Nong Bua Pictorial : ๑.วัดหนองกลับ : จารึกธรรมและบอกเล่าวิถีสังคมบนงานศิลป์


วัดหนองกลับ เป็นวัดเก่าแก่ของหนองบัว เป็นศูนย์รวมทางจิตใจและเป็นศูนย์กลางในการให้การศึกษาอบรมแก่กุลบุตร กุลธิดา รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่าของอำเภอหนองบัวมาอย่างยาวนาน ในเอกสารหลายแห่งระบุว่าเป็นวัดที่ก่อสร้างมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๒

ต่อมาหลวงพ่อเดิมหรือพระครูนิวาสธรรมขันธ์ แห่งวัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งหลวงพ่ออ๋อยหรือพระครูนิกรปทุมรักษ์ได้นิมนต์ท่านให้มาเป็นองค์ประธานนำชาวบ้านบูรณะพระอุโบสถโดยการสร้างขึ้นใหม่ในที่เดิมและก่อสร้างศาลาการเปรียญด้วยไม้ทั้งหลัง อีกทั้งได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองกลับอยู่กว่า ๓๐ พรรษา ระหว่างปี พุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๔๙๓ คนจึงเรียกวัดหนองกลับในอีกชื่อหนึ่งว่า 'วัดหลวงพ่อเดิม'

คนท้องถิ่นมักเรียกวัดหนองกลับใน ๓ ชื่อคือ 'วัดหนองกลับ' 'วัดหลวงพ่ออ๋อย' และ 'วัดหลวงพ่อเดิม' แต่คนภายนอกทั่วไปมักจะเรียกว่า 'วัดหลวงพ่อเดิม' กับ 'วัดหนองบัว' ซึ่งวัดหนองบัวนั้น จะมี 'วัดหนองบัว' อยู่อีก ๑ แห่งซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า 'วัดหนองบัว' 'วัดป่ามะเขือ' และ 'วัดหลวงพ่อหลุย' เป็นคนละแห่งกับวัดหนองกลับ

ดังนั้น หากไปเยือนหนองบัวและต้องการมุ่งไปยังวัดประจำอำเภอหนองบัว ให้ถามถึง วัดหนองกลับ หรือ วัดหลวงพ่อเดิม หรือ วัดหลวงพ่ออ๋อย แต่หากถามถึงวัดหนองบัว คนท้องถิ่นจะเข้าใจว่าหมายถึงวัดป่ามะเขือและวัดเทพสุทธาวาส ซึ่งต่างก็ไกลจากวัดหนองกลับของหนองบัวไปมากพอสมควร

                          

                         

พระอุโบสถของวัดหนองกลับที่สร้างขึ้น เป็นสิ่งปลูกสร้างที่หล่อด้วยคอนกรีตทั้งหลัง หลังคาของพระอุโบสถก็หล่อด้วยคอนกรีตแทนการปูกระเบื้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผนังเปลือยเป็นปูนดิบ ให้ความเรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง ลักษณะเหมือนวิธีคิดต่อความงามในปรัชญาศิลปะวะบิซาบิของญี่ปุ่น

                          

ที่หน้าบันมีรูปปั้นปูน แสดงพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะปลงผม ทรงม้านันทกะและเสด็จออกบวช

                

                

ด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๔ บาน กรอบเหนือหน้าต่างเป็นจั่ว ประดับด้วยปูนปั้นลงสี พื้นหลังคุมน้ำหนักสีโดยรวมด้วยสีคราม มีขนบเหมือนการใช้สีเบญจรงค์ โดยใช้สีแท้ที่ได้จากหินและดินไม่เกิน ๕ สี ไม่เกลี่ยให้เกิดการผสมสีอ่อนแก่ แต่จะผสมผสานกับการเว้นสีปูนและใช้การตัดเส้นเป็นสื่อเน้นอารมณ์ภาพและแสดงขอบเขตของเรื่องราว แต่ละบานมีเรื่องราวของภาพปั้นไม่เหมือนกันซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะภาพปูนปั้น

                         

                        

                        

วิหารหลวงพ่อเดิม ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาทั้งของคนหนองบัว นครสวรรค์ และทั่วประเทศไทย ความเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนมาก ทำให้ต่อมาหลวงพ่อเดิมได้รับการขนานนามว่า 'เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว' เมืองสี่แควเป็นชื่อเรียกปากน้ำโพและนครสวรรค์ซึ่งเป็นแหล่งบรรจบของแม่น้ำสี่สายของประเทศ ปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

วีรชนและคนจากเมืองสี่แควที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมีอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ อาจารย์กรุณา กุศลาศัย ลูกหลานคนปากน้ำโพที่เกิดในเรือ ต่อมาได้บวชเป็นสามเณรติดตามพระโลกนาถซึ่งเป็นชาวอิตาลีที่ศรัทธาและบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา จากนั้นก็เดินด้วยเท้าผ่านออกจากประเทศไทยสู่พม่าและไปยังพุทธภูมิที่ประเทศอินเดีย ซึ่งต่อมาท่านเป็นผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ผู้มีบทบาทมากที่สุดในการแปลถ่ายทอดวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและวรรณกรรมของโลกจากอินเดียเข้าสู่สังคมไทยในชื่อกรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย คู่กับภรรยาเพื่อนชีวิตของท่าน 

                         

                        

เสาไม้เนื้อแข็งขนาดสองคนโอบจำนวนมากของศาลาการเปรียญวัดหนองกลับที่สร้างขึ้นด้วยไม้และแรงงานของชาวบ้าน ในอดีตนั้นอำเภอหนองบัวได้ชื่อว่าเป็นแหล่งไม้และเหมืองแร่ยิบซั่มที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและของโลก ไม้เนื้อแข็งที่นำไปแปรรูปเพื่อใช้สอยทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศในอดีต รวมทั้งไม้ฟืนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงรถจักรไอน้ำของนครสวรรค์ เป็นไม้และฟืนจากป่าหนองบัว    

                        

                        

                        

                        

พระครูวาปีปทุมรักษ์หรือหลวงพ่อพระครูไกร เจ้าอาวาสหนองบัวองค์ปัจจุบัน สืบต่อจากหลวงพ่ออ๋อยหรือพระครูนิกรปทุมรักษ์และหลวงพ่อเดิมหรือพระครูนิวาสธรรมขันธ์ กับดาบน้ำพี้ กำลังสาธยายให้ผู้เขียนได้ทราบถึงความสำคัญของศาสตราวุธ ศิลปะในอาวุธและการต่อสู้ของคนไทย และระบบเงินตรา ซึ่งเป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจอันสำคัญให้ท่านได้รวบรวมสิ่งของเพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้มิติต่างๆของสังคม ทั้งสังคมท้องถิ่น สังคมไทย และสังคมประเทศต่างๆของโลกที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ทำให้วัดหนองกลับเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาสิ่งแสดงเพื่อการศึกษาเรียนรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

                         

                         

                         

มีดหลวงพ่อเดิม เป็นอาวุธและเครื่องประดับประจำตัวของผู้ชายที่สื่อแสดงถึงความเป็นผู้ทำมาหากิน มีครูอาจารย์ และเป็นผู้นำซึ่งเป็นที่พึ่งได้ มีความเป็นศิลปะของช่างตีมีดจากตาคลีและเป็นช่างตีมีดซึ่งถือว่าเป็นช่างจำเพาะประจำตัวในการทำมีดของหลวงพ่อเดิม รวมทั้งแสดงศิลปะของการทำด้ามมีดด้วยงาช้างและไม้เนื้อแข็ง เป็นที่นิยมแพร่หลายของคนหนองบัว และต่อมาก็จัดว่าเป็นของหายากของผู้สนใจทั่วประเทศ

                          

                          

พิพิธภัณธ์พื้นบ้านในวัดหนองกลับ เป็นแหล่งสะสม รวบรวม และเก็บรักษางานสร้างสรรค์ที่สื่อสะท้อนภูมิปัญญาของท้องถิ่นหนองบัวในเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องใช้ในครัวเรือน สิ่งประดิษฐ์ทางประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน ไถและแอกของคู่ดอง เกวียนซึ่งมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นซึ่งเป็นดินทรายและดินโคลน 

วัดหนองกลับเป็นแหล่งบรรพชาและอุปสมบทของลูกหลานคนหนองบัวและชุมชนโดยรอบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งเป็นแหล่งให้การศึกษาอบรมแก่ผู้คนทุกรุ่นวัย เด็กนักเรียนของอำเภอหนองบัวทุกคนมักได้ไปทำกิจกรรมปวารนาตนเป็นพุทธมามกะบนศาลาไม้หลังใหญ่ที่สร้างขึ้นนับแต่ยุคของหลวงพ่อเดิมและเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก ดังนั้น จึงแทบจะกล่าวได้ว่าคนหนองบัวมีครูอาจารย์และอุปัชฌาเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนหนองบัวซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางกลุ่มวัฒนธรรมมาก สามารถอยู่ร่วมกันและสร้างสุขภาวะชุมชนให้เกิดขึ้นตามอัตภาพมากพอสมควร.

......................................................................................................................................................

เรื่องและถ่ายภาพโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในเทศกาลงานงิ้วและงานประเพณีบวชนาคหมู่ของหนองบัว มีนาคม ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 433625เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2011 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เห็นภาพถ่ายของอาจารย์ชุดนี้แล้ว
ทำให้นึกถึงหลวงพ่อเดิมสร้างเมือง หลวงพ่ออ๋อย และผู้เฒ่าผู้แก่ชาวหนองบัวมากจริงๆ
เห็นพลังสร้างสรรค์ ความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น ความศรัทธา
ทุนสังคมนี้ยังสัมผัสจับต้องได้อยู่

กราบขอบพระคุณดอกไม้ให้กำลังใจจากท่านพระอาจารย์มหาแล
และจากอาจารย์ปณิธิครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

เป็นภาพชุดที่ผมกับอาจารย์ณัฐพัชร์ ใช้เวลาในช่วงที่รอจัดนิทรรศการในตอนเย็นของวันที่ ๒๕ มีนาคม ก่อนวันแห่ ไปตระเวนดูตามแหล่งต่างๆของหนองบัวพร้อมกับถ่ายรูปเก็บไว้น่ะครับ ขับรถออกไปเกือบถึงบึงสามพัน แล้วก็แวะเข้าไปเขาพระ ขึ้นไปดูเขาพระ แวะดูบริเวณอ่างเก็บน้ำเชิงเขาพระ แวะไปโรงเรียนบ้านหนองไผ่ แล้วก็แวะไปในวัดหนองกลับ เสร็จแล้วก็ไปสมทบกับพรรคพวกที่หนองบัวซึ่งรอเลฺิกงาน เลิกประชุม และก็นัดไปรวมตัวกันที่เกาะลอยเพื่อจัดนิทรรศการช่วยกัน

อยู่จัดช่วยกันจนถึงกว่าเที่ยงคืน เหน็ดเหนื่อยกันสุดขีดยังไม่พอ ก็เจอลมแรง พัดรูป กระดาษ หนังสือ ตกและปลิวกระจุยกระจาย ผมละสงสารเพื่อนๆน้องๆอย่างที่สุด เพื่อนคนหนึ่งต้องค้าขาย พอปิดร้านก็มาอดหลับอดนอนช่วยทำ และตอนเช้าก็จะต้องตื่นเตรียมของไหว้เจ้า อาจารย์พนมก็ต้องไปเป็นวิทยากรที่ตาคลีในช่วงเช้าและจะต้องรีบกลับมาเป็นโฆษกให้กับหลายเวที รวมทั้งเวทีคนหนองบัว ไม่รู้ว่าจะเอาเวลาที่ไหนไปเตรียมตัวและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ อาจารย์สืบศักดื์กับคุณครูวิกานดาของโรงเรียนหนองบัว ก็ต้องคอยดูแลเด็กๆและคุมขบวนแห่ในวันรุ่งขึ้นทั้งวัน เรีบกว่าทำกันจนเต็มที่แล้วคิดว่าจะเสร็จเรียบร้อยไปให้เบาใจ

แต่ดูสภาพแล้ว ที่สุดพวกเราก็ต้องตัดสินใจเก็บข้าวของทั้งหมด เหลือไว้แต่บอร์ด แล้วก็ช่วยกันขนคนละนิดละหน่อยติดตัวกลับบ้าน เพราะไม่อย่างนั้นก็เละแน่  รุ่งเช้าก็นัดไปเจอกันเพื่อใช้เวลาจัดกันใหม่อีกในช่วงตีห้าถึงก่อน ๗ โมงเช้า เหมือนกับเริ่มต้นทำงานกันใหม่ ดีว่าได้ทำไปรอบหนึ่งกันแล้ว แต่ละคนเลยนึกภาพออกว่าอะไรอยู่ตรงไหนเลยช่วยกันทำคนละไม้ละมือ เบื้องหลังการถ่ายทำนี่เหนื่อยใช้ได้เลยละครับ

ในช่วงที่รอและไปตระเวนถ่ายรูป ก็เลยได้เก็บข้อมูลภาพได้หลายเรื่องเหมือนกันครับ เลยก็เป็นการได้ไปอีกแบบหนึ่ง รวบรวมมานำเสนอเป็นภาพชุดเล่าเรื่องก็คงจะชวนให้คนได้เห็นความเป็นหนองบัวในแง่มุมต่างๆได้ดีเหมือนกันครับ

ขอบคุณค่ะ..น่าสนใจที่ได้เห็นพิพิธภัณท์วัตถุโบราณพื้นบ้านเหล่านี้ในวัด...เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากค่ะ..

อยู่ในวัดก็ดีอย่างตรงที่มีคนดูแลและทรัพยากรต่างๆทั้งสถานที่และงบประมาณที่จะต้องใช้ ก็จะสามารถระดมทุนจากสังคมได้ง่ายกว่า รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของการเข้าถึงที่เอื้อประโยชน์แก่ชาวบ้านธรรมดาๆได้ดีกว่าครับ แต่ก็มีข้ออ่อนตรงที่ขาดคนเข้าไปช่วยทางวิชาการที่จะสามารถทำอย่างทุ่มเทและต่อเนื่องได้ เพื่อทำให้เป็นการจัดวางเพื่อการเรียนรู้ เห็นมิติอื่นๆที่นอกเหนือจากการเก็บรวบรวมสิ่งของมาไว้ด้วยกัน

ผมลองไปดูว่ามีแง่มุมอะไรที่จะลองทำเพื่อพอเป็นแนวให้คนได้เห็นแล้วช่วยๆกันทำ ทำอย่างที่มันสะท้อนวิถีชีวิตและสะท้อนสิ่งทำออกมาจากมือซึ่งสะท้อนชีวิตจิตใจชุมชนได้  เช่น อย่างเขียนเรื่องการจับเขียด ลงเบ็ด หาปลา พร้อมกับวาดรูปและมีเนื้อหา ที่ทำกับท่านพระอาจารย์มหาแลและคุณครูในท้องถิ่นสะสมไว้ในบล๊อกนี้ หากดึงออกมาทำสื่อ ก็สามารถเอาไปติดในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านคู่กับเครื่องมือจักสานและเครื่องมือทำมาหากิน ก็จะบกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ดีกว่ามีอุปกรณ์จัดวางและตั้งไว้เฉยๆ ไม่เห็นสังคมและผู้คน เหล่านี้เป็นต้น

ตอนนี้อยากได้คนในท้องถิ่นที่ทำอย่างท่านพระอาจารย์มหาแลได้สัก ๔-๕ คนและเด็กๆที่เข้าถึงคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านสักหมู่บ้านละคนเท่านั้น ก็จะไปช่วยทางวัดทำพิพิธภัณฑ์ของวัดหนองกลับให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างดี ดีกว่าเดิมแน่นอนครับ 

ครูบุษกร ร.ร.หนองบัว

สวัสดีค่ะ ผศ.ดร.วิรัตน์

   เนื่องจากจะมีการแข่งขันโครงงานคอมพิวเตอร์ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปี 54 ทางโรงเรียนจึงอยากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัวออกสู่สายตาชาวอาเซียนในรูปของเว็บไซต์ค่ะ จึงลอง Search หาข้อมูลดู แล้วก็มาพบกับเว็บของ อาจารย์ค่ะ คิดว่าเป็นข้อมูลที่ดีมากๆ และน่าสนใจ ถ้าได้นำเสนอออกมาแล้วชาวอาเซียนจะได้รู้จักกับอำเภอหนองบัวมากขึ้นค่ะ ดิฉันจึงขออนุญาตอาจารย์นำข้อมูลนี้จัดทำโครงงานไม่ทราบว่าอาจารย์จะอนุญาตหรือไม่คะ ในเบื้องต้นลองปรึกษาอาจารย์วิกานดาแล้วค่ะ แล้วอาจารย์ก็เลยติดต่อทางโทรศัพท์ให้ค่ะ ตอนนี้ทางนักเรียนแปลได้ 2 ภาษาแล้วค่ะ คือภาษาลาว แล้วก็เวียดนาม แต่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในหน้าเว็บเพจแรกค่ะ

      จึงเรียนมาเพื่อโปรดอนุญาตขอนำข้อมูลของอาจารย์นำเสนอในรูปแบบของเว็บไซต์ และรบกวนใช้เวทีนี้ แลกเปลี่ยนการแปลข้อมูลเป็นภาษาอื่นๆของอาเซียนค่ะ

     ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

     ครูบุษกร

ครูบุษกร ร.ร.หนองบัว

รบกวนท่านผู้มีความรู้ภาษาของอาเซียน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ค่ะ ช่วยแปลข้อมูลอำเภอหนองบัวด้วยค่ะ จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูง (ครูบุษกร [email protected])

Wat Nong Klap and its Museum 

            Wat Nong Klap is an old temple and has provided spiritual leadership and education to the people of this district for many years.  Several documents indicate that this site has been continuously settled since the reign of King Rama II. 

            Between 2460 and 2493, Thammakant Niwat was the temple’s provost; and Wat Nong Pho, as it was known, was part of the Takhli District.  During this time, the provost was directed to restore the temple and build a new one in the old pavilion.  It is currently located in the swamp known to many as “Luang Old Father.”  This area is also known as “Luang’s Cane,” “The Town,” and “The Wild Tomato.”

            The temple itself is architecturally plain by regional standards.  Its walls and roof are made of cement instead of tile.  This is meant to bring out the temple’s natural beauty, as well as the natural beauty of the surroundings.  This architectural philosophy was championed first by the Japanese architect Ibiza Big.

            Beside the windows of the structure are beautiful murals.  Thai tradition dictates that the color of the murals should be determined by donations of paint and not by an artist’s pre-planned idea.  This means that the colors used cannot be anticipated; meaning that no two temple murals are the same.  This mural tradition is exemplified in Muang Nakhon Sawan, and is an art form that is respected throughout Thailand. 

            Nakhon Sawan has a long tradition of forestry and lumber production.  At Wat Nong Rai, for example, hardwood columns and floors are visible, and meant to symbolize the regions natural resources, economy, and culture. 

            In Wapiptum, there is a museum displaying antique weapons, items of daily life, and currency.  Weapons hold a place of reverence to the Thai people.  It is important to the Thai people to remember their past, and this museum encourages its visitors to preserve all old and meaningful items for future generations to learn from and enjoy.  

            The museum is located behind the main temple near the swamp.  The accumulation of artifacts, weapons, currency and jewelry donated by the faithful, is really quite impressive.  It is possible to comprehend the lives of the people who lived here in ages past, and their struggles.  Education, community and respect, after all, is the purpose of the Folk Museum.  It is no coincidence that Wat Nong Klap lies in the geographic center of Nong Bua, and the spiritual center of the lives of most Nong Bua residents. 

ขอกราบขอบพระคุณผู้ที่ช่วยในการแปลเนื้อเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าค่ะ

สวัสดีครับคุณครูบุษกรครับ

ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ คุณครูวิกานดาได้โทรติดต่อและเล่าให้ฟังครั้งหนึ่งแล้วครับ เห็นด้วยมากเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับที่จะแสดงความเป็นสังคมอาเซียน ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมของกันและกัน ตรงเวทีคนหนองบัวนี้ มีเรื่องราวต่างๆที่นำเสนอด้วยสื่อหลายรูปแบบ รวมทั้งเป็นสื่อออนไลน์ที่มีเครือข่ายเข้ามาช่วยกันเขียนและมีเครือข่ายผู้เข้ามาอ่าน-ชมจากทั่วโลก 

ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นก็มีเข้ามาชมทุกประเทศเลยละครับ ดังนั้น ทางอำเภอหนองบัวของเราจึงมีพื้นฐานสำหรับเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมและความเป็นพลเมืองอาเซียน สำนึกประชาคมอาเซียน ที่มาจากการนำเสนอความเป็นตัวของตัวเองของท้องถิ่นหนองบัวไปสู่สังคมนานาชาติ ที่พร้อมสำหรับช่วยเสริมกำลังของคุณครู โรงเรียน และชุมชนการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน ได้เป็นอย่างดีมากทีเดียวครับ

ทดลองทำไปก่อนทีละนิด แล้วค่อยๆหารือกันเพื่อช่วยกันพัฒนาไปเรื่อยๆอย่างนี้ก็ดีนะครับ มีนักธรกิจคนหนองบัว ที่ประสบความสำเร็จอยู่ในกรุงเทพฯอยากสนับสนุนทุนให้ทำเว็บของหนองบัวเองเลย โดยดึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วนี้ออกมา แต่ผมยังไม่รู้วิธีทำว่าต้องทำอย่างไร เห็นเขาบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง เขาจะหามืออาชีพมาช่วยกันทำเลย เพราะเขาอยากส่งเสริมการเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมถิ่นฐานอย่างนี้ หากทางโรงเรียนได้ทำพอเห็นแนวทางทำว่าจะต้องมีวิธีเดินอย่างไรแล้ว ผมอาจจะสามารถประสานงานให้โรงเรียนกับเครือข่ายภายนอกที่อยากทำสิ่งดีด้วยกันอย่างนี้อยู่แล้ว ให้ได้คุยและทำให้เชื่อมโยงกันไปเลย ก็ดีนะครับ

มาดูความเคลื่อนไหวของโรงเรียนหนองบัว
น่าภูมิใจที่ทางโรงเรียนและเด็กๆเห็นคุณค่าเรื่องราวเหล่านี้
ขอสนับสนุนและเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่จะนำความรู้ชุดนี้ไปทำประโยชน์ในวงกว้าง

นอกจากนำข้อมูลไปเผยแพร่ในงานนี้แล้ว คุณครูก็ยังสามารถชักชวนเด็กๆมาเรียนรู้จากเวทีคนหนองบัวได้อีกมากมายหลายเรื่อง

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ ตอนนี้เด็กๆเริ่มใช้การ chat ให้เป็นประโยชน์โดยการพูดคุยกับเจ้าของภาษาแล้วค่ะ เลยมารายงานความก้าวหน้าค่ะ ตอนนี้กำลังพูดคุยกับแลกเปลี่ยนกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ค่ะ ส่วนภาษาอื่นๆกำลังจะ ลองติดต่อดูค่ะ คงต้องขอแรงจากทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ตอนนี้ผลงานนักเรียนออกมาประมาณ 85% แล้วค่ะ จะคงเหลือก็แต่ภาษาพม่าที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย อีกทั้งการแสดงผลของภาษาลาวและภาษากัมพูชาจะสามารถแสดงผลได้ใน windows7 ค่ะ ถ้าเป็น windows ตัวเก่าจะไม่รองรับ ก็เลยหาวิธีแก้ไขอยู่ค่ะ ผลงานทดลองขึ้นเว็บแล้วค่ะที่ http://nongbua.ac.th/nk/ เว็บไซต์นี้ถ้าจะดูให้สวยต้องปรับความละเอียดที่ 1280 x 1024 pixel ค่ะ

แก้ไขการปรับความละเอียดที่ 1280 x 720 pixel ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท