สภาพปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา


สภาพปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา
สภาพปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา
 

                ดร.จำรัส นองมาก ได้กล่าวถึง "สภาพปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา" ไว้ในจุลสาร สมศ. ประจำเดือนสิงหาคม 2545 ไว้ดังนี้
                 ในขณะนี้เรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นทั้ง สถานศึกษาและหน่วยงานที่ควบคุมกำกับ สถานศึกษาซึ่งเห็นความสำคัญและพยายามผลักดันให้เกิด การปฏิบัติในเรื่องของการประกันคุณภาพกันอย่างเป็น รูปธรรมเพิ่มมากขึ้น และการปฏิบัติก็มีทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง แต่ผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูก ต้องจะสร้างปัญหาต่อระบบการประกัน คุณภาพไปอีกนานเพราะ ทำให้ คน เห็นแบบอย่างที่ผิดๆ แล้วไปทำตามแบบที่ผิดๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา คุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด ก็เลยคิดว่า การประกันคุณภาพไม่มีประโยชน์ จนอาจมีผลกระทบในเชิงนโยบายเกี่ยวกับ การดำเนินงานในด้านนี้ต่อไป
                 ปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาแยกกล่าวได้เป็นหมวดหมู่ตามขั้นตอนเกี่ยวกับการประกันคุณภาพได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจ เรื่องการประกันคุณภาพ
                 ความเข้าใจผิดเรื่องการประกันคุณภาพ ทำให้เป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในวงกว้าง มีดังต่อไปนี้
                 1. เข้าใจว่าการประกันคุณภาพเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากบุคลากรในโรงเรียน ขณะนี้ต้องมีภาระงานในความรับผิดชอบมากมายอยู่แล้ว จึงไม่สนับสนุนให้บุคลากรเหล่านั้นต้องมาทำเรื่องการประกันคุณภาพอีกทั้ง ๆ ที่ความจริงการประกันคุณภาพในโรงเรียนก็คือการประกันคุณภาพของงานที่ทำอยู่ตามปกติ งานในความ รับผิดชอบมากมายแค่ไหน ถ้ามุ่งจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้ดีขึ้นก็เข้าข่ายการประกันคุณภาพแล้ว
                 2. เข้าใจว่าการประกันคุณภาพเป็นเรื่องเฉพาะกิจ เกิดกระแสชั่วครั้งชั่วคราว อีกไม่นานก็เลิกล้มไปอีกตามนโยบายของผู้มีอำนาจ ในเรื่องนี้ถ้ามองการประกันคุณภาพว่า เพื่อหวังเพียงป้ายประกาศ หรือหนังสือรับรอง ก็อาจจะเป็นไปอย่างที่เข้าใจได้ แต่ถ้ามองว่า การประกัน คุณภาพเป็นเรื่องของการบริหารงานปกติที่ต้องการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น การดำเนินการในเรื่อง นี้ก็ต้องทำอย่าง ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา องค์กรใดที่มุ่งจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นก็ต้องอาศัยระบบการประกันคุณภาพ ถ้าปราศจากการประกัน คุณภาพ ก็ไม่แน่ใจว่าองค์กรนั้นจะพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นหรือไม่
                 3. เข้าใจว่าการประกันคุณภาพไม่เกิดประโยชน์ เสียงบประมาณ และทรัพยากรเพื่อการนี้โดยไม่คุ้มค่า สาเหตุที่เข้าใจเช่นนี้คงเป็นผล มาจาก ได้เห็นแบบอย่างที่ผิดๆ ในเรื่องของการประกันคุณภาพ แต่คุณภาพไม่ได้ปรากฏ เห็นการปฏิบัติของผู้ทำหน้าที่ประเมินสถานศึกษา ตามกระบวนการประกันคุณภาพที่สนใจแต่ส่วนปลีกย่อยไม่พยายามชี้แนะให้โรงเรียนเห็นข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไป เห็นการใช้ จ่ายงบประมาณของโรงเรียนในการจัดทำเอกสาร และวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ โดยไม่จำเป็น ฯลฯ ถ้าได้พบเห็นตัวอย่างที่ผิดๆ เหล่านี้ ก็อาจจะ ทำให้เข้าใจว่าเป็นการ สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่คุ้มค่า ไม่- จำเป็น แต่ถ้าโรงเรียน ผู้ประเมิน และผู้ควบคุม กำกับโรงเรียนเข้าใจบทบาทและทำเรื่องนี้อย่างถูกต้องทุกฝ่าย งบประมาณที่ใช้เพื่อการประกันคุณภาพมุ่งใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพจริงๆ ตัดทอนส่วนที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นออกไป ก็จะเป็นงบประมาณจำนวนน้อย ถ้านำไปเทียบส่วนกับการใช้จ่าย ด้านอื่นๆ

กลุ่มที่ 2 ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติเรื่องการประกันคุณภาพ
                 ปัญหาในกลุ่มนี้สืบเนื่องจากปัญหาในกลุ่มแรกทำให้หน่วยงานปฏิบัติ คือ โรงเรียน หรือสถานศึกษาดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่ถูกต้อง ดังจะยกมากล่าวเป็นข้อๆ ดังนี้
                 1. โรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องเอกสาร โดยจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับงานและโครงการต่างๆ มากมายใส่แฟ้มจำแนกเป็นรายมาตรฐานหรือรายตัวชี้คุณภาพ โดยเอกสารที่รวบรวมเข้าแฟ้มเหล่านั้นไม่ค่อยสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงๆ ของบุคลากรในโรงเรียน เป็นการแยกส่วนระหว่างการปฏิบัติงานจริงกับการดำเนินการเรื่องการประกันคุณภาพ ซึ่งการปฏิบัติในลักษณะ นี้ไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาตามเจตนาของการประกันคุณภาพการศึกษาได้เลย
                 2. โรงเรียนจัดให้ครูเพียงบางส่วนจากจำนวนครูทั้งหมดในโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่ในเรื่องการประกันคุณภาพ ครูที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้ มีหน้าที่รวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ เขียนรายงานการดำเนินงานตามแบบอย่างของโรงเรียนอื่นที่คาดหวังว่าดี มีความเหมาะสม โดยรายงานและเอกสาร หลักฐานต่างๆ เป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติงานจริงๆ ผู้เขียนพยายามเขียนในสิ่งที่คาดหวัง ว่าจะทำให้ผู้อ่านหรือผู้ประเมินมีความพอใจมากกว่าเขียนตามสภาพจริงเพื่อหวังผลในการปรับปรุงพัฒนา การดำเนินงานลักษณะนี้ไม่ได้ ส่งเสริมให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนดีขึ้น แต่เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ ทั้งคนและเงินงบประมาณ ที่ต้องทำหลักฐานเท็จ เพื่อหวังว่าจะสามารถหลอกกรรมการผู้มาประเมินได้

กลุ่มที่ 3 ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการใช้ผลจากการประเมินและตรวจสอบ
                 การประเมินและตรวจสอบ เป็นกิจกรรมสำคัญของการประกันคุณภาพ ในวงจรการประกันคุณภาพเมื่อได้มีการประเมินและตรวจสอบผลการดำเนินงานไปแล้ว ก็ต้องนำผลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนางานให้มี คุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป การใช้ผลจากการประเมินและตรวจสอบ เท่าที่เป็นปัญหา อาจแยกกล่าวเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
                 1. ผู้ถูกประเมินไม่กล้ารับความจริง เนื่องจากการประเมินแต่ละครั้ง จะต้องมีผลทั้งในทางดี และไม่ดี ผู้ถูกประเมินบางคน ไม่กล้ายอมรับความจริง ถ้าเรื่องไหนประเมินแล้วว่าไม่ดีก็จะไม่พอใจผู้ประเมิน ถ้าผู้ประเมินหลีกเลี่ยงสิ่งที่ ผู้ถูกประเมินไม่พอใจ โดยเขียนผล การประเมินที่ไม่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ก็จะเป็นการประเมินที่คลาดเคลื่อน ผลการประเมินในลักษณะนี้จึงไม่สามารถนำไปเป็นข้อมูล เพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ตรงกับสภาพจริงๆ ได้
                 2. ใช้ผลการประเมินไม่คุ้ม เนื่องจากวัตถุประสงค์สำคัญของการประเมิน ก็เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงาน ต่อไป แต่ถ้าประเมินแล้วเก็บไว้เฉยๆ ไม่นำผลไปใช้ประโยชน์ ก็นับว่าใช้ผลการประเมินไม่คุ้ม เพราะในการประเมินแต่ละครั้ง หน่วยงาน ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และกำลังคนในการทำงานมาก ปัญหาส่วนใหญ่ในโรงเรียน ก็คือเรื่องการใช้ผลการประเมินไม่คุ้ม หรือไม่ได้ ใช้ผลการประเมินเลย โรงเรียนไม่ได้นำผลจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาแล้ว ไปปรับปรุง แก้ไข หรือกำหนดแนวทางพัฒนางาน ในความ รับผิดชอบ ของแต่ละคนในโรงเรียน ให้เป็นไปตามระบบของการประกันคุณภาพ ผลการประเมินเป็นอย่างไร บางครั้งผู้บริหารไม่สนใจ กลับปฏิบัติเหมือนเดิม ความผิดพลาด บกพร่องจึง ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข

ปัญหาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ ทั้งสามกลุ่ม เป็น
                 เรื่องที่จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถูกต้อง ถ้าปล่อยให้มี การกระทำที่ผิดพลาด ก็จะเป็นการขยายปัญหาให้ กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพราะคนที่ไปพบเห็นแบบอย่างที่ผิดๆ แล้วสรุปว่านั่นเป็น การปฏิบัติ เพื่อการประกันคุณภาพ ก็จะยิ่งช่วยให้ระบบประกันคุณภาพที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ในการทำงานเพื่อแสวงหาสภาพที่ดีกว่า ต้องเป็นที่สงสัย ของคนในสังคมมากไปด้วยว่าจริงหรือไม่มาช่วยกันทำให้ถูกต้อง โดยเริ่มที่ตัวเองก่อน ก็จะพิสูจน์ได้ว่า การประกันคุณภาพดีอย่างไร

 
หมายเลขบันทึก: 43715เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

KPI ของงานตรวจสอบคือ ขั้นตอนการดำเนินงาน ที่มีความสัมพันธ์กับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ความหมายคือ การตรวจสอบตามคู่มือการทำงานที่ระบุในตัวบ่งชี้ว่าเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปตามมาตรฐานของงานที่ได้กำหนดไว้ ข้อความมีความหมายถูกหรือควรปรับเพิ่มอย่างไรบ้าง

ขอบคุณคะ

การประกันคุณภาพภายใน เป็นเรื่องที่โรงเรียนปฏิบัติกันอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการจัดเก็บเอกสารอย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ประชาสัมพันธืและเผยแพร่อย่างเป็นระบบ เท่านั้นเอง เพราะในองค์กรส่วนใหญ่จะเน้นการปฏิบัติมากกว่าการจัดเก็บเป็นเอกสาร เมื่อมีความต้องการหรือรอรับการประเมินจึงค่อยจัดเก็บกันที ไม่เป็นปัจจุบัน หามรุ่งหามคำ ทางที่ดีที่สุดคือผู้บังคับบัญชาในระดับสูงของแต่ละขั้นควรมีการกำกับ ติดตามอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ให้ผู้ปฏิบัติตระหนักถึงความสำคัญ โรงเรียนหลายๆแห่งปฏิบัติได้ดีมาก สมควรยกย่องเป็นแบบอย่างและให้ขวัญกำลังใจ ประกาศเกียรติคุณรับรองว่าการประกันคุณภาพ (มาตรฐาน)ย่อมบังเกิดผลดี เป็นปัจจุบันทันใจแน่นอน ...

อืม เรื่องระบบการประกันคุภาพเป็นเรื่องของทุกคนในสถานศึกษา เป็นความจริงที่ว่า สถานศึกษาได้ปฏิบัติภารกิจมาก แต่บางที่ไม่ค่อยได้บันทึกไว้ เวลาประเมินครั้งนึงเลยต้องทำกันวุ่นวายเป็นพักๆไป ถ้าครูไทยหมั่นบันทึกหมั่นส่งงานให้ ผอ.ตรวจ มันก้ไม่มีปัญหาอะไร ครูบางคนก็รับไม่ได้เวลามีคนมาประเมินแล้วให้คะแนนไม่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท