กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ


การชำระค่าสินค้าโดยไม่ใช้เงินตรา
การชำระค่าสินค้าโดยไม่ใช้เงินตรา : การแลกเปลี่ยนในทางการค้า (Countertrade)
การแลกเปลี่ยนในทางการค้า (Countertrade) คือวิธีการทางการค้าที่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับ Barter แต่มีเรื่องของความสัมพันธ์ กฎระเบียบ นโยบายทางการเมืองแทรกซ้อนอยู่ด้วย มักจะมีระยะเวลาของการติดต่อเพื่อแลกเปลี่ยนที่กินเวลานานกว่า 1 ปี การค้าในภาวะปัจจุบันซึ่งกว้างขวางขึ้นมีการติดต่อในเครือข่ายที่กว้างไกลระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา ทำให้มีการนำวิธีการค้าโดยการแลกเปลี่ยนมาใช้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยก็มีการใช้วิธีการค้าต่างตอบแทนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศด้วยวิธีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชนิดกัน การที่จะกำหนดมูลค่าของสินค้าที่แลกเปลี่ยนด้วยมูลค่าที่เท่ากันพอดีจึงอาจทำโดยการชดเชย ด้วยวิธี การซื้อคืน (Buyback) การที่ต่างฝ่ายต่างทำสัญญาว่าจะซื้อสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง (Counterpurchase) และการค้าเพื่อแลกเปลี่ยนที่มากกว่าเฉพาะตัวสินค้า (Offset) ซึ่งอาจเป็นการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต
สาเหตุที่ทำให้เกิดการค้าโดยวิธีแลกเปลี่ยน
1. ชำระหนี้แทนเงินตรา เพื่อเป็นการช่วยปลดเปลื้องหนี้สินของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการนำเข้าเพื่อการพัฒนาเป็นมูลค่าสูง จึงใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตจากในประเทศกับสินค้าที่นำเข้า
2. การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศใช้เงินตราสกุลต่างประเทศที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ประเทศกลุ่มสังคมนิยมและกลุ่มประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลกลาง รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะใช้จ่ายเพื่อจัดหาสินค้าที่ตนต้องการ การใช้วิธีการแลกเปลี่ยนในทางการค้าจึงเป็นทางเลือกที่ดี
3. การขาดแคลนความเชี่ยวชาญด้านการค้า ประเทศกลุ่มสังคมนิยมและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังขาดความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาเพื่อการแข่งขันและการตลาด
4. การขาดแคลนทรัพยากรหรือปัจจัยบางอย่างที่จำเป็นในขณะเดียวกันก็ถูกจำกัดปริมาณการค้า จึงทำให้ต้องนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือไปแลกเปลี่ยน
5. การเปิดตลาดใหม่ เมื่อประเทศหนึ่งยอมซื้อสินค้าจากอีกประเทศโดยการยอมรับสินค้าในสัญญาแลกเปลี่ยน ก็เท่ากับได้ลูกค้าที่จะเป็นผู้เผยแพร่ใหม่ ซึ่งถือเป็นการช่วยขยายตลาด
6. การสร้างความต่อเนื่องทางการค้า เนื่องจากการขายในเชิงแลกเปลี่ยนสินค้ามักจะก่อให้เกิดสัญญาการค้าต่อกันในระยะยาว
       การค้าในเชิงแลกเปลี่ยนนี้มีบางประเทศยอมรับว่ามีประโยชน์ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมหรืออาจดำเนินการเอง หรือยอมให้ธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการ เพราะประเทศเหล่านี้มองว่าเป็นวิธีนี้เป็นช่องทางการขยายตลาดให้แก่ผู้ซื้อที่มีปัญหาทางด้านการเงิน และเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการแข่งขันทางการตลาด นอกจากนี้ยังช่วยหลีกเลี่ยงกฎหมายภาษีของประเทศ ลดภาระด้านภาษีนำเข้าลง และยังเป็นช่องทางการขยายตลาดเข้าสู่ผู้บริโภคกลุ่มสังคมนิยมด้วย แต่ก็มีหลายประเทศไม่เห็นด้วยและไม่ส่งเสริมให้ทำการค้าโดยวิธีนี้ หรือทำการค้าด้วยวิธีนี้ด้วยความไม่เต็มใจนัก สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ประการหนึ่งเนื่องจากสินค้าที่ผู้ขายหรือผู้ส่งออกซื้อมาจากประเทศผู้นำเข้าไม่มีความต้องการจากผู้ใช้ในประเทศของตน หรือมีผู้ใช้จำนวนน้อย ขายยาก และใช้เวลานาน ซึ่งการที่ต้องเก็บรักษาเป็นการเพิ่มภาระทั้งด้านเงินทุนและค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ประการที่สอง เนื่องจากความซับซ้อนและยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นในการเจรจาต่อรอง เพื่อตกลงทำสัญญา และประการสุดท้าย เนื่องจากเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในทางการค้า ซึ่งอาจเกิดจากการโก่งราคาสินค้าเพราะคู่ค้าจำเป็นต้องซื้อสินค้าตามสัญญาแลกเปลี่ยน หรืออาจจำเป็นต้องพึ่งพานายหน้าหรือบุคคลที่สามเพื่อดำแนะนำการต่อรองให้ เป็นต้น
ที่มา : http://www.members.tripod.com
หมายเลขบันทึก: 43482เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นวิธีที่น่าสนใจนะคะ

ได้สิ่งที่ต้องการตรงไปตรงมา...

[แวะมาเยี่ยมค่ะ ^_^]

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท