางแห่งคนในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดเป็นโรคธาลัสซีเมียและรักษาตัวเองตามความเชื่อประจำเผ่าคือนับถือผี และไม่เห็นประโยชน์ของการเรียนในโรงเรียน  ทำให้ไม่มีการป้องกัน ดูแลและรักษาตัวเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง   ทั้ง ๒ ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ทำให้ คนกลุ่มนี้ถือว่าการเรียนในโรงเรียนเป็นภาระต้องเสียเวลาการทำมาหากินและเสียเงินด้วย เพียงระดับประถมศึกษาเด็กๆ ก็ขาดเรียนกันบ่อยเพราะต้องช่วยทางบ้านทำงาน 


             ทีมงานเราคิดว่าการคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุและผลจะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้คือรู้ต้นสายปลายเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวและเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นได้       อย่างน้อยเด็กหรือกลุ่มคนเหล่านั้นก็สามารถดูแล รักษา และป้องกัน ตัวเองในเบื่องต้นได้อย่างถูกวิธีเมื่อมีอาการเจ็บไข้ถ้ารู้สาเหตุของการป่วยไข้       ซึ่งเราควรปลูกฝั่งความคิดตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาก่อนที่เด็กจะไม่ได้เรียนต่อ  รูปแบบของการทำงานในตอนนั้นเป็นการสนับสนุนให้เด็กมีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์  ซึ่งมีทั้งการสนับสนุนงบประมาณทำโครงงานฯ   การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ให้เด็ก  และจัด workshop การทำโครงงานฯ ให้ครูเพื่อสอนเด็กอีกต่อหนึ่งได้อย่างหลักการ ประกอบกับในช่วงนั้นอยู่ในระยะแรกๆ ของการปฏิรูปการศึกษาในเมืองไทยโดยทุกช่วงชั้นต้องทำโครงงานในแต่ละวิชา  ซึ่งหากครูเข้าใจหลักการการทำโครงงานวิทยาศาสตร์คงสามารถสอนเด็กทำโครงงานเพียง ๑ โครงงานที่บูรณาการทุกรายวิชาได้....เด็กก็ไม่ต้องทำโครงงานหลายโครงงาน

                  นั่นคือเหตุและผลของการทำงานของทีมงานเรา  ทีมงานในตอนนั้นมีแต่นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการระดับสูงที่มีใจเต็มเปี่ยมด้วยความหวังดี ความเจตนาดี ความอยากช่วย และอยากพัฒนา แต่ผลที่ได้จากการทำงานในตอนนั้นกลับไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ใจหวัง แต่กลับกลายเป็นการเพิ่มภาระให้เด็กและครูเข้าไปอีก และสิ่งหนึ่งที่สะท้อนกลับมาให้เราต้องคิดคือ  ถ้าต้องการช่วยเหลือหรือพัฒนาอะไรสักอย่างหนึ่งขอให้ถามผู้รับบ้างว่าเค้าต้องการความช่วยเหลือนี้รึเปล่า  และหากเค้าต้องการเค้าต้องการมากน้อยเพียงไร  เพราะจากประสบการณ์แล้ว ผู้ให้ซึ่งมีความรู้ชั้นสูง/เทคโนโลยีชั้นสูงก็อยากถ่ายทอดให้กับผู้รับทั้งหมดเพราะคิดเองว่ามีประโยชน์มาก....แต่ผู้รับไม่ได้ต้องการความรู้/เทคโนโลยีชั้นสูงขนาดนั้นหรืออาจจะต้องการความรู้นั้นจริงๆ แต่เนื่องด้วยทุนความรู้เดิมที่มีอยู่อย่างจำกัด..... ความหวังดีที่ให้ไปจึงเกิดผลเพียงน้อยนิดหรือแทบจะไม่เกิดผลเลย.........


            หากคิดทบทวนกลับไปแล้วการทำงานตอนนั้นหากทีมงานเราและคณะครูในพื้นที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ววางเป้าหมายด้วยกัน (วางหัวปลาร่วมกันโดยทุกคนเป็นเจ้าของ) และร่วมกันวางแผนแล้วการดำเนินงานไปด้วยกัน.....งานนี้คงประสบความสำเร็จและยั่งยืนตามที่คาดหวังไว้......      

              การทำงานให้สำเร็จการมี “ใจ”สำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีเพียง “ใจ” อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยส่วนประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง.......แต่สิ่งสำคัญคือต้องลดตัวตนของตนลงทั้งตำแหน่งและความรู้ที่คิดว่าเหนือคนอื่น แล้วเปิดใจ เปิดปาก เปิดหู และเปิดตา   และมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน........งานที่คิดว่ายากสุดท้ายอาจกลายเป็นงานที่ง่ายก็ได้ 

คำสำคัญ (Tags): #kmi#km#coordinator#สังคม
หมายเลขบันทึก: 43943เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2006 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ให้ข้อคิดกับการทำงานในชุมชน.

1. ใช้ใจต่อใจ (เข้าไปเรียนรู้และฝังตัวอยู่ในชุมชน)

2.ใช้ใจรักที่จะทำงานชนบท

3.ลดทิฐิที่มีอยู่ในตน

4.ค้นหาความดีและของดีที่มีอยู่ในชุมชน

5.ร่วมปรับปรุงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

(ร่วมกับชาวบ้าน)

6.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้าน ทัศนคติที่ดีต่อกัน

7. แสวงหาแนวร่วมที่มีอยู่ในชุมชน

8. แสวงหาภูมิปัญญาชาวบ้าน (โดยธรรมชาติ)

7. แสวงหาเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน  ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท