สังฆาธิปไตย : ความหมายแห่งสังฆะ


อันที่จริงแล้วคำว่า สงฆ์ มีความหมายถึง ๓ ประการด้วยกัน คือความหมายอย่างกว้างชนิดที่เรียกว่าเป็นความหมายระดับองค์กรก็มี ความหมายเฉพาะเป็นความหมายที่ใช้เรียกเพื่อให้รู้ถึงขอบเขตการปกครองก็มี หรือความหมายที่ใช้ในสังฆกรรมก็มี ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

 

 

๒.๑.ความหมายของสงฆ์                                                         

                คำว่า  สังฆะ  หรือ  สงฆ์  แปลว่า  หมู่ หรือ ชุมนุม ซึ่งมีความหมายว่า หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่าสาวกสงฆ์, หมู่แห่งภิกษุ หรือ ชุมนุมสงฆ์ [1]  ซึ่งก็คือหมู่ของภิกษุที่รวมตัวกันเป็นคณะ   เป็นกลุ่มเพื่อทำภารกิจต่าง ๆ นั้นเอง

                อันที่จริงแล้วคำว่า  สงฆ์  มีความหมายถึง  ๓  ประการด้วยกัน คือความหมายอย่างกว้างชนิดที่เรียกว่าเป็นความหมายระดับองค์กรก็มี  ความหมายเฉพาะเป็นความหมายที่ใช้เรียกเพื่อให้รู้ถึงขอบเขตการปกครองก็มี  หรือความหมายที่ใช้ในสังฆกรรมก็มี  ซึ่งมีรายละเอียด  ดังต่อไปนี้

                ก.ความหมายอย่างกว้าง   หมายถึงคณะสงฆ์ทั้งหมดที่รวมกันอยู่เป็นองค์กร หรือเรียกภิกษุทั้งหมดว่า สงฆ์  ความหมายนี้โดยมากมักจะหมายถึงองค์กรสงฆ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภิกษุสงฆ์ หรือภิกษุณีสงฆ์  หรือแม้แต่การจะเรียกรวมสามเณร และสามเณรี เข้าด้วยก็ได้โดยเป็นส่วนประกอบของบริษัททั้ง  ๔   (พุทธบริษัท  ๔  ประกอบด้วยภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา) ซึ่งภิกษุเหล่านั้นอาจจะอยู่คนละอาวาสกัน  หรืออยู่คนละเมือง  หรืออยู่คนละแคว้นกันก็ตาม  ตลอดไปถึงสงฆ์ทั้งในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตย่อมขึ้นอยู่กับองค์กรสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขทั้งสิ้น

                ข.ความหมายเฉพาะ  หมายถึงคณะสงฆ์ที่อยู่เฉพาะถิ่น  เฉพาะที่  เช่น  คณะสงฆ์อินเดีย, คณะสงฆ์แคว้นมคธ, คณะสงฆ์วัดเวฬุวัน, คณะสงฆ์ไทย, คณะสงฆ์จังหวัดพะเยา, คณะสงฆ์วัดศรีโคมคำ  เป็นต้น  ซึ่งความหมายเช่นนี้มักจะหมายถึงการปกครองเป็นส่วนใหญ่ 

                ค.ความหมายที่ใช้ในสังฆกรรม  หมายถึงพระภิกษุตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไป รวมตัวกันเป็นสงฆ์ก็เพื่อจะทำสังฆกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเอาไว้  เช่น  พิธีอุปสมบท  เมืองไทยถือว่าพิธีอุปสมบทจะมีได้ต้องมีสงฆ์ ที่มีองค์ประกอบของหมู่ภิกษุอย่างน้อย  ๑๐  รูปขึ้นไป ซึ่งภิกษุทั้ง  ๑๐  รูปนี้อาจอยู่ต่างอาวาสกัน, อยู่คนละจังหวัด, อยู่คนละประเทศกันก็ได้เมื่อมาประชุมร่วมกันเฉพาะกิจพิธีกรรมนั้นก็สำเร็จ  มียกเว้นก็คือพิธีกรานกฐิน  ซึ่งจะต้องอาศัยภิกษุภายในอาวาสนั้น ๆ เท่านั้นพิธีกรรมนั้นจึงจะสำเร็จ

 

๒.๒.กำเนิดสงฆ์ 

     การเกิดของคำว่า สงฆ์ นั้นมาจากจุดเริ่มต้นของการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา กล่าวคือเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์โดยการแสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง  ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร  ณ  ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  เขตกรุงพาราณสี  ภายหลังที่พระองค์ทรงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมกัณฑ์แรกจบลง  ท่านอัญญาโกณฑัญญะ  ได้ดวงตาเห็นธรรม  จึงกราบทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าโดยพระองค์ทรงตรัสว่า  “ เธอจงมาเป็นภิกษุมาเถิด  แล้วตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด  [2]  นั้นเป็นการเริ่มต้นของการมีผู้แทนสงฆ์ครั้งแรก ต่อมาจึงอุปสมบทให้กับพระวัปปะ, พระภัททิยะ  และพระมหานามะ, พระอัสสชิ  [3]  ตามลำดับ เป็นการครบองค์แห่งคำว่า  สงฆ์  อย่างสมบูรณ์ แต่ยังไม่ชัดเจนจนเป็นองค์กรขึ้นมาเพราะพระเถระเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นพระอริยบุคคล  ไม่มีปัญหามาก  ไม่มีพิธีกรรมมาก  ผู้เข้ามาเลื่อมใสก็ไม่มากเพราะยังใหม่ต่อทฤษฎีและรูปแบบของพระพุทธเจ้าอยู่

 

๒.๓.อุดมการสงฆ์ 

     แท้ที่จริงการเกิดของสงฆ์  ก็คือเมื่อมีผู้เห็นด้วยกับแนวคิดในการหลุดพ้นจากพันธนาการต่าง ๆ ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า แล้วจึงกราบทูลขอบวช  เมื่อมีคนประสงค์ขอบวชมากขึ้นภิกษุก็มากขึ้น  แม้อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน แต่วิธีการต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อให้องค์กรที่ใหญ่ขึ้น ๆ บรรลุเป้าหมายที่พระองค์ทรงวางเอาไว้และอีกส่วนหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือการเสด็จออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ ส่วนหนึ่งพระองค์ก็ต้องการที่จะทรงมุ่งแก้ปัญหาสังคมอินเดียในยุคนั้น  เช่น  ความไม่เท่าเทียมกัน (ไม่มีสมภาพ)  ความเป็นทาส (ไม่มีเสรีภาพ)  ความไม่มีโอกาสทางการพัฒนาตนเอง (สิทธิ ) ของคนวรรณะต่ำและสตรี  ความอดอยากยากจน  (เศรษฐกิจ) [4]  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงให้กำหนดสงฆ์ ก็เพื่ออุดมการณ์ต่าง ๆ ซึ่งพอจะประมวลได้ดังต่อไปนี้

     ๑.เพื่อความสามัคคีหมู่คณะ หรือความผาสุก

     ๒.เพื่อลดละอัตตา คือความยึดมั่นในตัวตน

     ๓.เพื่อเป้าหมายชีวิตคือนิพพาน

     ๔.เพื่อประโยชน์แก่มหาชน   (จรถ  ภิกฺขเว  จาริกํ  พหุชนหิตาย  พหุชนสุขาย  โลกานุกมปทาย  อตฺถาย  หิตาย  เทวมนุสฺสานํ  ภิกษุทั้งหลาย  จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ปวงชน  เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก  เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)  เมื่อศึกษาถึงคุณสมบัติของสงฆ์ทั้ง  ๙  ประการแล้วจะได้  ดังนี้

     ประการที่  ๑  เป็นผู้ปฏิบัติดี  (สุปฏิปนฺโน)                                                 

     ประการที่  ๒ เป็นผู้ปฏิบัติตรง  (อุชุปฏิปนฺโน)

     ประการที่  ๓ เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง    (ญายปฏิปนฺโน)                  

     ประการที่  ๔ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร  (สามีจิปฏิปนฺโน)

     ประการที่  ๕ เป็นผู้ควรแก่คำนับ    (อาหุเนยฺโย)                        

     ประการที่  ๖ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ  (ปาหุเนยฺโย)

     ประการที่  ๗ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา(ทาน)     (ทกฺขิเณยฺโย)       

     ประการที่  ๘ เป็นผู้ควรแก่อัญชลี กราบไหว้  (อญฺชลีกรณีโย)

     ประการที่  ๙ เป็นเนื้อนาบุญของโลก  (อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺส)

 

๒.๔.วิวัฒนาการแห่งการเกิดสงฆ์

     เมื่อจะศึกษาเรื่องของสงฆ์  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าของการบวชเสียก่อน เหตุเพราะคำว่า “สงฆ์” กับ  “การบวช” เป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกันและไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้เป็นเหมือนเหรียญที่อยู่คนละด้าน (ถ้าจะเรียกสงฆ์ก็ต้องดูลำดับการบวช  ถ้าบวชแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของสงฆ์)   เริ่มแรกทีเดียวนั้นพระพุทธเจ้าทรงให้การอุปสมบทด้วยพระองค์เอง  เมื่อภิกษุทั้งหลายได้พากันนำผู้ต้องการบวชมาเพื่อกราบทูลขออนุญาต  เป็นจำนวนมากขึ้น ๆ  พระองค์จึงรำพันว่า 

“ บัดนี้ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชา และมุ่งอุปสมบท

มาจากทิศนั้น ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า  พระผู้มีพระภาคจักทรงให้

พวกเขาบรรพชาอุปสมบท  ทำให้เกิดความลำบากมาก  จึงตรัสว่า 

ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่นแหละจงให้บรรพชา 

จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด”  [5] 

       นับว่าเป็นการกระจายพระราชอำนาจโดยทรงอนุญาตให้บวชได้ด้วยระบบใหม่ที่พระเถระรูปอื่น ๆ ก็สามารถให้การบวชได้  ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อนำกุลบุตรเพื่อเข้ามาบวชกับพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวอีกต่อไป  ระบบการบวชใหม่นี้เป็นระบบที่ใช้ได้ทั่วไป เป็นการติดอาวุธในการเผยแผ่ให้กับเหล่าพระสาวก   ระบบนี้เรียกว่า  ไตรสรณคมน์ [6] (คือการแสดงตนให้ถึงพระรัตนตรัย)

     แม้พระพุทธเจ้าจะทรงกระจายพระราชอำนาจไปยังพระเถระ ให้สามารถเป็นพระอุปัชฌาย์ได้  แต่เมื่อมีพระภิกษุจำนวนมากเข้ามาบวชแล้ว  พระอุปัชฌาย์ก็มีจำนวนน้อย  ไม่สามารถควบคุมดูแลพระนวกะให้อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยได้เนื่องด้วยไม่มีใครว่ากล่าวเหล่าภิกษุ  ที่ประพฤติไม่งาม  ไม่เรียบร้อย  ทั้งการนุ่งห่ม  มารยาท  เที่ยวบิณฑบาต  ไม่มีใครคอยตักเตือน  พร่ำสอน [7]  จึงทรงตั้งพระอุปัชฌาย์ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้าไปตั้งจิตคุ้นเคยสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร และเพื่อให้เข้าไปตั้งจิตคุ้นเคยสนิทสนมในพระอุปัชฌาย์ฉันบิดา  [8]  ต่อกันและกัน

     เริ่มแรกนั้นไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์เป็นหลักการเอาไว้  เพียงแต่ทรงอนุญาตให้แสวงหาพระอุปัชฌาย์เอาเอง โดยตรัสว่า  “ภิกษุทั้งหลาย  สัทธิวิหาริก พึงถืออุปัชฌาย์อย่างนี้  พึงห่มอุตตราสงค์เฉลียงบ่าข้างหนึ่ง  กราบเท้า  นั่งกระโหย่ง  ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า  ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด  [9]  เพียงเท่านี้ก็สำเร็จประโยชน์ได้

     แต่แล้วการอุปสมบทด้วยระบบไตรสรณคมน์  ได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง  คือ ถ้าบรรดาภิกษุไม่ประสงค์จะให้บวชก็เกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาตัดสินไม่ได้ อุปัชฌาย์ไม่รับบวชพระองค์จึงต้องใช้วิจารณญาณ หรือหาทางออกให้  ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้น ดังเช่น กรณีของพราหมณ์คนหนึ่งชื่อราธะ  แม้บรรดาภิกษุไม่อนุญาตให้บวช  แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าใครระลึกถึงความดีของพราหมณ์นั้นได้บ้าง  พระสารีบุตรกราบทูลว่า เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นี้  พราหมณ์นั้นได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ดีละ ๆ สารีบุตร สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้กตัญญูกตเวที  ถ้าเช่นนั้น  เธอจงให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทเถิด  [10]  และต่อมาพระองค์ จึงประกาศห้ามการอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์  และให้ใช้อุปสมบทด้วยญัตติจตุถกรรม แทน [11]  ซึ่งเป็นระบบการให้อุปสมบทที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบันอันแสดงให้เห็นถึงการส่งมอบพระราชอำนาจของพระองค์สู่คณะสงฆ์อย่างแท้จริง  ส่วนระบบไตรสรณคมน์นั้นก็ใช้สำหรับการให้บรรพชาสามเณรตั้งแต่บัดนั้นมาเช่นกัน

                        เมื่อมองดูพัฒนาการเกิดขึ้นของสงฆ์  ตั้งแต่ต้นจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางรูปแบบและการกระจายพระราชอำนาจ  อันมีจุดเริ่มต้นที่การอุปสมบทเป็นปฐมเหตุ  ดังนี้

                        ประการที่หนึ่ง  ทรงใช้ ทฤษฎีธรรมชาติ  หรือ ทฤษฎีเอหิภิกขุอุปสมปทา              ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานในการกำหนดภิกษุด้วยพระองค์เอง  และเป็นจุดเริ่มต้นของการมีรัตนะครบ  ๓  รัตนะในขณะนั้น ซึ่งต่อมามีผู้คนทยอยขอเข้ามาอุปสมบทอีก  แต่ก็ยังมีจำนวนที่น้อยอยู่ อีกประการหนึ่งปัญหายังมีไม่มากทั้งนี้เพราะพระเถระรุ่นแรก ๆ เป็นผู้ที่มุ่งความหลุดพ้นเป็นสาระสำคัญ เริ่มตั้งแต่  ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า, กลุ่มพระยสะพร้อมสหาย   จึงเป็นการง่ายที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บริหารและจัดการด้วยพระองค์เอง

                        ประการที่สอง  ทรงใช้ ทฤษฎีวิวัฒนาการ  หรือ ทฤษฎีไตรสรณคมน์  ที่พระพุทธเจ้าทรงผ่อนถ่ายพระราชอำนาจไปให้กับพระมหาเถระในระดับต่าง ๆ เมื่อมีผู้ที่ประสงค์ที่จะเข้ามาอุปสมบทมากขึ้นยิ่งขึ้น กิจการพระศาสนามีรัศมีที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น  ผู้ที่เข้ามานับถืออยู่ห่างไกลต่างเมือง  ต่างแคว้น เพื่อเป็นการไม่ให้ผู้ขออุปสมบทต้องลำบากในการเดินทางและเป็นการแบ่งเบาภารกิจของพระพุทธเจ้าในภารกิจที่มากขึ้น

                        ประการที่สาม  ทรงใช้ ทฤษฎีสังฆาธิปไตย  หรือ ทฤษฎีญัตติจตุตถกรรม  ที่ทรงมอบให้เป็นภารกิจของสงฆ์ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร ลักษณะเป็น  One  stop  service  คือสามารถให้อุปสมบทได้ถ้าถูกต้องตามพุทธานุญาต  และเมื่อมีผู้คนเข้ามาปลอมบวชเพื่อลาภสักการะมากขึ้น  พระองค์ก็ทรงวางกฏเกณฑ์ระเบียบวินัย  มอบพระราชอำนาจให้กับสงฆ์ในการบริหารจัดการ  ส่วนพระองค์ได้ค่อยเป็นผู้กำกับ  เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นที่ถกเถียงไม่รู้จบพระองค์จะเป็นผู้วินิจฉัย  สั่งการ  และทรงบัญญัติพระวินัยนั้น ๆ  เพื่อให้สงฆ์ปฏิบัติตาม

        ในเรื่องดังกล่าวนี้  ประยงค์  สุวรรณบุบผา ได้สรุปเอาแนวคิดทางการปกครองของพระพุทธเจ้า ตลอด  ๔๕  พรรษาเอาไว้ว่า

พระพุทธเจ้าทรงวางระบบรูปแบบการบริหาร และการปกครอง  องค์กรไว้

 ๓  รูปแบบ  คือ                             ๑.ระยะต้น หรือระยะแรก พระองค์ทรง

ปกครองเองโดยมีพระองค์เป็นพระประมุข  วิธีที่รับผู้เข้ามาอยู่ในปกครอง 

เรียกว่า  เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พุทธาธิปไตยหรือปิตาธิปไตย)     ๒.ระยะกลาง

หรือ ระยะที่  ๒  ทรงมอบอำนาจให้อภิปูชนียภิกษุ ผู้มีคุณธรรมช่วยกันปกครอง โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์พระประมุข  วิธีรับบุคคลเข้ามาอยู่ในปกครอง เรียกว่า  ติสรณคมนูปสัมปทา  (อภิปูชนียาธิปไตย)   ๓.ระยะปลาย  หรือ ระยะหลังทรงมอบให้สงฆ์เป็นผู้ปกครอง  โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์พระประมุข วิธีรับผู้เข้ามาอยู่ในปกครอง  เรียกว่า  ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ซึ่งระบบการปกครองระยะที่  ๓  นี้  ยังใช้ปกครองสงฆ์ในสังฆมณฑลอยู่ในปัจจุบันนี้โดยมีสงฆ์เป็นใหญ่ มีส่วนร่วมในการปกครองโดยตรง (สังฆาธิปไตย) [12]

 

๒.๕.องค์ประกอบแห่งสงฆ์

                พระภิกษุรูปเดียวไม่นับว่าเป็นสงฆ์ได้เพราะขาดองค์ประกอบไป แต่สามารถเป็นส่วนประกอบหรือตัวแทนของสงฆ์ได้ดังจะอธิบายต่อไป  ฉะนั้นพระภิกษุมีจำนวนตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไปจึงเรียกว่าสงฆ์ได้ การจะกำหนดจำนวนภิกษุที่ประกอบเข้าเป็นสงฆ์ หรือเป็นหมวด ๆ  ซึ่งเมื่อครบจำนวนแล้วจึงจะทำสังฆกรรมอย่างนั้น ๆ ได้มีทั้งหมด  ๔  ประเภท คือ [13]

                ๑.สงฆ์  จตุรวรรค  หมายถึงสงฆ์ที่มีจำนวนพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ทำกรรมได้ทุกประเภทยกเว้นการปวารณาให้ผ้ากฐิน,  การสวดอัพภาน คือการสวดถอนอาบัติหนักบ้างข้อในหมวดสังฆาทิเสส, การให้อุปสมบท, และการปวารณา

                ๒.สงฆ์ ปัญจวรรค  หมายถึงสงฆ์ที่มีจำนวนพระภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป  ให้การอุปสมบทในถิ่นทุรกันดารที่เป็นชายแดน (ปัจจันตชนบท) ได้, ทำปวารณาได้ และให้ผ้ากฐินได้

                ๓.สงฆ์ ทศวรรค  หมายถึงสงฆ์ที่มีจำนวนพระภิกษุตั้งแต่  ๑๐ รูปขึ้นไป ทำสังฆกรรมอื่น ๆ  และให้อุปสมบทในมัชฌิมชนบทได้  ยกเว้นการสวดอัพภาณ คือการสวดถอนอาบัติหนักบ้างข้อในหมวดสังฆาทิเสส ประการเดียว

                ๔.สงฆ์  วีสติวรรค  หมายถึงสงฆ์ที่มีจำนวนพระภิกษุตั้งแต่  ๒๐ รูปขึ้นไปทำอัพภาน คือการสวดถอนอาบัติหนักบ้างข้อในหมวดสังฆาทิเสสได้

๕.หากสงฆ์ที่มีจำนวนพระภิกษุมากกว่านี้ ยิ่งดีทำสังฆกรรมได้ทุกชนิด ไม่จำกัด

                การกำหนดองค์ประกอบ  บทบาท  หน้าที่  ขอบเขตแห่งอำนาจให้กับสงฆ์นั้น ก็เพื่อความสามัคคีของหมู่คณะ  และทำให้เห็นว่าการทำงานที่สำคัญก็จะต้องใช้สงฆ์ที่มีองค์ประกอบใหญ่ขึ้น  จำนวนพระภิกษุก็มากขึ้นเพื่อให้มีพลังอำนาจมากขึ้นเป็นเงาตามตัวนั้นเอง  ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม  ไว้ดังนี้

                “ ๑.การทำอุโบสถ  คือการสวดปาฏิโมกข์ หรือสวดทบทวนศีลของภิกษุ ๒๒๗   ข้อ ทุกกึ่งเดือน ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไปทำได้  ๒.การสวดกฐินคือสวดประกาศมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยขอความเห็นชอบ

ต่อสงฆ์ทั้งปวง ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไปทำได้  ในข้อนี้หนังสือ

แต่งขึ้นชั้นหลังพระไตรปิฎก เช่นอรรถกถากล่าว่าต้อง  ๕  รูปขึ้นไปจึงทำได้ 

ฉะนั้นจึงถือตามที่กล่าวไว้ในวินัยปิฎกที่ว่าสงฆ์  ๔  รูปทำกรรมได้ทุกชนิด เว้นเพียง ๓  อย่างคือ ปวารณา อุปสมบท และอัพภาน   ๓.การสวดสมมติต่าง ๆ เช่นสมมติหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์  เป็นผู้แจกจีวร  แจกอาสนะคือที่อยู่อาศัย ภิกษุสงฆ์ตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไปก็ทำได้   ๔.การปวารณา คือการบอกอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน  ถ้าจะทำเป็นการสงฆ์  ภิกษุตั้งแต่  ๕  รูปขึ้นไปจึงทำได้ ทั้งนี้มีเหตุผลว่าเมื่อถือว่าภิกษุ  ๔  รูปขึ้นไปเป็นสงฆ์  ถ้ามีภิกษุเพียง  ๔  รูป รูปหนึ่งกล่าวปวารณาจึงเท่ากับอนุญาตแก่บุคคล  ๓  คนให้กล่าวว่าได้ พระพุทธเจ้าให้ถือเป็นการปวารณาต่อบุคคลจะนับว่าเป็นการสงฆ์ได้

ก็ต่อเมื่อสงฆ์ผู้รับฟังคำปวารณามีครบ  ๔  รูป  เป็น  ๕  รวมทั้งผู้ปวารณา

หรือจำนวนมากกว่านั้น   ๕.การอุปสมบท  หรือบวชพระ  ถ้าในปัจจุบันชนบท

คือชายแดน  หรือเขตที่ไม่มีความเจริญหาพระยากภิกษุสงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไปทำได้ ถ้ามัชฌิมชนบทหรือในเขตภาคกลางซึ่งในสมัยพระพุทธเจ้ามีกำหนดเขตไว้ให้ใช้พระตั้งแต่  ๑๐  รูปขึ้นไป  ในเมืองไทยนับเป็นเขตนอกจากที่กำหนดไว้ในเขตพุทธกาล ถ้าจะกล่าวตามตัวอักษรพระ  ๕  รูปขึ้นไปก็ใช้ในการบวชได้ แต่พระเถระผู้ใหญ่ท่านพิจารณาตามเจตนารมณ์ของพระวินัยถ้าบวชในเขตพระนครหรือในเมืองที่เจริญก็ใช้พระตั้งแต่  ๑๐  ขึ้นไป ในเขตกันดารจึงใช้พระน้อยกว่านั้นคือ  ๕  รูปขึ้นไป  ๖.การสวดอัพภาน  คือสวดถอนอาบัติของภิกษุบางรูปซึ่งต้องทำเป็นการสงฆ์ใช้ภิกษุตั้งแต่  ๒๐  รูปขึ้นไป   ๗.สังฆกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นการสงฆ์นอกจากที่กล่าวไว้แล้วใช้พระตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไปทั้งสิ้น” [14]

๒.๖.ประเภทของสงฆ์

                สงฆ์  หรือองค์ประกอบของพระภิกษุตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นตามที่กล่าวมาแล้วนั้นเมื่อจะแยกออกได้เป็น  ๒  ประเภทคือ  สมติสงฆ์  และ  อริยสงฆ์  ซึ่งถ้าว่ากันตามรูปแบบแล้วจะเรียกรวมกันว่าสงฆ์ไม่แยกกัน  แต่ถ้าหากดูกันตามเนื้อหาหรือคุณภาพแล้ว  สามารถแยกให้เห็นความแตกต่างกัน  ดังนี้

                ๑.สมติสงฆ์ (สมมติ+ สงฆ์) หรือจะเรียกว่าสงฆ์โดยพระวินัย  กล่าวคือผู้ที่ขอเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา และเมื่อผ่านพิธีกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหรือองค์ประกอบของสงฆ์ได้ทันที  แม้จะบวชได้ในนาทีเดียว หรือวันเดียวก็นับว่าเป็นองค์ประกอบแห่งสงฆ์ได้  แต่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสมติสงฆ์  ก็เพราะถูกสมติให้ว่าเป็นสงฆ์  หรือสงฆ์โดยการสมติ คือเป็นภิกษุที่ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมใด ๆ เพียงแต่มีอุดมการณ์เข้ามาบวชเพื่อต้องการบรรลุธรรมในโอกาสต่อไป ๆ  นั่นเอง

                ๒.อริยสงฆ์ (อริย+ สงฆ์)  หรือสงฆ์โดยคุณธรรม  กล่าวคือพระภิกษุผู้เป็นพระอริยเจ้าที่รวมตัวกันตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไป  ที่ได้ชื่อว่าอริยสงฆ์ก็เพราะได้บรรลุธรรม หรือบรรลุเป้าหมายในพระพุทธศาสนามีจำนวน  ๔  คู่คือ  คู่ที่หนึ่ง พระโสดาบัน หมายถึงพระผู้ถึงกระแสที่จะไปสู่พระนิพพาน คือละสังโยชน์  ๓  ประกอบไปด้วย สักกายทิฏฐิ (ความเป็นเป็นเหตุถือตน), วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยไม่ตกลงใจ), สีลัพพตปรามาส (ถือศีลและวัตรอย่างงมงาย)   คู่ที่สอง  พระสกทาคามี หรือสกิทาคามี  หมายถึงพระผู้มีญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ทั้ง  ๓  และทำราคะ-โทสะ-โมหะ ให้เบาบางลง  คู่ที่สาม  พระอนาคามี  หมายถึงพระผู้ละสังโยชน์  ๓  พร้อมกามราคะและปฏิฆะ (ควาขัดเคืองแค้นใจ) และคู่ที่สี่ พระอรหันต์  หมายถึงพระผู้ห่างไกลจากกิเลส บรรลุธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้วหรือทั้งหมดนี้ถ้านำมาจัดระดับแล้วจะได้  ๘  ระดับ  ด้วยกัน คือ

                ก.พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค                     ข.พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

                ค.พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค                     ง.พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล

                จ.พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค                        ฉ.พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล

ช.พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค                         ซ.พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล

     ดังนั้นจะเห็นว่า..พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสร้างระบบที่เรียกว่า  “สังฆะ”  ขึ้นมาเพื่อเป็นชุมชนแห่งการศึกษาและฝึกฝนพัฒนาชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ด้วยดี  ความจริงการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ก็คือการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาตัวเอง [15]  ให้ก้าวหน้าเพื่อบรรลุถึงจุดมุ่งหมายของอุดมการณ์สงฆ์นั่นเอง

๒.๗.หน้าที่สงฆ์

                สงฆ์เป็นองค์กรที่พระพุทธเจ้าทรงออกแบบขึ้นมาเพื่อความสามัคคีของเหล่าภิกษุในการทำกิจการงานหนึ่ง ๆ ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี จะมีมากน้อยเพียงใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับขนาดของความสำคัญของภารกิจ (สังฆกรรม)  นั้น ๆพระธรรมปิฎก ได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ไว้ว่า  งานของสงฆ์,กรรมที่สงฆ์พึงทำ, กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์ มี  ๔ คือ    ๑.อปโลกนกรรม  กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ   ๒.ญัตติกรรม  กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา  เช่น  อุโบสถและปวารณา  ๓.ญัตติทุติยกรรม  กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น  สมมติสีมา  ให้ผ้ากฐิน   ๔.ญัตติจตุตถกรรม  กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา  ๓  หน  เช่นอุปสมบท  ให้ปริวาส  ให้มานัต [16]



 

[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่  ๘. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘). หน้า  ๒๙๕.

[2] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๒๕ / ๑๘.

[3] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๒๖ / ๑๙.

[4] พระศรีปริยัติโมลี  (สมชัย  กุสลจิตฺโต).   การเมือง (มิใช่) เรื่องของสงฆ์.  (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๓),  หน้า  ๙๘.

[5] วิ.ม. (ไทย) ๔ /๔๒ / ๓๔.

[6] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๔๓ / ๓๔.

[7] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๗๙ / ๖๔.

[8] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๘๑ / ๖๕.

[9] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๘๑-๘๒ / ๖๕.

[10] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๙๗ / ๖๙.

[11] วิ.ม. (ไทย)  ๔ / ๙๘ /๖๙-๗๐.

[12]  ประยงค์  สุวรรณบุบผา. รัฐปรัชญา แนวคิดตะวันออก-ตะวันตก.  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๑). หน้า  ๓๒๐.

[13] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). อ้างแล้ว หน้า ๒๖๔. และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กราฟฟิคอาร์ต,๒๕๒๖), หน้า ๑๓.

[14] สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. รัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กราฟิคอาร์ต, ๒๕๒๖), หน้า  ๑๔.

[15] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). นิติศาสตร์แนวพุทธ. ครั้งที่ ๓. (กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๑).หน้า  ๑๒๘.

[16] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่  ๘. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘). หน้า  ๓๑๒.

 

หมายเลขบันทึก: 438870เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท