๑๑.จักกวัตติสูตร : สูตรว่าด้วยอุดมรัฐ


คำว่า พระเจ้าจักรพรรดิ นอกจากพระองค์จะเป็นมหาอำนาจทางด้านกำลังที่มีพระราชอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลแล้ว พระองค์ยังเป็นธรรมราชาด้วย

.๑. จักกวัตติสูตร  :  สูตรว่าด้วยอุดมรัฐ [1]

                เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่  ณ  เมืองมาตุลา  แคว้นมคธ พระองค์ทรงปรารภกับเหล่าพระภิกษุถึงสิ่งต่าง ๆ  แล้วตรัสว่า เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ  มีตนเป็นที่พึ่ง  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง  จงมีธรรมเป็นเกาะ  มีธรรมเป็นที่พึ่ง  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง

                เธอจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร (อารมณ์กัมมัฏฐาน)  ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติแล้วมารจะไม่ได้โอกาส  จะไม่ได้อารมณ์  ภิกษุทั้งหลาย  บุญนี้ย่อมเจริญขึ้นได้อย่างนี้เพราะการสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ

                เรื่องเคยมีมาแล้ว  ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิ  ผู้ทรงธรรม  ครองราชย์โดยธรรม  ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต  ทรงได้รับชัยชนะมีราชอาณาจักรมั่นคงสมบูรณ์ด้วยแก้ว  ๗  ประการ  ได้แก่  (๑) จักรแก้ว  (๒) ช้างแก้ว  (๓) ม้าแก้ว  (๔) มณีแก้ว  (๕) นางแก้ว  (๖) คหบดีแก้ว  (๗) ปรินายกแก้ว  มีพระราชโอรสมากกว่า  ๑,๐๐๐  องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ  มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์  สามารถย่ำยีราชศัตรูได้  พระองค์ทรงชนะโดยธรรม  ไม่ต้องใช้อาชญา  ไม่ต้องใช้ศัสตรา  ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต

                เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี  หลายร้อยปี  หลายพันปี  ทรงตรัสสั่งว่า  ถ้าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง  พึงบอกแก่เราทันที่  เมื่อเวลาล่วงเลยไปราชบุรุษกราบทูลเรื่องจักรแก้วเคลื่อนถอยจากที่ตั้ง พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า  ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ  พระองค์ได้ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จะทรงพระชนม์อยู่ไม่นาน  กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็บริโภคแล้ว  บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลาย  อันเป็นทิพย์ลูกจงปกครองแผ่นดิน  ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด  นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์  ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต (ดาบส) หลังจากนั้นพระองค์จึงตรัสสอนพระราชโอรส ในการให้ได้มาซึ่งจักรแก้วอันเป็นทิพย์  โดยการอาศัยธรรม   สักการะธรรม   เคารพธรรม  นับถือธรรม  บูชาธรรม  นอบน้อมธรรม  มีธรรมเป็นธงชัย  มีธรรมเป็นยอด  มีธรรมเป็นใหญ่  และเมื่อกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว  ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่  สนานพระเศียรในวันอุโบสถ  ๑๕  ค่ำ  รักษาอุโบสถศีล

                เมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์ปรากฏ  ก็ทรงตามจักรแก้วอันเป็นทิพย์หมุนไปในทิศต่าง ๆ พระราชาน้อยใหญ่ต่างเข้ามาสวามิภักดิ ทรงปราบแผ่นดินโดยมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต

                แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่  ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘  ก็ทรงกระทำตามเช่นนั้น  แต่ทรงทำบางประการ  และทรงละเลยบางประการ จนเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายตามมา  เช่น  ทรงประพฤติธรรมแต่ไม่สงเคราะห์ประชาชนด้วยทรัพย์  จึงเกิดความขัดสนเกิดขึ้น ต่อมาจึงเกิดอทินนาทาน (การลักขโมย), ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์), มุสาวาท (พูดเท็จ), ปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด), กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม), ผรุสวาจา (การพูดคำหยาบ), สัมผัปปลาปะ (การพูดเพ้อเจ้อ), อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา), พยาบาท (ความคิดร้าย), มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ก็เกิดขึ้น  เมื่อมากขึ้น  อายุคนก็สั้นลง ๆ ตามลำดับ

                เมื่อมนุษย์เหล่านั้นปรึกษากัน  แล้วพากันละชั่วประพฤติดี  โลกจึงเจริญขึ้นอีกครั้งแล้วจึงถึงยุคของพระศรีอริยเมตไตรยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงตรัสปรารภในเรื่องนี้ทรงเห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิตแม้จะมั่งมี หรือยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม หากไม่พึ่งตนเองเสียแล้วก็ไม่ประสบผลสำเร็จได้  จึงทรงยกประเด็นของพระเจ้าจักรพรรดิ์มาตรัสวินิจฉัย

 

.๒. ธรรมราชา

.๒.๑. ความหมายของคำว่าจักรพรรดิ์

            คำว่า พระเจ้าจักรพรรดิ  สามารถแยกได้เป็น  ๒  คำ คือ พระเจ้า หมายถึงพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ได้รับการยกย่องเทียบกับเทพเจ้า  ส่วนคำว่า  จักรพรรดิ  นั้นในพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ๒๕๔๒ ระบุว่า พระราชาธิราช, ประมุขของจักรวรรดิ, สมัยโบราณเขียนเป็นจักรพัตราธิราช   [2]  นั้นก็หมายความว่าพระเจ้าจักรพรรดิ์ (อ่านว่า  พระ-เจ้า-จัก-กระ-พัด)  นอกจากพระองค์จะเป็นมหาอำนาจทางด้านกำลังที่มีพระราชอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลโดยมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขตแล้ว พระองค์ยังเป็นธรรมราชาคือปกครองโดยธรรม หรือพระองค์ทรงมีธรรมเป็นพลังอำนาจที่แคว้นใหญ่น้อยทั้งหลายเข้ามาสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์  โดยเรียกการปกครองของพระองค์ว่าจักรวรรดิ  (อ่านว่า จัก-กระ-หวัด) อันเป็นระบอบการปกครองที่นาน ๆ ครั้งจะมีปรากฏ

 

.๒.๒. องค์ประกอบของพระเจ้าจักรพรรดิ์

                ในอดีตพระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่า  ทัฬหเนมิ  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงคุณลักษณะหรือเครื่องหมายของความเป็นจักรพรรดิ์ที่สำคัญ  ๔  ประการ  ดังนี้

                ๑) ทรงธรรม

                ๒) ครองราชย์โดยธรรม

                ๓) มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต

                ๔) ราชอาณาจักรมั่นคง โดยมีรัตนะ  ๗  ประการคือเครื่องหมาย  ซึ่งประกอบไปด้วย

                       ก) จักรแก้ว     แสนยานุภาพอันเป็นสัญญาลักษณ์ขององค์จักรพรรดิ์

                        ข) ช้างแก้ว     เป็นพาหนะคู่บารมี

                         ค) ม้าแก้ว        เป็นพาหนะคู่บารมี

                         ง) มณีแก้ว      คือทรัพย์สินที่เป็นต้นทุนของจักรพรรดิ์ที่มีขึ้นเกิดขึ้นด้วยพระบารมีที่ทรงประพฤติปฏิบัติด้วยพระองค์

                         จ) นางแก้ว  หมายถึงมเหสีผู้พร้อมไปด้วยความงดงามทางกาย-วาจา-ใจ และสามารถพูดโน้มน้าวจิตใจผู้คนได้ เป็นเหมือนน้ำเย็นที่คอยดับความกระหายและฉลาดในการเจรจาความ

                          ฉ) คหบดีแก้ว  หมายถึงคหบดี พ่อค้า  นายทุน ที่สร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และเสียภาษีให้กับรัฐเป็นผู้มั่งคั่งและสมบูรณ์แบบ

                           ช) ปริณายกแก้ว             เสนาอำมาตย์ที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นทหารคู่ใจคู่ราชย์บัลลังค์ได้

                ทวี  ผลสมภพ  ได้อธิบายรัตนทั้ง  ๗  ว่า  จักรแก้ว  มีลักษณะคล้ายวงล้อ  มีกง  มีดุม  มีซี่หนึ่งพันซี่  เวลาถูกลมพัดจะบังเกิดเสียงดนตรีไพเราะยวนใจ  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองราชสมบัติอยู่ในราชธานีจะได้เสวยความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ขึ้น  จักรแก้วจะปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออกของราชธานี  มีความสูงประมาณยอดไม้  มีแสงสว่างพวยพุ่งออกจากจักรแก้วประมาณหนึ่งโยชน์  โคจรมุ่งหน้าไปยังราชธานี ชาวเมืองเห็นจักรแก้วนั้นแล้วคิดว่าเป็นดวงจันทร์ดวงที่สองปรากฏ เพราะจักรแก้วจะปรากฏในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เมื่อจักรแก้วโคจรถึงพระนคร  จะเวียนรอบพระนคร  ๗  รอบแล้วหยุดอยู่ที่ด้านทิศเหนือของพระราชวังลอยอยู่สูงประมาณกำแพงเมือง  [3]  , ช้างแก้ว  เรียกว่าหัตถีรัตนะจะเกิดขึ้นเป็นช้างคู่บุญของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นช้างมาจากตระกูลอุโบสถ  มีร่างกายขาวปลอด  คอและปากมีสีแดงอ่อน ๆ นมเล็บและปลายงวงมีสีแดงแย้ม  สามารถเหาะไปในอากาศได้  พระเจ้าจักรพรรดิทรงใช้ช้างเผือกคู่บุญนี้ตรวจดูโลกได้ทั่วถึงภายในอาหารเช้า,  ม้าแก้ว  เรียกว่าอัสสรัตนะ  เป็นม้ามาจากตระกูลสินธพ มีนามว่า วลาหกอัศวราช  ร่างกายขาวล้วน  ศรีษะดำ เท้าแดง กลีบเท้าแดง มีผมเป็นพวงดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้ พระเจ้าจักรพรรดทรงใช้อัศวราชตัวนี้ตรวจดูความเรียบร้อยของโลกได้ทั่วถึงภายในอาหารเช้า คือ เสด็จออกตอนเช้าตรู่เสร็จสิ้นการตรวจตราแล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเช้าได้ทัน,  แก้วมณี  เป็นแก้วประเภทแก้วไพฑูรย์เกิดเอง ยาว  ๔  ศอก  ๘  เหลี่ยม  สุกใส แวววาว แสงสว่างของแก้วทำให้บริเวณภายในหนึ่งโยชน์มีแสงสว่างเหมือนกลางวัน [4],   นางแก้ว เรียกว่าอิตถีรัตนะ เป็นสตรีรูปร่างงาม  ชวนมอง ชวนชม ผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก  ไม่สูง-ไม่ต่ำ-ไม่ผอม-ไม่ดำ-ไม่ขาวเกินไป ไม่มีหญิงมนุษย์ใดเทียมเท่า  แต่ไม่เสมอกับความงามของพวกทิพย์ ผิวกายละเอียดอ่อนเหมือนปุยนุ่น กายเปลี่ยนไปตามฤดูคือฤดูหน้ากายจะอบอุ่น ฤดูร้อนกายจะเย็น กลิ่นตัวหอมเหมือนกลิ่นจันทร์ กลิ่นปากเหมือนกลิ่นดอกบัว ทรงตื่นก่อนนอนทีหลังพระสวามี,  ขุนคลังแก้ว เรียกว่าคหบดีรัตนะ เกิดมาเพื่อหาทรัพย์สมบัติให้พระเจ้าจักรพรรดิโดยมีตาทิพย์สามารถมองเห็นทรัพย์สมบัติที่ฝังอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินได้ และ ปริณายกแก้ว  เรียกว่าปริณายกรัตนะ คือผู้ปกครองบ้านเมืองตามพระราชโองการ ท่านผู้นี้จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนแทนพระเจ้าจักรพรรดิโดยความเที่ยงธรรม เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ ประชาชนจะประสบความสุขกันทั่วหน้า [5]

 

            ๔.๒.๓. รูปแบบการสืบทอดอำนาจทางการเมือง

การปกครองในจักรวัติสูตรมีความชัดเจนมาก    ในเรื่องของรูปแบบการปกครองอย่าง    สมบูรณาญาสิทธิราช  พระมหากษัตริย์เมื่อถึงเวลาต้องสละราชสมบัติ ในพระสูตรนี้ระบุว่าเมื่อจักรแก้วเคลื่อนที่ไป  นั้นก็เป็นสัญญาณที่พระเจ้าจักรพรรดิ์จะต้องหมดวาระการดำรงตำแหน่ง หรือหมดอายุขัย โดยเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่แล้วตรัสมอบให้เป็นแบบธรรมราชา ในพระสูตรระบุเอาไว้ว่า

“ลำดับนั้น  ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมารผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า“ ลูกเอ๋ย  ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยินมาว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง  ณ  บัดนี้  พระเจ้าจักรพรรดิของพระองค์นั้นจะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน ”   กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว  บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์  มาเถิดลูกเอย  ลูกจงปกครองแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้  ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์

ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ” [6]

 

.๒.๔.พระราชสมบัติที่ไม่สามารถถ่ายโอนให้กันได้

                แม้การปกครองจะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช  อำนาจโอนจากพ่อสู่ลูก  แต่กระนั้นรัตนทั้ง  ๗  ประการมิได้โอนมาด้วย การจะให้บังเกิดคงอยู่ต่อไปต้องสร้างเอง  โดยคำแนะนำของกษัตริย์พระองค์ก่อน

                “ ลูกเมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว  เจ้าอย่าเสียใจและอย่าแสดงความเสียใจให้ปรากฏเลย  ด้วยว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกสืบมาจากบิดาของเจ้าไม่

ขอให้ลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด  ข้อนี้เป็นฐานะ

ที่จะมีผลได้แล  คือ  เมื่อลูกประพฤติจัรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

สนานพระเศียรในวันอุโบสถ  ๑๕  ค่ำ รักษาอุโบสถ  ประทับอยู่

ชั้นบนปราสาทหลังงาม  จักปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ซึ่งมีกำ 

๑,๐๐๐  ซี่ มีกง  มีดุม  และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ” [7]

เมื่อได้เป็นจักรพรรดิ์แล้ว ความเป็นจักรพรรดิ์ จะคงอยู่ได้ก็ด้วยการที่พระมหากษัตริย์ได้ กระทำการดังต่อไปนี้ คือ

                ๑.ให้อาศัยธรรม  สักการะธรรม  เคารพธรรม  นับถือธรรม  บูชาธรรม  นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย  มีธรรมเป็นยอด  มีธรรมเป็นใหญ่

                ๒.ให้จัดการรักษาป้องกัน และคุ้มครองชนภายใน (หมายถึงพระมเหสี  พระราชโอรส  พระราชธิดา), กำลังพล, กษัตริย์  ที่ตามเสด็จ(รับใช้), พราหมณ์ และคหบดี, ชาวนิคมและชนบท,สมณะพราหมณ์, สัตว์จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม

                ๓.ห้ามไม่ให้ทำผิดแบบแผน  (จารีตประเพณี)

                ๔.สงเคราะห์ผู้คนที่ขาดทุนทรัพย์

                ๕.ให้เข้าหาสมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

                         (...............ติดตามตอนต่อไป............)



[1] ที.ปา.  ๑๑ / ๘๐–๑๑๐  /  ๕๘–๘๒.

[2] ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ๒๕๔๒. (กรุงเทพฯ : บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด, ๒๕๔๖ ).  หน้า  ๒๙๖–๒๙๗.

[3] ทวี  ผลสมภพ. ปัญหาปรัชญาในการเมืองของโลกตะวันออก. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๔). หน้า  ๗๒–๗๓.

[4] เรื่องเดียวกัน  หน้า  ๗๔.

[5] เรื่องเดียวกัน  หน้า  ๗๕.

[6] ที.ปา.  ๑๑ / ๘๐-๑๑๐ / ๖๑.

[7] ที.ปา.  ๑๑ / ๘๓ / ๖๑ - ๖๒.

หมายเลขบันทึก: 438463เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2011 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท