สมุนไพร รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและ แผลถลอก


ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่านไฟไหม้ หางตะเข้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe barbadensis Mill. Aloe vera Linn

วงศ์ Liliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พืชล้มลุก ลำต้นสั้น ใบออกเป็นกระจุกที่ปลายลำต้นใบเป็นใบเดี่ยว รูปยาวปลายแหลม หนาและฉ่ำน้ำ ขอบใบมีหนามแหลมผิวใบมีสีเขียวใสและมีรอยกระสีขาว ภายในมีวุ้นและเมือกมาก ช่อดอกออกตรงกลางลำต้น ก้านช่อดอกยาวมาก ดอกเป็นหลอด โดยดอกเชื่อมติดต่อกันเป็นท่อ ปลายแยกกัน กลีบดอกสีส้มแดง

การปลูก

ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่ปลูกง่ายโดยใช้หน่ออ่อน ขึ้นได้ดีบริเวณริมทะเล ที่เป็นดินทราย และ มีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ จะปลูกในกระถางหรือในแปลงก็ได้ ปลูกห่างกัน 1-2ศอก เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องมีการระบายน้ำที่ดี มิฉะนั้นจะทำให้รากเน่าและตาย ว่านหางจระเข้ต้องการแดดรำไร ถ้าถูกแดดจัดใบจะเป็นสีน้ำตาลแดง

ส่วนที่ใช้เป็นยา วุ้นและเมือกจากใบสด

ช่วงเวลาเก็บเป็นยา เก็บในช่วยอายุ 1 ปี

สาระสำคัญ

1. วุ้นและเมือกจากใบ มีสารพวกไกลโคโปรตีน (glycoprotein) ชื่ออะลอคทินเอ (aloctin A) และ อะลอคทินบี (aloctin B) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ลดอาการอักเสบและช่วยสมานแผลโดยไปส่งเสริมการจับตัวและการเจริญเติบโตของเซลส์ที่บาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

2. ยางสีเหลืองในส่วนของเปลือกใบ มีสารจำพวกแอนทราควินดนน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายหลายชนิด เช่น อะโลอีโมดิน (aloe-emodin), อะโลซิน (aloesin), อะโลอิน (aloin) เป็นต้น

ประโยชน์ในการรักษา

1. วุ้นจากใบใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและ แผลถลอก

วิธีใช้

เลือกใบว่านหางจระเข้ที่อยู่ส่วนล่างๆ เพราะใบใหญ่ได้วุ้นมากนำมาปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองที่ติดมาออกให้หมด โดยใช้น้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิม ขูดเอาวุ้นใสมาพอกบริเวณแผล ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย จะช่วยระงับความเจ็บปวด ช่วยให้แผลหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น

ข้อควรระวัง

ควรล้างยางสีเหลืองจากส่วนเปลือกออกให้หมดก่อนนำมาใช้ควรทดสอบว่ามีอาการแพ้หรือไม่ โดยทาวุ้นลงบริเวณแขนด้านใน หากไม่เกิดอาการคันหรือแดงก็ใช้ได้

2. วุ้นและเมือกจากใบใช้รักษาแผลเรื้อรัง และแผลในกระเพาะ

วิธีใช้

นำใบมาปอกเปลือกออก เหลือแต่วุ้น ล้างน้ำให้สะอาด ใช้รับประทานวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น

3. น้ำเมือกจากใบใช้ทาผิวหนังเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาผิวหนังเกรียมจากแสงเอ็กซเรย์และกัมมันตรังสี ปัจจุบันมีการนำว่านหางจระเข้มาผสมในเครื่องสำอางอีกด้วย เช่น เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวและผมเป็นต้น

4. ยางสีเหลืองจากเปลือกใบ ใช้ทำยาดำซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดย เมื่อกรีดใบว่านหางจระเข้จะมียางสีเหลืองๆ ไหลออกมา เมื่อนำน้ำยางที่ได้ไปเคี่ยวเพื่อระเหยน้ำออกไป เมื่อทิ้งให้เย็น จะเป็นก้อนสีน้ำตาลดำ เรียกว่า “ ยาดำ “ ใช้เป็นยาระบาย และมักจะใช้แทรกในตำรับยาแผนโบราณที่ต้องการให้มีการระบายให้มีการระบายหลายตำรับ จนกระทั่งมีคำพังเพยว่า ”แทรกเป็นยาดำ” ยาดำ เมื่อรับประทานแล้ว จะเกิดอาการใช้ท้องเพราะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวมาก ขนาดรับประทานประมาณ 250 มิลลิกรัม หรือประมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว ว่านหางจระเข้พันธุ์ที่ปลูกในไทยมีปริมาณน้ำยางน้อยไม่อาจใช้ในการผลิดยาดำ ยาดำส่วนใหญ่จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

คำสำคัญ (Tags): #ว่านหางจระเข้
หมายเลขบันทึก: 43478เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2013 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้เยอะนะเนี่ย

ผมเคยลองใช้แล้วครับโดยใช้กับแผลสดที่เกิดกระจกบาดที่เท้าโดยใช้ส่วนที่เป็นวุ้นใส

โดยใช้ปิดทับแผลโดยใช้ผ้าพันแผลปิด แผลหายสนิทดีไม่เป็นแผลเป็นแต่จะมีรอยสีดำที่ผิงหนังแต่สักระยะสีผิวก็จะปรับสภาพเป็นปกติ ไม่ทราบว่ามีใครทำพลาสเตอร์ว่านหางจระเข้บางใหมหนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท