๑๓.กูฏทันตสูตร : สูตรว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง


จึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ๓ ประการคือ แจกพันธุ์พืชแก่พลเมือง ให้ทุนในการค้าขาย และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ

     กูฏทันตสูตร เป็นพระสูตรในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ จากทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  

     เบื้องต้นจะยกเนื้อหาโดยย่อมาก่อน และจะวิเคราะห์ทีหลัง ดังนี้

.๑. กูฏทันตสูตร  :  สูตรว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง [1]

                เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จจาริกไปแคว้นมคธ  พร้อมภิกษุ  ๕๐๐  รูป พระองค์เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัต  ทรงประทับในสวนอัมพลัฏฐิกา  ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต  ซึ่งมีพราหมณ์กูฏทันตะปกครองหมู่บ้าน  ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยประชากร, สัตว์เลี้ยง, พืชพันธุ์ธัญญาหาร, น้ำ, หญ้า  ซึ่งเป็นพรหมไทย ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงพระราชทานปูนบำเหน็จให้  เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวการเสด็จมาครั้งนี้จึงได้พากันเข้าเฝ้า

                เวลานั้น  พราหมณ์กูฏทันตะกำลังเตรียมการบูชามหายัญ  ก็ได้เข้าเฝ้าพร้อมกับชาวบ้านด้วยจุดประสงค์เพื่อต้องการทูลถามถึงยัญสมบัติ  ๓  ประการ องค์ประกอบ  ๑๖  ซึ่งตนยังไม่รู้ชัด

                พระพุทธเจ้าตรัสว่า  พราหมณ์  เรื่องเคยมีมาแล้ว  พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นผู้มั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง   วันหนึ่งทรงดำริที่จะทำการบูชามหายัญ  พราหมณ์ปุโรหิต(โพธิสัตว์)  จึงกราบทูว่า  บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม  มีการเบียดเบียน  โจรยังปล้นบ้าน  ปล้นนิคม  ปล้นเมืองหลวง  ดักจี้ในทางเปลี่ยว  ถ้าพระองค์จะทรงปราบปรามด้วยการประหาร  จองจำ  ปรับไหม  ตำหนิโทษ  หรือเนรเทศ  จะมีโจรกลับเข้ามาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้  ดังนั้นพระองค์ควรปรับวิธีการใหม่ (กลยุทธ์ใหม่)   คือ

                ๑. ควรพระราชทานพืชพันธุ์และอาหารให้แก่เกษตรกร

                ๒. ควรพระราชทานต้นทุนให้แก่ผู้ทำพาณิชยกรรม

                ๓. ควรพระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการ

                เมื่อทรงทำอย่างนี้แล้วพลเมืองจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน  ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์  และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่  บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น  ไม่มีเสี้ยนหนาม  ไม่มีการเบียดเบียน  ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน  มีความสุขกับครอบครัว  อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน

                ต่อมา  พระเจ้ามหาวิชิตราช  ครั้นพระองค์ทำตามคำแนะนำแล้ว  บ้านเมืองก็สงบร่มเย็น  พระองค์ก็ยังคงปราถนาที่จะทำการบูชามหายัญอีก  พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลให้เชิญเจ้าผู้ครองเมือง, ราชอำมาตย์, พราหมณ์  และคหบดี  ที่อยู่ในนิคมและชนบททั่วราชอาณาเขตเข้ามาปรึกษา  เมื่อบุคคลทั้ง  ๔  กลุ่มเห็นชอบแล้ว  ลำดับต่อมาพระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงองค์ประกอบของยัญตามลำดับ ดังนี้คือ  ความเห็นชอบของบุคคลทั้ง  ๔  กลุ่ม, คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช  ๘  อย่าง, คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต  ๔  อย่าง, ยัญพิธี  ๓  ประการ, ขจัดความเดือดร้อนพระทัย  ๑๐  อย่าง  และทรงมีพระทัยสดชื่นร่าเริงด้วยอาการ  ๑๖  อย่าง

                นอกจากนั้นแล้วพระพุทธเจ้ายังตรัสถึงยัญที่ทำโดยใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า  แต่มีอานิสงส์มากกว่า ตามลำดับโดยเรียงจากน้อยไปหามาก  ดังนี้

๑. ยัญมีสมบัติ  ๓  ประการ  มีองค์ประกอบ  ๑๖  ประการ มีอานิสงส์น้อยกว่า

๒. นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล  มีอานิสงส์น้อยกว่า

๓. การสร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ ผู้มาจากทิศทั้ง  ๔  มีอานิสงส์น้อยกว่า

๔. ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะ  มีอานิสงส์น้อยกว่า

๕. ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบททั้งหลาย  มีอานิสงส์น้อยกว่า

๖. ยัญของภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และบรรลุธรรม

 

.๒. แนวคิดทางการเมืองการปกครองในกูฏทันตสูตร

            ๕.๒.๑.การกระจายอำนาจ

กูฏทันตสูตร  เป็นพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกพระสูตรหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต  ความคิด  วิธีการจัดการกับปัญหา  และที่สำคัญคือ รูปแบบการปกครองรูปแบบพิเศษในสมัยพุทธกาล  แม้จะไม่ได้เจาะลึกเป็นกฎหมายให้เป็นอย่างกรุงเทพฯ, เมืองพัทยา, เทศบาล  หรือแม้แต่  องค์การบริหารส่วนตำบล  แต่ก็พอจะมองเห็นถึงลักษณะพิเศษบางประการที่ผู้ปกครองมอบให้  ในสมัยนั้นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นหรือแบบพิเศษ เรียกว่า พรหมไทย  คือหมายความว่าพระราชาทรงมอบรางวัลพิเศษให้ หรือของอันพรหมประทาน, ของให้ที่ประเสริฐสุดหมายถึงที่ดินหรือบ้านที่พระราชทานบำเหน็จให้ [2] ซึ่งในที่นี้ก็คือทรงมอบ หมู่บ้านชื่อว่าขาณุมัต  เป็นการแยกปกครองอิสระต่างหากจากแคว้นมคธ โดยพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานปูนบำเหน็จให้..ถ้าหากมองในแง่ของการกระจายอำนาจ (Decentralize)  ซึ่งรัฐบาลกลางได้มอบอำนาจให้ไปจัดการท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองและจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง [3] .ซึ่งเงื่อนไขความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถปกครองตนเองได้ด้วย ดังพระดำรัสว่า

                “  สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ

พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ  ๕๐๐  รูป

เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวมคธชื่อขาณุมัต  ประทับอยู่

ในสวนอัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัต  สมัยนั้น

พราหมณ์กูฏทันตะปกครองหมู่บ้านขาณุมัตซึ่งมีประชากร

และสัตว์เลี้ยงมากมายมีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ 

เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทาน

ปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย  (ส่วนพิเศษ).....”  [4]

 

.๒.๒. ตำแหน่งทางการปกครองท้องถิ่น

                เราจะเห็นว่าชุมชนขาณุมัต  เป็นชุมชนที่เจริญและได้รับการพัฒนาพอสมควรโดยมีพราหมณ์กูฏทันตะ เป็นผู้ดูแลและปกครอง  แต่ที่สำคัญมีอำมาตย์ที่ปรึกษา ซึ่งอาจจะจำลองมาจากการปกครองส่วนกลาง แต่อำมาตย์ในที่นี้มีหน้าที่ปรึกษาติดต่อประสานงาน  ไม่ได้เป็นตำแหน่งบริหาร  เหมือนตำแหน่งปลัด อบต ในปัจจุบันแต่เป็นตำแหน่งคล้ายเป็นเลขาพราหมณ์กูฏทันตะ  ซึ่งในพระสูตรมีตอนที่สื่อให้เห็นถึงเนื้อความนี้ว่า

                “  พราหมณ์กูฏทันตะ จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่า พ่ออำมาตย์

 ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต 

ครั้นแล้วจงบอกอย่างนี้ว่าท่านขอรับพราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า 

ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อนพราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้า

พระสมณโคดมด้วย  ”   [5]

 

.๓. เป้าหมายของขาณุมัต

.๓.๑. เป้าหมายขององค์กรท้องถิ่น

                เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ เมื่อได้รับพระราชทานบ้านขาณุมัต  มาปกครองแล้วบ้านเมืองก็เจริญก้าวหน้า ข้าวปลาก็อุดมสมบูรณ์  พราหมณ์จึงคิดที่จะยึดนโยบายสร้างความอุดมสมบูรณ์และสันติสุขอย่างถาวรและยั่งยืนอย่างนี้ตลอดไป  โดยคิดว่าการบูชายัญคือทางออกที่ดีที่สุด  รูปแบบการปกครองเช่นนี้เป็นแนวความคิดคล้ายกับ  Geertz       ในเรื่อง  “รัฐพิธีกรรม”    ชัยอนันต์  สมุทวณิช  ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า  รัฐ (นคร) กับสังคม (หมู่บ้าน)  จึงมีความเกี่ยวข้องกันเฉพาะกิจกรรมหลัก  ๒  อย่าง คือ ในการประกอบพิธีกรรม  กับการทำสงคราม  กิจกรรมสองอย่างนี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชน โดยที่สถานภาพทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง วัดกันจากความสามารถในการควบคุมกำลังคนและทรัพยากรเพื่อที่จะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงสภานภาพในทางสังคม  ชนชั้นสูงตระกูลใดสามารถประกอบพิธีกรรมได้อย่างมโหฬาร  ก็แสดงว่าตระกูลนั้นอยู่ในระดับชั้นของสังคมที่สูง และเป็นการแสดงว่ามีความใกล้เคียงกับเทพมาก [6]      แม้รูปแบบการบริหารจัดการในรูปแบบดังกล่าวนี้จะใช้กรณีของนครบาหลี       ในศตวรรษที่  ๑๖  มานำเสนอ     แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า  บาหลี ในอินโดนีเชียก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโบราณเช่นกัน

.๓.๒. นโยบายการบูชายัญ

                จุดมุ่งหมายของการบูชายัญก็เพื่อต้องการให้สถานภาพของตนเองอยู่ได้ต่อไปและเพื่อประโยชน์แก่ตัวเองในที่นี้กูฏทันตพราหมณ์เมื่อจะทำจึงมาทูลถาม พระพุทธเจ้าทรงยกพระราชประวัติของพระเจ้ามหาวิชิตราชมาเปรียบเทียบ

                “  พราหมณ์  เรื่องเคยมีมาแล้ว  พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง 

ต่อมาท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า  เราได้ถือครอง

โภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย  ได้เอาชนะแล้วครอบครอง

ดินแดนที่กว้างใหญ่  ทางที่ดีเราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวย

ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน  ”   [7]

๕.๔. การมีส่วนร่วมของชุมชน  (Political  Participation)
การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองได้กำหนดออกมาและมีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ประกอบไปด้วยการคัดค้านนโยบาย, การเสนอแนวทางพัฒนา  และการทำประชาวิจารณ์  ดังนี้
๕.๔.๑. การคัดค้านนโยบาย (Appeal)
                แม้พระเจ้ามหาวิชิตราช   จะทรงเป็นมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่  ก็ต้องได้รับการรับรองจากเสนาอำมาตย์ก่อน  จะเห็นว่าพราหมณ์ปุโรหิต  เป็นเสมือนองคมนตรี , เจ้าพิธีกรรม, เสนาธิการในคน ๆ เดียวแต่มีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นโดยมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองทุกมิติอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (Basic  Rights  or  Fundamental  Rights) และสิทธิของพลเมือง (Cityzens  Rights) [8] ทั้งนี้พระองค์ทรงให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political  Participation) และกิจกรรมของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดัน หรือโน้มน้าวให้รัฐบาลผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย  ผู้มีอำนาจ หรืออิทธิพลต่อทุกกระบวนการทางการเมือง การปกครอง มีความเห็นหรือตัดสินใจ [9]  ซึ่งในที่นี้พราหมณ์ปุโรหิตได้เป็นตัวแทนแสดงทัศนะที่ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้คัดค้านการบูชายัญแบบเดิม ๆ  ที่เคยปฏิบัติมา

                “  บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน  โจรยังปล้นบ้านปล้นนิคม  ปล้นเมืองหลวง  ดักจี้ในทางเปลี่ยวเมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นจะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งไม่สมควร  ”  [10]

                เหตุที่คัดค้านเพราะการทำการบูชายัญต้องใช้เครื่องประกอบมากมาย  อีกทั้งค่าใช้จ่ายก็มหาศาลในการเตรียมการนอกจากนั้นแล้วยังไม่ประกอบด้วยบุญ คือยังมีการนำชีวิตของสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามาทำพิธีกรรมอีกเป็นจำนวนมาก

 

.๔.๒. การเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน  ( R and D )

พราหมณ์ปุโรหิต  ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการเสนอแนวทางในการพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า  และเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยปฏิวัติความคิดที่จะทำลายล้างอาชญากร มาเป็นการส่งเสริมอาชีพหรือที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political  Economics) ให้กับผู้คนในภายใต้การปกครองซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้มีการสำรวจข้อมูลในเชิงของการวิจัย (Reseach) และนำมาพัฒนา (Development) บ้านเมืองให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  ในพระสูตรระบุว่า

                “ พระองค์มีพระราชดำริอย่างนี้ว่า  เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจรด้วยการประหาร  จองจำ  ปรับไหม  ตำหนิโทษ  หรือเนรเทศ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้องเพราะโจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้  ” [11]

               พราหมณ์ปุโรหิต  จึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีก  ๓  ประการ คือให้แจกพันธุ์พืชอาหารให้กับพลเมือง, ให้แจกทุนในการค้าขาย, และให้เงินเดือนแก่ข้าราชการซึ่งจะเห็นได้ว่าการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  ย่อมผูกพันกันอย่างชัดเจน  กล่าวคือ

                ด้านการเมือง  เมื่อผู้นำต้องการให้เกิดความผาสุก  หรือการกินดีอยู่ดีของปวงชน  ต้องวางนโยบายคือกำหนดทิศทางโดยเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวนำ

                ด้านเศรษฐกิจ  แม้จะไม่ใช่เป้าหมายอันสูงสุดแต่ก็เป็นปัจจัยกื้อหนุนมิใช่น้อยที่จะผลักดันคนให้ก้าวเดินได้ในที่นี้  ปุโรหิตได้วางเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองไว้  ๓  ประการคือ

.ทุนด้านการเกษตร  ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนและคนส่วนใหญ่

.ทุนด้านพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกรับและส่งระบบสินค้าสู่เมืองน้อยใหญ่เพื่อให้ระบบคล่องตัวมากยิ่งขึ้น  และ

๓.ทุนด้านกำลังใจ  ให้ข้าราชการรับเงินเดือน ซึ่งเป็นการบำรุงขวัญให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาจะได้ทุ่มเทในการทำงานต่อไป

                พราหมณ์ปุโรหิต  จึงได้แนะกลยุทธและวิธีการในการกำจัดเสี้ยนหนามแบบถอนรากถอนโคนเอาไว้เป็นหลักการอีก  ดังนี้

                                ๑.ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์

                                ๒.ขอให้พระองค์พระราชทานด้านทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชย์กรรมในบ้านเมืองของพระองค์

                                ๓.ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

 

            ๕.๔.๓. ผลของการพัฒนา

เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง และรัฐบาลที่จะได้รับผลกลับย้อนคืนมาในรูปแบบอื่น ๆ อีก ๗  ประการ คือ

                ๑) ประชาชนจะขยัน  (อุตสาหกรรม)

                ๒) ไม่เป็นโจร  ปล้นชิงทรัพย์, ลักขโมย

                ๓) เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น

                ๔) สังคมจะสงบสุข

                ๕) ประชาชนจะมีความสามัคคี

                ๖) ครอบครัวจะไม่แตกแยก

                ๗) อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 

จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหา หรือวิธีการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นมีส่วนประกอบของการศึกษาวิจัยมาอย่างดีและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าจนทำให้นึกถึงการปกครองในยุคของพระศรีอาริย์ ดังพระสูตรระบุว่า

“ พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตนไม่พากัน

เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์  และจักมีกองพระราชทรัพย์

อย่างยิ่งใหญ่บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น  ไม่มีเสี้ยนหนามไม่มีการ

เบียดเบียนประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน  มีความสุขกับครอบครัว

อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน  ”  [12]

 

.๔.๔.  การทำประชาวิจารณ์  (Vote)

                เมื่อท้าวเธอได้จัดการบ้านเมืองให้สงบสุขสมบูรณ์ตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว  จึงคิดจะบูชามหายัญให้ได้ ดังนั้นพราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะนำให้แสวงหาความร่วมมือกับบุคคลสำคัญต่าง  ๆ  เหมือนกับการทำประชาวิจารณ์ก่อนกับเหล่าข้าราชบริพาร  ดังนี้

                “    ถ้าเช่นนั้น  ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมืองในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์,  โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์, โปรดรับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์,  โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์,   และโปรดรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์  มาปรึกษาว่า  ท่านผู้เจริญทั่งหลายเราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน....”    [13]

โปรดติดตามภาค ๒ ต่อ...................

[1] ที. สี.  ๙ /  ๓๒๓–๓๕๘  /  ๑๒๕–๑๕๐.

[2] ธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), พระ. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓).  หน้า   ๑๘๒.    อธิบายเพิ่มเติมว่า   - บ้านที่พระราชทานเป็นบำเหน็จ  เช่น  เมืองอุกกุฏฐะ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้แก่โปกขรสาติพราหมณ์  และนครจัมปา ที่พระเจ้าพิมพิสาร พระราชทานให้โสณทัณฑพราหมณ์ปกครอง  เป็นต้น

[3] อัษฎางค์  ปาณิกบุตร.  แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง. (กรุงเทพฯ : บริษัทสุขุมและบุตร จำกัด, ๒๕๔๐). หน้า  ๗๙.

[4] ที.สี.  ๙ /  ๓๒๓–๓๕๘   /  ๑๒๕.

[5] ที.สี. ๙ / ๓๒๙ / ๑๒๖.

[6] ชัยอนันต์  สมุทวณิช.  รัฐ.  พิมพ์ครั้งที่  ๓.  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๕). หน้า  ๔๓.

[7] ที.สี. ๙ / ๓๓๖ /  ๑๓๑.

[8]  วัชรา  ไชยสาร.  การเมืองภาคประชาชน. (กรุงเทพฯ : หจก. วี.เจ.พริ้นติ้ง, ๒๕๔๕). หน้า  ๘.

[9] เรื่องเดียวกัน  หน้า  ๑๓.

[10] ที.สี. ๙ / ๓๓๘ /  ๑๓๑.

[11] เรื่องเดียวกัน  หน้าเดียวกัน.

[12] ที.สี. ๙ / ๓๓๘ / ๑๓๒.

[13] ที.สี. ๙ / ๓๓๙ / ๑๓๒.

หมายเลขบันทึก: 438499เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 06:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท