ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวช


จะต้องมีความสามารถใน การครองตน ไม่เอนเอียงไปในทางแห่งความวิบาก หรือสิ่งที่นำเราให้ต่ำ

 

การปฏิบัติ ตามปริยัติ สู่ปฏิเวช

          อาจารย์บรรจง ชูสกุลชาติ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นคนใต้คนหนึ่งที่ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการพลเรือน ท่านได้บรรยายและให้ข้อคิดอันเป็นหลักในการนำไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน และการรับราชการเสมอว่า ข้าราชการที่ประสบความสำเร็จในชีวิตราชการจะต้องมี ๓ สิ่งคื

  • หนึ่ง ภูมิรู้
    สอง ภูมิธรรม
    สาม ภูมิฐาน

ในเรื่องของ ภูมิรู้  นั้นท่านได้อธิบายไว้ว่าหมายถึง ความรู้ความสามารถด้านเทคนิคหรือความชำนาญเฉพาะอย่าง เช่นครูสอนออกแบบต้องมีความรู้ความสามารถในการออกแบได้จริง รู้แจ้งแทงตลอดในสาขาวิชาที่ตัวเองดำเนินการสอนอยู่ หรือครูสอนวิชาเครื่องถม ก็ต้องมีความชำนาญในวิชาการเครื่องถม ทั้งทฤษฎี ปฏิบัติ และออกแบบคือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและเทคนิคของงานนั้น ๆ รวมทั้งรู้ว่า ครูที่ถ่ายทอดความรู้ต่อศิษย์ มีวิธีการอย่างไร สอนอย่างไร ให้ผู้รับความรู้ได้รับการถ่ายทอดความรู้นั้นอย่างถูกต้อง เชื่อมั่นและเกิดทักษะอย่างแท้จริง

       สอง ภูมิธรรม คือ การที่บุคคลนั้น ๆ จะต้องมีความสามารถใน การครองตน ไม่เอนเอียงไปในทางแห่งความวิบาก หรือสิ่งที่นำเราให้ต่ำ ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวคือ รู้จักประหยัด มัธยัสถ์ อดออม รู้จักเส้นทางแห่งความพอดีหรือมีมัชฌิมวิถี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวรู้จักจังหวะ รู้จักเวลา ที่เรามักพูดเสมอว่ามีกาละเทศะ ครองคน คือรู้วิธีผูกใจคน คือมีพรหมวิหาร ๔ ที่เรียกว่า คุณธรรม ในการครองเรือน หรือสังคหะวัตถุ ๔ คือธรรมะในการยึดเหนี่ยวน้ำใจคน คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนเช่น การปฎิบัติต่อผู้บังคับบัญชา ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อลูกน้องเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น ครองงาน คือ มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ รู้จักตนเองว่าตนอยู่ในฐานะ ตำแหน่งอะไร ได้รับมอบหมายอะไร มองเห็นงานที่ได้รับมอบหมาย รู้จักวิธีในการที่จะทำให้งานสำเร็จโดยทางที่ถูกต้อง เป็นธรรมต่อผู้อื่น ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อผู้ที่เรารับผิดชอบนั้น ๆ อย่างสำนึก ตระหนึก และรู้ข้อจำกัดที่มีเกี่ยวกับระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ในฐานะแห่งตนนั้น หมายถึงรู้และตื่นอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นใคร เราทำเพื่ออะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อใด และทำไม

       สาม ภูมิฐาน คือ เป็นผู้ที่มีพื้น และฐานหรือภูมิหลังแห่งการสะสมในการคิดในการสร้างรู้จักการมองที่กว้าง ลึก มองเห็นเหตุแห่งปัญหาซึ่งจะเกิดขึ้นโดยการสรุปจากประสบการณ์ที่สร้างสมมานั้น เช่นขงเบ้งซึ่งมักได้รับขนานนามว่าเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้านั้น จริง ๆ ก็คือการที่ขงเบ้งได้บันทึก จดจำ ขบคิด สรุป และทดลองจนเกิดความเคยชิน เป็นคนช่างสังเกตและมองผลของการเกิดนั้นจากเหตุ ปัจจุบันเราเรียกว่า มีวิสัยทัศน์ หรือบางท่านเรียกว่า นิมิต ซึ่งหากไม่มีการสร้างสม ฝึกฝน การคิด การมอง จะไม่สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบด้าน การมองอย่างเป็นระบบ และรู้ว่าแต่ละอย่างในธรรมชาตินั้น มีความสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง จุดใดจุดหนึ่งจะกระทบหรือมีผลต่อสิ่งอื่นๆ อย่างไร เข้าใจถึงสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ว่ามีบทบาทและสัมพันธ์ต่อองค์กรเช่นใด ซึ่งสิ่งที่สามนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจ ตัดสินปัญหาอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมและเป็นจริงและก่อใหห้เกิดการผสมผสานในหน่วยงานอย่างเหมาะสมกลมกลืนและถูกทิศทาง

       โดยสรุปคือ ภูมิรู้ คือเก่งเทคนิคทำให้งานเป็นผล มี ภูมิธรรม คือเก่งคนทำให้คนร่วมใจ มี ภูมิฐาน คือเก่งในการคิดทำให้เกิดการผสมผสานงานในส่วนต่าง ๆ ให้บรรลุสู่จุดมุ่งหมายร่วมกัน

 


โดย สัจจโชติ  ok.Nation Block

หมายเลขบันทึก: 434027เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2011 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท