อย่าแยกชีวิตออกจากงานเลยครับ


เบื้องหลังรอยยิ้มอันสดใส มันก็มีรอยเปื้อนของคราบน้ำตาเจืออยู่


          วันนี้ผมคุยกับตูนเรื่อง ผมเขียนบล็อกเรื่องลูก ตูนบอกว่าตอนนี้ตูนแยกบล็อกออกมาแล้ว ว่าคนที่เขียนเรื่องงานอยู่พลาเน็ตหนึ่ง คนเขียนเรื่องลูกอยู่อีกพลาเน็ตหนึ่ง ผมเลยบอกกับตูนว่า “อย่าไปแยกเล้ยให้มันอยู่ปนเปกันไปอย่างนี้แหละ” ในความคิดของผม ผมว่าชีวิตกับงานแยกกันไม่ออก บางคนอาจจะทำได้ที่ทำให้รู้สึกว่าภาพลักษณ์ของเราดูสดใส ชีวิตมีมีปัญหา ผมว่าบางครั้งเบื้องหลังรอยยิ้มอันสดใส มันก็มีรอยเปื้อนของคราบน้ำตาเจืออยู่
       
           ผมเคยนึกอยู่หลายครั้ง ว่าผมควรจะเขียนบันทึกเรื่องลูก เรื่องครอบครัวดีไหม หรือว่าเราควรจะปิด ความคิดและความรู้สึกตรงนี้ไว้กับตัวเรา ไว้กับครอบครัว เก็บเรื่องนี้ไว้ให้เป็นฉากหลังของชีวิต แต่ผมจำได้ว่า เบื้องหน้ารอยยิ้มของแม่ที่คอยดูแลชีวิตของเรา ดูเหมือนท่านมีความสุข แต่พอผมได้เจอบันทึกของแม่ที่เขียนบันทึกถึงความทุกข์ในใจของท่านที่ท่านไม่ได้ระบายออกมาให้ลูกเห็น ผมจำได้เลยว่ามองเห็นรอยคราบน้ำตาที่อาบลงบนสมุดบันทึกของแม่ แล้วทำให้รู้เลยว่าแม่เศร้าและมีความทุกข์ใจเพียงใด ทำให้ผมเข้าใจแม่มากขึ้น และรักท่านมาก

             ผมจึงนึกว่าบันทึกนี้ผมเขียนไว้ เหมือนกับการที่ได้กลั่นกรองความรู้สึกนึกคิดออกมาร้อยเรียงผ่านตัวอักษร เหมือนเราได้บำบัดความรู้สึกของเราไปด้วย
 
             ตอนเช้าวันนี้ก่อนเข้าไปเป็นผู้นำสรุป กิจกรรมการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย อ.สมลักษณ์ ได้เข้ามาคุยกับผมเรื่องบันทึกที่ผมเขียนเรื่องลูก ตอนแรกผมฟังเหมือนอาจารย์พยายามจะปลอบใจผม ไม่ให้เคร่งเครียดไปกับเรื่องของลูก แต่ฟังไปฟังมา กลับกลายเป็นว่า อาจารย์สมลักษณ์เองก็มีปัญหาพ่อกับลูกชายเหมือนกัน ทำให้ผมรู้สึกดีมากๆ ว่าอย่างน้อยก็มีคนที่มีปัญหาคล้ายๆ เรา เราก็คุยกันอีกหลายเรื่อง และอาจารย์ยังให้ข้อแนะนำดีๆ ให้กับผมในหลายๆ เรื่อง ทำให้ผมรู้สึกดีใจที่ผมคิดไม่ผิดที่ผมเขียนเล่าเรื่อง ที่น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของงาน ปนเปอยู่ในบันทึกเรื่องของงาน เพื่อให้คนอื่นได้เห็นภาพชีวิต ของคนคนหนึ่ง ซึ่ง อ.สมลักษณ์ ก็ยังบอกว่า การเขียนอย่างนี้ดีที่จะทำให้เรารู้จักกันและกัน รู้จักเพื่อน เหมือนกับที่ผมรู้สึกประทับใจในบันทึกของคุณเมตตา "แค่เปิดใจยอมรับ ความสุขมาเป็นกอง" มากๆ ที่ทำให้ผมไม่ได้รู้สึกหว้าเหว่ และทำให้ผมได้รู้ว่าจะมีเพื่อน มีครอบครัวอีกมากมายที่ไม่สามารถแยกชีวิตออกจากงานได้เหมือนกัน

คำสำคัญ (Tags): #ชีวิตกับงาน
หมายเลขบันทึก: 43440เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เรียน อาจารย์รุจโรจน์ ครับ 

ผมเห็นดีด้วยกับอาจารย์ โดยประสบการณ์เขียนบันทึกผมเองครับ ตอนแรกบันทึกของผมก็คิดว่าจะแยกออกเป็นส่วนๆงานและความสนใจสนตัว

แต่พอเขียนแล้ว ไม่อยากแยกครับ เป็นความรู้สึกที่ต่อเนื่อง เหมือนไดอารี่ที่มีชีวิต มีหลากรสชาด มีพัฒนาการในส่วนความรู้สึก เมื่อเทียบกับบันทึกแรกๆที่ผมเขียนไป กับวันนี้แตกต่างกันพอสมควร ...ครับ

ผมมี๒ Blog แต่อีก Blog ก็ไม่ค่อยได้เข้าไปเขียน

มองว่า วันหยุดผมเขียนเรื่องสบายๆ เที่ยว เฮฮา ตามประสาหนุ่มโสด

พอวันธรรมดา เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องแลกเปลี่ยนบ้าง

ผมเขียนออกแนวอาจจะดูวิชาการบ้างเล็กน้อยในวันธรรมดา ก็เพราะอยากต่อยอดและอยากเรียนรู้ เพิ่มจากผู้รู้ทั้งหลายที่โลดแล่นในGotoknow

สิ่งที่ผมเห็นอย่างหนึ่ง คือ ทุกคนรู้จักผมดีขึ้น เพราะบันทึกเองก็บอกบุคลิกของผม บอกตัวตนผม ผมเริ่มมีเพื่อนมากขึ้นเรื่อยๆครับ

Blog คือ ชีวิต

ชีวิตก็อยู่ในBlog

บอกถึงความเป็นผมเองครับอาจารย์ 

ผ่านการคิดของคนหลายคนมาแล้วประเด็นนี้ ดิฉันเองก็ไม่ตกหล่นการคิดเรื่องนี้ไป  ด้วยความพยายามแยกเรื่องดิฉันเองเปิด Blog ไว้ 3 เรื่อง
ผู้ประสานงานเครือข่าย UKM  เก็บได้จากการทำงาน และเมื่อเป็นแม่  ดูเนื้อหาแล้ว ก็น่าจะแยกเรื่องที่จะเขียนได้ไม่ยาก เพราะชัดเจน แต่จากประสบการณ์ของตัวเองเวลาตามอ่าน ของแฟนเพลงที่มีหลาย blog มันงงๆ ตามหาเรื่องที่เคยอ่านไม่เจอ จึงได้สรุปว่าคนเขียนมีหลาย blog ตามอ่านยาก ในระยะหลังจึงเขียนทุกเรื่อง ใน "ผู้ประสานงานเครือข่าย UKM" เวลาจะลงบันทึกทีไร ก็ขัดใจ "ชื่อเรื่อง" กับ "ชื่อblog" ทุกคราไป ล่าสุดคิดจะเปลี่ยนชื่อ blog ให้ดูกลางๆแบบชื่อ blog ของอาจารย์ที่ดิฉันตามอ่านอยู่ "จากโน๊ตของผม"
ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกนี้ เมื่อเช้าอ่านผ่านๆ ก่อนไปประชุมเรื่อง"จาว่า"กับ"จาเปา"  เดี๋ยวจะเข้าไปต่อยอดให้ค่ะ
บรรทัดที่ 5   ข้อความ "บางคนอาจจะทำได้ที่ทำให้ลูกสึกว่าภาพลักษณ์ของเราดูสดใสชีวิตมีมีปัญหา..."  แก้คำผิดหน่อยมั๊ยคะ มันทำให้ความหมายคลาดเคลื่อน  ขอบคุณอีกครั้งค่ะที่ประทับใจ "แค่เปิดใจยอมรับ ความสุขมาเป็นกอง" มันเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ทำใจยอมรับความต่างได้ หลังจากที่ยอมรับได้มันก็ไม่ใช่ปัญหาความต่างอีกต่อไป  เดี๋ยวนี้กลับชอบไปค่ะ คุณพ่อบ้านไม่ไปดิฉันก็พาลูกๆ ไประบายสีเสมอ
"KM จะเน้นที่ความสำเร็จไม่เน้นปัญหา" แต่มักพบว่ากลุ่มคนที่เคยพบ กำลังพบ เคยมี หรือกำลังมีปัญหา และได้แก้ปัญหานั้นๆ มาด้วยตนเองมักจะเล่าได้อย่างออกรสออกชาด ร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาจากประสบการณ์ และมีประเด็นที่เล่าด้วยความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะหากเป็นการเล่าแบบ f2f สายตาจะเปล่งประกายได้มากกว่าคนที่ไม่เคยพบปัญหาค่ะ ขอบคุณท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ อาจารย์หนึ่ง พี่เมตตา คุณธวัช และคุณพ่อคุณแม่อีกหลายๆ ท่านที่นำประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตและเรื่องของคุณลูกๆ มาถ่ายทอดใน blog ค่ะ ถึงแม้ชีวิตของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่อย่างน้อยก็ทำให้ได้เรียนรู้จากเรื่องเล่าเหล่านั้นได้มาก รับรู้ในมุมที่ตัวเองมองไม่เห็นค่ะ สงสัยเรากำลังมีชุมชนย่อยซึ่งเป็นชุมชนใหม่แฝงอยู่ใน gotoknow แบบที่เราไม่รู้ตัวรึป่าวคะ

KM and  Success or Failure Story

 No matter with lesson learn from failure or success,we must all consider "HOW TO".

เข้ามาเป็นกำลังใจให้อีกคนคะ

  • ขอบคุณ คุณจตุพร
  • ขอบคุณคุณเมตตา
  • ขอบคุณตูน
  • ขอบคุณคุณหมอจิตเจริญ
  • ขอบคุณอิ๋ว
  • และทุกๆ ความคิดเห็นที่ร่วมแบ่งปัน และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันครับ
  • ตอนนี้ผมเปิดใจฟังลูกมากขึ้น เดินตามลูกไปที่ห้องเรียน ตอน 7.30 น. เห็นแล้วตกใจ เด็กนักเรียนมาเต็มห้องเลย ผมคงต้องคุยกับแม่บ้านกันใหม่ว่าลูกเค้าเร่ง และเคร่งเครียด อยากไปโรงเรียนเช้านั้นเค้าไม่ได้ผิดปกติอะไร พ่อแม่ต่างหากที่ทำเค้าไปสาย
  • เมื่อก่อนแยกเป็น 2 บันทึกเรื่องทั่วไป กับภาษาอังกฤษ ตอนนี้ทำไมมารวมกันแล้วก็ไม่รู้
  • ผมอยากให้อาจารย์ถ่ายทอดให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับเด็กๆ อย่างน้อยอาจารย์รุ่นผมได้ทราบ ได้มีประสบการณ์(เมื่อมีลูกเป็นของตัวเองบ้าง)
  • อย่างน้อยก็มีบางท่านเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ
  • เชื่อว่าการฟังเด็กๆบ้างก็ดีครับ
  • ขอบคุณ ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านแล้ว รู้สึกมีเพื่อนค่ะ

เพราะดิฉันมีบล็อกเดียว จะเปิดอีกบล็อก ก็อาจจะสับสนเสียเอง

บางที เรื่องมันก็เกี่ยวพันกันค่ะ

  • แวะมาเยี่ยมน้องชาย
  • สนับสนุนค่ะ เพราะตามอ่านง่าย
  • หลายๆท่านเปิดหลายบล็อกจะตามอ่านได้ยาก
  • เพราะเป็นคนที่ติดตามงานท่านอื่นจากแพลนเน็ตของตัวเอง พอหลายท่านเปิดบล็อกใหม่ก็จะไม่ได้อ่าน เสียดาย
  •  บันทึกมีตั้งหลายแสน กว่าจะหาเจอก็แทบแย่เลย
  • ช่วงหลังไม่ค่อยได้ยินเรื่อง 2 หนุ่มเลย
  • เล่าให้ฟังหน่อยสิค่ะ อยากเห็นมุมมองคนรุ่นใหม่ที่ทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย
  • และอยากเห็นหลานว่าโตแค่ไหนแล้ว อิอิ

สวัสดีค่ะอาจารย์หนึ่ง

    ชีวิตกับงานเป็นส่วนสนับสนุนกัน  เรื่องลูกสำคัญมากในความรู้สึกฃองคนที่เป็นพ่อ แม่ โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นความสำเร็จของลูกๆ มันคือความสุขที่ยิ่งใหญ่  เป็นการเติมพลังให้เรามีแรงทำงานต่อไป 

                             แลกเปลี่ยนนะค่ะ

                              จาก ..ศิษย์ลูกสาม

อย่างไรเราก็แยกชีวิตส่วนตัวของจากชีวิตการทำงานไม่ได้
แม้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นคนละส่วนกันแต่ทั้งสองส่วนนี้ก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่
ถ้าชีวิตส่วนตัวไม่ดีก็จะทำให้ชีวิตการทำงานพลอยไม่ดีด้วย
หรือว่าชีวิตการทำงานไม่ดีก็จะพลอยฉุดชีวิตส่วนตัวให้ตกต่ำลงไป
อย่าแยกชีวิตออกจากงานเลยครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

  • ผมเข้าใจในคำว่า "อย่าแยกชีวิตออกจากงาน" ครับ ... มันคือการจำลองชีวิตของตัวเองลงในบันทึกที่ว่า ความสุขและความทุกข์มีคละกันไปทุกวัน ๆ ครับ
  • แต่ ... ผมกลับเขียนบันทึกแบบแยกย่อยไปแล้วครับ ... แต่มีบางส่วนที่ปนเปกันเช่นกัน จึงอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่า จะแยกต่อไปอีกหรือไม่ หรือปล่อยมันไป

ขอบคุณครับ อาจารย์ :)

เรื่องลูกๆหลานๆ สำคัญเพราะเราต้องผูกพันทุกเมื่อเชื่อวัน วันนี้หลานๆมาเล่นอินเตอร์เน็ตที่บ้าน เด็กมัธยม 1 เค้าอ่านนิยายทางอินเตอร์เน็ต ใน dek-d.com/writer/

  • เห็นแล้วก็ทึ่งเค้าเหมือนกัน
  • งานกับส่วนตัวจึงแยกกันไม่ออก จริงๆด้วยค่ะ
  • ตอนที่ตัวเองลดบล็อกให้เหลือบล็อกเดียว เมื่อนานมาแล้วก็เล่นเอาข้อมูลตอนต้นๆที่บันทึกไว้หายไปเหมือนกันค่ะ เสียดายแต่ไม่ทราบจะทำอย่างไรค่ะ  อยากเปลี่ยนชื่อบล็อกเหมือนกันกับคุณเมตตาเลยค่ะ แต่ใช้ชื่อนี้มานานจนใครๆคงหาบล็อกจากชื่อนี้ จึงไม่ตัดสินใจเปลี่ยนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท