๑๐.การบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา


เรียนท่านผู้เข้าชมทุกท่าน-งานเขียนทั้งหมด ผู้เขียนยินดีให้ท่านคัดลอกและนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ควรอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย ข้อเขียนทั้งหมดมาจากหนังสือ "รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก" ของผู้เขียน

 

.๕. การบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก

                ปัจจุบัน  สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้พยายามคิดค้นแสวงหาศาสตร์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาวิชาการให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  ที่สำคัญได้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้ให้ความสนใจที่จะย้อนกลับมาดูคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไตรปิฎกซึ่งเปรียบเสมือนมหานทีแห่งความรู้ที่ได้ซึมลึกเข้าไปสู่วิญญาณของคนเอเชีย  ทั้งทางด้านความคิดและอุดมการณ์ของคนไทยที่ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  ซึ่งความเป็นจริงเช่นว่านี้ไม่เว้นแม้แต่ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเมือง

                ดังนั้น ทฤษฎีการเมือง  หรือ  ทฤษฎีรัฐศาสตร์  ในพระไตรปิฎกจึงเป็นนวัตกรรมของศาสตร์ร่วมสมัยซึ่งกำลังท้าทายนักรัฐศาสตร์อยู่ในขณะนี้ ในปัจจุบันนักวิชาการทั้งคนไทยและต่างประเทศ ได้หันมาสนใจและมีความต้องการที่จะพัฒนาศาสตร์ในสาขาวิชาของตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้าและสามารถในอันที่จะพร้อมประยุกต์ใช้กับศาสตร์แขนงต่าง ๆ  จนเกือบจะเป็น  สหวิทยาการไปหมดแล้ว  แม้ความรู้ดั่งเดิมของพระพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎก  ก็เป็นแหล่งความรู้ที่รอการพิสูจน์และพัฒนาด้วยการประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่าง ๆ เช่นกัน  ในการนี้ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ได้กำหนดหลักสูตรสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกถึง  ๑๔  ศาสตร์  ดังนี้ [1]

                ๑.นิเวศวิทยาในพระไตรปิฎก           (Ecolqgy in Tipitaka) ได้เข้าไปศึกษาคำสอนในพระไตรปิฎกที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศวิทยา  โดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  เช่น สภาพที่อยู่อาศัย, ป่าไม้, มลพิษ, ผู้คนในสังคม ฯลฯ มนุษย์กับธรรมชาติ เช่น แม่น้ำลำคลอง, ต้นไม้, ภูเขา ฯลฯ  แนวทางในการอนุรักษ์  และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปริบทต่าง ๆ 

                ๒.วิชาสาธารณสุขในพระไตรปิฎก (Health  Care  in  Tipitaka)  การเข้าไปศึกษาคำสอนในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ  ยา  อาหาร  การบริโภคปัจจัย  ๔  การบริหารร่างกายให้มีความแข็งแรงมีสุขอนามัยดีอยู่เสมอ  การรักษาพยาบาล  การพักผ่อน  และจริยธรรมของผู้รักษาพยาบาล เป็นต้น

                ๓.วิชานิเทศศาสตร์ในพระไตรปิฎก  (Communication  in  Tipitaka)               การเข้าไปศึกษาคำสอนในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับหลักการ  รูปแบบที่ใช้  วิธีการสื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า  และจริยธรรมกับการสื่อสารอันเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับวิชาชีพ

                ๔.พระพุทธศาสนากับการสังคมสงเคราะห์ (Buddhism  and  Social  Works)  การเข้าไปศึกษาถึงความหมายขอบข่ายของสังคมสงเคราะห์  หลักการ  รูปแบบ  และวิธีการสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎก  โดยเน้นพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าตามแนวโลกัตถจริยาและบทบาทของพระสงฆ์  ในการสังคมสงเคราะห์ทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อให้เป็นแบบแผนให้กับสังคมชุมชนที่ต้องการรูปแบบการสงเคราะห์แนวพุทธไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

                ๕.ศึกษาศาสตร์ในพระไตรปิฎก (Education  in  Tipitaka)    เป็นการเข้าไปศึกษาคำสอนในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเน้นเป้าหมายของการศึกษาตามไตรสิกขา อันประกอบไปด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา ซึ่งกระบวนการจัดการศึกษาตามแบบกัลยาณมิตรและแบบโยนิโสมนสิการ  วิธีสอนของพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นพระบรมครูเอกของโลก  คุณธรรมและจริยธรรมของความเป็นครู

                ๖.จิตวิทยาในพระไตรปิฎก                (Psychology  in  Tipitaka)เข้าไปศึกษาคำสอนเรื่องจิตและเจตสิกในพระไตรปิฎกเปรียบเทียบกับทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกปัจจุบัน  พฤติกรรมของมนุษย์ตามแนวจริต  ๖  การฝึกจิตด้วยสมถะและวิปัสสนา 

                ๗.อักษรจารึกในพระไตรปิฎก          (Tipitaka  Scripts)  ศึกษาอักษรต่าง ๆ ที่ใช้ในการจารึกพระไตรปิฎก  คือ  อักษรเทวนาครี  สิงหล  ขอม  พม่า  มอญ  อักษรธรรมล้านนา  อีสาน  และโรมัน 

                ๘.สังคมวิทยาในพระไตรปิฎก         (Sociology  in  Tipitaka)  ศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดและทฤษฎีหลักทางสังคมวิทยาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  เปรียบเทียบคุณค่าและความสำคัญของสังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์กับสังคมวิทยาทั่วไป

                ๙.เศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก      (Economics  in  Tipitaka)  ศึกษาวิเคระห์แนวและทฤษฎีหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  จริยธรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภค  เปรียบเทียบเศรษฐศาสตร์ตามพุทธศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

                ๑๐.พุทธประวัติในพระไตรปิฎก      (Life  of  Buddha  in  Tipitaka)  ศึกษาและวิเคระห์พุทธประวัติและพุทธจริยาวัตรที่ปรากฏในพระไตรปิฎกโดยอาศัยอรรถกถาและฎีกาประกอบ

                ๑๑.การอ่านพระไตรปิฎกภาคภาษาอังกฤษ  (Reading  Tipitaka in  English)  ศึกษาการอ่านบทคัดเลือกจากพระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก ในภาคของภาษาอังกฤษ

                ๑๒.ทฤษฎีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในพระไตรปิฎก  (Socio-Anthropological  Theory  in  Tipitaka)  ศึกษาถึงแนวความคิดและทฤษฎีทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  เช่น  ทฤษฎีวิวัฒนาการ  ทฤษฎีอันตรสัมพันธ์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  มีอัคคัญญสูตร,  จักกวัตติสูตร  และสิงคาลสูตร  โดยเปรียบเทียบคุณค่าและความสำคัญของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาตามแนวพระพุทธศาสนากับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั่วไป

                ๑๓.หลักการสังคมสงเคราะห์ในพระไตรปิฎก (Principles  of  Social  Works  in  Tipitaka)  ศึกษาถึงแนวความคิด  หลักการ  ตลอดถึงเป้าหมายของการสังคมสงเคราะห์ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  เช่น  จริยา  ๓, สังคหวัตถุ  ๔, ฆราวาสธรรม  ๔,  ทิศ  ๖  เป็นต้น

                ๑๔.รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก          (Political  Science  in  Tipitaka)  ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดและทฤษฎีหลักทางรัฐศาสตร์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  หลักธรรมของผู้บริหาร  เปรียบเทียบรัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์กับรัฐศาสตร์ทั่วไป

                แม้ว่าพระไตรปิฎกจะถูกนำมาประยุกต์กับ ศาสตร์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางถึง  ๑๔  สาขาวิชา  และในอนาคตจะมีศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาศึกษาพัฒนาร่วมอีก  เช่น  นิติศาสตร์, รัฐประศาสนศาสตร์, ประวัติศาสตร์  เป็นต้น  ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาให้ทันต่อความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง  และศาสตร์เหล่านี้เองก็ต้องรอการพิสูจน์อยู่อย่างมากพร้อมทั้งรอรับการท้าทายจากนักวิชาการรุ่นต่อไปให้เข้ามาศึกษาและจัดระบบอย่างถูกต้องเป็นกระบวนการต่อไป

.๖. ความสำคัญที่ต้องศึกษาพระไตรปิฎกประยุกต์

                การศึกษาแบบบูรณาการ  หรือสหวิทยาการโดยเน้นพระไตรปิฎกเป็นศูนย์กลางนั้นทำให้พระไตรปิฎกหรือ คำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาได้พัฒนาก้าวหน้าไปอีก นอกจากนั้นยังได้เพิ่มความสนใจให้กับคนนอกวงการพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในปี  พ.ศ. ๒๕๒๔  กลุ่มนักวิชาการโดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ดำเนินการศึกษาวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์โดยได้ศึกษาความเป็นไปได้และการเปรียบเทียบกับวิชาการทางสังคมศาสตร์  ๕  สาขากล่าวคือ  ศึกษาศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์, จิตวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์, สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ และรัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์  ผลของความพยายามได้ปรากฏออกมาในรูปเอกสารตีพิมพ์ตามชื่อของวิชาการทั้ง  ๕  สาขาเหล่านั้นโดยสังเขป  ต่อมาวิชาเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง  พร้อมกับได้มีการค้นคว้าเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อให้วิชาการเหล่านี้มีความสมบูรณ์และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น [2]

                เมื่อมีการประยุกต์ศาสตร์ หรือการบูรณาการศาสตร์ทั้งหลายเข้ากับแนวพุทธศาสตร์แล้วย่อมส่งผลถึงการพัฒนาสาขาวิชาการนั้น ๆ ให้เข้าไปสู่มิติทางการศึกษาค้นคว้าต่อไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีความพยายามในการบูรณาการพุทธศาสตร์กับรัฐศาสตร์เข้าด้วยกันแล้วก็ยิ่งจุดประกายให้นักการศาสนาและนักวิชาการเข้ามาศึกษาเพื่อเปรียบเทียมมากยิ่งขึ้น ความจำเป็นในการศึกษาในแนวบูรณาการนี้ไม่ไช่ว่าจะมีเฉพาะปัจจุบัน  แม้แต่รัฐศาสตร์เองก็พยายามแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ มาตลอดและยาวนานพอสมควร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

อานนท์  อาภาภิรม  มองว่าการเริ่มต้นแห่งศตวรรษที่  ๑๕  ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ทางประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นยุคใหม่วิธีการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป      เดิมจากยุคของ พลาโตและอริสโตเติลที่แสวงหาความรู้จนได้พบกฎทางการเมือง   ( Political  laws )  และหลักความเป็นจริง  ( Truths )  มาเป็นการแสวงหาทฤษฎีใหม่ ๆ เกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ในสาขาวิชาอื่น ๆ เพื่อนำมาประกอบในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นโดยได้รับอิทธิพลมาจากการค้นพบของนิวตัน ( Newton ) และเดสคาร์ตีส ( Descartes )  ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการมากมายทั้งในด้านฟิสิกส์  คณิตศาสตร์  และวิชารัฐศาสตร์พร้อมกันด้วย  เช่น  ในปลายคริสต์ศตวรรษที่  ๑๘  แนวคิดเรื่องการแยกอำนาจของรัฐและการถ่วงดุล  ( Checks  and  balances )  ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะนำหลักทางกลศาสตร์  ( mechanical )  และทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการกำหนดโครงสร้างการปกครอง[3]  นั้นก็หมายความว่าวิชารัฐศาสตร์ได้พยายามแสวงหาศาสตร์อื่น ๆ เพื่อเข้ามาพัฒนาศาสตร์ของตนเอง โดยไม่ได้สนใจในวงแคบอย่างเดิมที่ศึกษาเฉพาะเรื่องเท่านั้น 

                จิรโชค  (บรรพต)  วีระสัยและคณะ   ได้ชี้ให้เห็นว่าในแวดวงวิทยาการในปัจจุบันมักส่งเสริมการเรียนรู้แบบ        “ สหศาสตร์ศึกษา ”        หรือแนวพินิจเชิง         “ สหวิทยาการ ”

( interdisciplinary  approach )  สหศาสตร์ศึกษาให้ความสำคัญกับการเกี่ยวพันกันระหว่างวิชาการสาขาต่าง ๆ แนวพินิจเชิงสหวิทยาการเป็นการเปิดโลกทัศน์เชิงวิชาการให้มีขอบเขตกว้างขวางไม่จำกัดอยู่ในแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง โดยผสมผสานหล่อหลอมแง่มุม  หรือแนวคิดของศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน  ดังนั้นเมื่อศึกษาวิชารัฐศาสตร์ก็ควรเรียนวิชาอื่น ๆ ด้วย เพราะการเรียนวิชาอื่น ๆ ในระดับสูงนอกเหนือจากวิชาเฉพาะของตนแล้ว  เป็นของจำเป็นมาก  เพื่อให้เกิดความลึกซึ้งในศาสตร์  จนถึงขั้นที่จะสามารถนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน  และสามารถนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น  หรือใช้ในการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้  [4]

โกวิทย์  วงศ์สุรวัฒน์.  มองว่าวิชาการด้านรัฐศาสตร์  มักถูกมองว่า  เป็นนักขอยืมแนวพินิจ ( Approach )  มาจากสาขาวิชาอื่น ๆ อาทิ  ปรัชญา  ประวัติศาสตร์  สังคมวิทยา  จิตวิทยา  ฯลฯ  ดังนั้นสาขาวิชาต่าง ๆ ต้องมีขั้นตอน  ดังนี้ (ถึงจะก้าวหน้า)

                ๑.ขั้นพรรณา ( Describing )  ขั้นต้นพรรณนาถึงใคร  อะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร ?  เช่น  ระบบการปกครองของประเทศ

                ๒.ขั้นอธิบาย  ( Explaning ) ขั้นอธิบายถึงขึ้นทำไม ?  เช่น ทำไมจึงเกิดรัฐประหารขึ้นใน  พ.ศ.๒๕๒๘  เป็นต้น

                ๓.ขั้นพยากรณ์  ( Predicting )  คือผ่านพรรณา-อธิบาย  แล้วสามารถทำนาย  ว่าในอนาคตมีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  เช่น แผ่นดินไหว  จะเกิดที่ไหน  เมื่อไหร่  รุนแรงเพียงใด  เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือได้

                ๔.ขั้นควบคุม  ( Controlling )  คือขั้นสุดยอดของวิชาการทุกแขนงที่ใฝ่ฝันถึง  [5]

                พระพุทธศาสนาเอง โดยเฉพาะพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์หลักทางพระพุทธศาสนาก็ต้องมีความจำเป็นที่จะเข้าไปรับแนวคิดประยุกต์เพื่อนำมาบูรณาการให้พระไตรปิฎกได้รับการพัฒนาร่วมกับศาสตร์นั้น ๆ ให้มีความก้าวหน้าต่อไปและที่สำคัญเป็นการเพิ่มช่องทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าไปสู่วงการทางวิชาการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

 

 


[1] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.   หลักสูตรพุทธศาสนตรบัณฑิต  พ.ศ.๒๕๔๒.        ((กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,   ๒๕๔๘ ). หน้า  ๒๕-๓๓๙.

[2] จำนง     อดิวัฒนสิทธิ์. สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่  ๒. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๘). หน้า  ๑.

[3] อานนท์  อาภาภิรม. รัฐศาสตร์เบื้องต้น. ( กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๘).  หน้า ๗-๘.

[4] จิรโชค  (บรรพต)  วีระสัยและคณะ. รัฐศาสตร์ทั่วไป. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๘).  หน้า  ๔๓.

[5] โกวิทย์  วงศ์สุรวัฒน์. รัฐศาสตร์กับการเมือง. ( กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๓๔).  หน้า ๗-๘.

หมายเลขบันทึก: 437711เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ผมรบกวนขอความรู้เรื่องคำภาษาอังกฤษของพระไตรปิฎกครับ

ผมเห็นมีใช้กัน 2 คำคือ

Tipitaka กับ Tripitaka

ไม่ทราบว่าคำไหนเป็นคำที่ถูกต้องครับ

กราบขอบพระคุณครับ...

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ขอเสนออีก ๒-๓ วิชา ที่น่าสนใจสำหรับส่งเสริมให้มีคนมุ่งวิจัย ศึกษา และพัฒนาขึ้นอีกครับ

๑) การจัดการชุมชนและประชาสังคมศึกษาในพระไตรปิฎก เพราะการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวมด้วยรูปแบบวิถีชีวิตเป็นหมู่คณะ การลดความสำคัญของการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลสู่การสร้างสุขภาวะสาธารณะร่วมกัน การอยู่ร่วมกันอย่างเสมอกันด้วยปฏิบัติเป็นชุมชน รวมทั้งเป็นวงจรให้ปัจเจกทุกคนสามารถผ่านเข้ามาศึกษาอบรมตนเองผ่านการรับใช้ส่วนรวมได้ทุกคนเหล่านี้นั้น เป็นภูมิปัญญาในการจัดการชีวิตสังคมที่โดดเด่นมากของพุทธศาสนา

๒) ศิลปกรรมและสุนทรียศาสตร์ในพระไตรปิฎก ว่าด้วยระบบคิดเกี่ยวกับมิติจิตใจ การพัฒนาด้านใน การพัฒนาสุนทรียศาสตร์ กระบวนการทางปัญญา การแสดงออกและสื่อสะท้อนทางศิลปกรรม รวมไปจนถึงสื่อศิลปกรรมและบทบาทของงานศิลปกรรมต่อการบันทึกและถ่ายทอดหลักธรรมคำสั่งสอน

๓) ทฤษฎีความรู้และผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพระไตรปิฎก ว่าด้วยกระบวนทัศน์ต่อความเป็นจริงของสรรพสิ่ง การสร้างความรู้และเข้าถึงความจริง การเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาภาวะผู้นำจำเพาะตนของเอหิภิกขุที่มีความเป็นเลิศแตกต่างกัน บรรลุธรรมไม่เหมือนกัน วิถีปฏิบัติและกุศโลบายการทำงานอุทิศตนแบบเป็นเครือข่าย ในการออกไปเป็นผู้นำการเรียนรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางทั่วโลก

กราบนมัสการครับ

เจริญพรท่านอาจารย์ อ.นุ. ขอโทษด้วยที่ช่วงนี้เดินทางบ่อย กระทู้เสียนาน

เรื่อง Tipitaka และ Tripitaka ใช้ได้ทั้งสองคำ

คำแรกแทนคำในฐานะเป็นภาษาบาลี คำที่สองใช้แทนคำในฐานะเป็นภาษาสันสฤต

เจริญพรขอบคุณท่านอาจารย์วิรัตน์ ที่ได้เสนอแนะวิชาเพิ่มเติมที่ดี ๆ ให้

แต่ละวิชาที่ท่านอาจารย์เสนอมาล้วนแล้วแต่น่าสนใจ อย่างไรเสียจะลองนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบอีกที เนื่องจากพระไตรปิฎกเป็นวิชาที่เรียกว่าสหวิทยาการทางพระพุทธศาสนา พร้อมยอมรับวิชาการต่าง ๆ เข้ามาร่วมประยุกต์เสมอ เจริญพรขอบคุณอีกครั้ง

สวัสดีครับผมใคร่จักขอใช้เนื้อความในไปประกอบวิทยานิพนธื

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท