นักวิจัยไบโอเทค-จุฬาฯ สังเคราะห์สารตั้งต้นยาต้าน “หวัดนก” ได้เอง


“คาดว่าองค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตและกระจายยาผ่านระบบสาธารณสุขไปสู่ประชาชนได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549 โดยจำหน่ายในราคาเม็ดละ 70บาท (ผู้ป่วยต้องรับประทานยาคนละ 10 เม็ด) ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบเกือบหนึ่งเท่าตัว ทั้งนี้ หากเกิดภาวะวิกฤตมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่รุนแรง องค์การเภสัชกรรมก็สามารถผลิตยาดังกล่าวได้ โดยมีกำลังการผลิต 400,000 เม็ดต่อวัน หากเกิดการระบาดก็สามารถที่จะนำยาไปใช้ได้ทันที” พล.ท.นพ.มงคล กล่าว
ทีมนักวิจัยไบโอเทคร่วมกับทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ สังเคราะห์สาร "โอเซลทามิเวียร์ฟอสเฟต" ที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสไข้หวัดนกได้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมพัฒนาสู่การผลิตยาทามิฟูลในระดับอุตสาหกรรมต่อไป ด้านองค์การเภสัชกรรมประกาศพร้อมผลิตยาต้านไวรัสไข้หวัดนกราคาเม็ดละ 70 ถูกกว่ายาทามิฟูลกว่าเท่าตัว พร้อมสำรองวัตถุดิบผลิตได้รวม 1 ล้านเม็ดหากฉุกเฉินผลิตได้ทันทีวันละ 4 แสนเม็ด
       
       วันนี้ (3 ส.ค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแถลงข่าว “ความสำเร็จการสังเคราะห์ยาต้านไวรัสไข้หวัดนก” ณ กระทรวงวิทย์โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษาการ รมว.วท.และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รักษาการ รมช.สธ.เป็นประธาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช., รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค), รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ชะวะนี ทองพันชั่ง นักวิจัยจากไบโอเทค ร่วมแถลงข่าว
       
       แม้ว่าประเทศไทยจะมีการผลิตยาโอเซลทามีเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดนกได้อยู่แล้ว แต่ยังจะต้องสั่ง "สารตั้งต้น" หรือ "วัตถุดิบ" จากประเทศอินเดีย ซึ่งนักวิจัยทั้งของ วท.และ สธ. รววมทั้งสถาบันต่างๆ ได้ร่วมกันคิดค้นสมุนไพร หรือสูตรยาอื่นๆ ที่สามารถหาได้ในประเทศไทยเพื่อผลิตยาดังกล่าวไว้ใช้ในประเทศ และก็สามารถทำได้สำเร็จ
       
       ทั้งนี้ ดร.ธีรยุทธ นักวิจัยจากจุฬาฯ ได้กล่าวถึงวิธีการสังเคราะห์ยาต้านไวรัสไข้หวัดนกขึ้นเองว่า การสังเคราะห์ "โอเซลทามิเวียร์" มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เหมาะสมในทางปฏิบัติมีอยู่ 3 วิธี โดย 1.เริ่มต้นจากสารตั้งต้นตัวเดียวกันคือ “กรดชิกิมิค” ที่สกัดจากดอกโป๊ยกั๊ก ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการสังเคราะห์ระดับอุตสาหกรรม จะทำให้ได้ผลผลิตค่อนข้างสูง มีขั้นตอนการสังเคราะห์ค่อนข้างง่ายและสั้น แต่ในขั้นตอนการสังเคราะห์แบบนี้จะมีการใช้สารจำพวกเอไซด์ ซึ่งไวต่อปฏิกิริยาสูงมาก ทำให้ต้องจัดการด้วยความระมัดระวังมาก
       
       ส่วนอีก 2 วิธีจะเป็นวิธีต่อจากวิธีแรก และไม่มีการใช้สารประกอบจำพวกเอไซด์อีก อย่างไรก็ดี โอเซลทามิเวียร์เป็นยาที่มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของท้องตลาดมาก เนื่องจากหลายประเทศมีแผนการที่จะกักเก็บยาเพื่อใช้การรองรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดนก
       
       ด้าน พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ ผอ.อภ.กล่าวถึงความคืบหน้าของการผลิตยาต้านไวรัสไข้หวัดนกหรือ GPO-A-Flu ว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมในทุกๆ ด้านเกี่ยวกับการผลิตยาดังกล่าว โดยมีการสำรองวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตยา ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตเป็นยาในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว และพร้อมผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
       
       ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ผลิตเป็นยาสำเร็จรูปแล้วประมาณ 200,000 เม็ด และได้นำไปวิเคราะห์เทียบสรรพคุณกับยาต้นแบบโดยการทดสอบการละลายของตัวยา ทดสอบความคงตัวของยาเพื่อกำหนดอายุของยา และขณะนี้ได้ส่งยาดังกล่าวให้ทางศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อทำการศึกษาชีวสมมูลของยาเทียมกับยาต้นแบบ และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อขอขึ้นทะเบียนยาต่อไป
       
       “คาดว่าองค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตและกระจายยาผ่านระบบสาธารณสุขไปสู่ประชาชนได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549 โดยจำหน่ายในราคาเม็ดละ 70บาท (ผู้ป่วยต้องรับประทานยาคนละ 10 เม็ด) ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบเกือบหนึ่งเท่าตัว ทั้งนี้ หากเกิดภาวะวิกฤตมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่รุนแรง องค์การเภสัชกรรมก็สามารถผลิตยาดังกล่าวได้ โดยมีกำลังการผลิต 400,000 เม็ดต่อวัน หากเกิดการระบาดก็สามารถที่จะนำยาไปใช้ได้ทันที” พล.ท.นพ.มงคล กล่าว
       
       อย่างไรก็ดี ดร.ประวิช กล่าวถึงแนวนโยบายเพื่อรับมือต่อการะบาดของโรคไข้หวัดนกว่า ปัจจุบันการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 มีความสามารถในการแพร่กระจาย ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในการสำรองยาต้านไวรัสเพื่อรองรับการระบาดใหญ่มี 3 แนวทาง คือ การซื้อยาสำเร็จรูป การซื้อวัตถุดิบมาพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูป และการสังเคราะห์ยาเองในประเทศ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือวิจัยอย่างจริงจัง และได้สนับสนุนโครงการวิจัยในการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์โอเซลทามิเวียร์ในระดับห้องปฏิบัติการ โดย สวทช.ได้ร่วมมือกับ อภ.และ สธ.เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาการสังเคราะห์โอเซลทามิเวียร์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมต่อไป
       
       "ปัจจุบันหลายประเทศมีแผนในการกักเก็บยาโอเซลทามิเวียร์เพื่อใช้ในการรองรับการระบาดใหญ่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสูง ดังนั้น งานวิจัยนี้ได้แสดงถึงความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดได้ในวงกว้าง และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเป็นไปได้ในการสังเคราะห์ยาโอเซลทามิเวียร์ เพื่อการพึ่งพาตนเองในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นควบคู่กันไป" ดร.ประวิช กล่าว
หมายเลขบันทึก: 43383เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท