พิธีเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ครูเปลื้อง ฉายรัศมี อย่างเป็นทางการที่กาฬสินธุ์


ความเป็นมาของเครื่องดนตรียอดนิยมของอีสาน "โปงลาง"
วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้  จะมีพิธีเปิดป้าย " บ้านศิลปินแห่งชาติ ครูเปลื้อง ฉายรัศมี" อย่างเป็นทางการ ณ บ้านเลขที่ ๒๒๙/๔ ถ.เกษตรสมบูรณ์  อ.เมือง  จ.กาฬสินธุ์

เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดดนตรีพื้นบ้านอีสาน (โปงลาง) ให้แพร่หลายและยั่งยืนสืบไป

ถ้ากล่าวถึง "โปงลาง" หลายคนย่อมนึกถึง วงโปงลางสะออน ที่มีเพลงดังหลายเพลงในตอนนี้ ซึ่ง โปงลางสะออน ถือเป็นศิษย์เอกของครูเปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่ง โปงลางสะออนได้เชิญครูเปลื้อง ไปปรากฏตัวและร่วมเล่นโปงลางมาแล้ว ซึ่งหลายท่านคงเคยเห็นครูเปลื้อง ฉายรัศมี ในช่วงท้ายของ VCD การแสดงสด โปงลางสะออน Live in Bangkok นั่นเอง

ครูเปลื้องถือเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกโปงลางตังจริงเสียงจริง จนเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่ว

การบรรเลงของวงดนตรีโปงลาง เป็นดนตรีที่มีชีวิตชีวาไม่แพ้ดนตรีร็อคของตะวันตก ซึ่งภาพการแสดงของวงโปงลาง จะเห็นนักดนตรีหนุ่มไล่หวดรางไม้คล้ายระนาด และมีสาวน้อยแต่งชุดพื้นบ้านมาร่ายรำดีดไห พร้อมด้วยการดีดพิณ เป่าแคน และกลอง

โปงลางเป็นเครื่องดนตรีของชาวอีสาน ถือกำเนิดมาจาก "โปง" หรือ "เกราะ" ซึ่งแต่เดิมเรียก" เกราะลอ" ที่ใช้เคาะแจ้งเหตุประจำหมู่บ้าน ซึ่งผู้ที่คิดค้นรุ่นแรกๆคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดและนำมาดัดแปลงจนกลายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ ซึ่งผลงานการคิดค้นอันยอดเยี่ยมนี้ ได้รับการยกย่องจากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติให้ ครูเปลื้อง ฉายรัศมี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ปัจจุบันครูเปลื้อง มีอายุ ๗๔ ปี

มีหลักฐานที่เล่าต่อกันมา กล่าวว่า ครูเปลื้องได้รับการถ่ายทอดการตีโปงลางมาจากนายปาน ชาวบ้านหลางหมื่น จังหวัดกาฬสินธุ์ มาตั้งแต่เด็กๆ ส่วนนายปานก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากท้าวพรหมโคตรที่อพยพมาจากประเทศลาว และได้นำโปงลางที่ยุคนั้น เรียกว่า เกราะลอ มีไม้เพียง ๖ ท่อน หรือ ๖ ลูก ร้อยเรียงกันอยู่ติดมือมาด้วย

เกราะลอยุคนั้นเป็นเพียงเครื่องตีที่แขวนไว้หน้าบ้านเพื่อใช้ตีไล่วัวไล่ ควาย หรือตีส่งสัญญาณบอกเหตุเท่านั้น ซึ่งต่อมานายปานได้ปรับปรุงเกราะลอให้มี ๙ ลูก เพิ่มเสียงจนสามารถนำไปเล่นเป็นเครื่องดนตรีได้

เมื่อนายปานถึงแก่กรรม ครูเปลื้อง ฉายรัศมี ศิษย์เอกของนายปาน ได้รับมรดกตกทอดวิชาทำเกรอะลอและตีเกรอะลอไว้แต่ผู้เดียว

ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๐ ครูเปลื้อง ฉายรัศมี ได้นำเกราะลอเข้าไปตีในหมู่บ้านของครูร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆและรับแสดงใน ละแวกใกล้เคียง จนเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

มาถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ครูเปลื้องได้เพิ่มลูกของเกราะลอจาก ๙ ลูก เป็น ๑๒ ลูก ทำให้สามารถไล่บันไดเสียงได้มากขึ้น พร้อมกับเรียกชื่อใหม่ว่า โปงลาง

พ.ศ. ๒๕๐๒ ครูเปลื้อง พร้อมวงโปงลางที่ตั้งขึ้นได้มีโอกาสแสดงต้อนรับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงที่มาเยี่ยมบ้านนาคู อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๔ ครูเปลื้องได้ตั้งวงดนตรีโปงลางอย่างเป็นงานเป็นการ รับงานแสดงทั่วไป จนในที่สุดโปงลางกลายเป็นเครื่องดนตรียอดนิยมของชาวอีสานทุกจังหวัด จนกระทั่งครูเปลื้องได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙

วันที่ ๑๐ สิงหาคมนี้ จะมีพิธีเปิดป้าย บ้านศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นบ้านที่ ๖ นับแต่ได้มีการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติมาแล้ว 5 บ้าน  ซึ่งทุกท่านล้วนมีผลงานด้านศิลปะที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้ในแผ่นดิน ได้แก่

๑. บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซอยสวนพลู กทม.
๒. พิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์ บ้านครู มนตรี ตราโมท นนทบุรี
๓. บ้านไร่ไผ่งาม พิพิธภัณฑ์ผ้า ป้า แสงดา บันสิทธิ์ เชียงใหม่
๔. อุทยานธรรมะและหอศิลป์ นาย อินสนธิ์ วงศ์สาม จ.ลำพูน
๕. บ้านนายหนัง ฉิ้น ธรรมโฆษณ์ จ.สงขลา

สำหรับพิธีเปิดป้ายบ้านครูเปลื้องจะเริ่มตั้งแต่ ๐๙.๓๐ น. วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ สิงหาคม จะมีพิธีสงฆ์ พิธีเจิมป้ายบ้าน และพิธีเปิดป้านตามลำดับ  รอบๆบ้านจะมีการแสดงนิทรรศการเชิดชูเกียรติครูเปลื้อง ฉายรัศมี และนิทรรศการดนตรีอีสาน ตลอดจนการสาธิตการทำโปงลาง พร้อมการแสดงโปงลางจากวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์


หมายเลขบันทึก: 43376เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ต้องทำตอนนี้ล่ะครับดี ตอนที่ศิลปินยังคงมีชีวิตอยู่ท่านจะได้ช่วยสอนลูกสอนหลาน  บ้านของอาจารย์จะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิตต่อไป  หน่วยงานทางการศึกษาควรมองเห็นโอกาสอันสำคัญนี้นะครับ

น่าสนใจมาก ๆ ครับนายบอน

ถ้ามีโอกาสอย่างไรจะต้องไปเยี่ยมท่านให้ได้เลยครับ

เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจงดงามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท