ประเด็นวิจัยแบบ PAR เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนสร้างความเป็นพลเมืองในอนาคต


เมื่อช่วงวันหยุดวันจันทร์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผมและทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ กานต์ จันทวงษ์ เริงวิชญ์ นิลโคตร ได้ไปจัดเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพการวิจัยในชั้นเรียนและการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้กับกลุ่มคุณครูของโรงเรียนพิบูลสงครามอุปถัมภ์และโรงเรียนราชบุรีบริหารธุรกิจ ที่จังหวัดราชบุรี ครูกว่า ๖๐ คนและโรงเรียนแห่งนี้มีประสบการณ์จากการทำวิจัยในชั้นเรียนด้วยการวิจัยหน้าเดียวมาแล้วระยะหนึ่ง ผมจึงออกแบบให้เวิร์คช็อปที่จัดขึ้น ให้เป็นการเข้าไปถอดบทเรียนและยกระดับงานวิจัยให้พัฒนาต่อเนื่องขึ้นจากประสบการณ์เดิม

ออกแบบกระบวนการเพื่อบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ๓ ขั้นตอน คือการจัดเวร์คช็อปเพื่อเริ่มต้นพัฒนาการวิจัย จากนั้น ก็วางแผนเพื่อดำเนินการต่างๆ แล้วก็เว้นช่วงไประยะหนึ่งเพื่อกลับมาเวิร์คช็อปครั้งที่สองอีก ๑ ครั้ง ซึ่งจะเป็นการถอดบทเรียนและจะทำให้ได้ผลการวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ตามที่ต้องการจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ระหว่างที่เว้นช่วงเพื่อจัดเวิร์คช็อปปิดท้ายอีกครั้งนั้น ก็บริหารจัดกรเครือข่ายการวิจัยผสมผสานกันหลายทาง ทั้งโดยกลุ่มวิทยากรกระบวนการในโรงเรียนและโดยเครือข่ายข่ายวิชาการหลากหลายผ่านทางบล๊อก

การทำเวิร์คช็อปในครั้งแรกเพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์เดิมและให้พื้นฐานการเริ่มต้นที่บูรณาการกับวิธีดำเนินการด้วยการวิจัยแบบ PAR และผสมผสานกับวิธีอื่นๆ เช่น การวิจัยแบบ R2R การวิจัยแบบหน้าเดียว และการวิจัยเชิงสังคมเคราะห์ซ้อนลงไปบนงานวิจัยหลายๆเรื่อง ทบทวนวิธีคิดต่อผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ โดยศึกษาและเสวนาจากกรณีตัวอย่างของคนจากหลายวงการ เพื่อให้เห็นเป้าหมายไกลๆของการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอน

เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์ เรียนจบโรงเรียนพาณิชยการธนบุรีและทำงานเป็นพนักงานธนาคาร ก่อนที่ต่อมาจะได้พบกับเต๋อ เรวัติ พุทธินันนทน์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ประเทศไทยและได้กลายเป็นนักร้องระดับซูปเปอ์สตาร์ผู้บุกและริเริ่มสิ่งต่างๆทางด้านศิลปะการแสดงดนตรี การร้องเพลง และการแสดงคอนเสิร์ต พื้นฐานความเป็นพลเมืองที่มีทักษะชีวิตและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถนำเอาไปใช้ในการดำเนินชีวิตในสาขาอื่นๆได้อย่างไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นพนักงานค้าขายหรือนักธุรกิจอย่างเดียว

คุณวสันต์ โพธิ์พิมพานนท์ คนเมืองกาญจนบุรี เจ้าของบริษัทเบนซ์ทองหล่อ เริ่มเรียนพาณิชย์พร้อมไปกับทำงานค้าขายของเก่าและรถมือสอง กระทั่งไปจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากอเมริกาในยุคที่เมืองกาญจน์ยังนับว่าเป็นชนบท ปัจจุบันจัดว่าเป็นนักขายและเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงสังคม นักธุรกิจในแนวนี้ก็ต้องสร้างด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบทั่วไป

คุณปราจิณ เอี่ยมลำเนา เรียนศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง และริเริ่มเป็นผู้นำในการทำหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวการจัดงานแสดงยานยนต์ในประเทศไทยยุคเริ่มต้น โดยเขียนและทำเองทั้งหมด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง กระทั่งมีทักษะในการริเริ่มและเรียนรู้ที่จะขยายกิจการต่างๆขึ้นไปจากประสบการณ์การปฏิบัติ ปัจจุบัน เป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจในการจัดแสดงสินค้าและส่งเสริมการตลาดทางด้านมอเตอร์ไซค์และยานยนต์ที่ใหญ่และทรงพลังมากที่สุดของเอเชีย

ตัวอย่างจากคุณอมเรศ ศิลาอ่อน และคุณภัทรา ศิลาอ่อน ที่พัฒนากิจการยกระดับขนมไทยและอาหารข้าวแกงให้เป็นกิจการแบบแฟรนช์ไชน์ภายใต้แบรนด์ของเอสพี ซึ่งกิจการและการดำเนินการธุรกิจดังกล่าว ขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจ เครือข่ายการผลิตวัตถุดิบ การบริการ และการบริโภค ที่มีความเชื่อมโยงกับมิติต่างๆในสังคมไทยอีกหลายมิติ ทักษะดังกล่าว มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปบนการจัดการธุรกิจ ซึ่งสังคมไทยต้องการการพัฒนาพลเมืองในลักษณะนี้ และกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนการเรียนการสอนต้องพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้มีทักษะชีวิตและทักษะการจัดการที่มีความเป็นผู้นำในแนวทางใหม่ๆ

การทำกิจการและการบริหารจัดการสุขภาวะของชุมชนในเชิงธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจในทรรศนะที่ต่างออกไปจากระแสหลักของสังคม เช่น ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายทำกิจกรรมชมรมชีวิเกษมสร้างสุขภาวะสาธารณะ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการจัดการธุรกิจสร้างสุขภาวะชุมชนในอีกความหมายหนึ่งที่ดำเนินการแบบไม่มุ่งสร้างรายได้และผลกำไร ทว่า ด้วยการระดมทุนและการบริจาค ลักษณะดังกล่าวจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคนในอีกแนวทางหนึ่ง

การวางแผนพัฒนา และการจัดการเชิงธุรกิจของชุมชน ร้านค้าชุมชน ตลอดจนองค์กรชุมชนต่างๆทั่วประเทศ มีการขยายตัวในแนวทางใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาและมีความต้องการลูกหลานคนรุ่นใหม่ของชุมชนเข้าไปเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นกำลังการดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาคนในแนวทางใหม่ๆเพื่อมุ่งสนองตอบต่อแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของชุมชน

ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทักษะเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นมิติการเรียนรู้และการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นมากสำหรับความเป็นพลเมืองในอนาคต ซึ่งจะมีความเป็นสังคมความรู้และมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเป็นพลเมือง ที่ควรสะท้อนลงสู่การออกแบบกระบวนการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอน พัฒนากระบวนการเรียนรู้สร้างทักษะชีวิตและทักษะความรู้เพื่อความเป็นพลเมืองของสังคมในอนาคต ซึ่งสามารถสอดแทรกและบูรณาการไปกับสาระการเรียนรู้ทุกอย่างของหลักสูตร ทั้งหลักสูตรจากส่วนกลาง หลักสูตรของโรงเรียน และหลักสูตรท้องถิ่น

ค้นหาประเด็นการวิจัย ให้สอดคล้องกับประเด็นแนวโน้มในอนาคตที่สำคัญของสังคม ทั้งในระดับสังคมท้องถิ่นและสังคมโลกาภิวัตน์ โดยมีกรอบสำหรับออกแบบกระบวนการเรียนรู้และมิติการดำเนินโครงการปฏิบัติการให้ยืดหยุ่นหลากหลายไปตามความสนใจและเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมและบริบทของการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านการวิจัยปฏิบัติการเชิงสังคมที่จะมีนัยต่อการสร้างเสริมพลังการจัดการตนเองให้เข้มแข็งและมีความยั่งยืนในการพัฒนาตนเองมากยิ่งๆขึ้นของชุมชน.

หมายเลขบันทึก: 438968เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ

อยากจะให้ดอกไม้หลาย ๆ ดอกจังค่ะ 

พี่คิมมีโอกาสไปช่วยพัฒนาโรงเรียน  นำผลการประเมินตนเองประจำปีมาวางแผนพัฒนางานใหม่

จึงมีความคิดว่าน่าจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง  สนใจเรื่องนี้พอดีค่ะ  หาตำรามาอ่านแต่ดูมันไม่เปลี่ยนแปลงสักเท่าไร

ขอจองอันนี้ก่อนนะคะ  ขอขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ..ที่ SCB ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย  เปิดติวเข้ม“นักธุรกิจมือโปร”  ในโครงการ SCB SME-IEP รุ่น 3 ...ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเน้น work shop และเกมส์ธุรกิจ เพื่อกระตุ้นศักยภาพในการวางแผนและแก้ปัญหาธุรกิจที่ใช้งานได้จริง รวมถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมที่มาจากหลากหลายธุรกิจ..

             

ขอขอบคุณดอกไม้และกำลังใจ จากอาจารย์ณัฐพัชร์ พี่ใหญ่  อาจารย์โสภณ เปียสนิท พี่ครูคิม และคุณครูนกทะเลครับ

  • งานนี้นี่ผมนึกถึง ๓-๔ ท่านไปด้วยพอดีเลยครับ คือ นึกถึงพี่คิม อาจารย์ ดร.ขจิต อาจารย์โสภณ และหนานเกียรติ หากอยู่ใกล้กันผมอยากแนะนำให้เขาได้ประสบการณ์จากของจริงจากพี่คิมและทุกท่านแน่เลย ของท่านอาจารย์ขจิตนั้น บังเอิญอาจารย์โทรอวดเรื่องอุปกรณ์ดักแย้กับผมพอดี !!!! (คนอะไรรอบด้านไปหมดตั้งแต่ใต้ถุนบ้าน โลกอวกาศ จนถึงโลกทางธรรม) เลยขออนุญาตให้ชื่อและได้แนะนำบล๊อกของอาจารย์ให้กับคณะครูและผู้บริหารของโรงเรียนไปแล้วนะครับ อยู่จังหวัดใกล้กัน เขาจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย
  • วิชาและองค์ความรู้จากการปฏิบัติเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้ ผมคิดว่าพี่คิมและหลายท่านมีอยู่ในมือมากเลยนะครับ หากมีโอกาสอยากถอดบทเรียนให้จังเลยนะครับ ทั้งร่วมเคลื่อนไหวเครือข่ายคนที่จะให้การเรียนรู้ทำนองนี้กับสังคมได้ในหน่วยปฏิบัติการที่ติดกับท้องถิ่น และสกัดความรู้ออกมาเคลื่อนไหวแนวการทำงานพัฒนาการเรียนรู้ใหม่ๆ กำลังนึกหาวิธีกับน้องๆอยู่ล่ะครับว่าจะทำอย่างไรถึงจะพอเหมาะพอดี
  • แต่เดิมผมคิดว่าจะใช้วิธีนั่งศึกษาในบล๊อกและจะใช้รูปแบบสังเคราะห์จากบันทึกซึ่งเหมือนกับเป็นหมายเหตุและรายงานประสบการณ์ที่ดีมากอยู่แล้ว แต่ดูแล้วอาจจะทำได้ไม่มากพออย่างที่ตั้งใจเพราะอ่านนานๆแล้วมันตาลายครับ ตาลายแบบเกิดอาการสืบเนื่องไปอีกหลายอย่าง เลยกำลังจะหาวิธีแบบผสม เช่น ได้จัดเวิร์คช็อปถอดบทเรียนกับกลุ่มคนแบบนี้ได้โดยตรงบ้าง ซึ่งนอกจากจะได้องค์ความรู้ดีๆมาทำงานในแนวทางใหม่ๆแล้ว ก็เชื่อว่าจะเป็นวิธีพัฒนาผู้ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือครูในความหมายที่กว้างสำหรับกระบวนการเรียนรู้ใน Open Space น่ะครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

แนวอย่างที่พี่ใหญ่ว่านี่ก็คงได้เป็นเวทีสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อออกไปนำสังคมในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆได้ดีนะครับ ในความเป็นนักธรกิจและนักบริหารจัดการทางธรกิจสำหรับอนาคตนี่ หากมีโอกาสสอดแทรกให้เขาได้แนวคิดเรื่องการจัดการเชิงสังคมและการจัดการธุรกิจเชิงสังคมไปด้วยก็คงจะเพิ่มโอกาสการพัฒนาในมิติใหม่ๆไปด้วยได้ดีเหมือนกันนะครับ

โดยเฉพาะการทำให้ชุมชนกับภาคธุรกิจได้เจอกันและสามารถทำเครือข่ายโครงการด้วยกัน ให้ภาคธุรกิจได้เสริมกำลังชุมชน และชุมชนสามารถพัฒนาองค์กรจัดการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ซึ่งจำเป็นต้องได้คนทำงานในภาคธุรกิจที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง

555 เหมือนโดนบ่นถึง เลยรีบมา ไม่ได้รู้ไปหมดหรอกครับ แต่ชอบการเรียนรู้...

กำลังรออ่านบันทึกอาจารย์อยู่เลยครับ ชอบการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้หรือการวิจัยเพื่อพัฒนางานประจำ คาดว่าคงมีโอกาสได้ไปช่วยจัดกระบวนการกลุ่มให้ครูอาจารย์ได้พัฒนาการเรียนการสอนครับ...

อาจารย์แวะเข้ามาคุยและแบ่งปันสิ่งต่างๆไว้ในหัวข้อนี้ไปได้เรื่อยๆอีกทางหนึ่งนะครับ
ผมบอกให้คณะคุณครูได้เข้ามาสื่อสารและติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆกับทีมจากมหิดล
ผ่านทางบล๊อกนี้ด้วยอีกทางหนึ่งครับ

 

  • ไปเอาพลังมากมายจากไหนไปซุ่มทำมาเนี่ย
  • เต็มไปหมด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท