ถึงคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกะหรอ


ในกลุ่มมีกองทุนมากมาย ซึ่งแต่ละกองทุนก็มีส่วนที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกันอยู่ ในขณะที่เราบอกว่าเราเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน แต่เราไปมุ่งเฉพาะที่ปลายเหตุ เช่น จะจ่ายสวัสดิการเมื่อ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เราลืมคิดไปหรือเปล่าว่ากระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นมีอยู่อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะปรับเปลี่ยนการปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องสุขภาพและสุขภาวะได้หรือไม่
กลับมารายงานตัวอีกครั้งหลังจากหายไป 2 วัน ที่หายไปเพราะติดงานซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาค่ะ เพิ่งเดินทางกลับมาถึงลำปางเมื่อตอนตี 1 ของวันจันทร์ (คืนวันอาทิตย์) พรุ่งนี้ก็ต้องมีสอนอีกแล้ว เมื่อสอนเสร็จก็ต้องรีบเดินทางกลับไปที่กรุงเทพฯอีก เนื่องจากงานรับพระราชทานปริญญาบัตรจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2549 นี้ ความจริงวันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟังตั้งหลายเรื่อง แต่ก็ต้องขอยกยอดเอาไปเล่าในวันต่อไปค่ะ เพราะ เมื่อกี้นี้บังเอิญได้เข้าไปอ่านบันทึกของหนูเคเอ็มเกี่ยวกับการประชุมของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกะหรอ ผู้วิจัยก็เลยอยากร่วม แจมความคิดเห็นอะไรนิดหน่อย เพราะ เคยได้ยินว่าหนูเคเอ็ม Print บันทึกของ ผู้วิจัยไปให้พี่พัชอ่าน 1.ในเรื่องเกี่ยวกับการเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.และ อบต. ไม่รู้ว่าจะใช่โครงการตำบลละแสนหรือเปล่าคะ ผู้วิจัยสมมติว่าใช่ก็แล้วกันนะคะ เรื่องนี้ผู้วิจัยเห็นว่าคงทำได้ไม่ยาก เพราะ มีประสบการณ์จากพื้นที่อื่นให้เห็นมาแล้ว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีมุมมอง วิธีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน จากประสบการณ์ในพื้นที่ ผู้วิจัยเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับคณะกรรมการและสมาชิกได้ทราบว่าโครงการนี้มีความเป็นมาอย่างไร เงินที่ทางหน่วยงานให้มา เขาให้มาด้วยวัตถุประสงค์อะไร เราจะต้องทำอย่างไรบ้างถ้าหากต้องการได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะ (แทบ) ทุกคนก็คงอยากได้เงิน และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ มันเป็นสิทธิที่ควรจะได้ แต่เราก็ต้องเห็นใจคนทำงานและหน่วยงานด้วย ถ้าพื้นที่ไหนยังไม่พร้อมหรือยังไม่มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด เราอย่างไปดึงดันเลย เพราะ มีโอกาสสูงมากที่ปัญหาจะตามมาภายหลัง อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ หน่วยงานสนับสนุนในระดับพื้นที่ เราต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานเหล่านั้นให้ดี (ดีที่สุด คือ การทำความเข้าใจตั้งแต่แรก) เรื่องนี้ผู้วิจัยเคยประสบเองมากับตัว บางหน่วยงานเขาไม่รู้ว่ามีโครงการนี้ พอเราได้รับอนุมัติโครงการก็ไปบอกเขา เชื่อไหมคะว่าเขาไม่พอใจ (พอสมควร) เขาบอกว่าทำไมจะทำอะไรไม่มาปรึกษากันก่อน ชุมชนจะทำอะไร เราในฐานะหน่วยงานสนับสนุนยินดีให้การสนับสนุนอยู่แล้ว แต่น่าจะพูดคุยกันก่อน ไม่ใช่ทำโดยพละการ พอได้รับอนุมัติมาแล้ว ก็มาบอก เหมือนกับบังคับให้หน่วยงานต้องทำตามเงื่อนไข ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องทั้งตามหลักมารยาทและหลักปฏิบัติ บางกรณีพอทราบว่าชุมชนหรือกลุ่มได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว (ทราบทีหลัง) ก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่หน่วยงานเหล่านั้นเขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะต้องทำอะไรต่อ เช่น ต้องออกหนังสือรับรองว่ายินดีให้การสนับสนุนกลุ่ม หรือต้องเซ็นต์รับรองว่ารับทราบโครงการและยินดีให้การสนับสนุน ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของเรา (ในฐานะคุณอำนวยและคุณวิจัย) ที่จะต้องเข้าไปร่วมกับคณะกรรมการในการอธิบายให้หน่วยงานสนับสนุนทราบ ผู้วิจัยเคยไปมาแล้ว 3 พื้นที่ ไม่ใช่ไปตัวเปล่านะคะ ต้องไปพร้อมกับหลักฐานจากทาง พอช. และต้องถือหนังสือที่ออกโดยกลุ่มเพื่อแจ้งให้หน่วยงานทราบว่าเราได้รับการสนับสนุนบประมาณแล้ว ทางหน่วยงานจะต้องสนับสนุนกลุ่มอย่างไรไปอีก 1 ฉบับ พร้อมกับไปอธิบายให้หน่วยงานเข้าใจ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่เห็นมีหน่วยงานในพื้นที่ไหนที่ไม่พอใจ เท่านั้นยังไม่พอ เราจะต้องอธิบายพร้อมกับมีตัวอย่างร่างหนังสือที่ทางหน่วยงานจะออกมาให้กับกลุ่มด้วยว่าจะต้องเขียนอย่างไร เพราะ มีหลายพื้นที่ที่พอรับหนังสือไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะตอบกลับอย่างไร เราต้องเตรียมส่วนนี้ให้พร้อมจะได้ไม่ต้องเสียเวลา เพราะ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่า 2.ในส่วนของสวัสดิการ ผู้วิจัยขอชื่นชมในความรอบคอบของคณะกรรมการค่ะ เนื่องจากกองทุนของกะหรอเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ว่าจะทำอย่างไร การไปดูตัวอย่างที่ดีเป็นสิ่งที่ดี มีความจำเป็น และมีความสำคัญมาก แต่จะดีมากที่สุดหากเรานำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของเรา ผู้วิจัยเห็นว่าแนวคิดของคณะกรรมการในส่วนของการปรับเปลี่ยนสวัสดิการการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ดี เพราะ "ใช้หลักปลอดภัยไว้ก่อน" และ "กันดีกว่าแก้" ซึ่งหลายพื้นที่ในภาคเหนือก็ใช้วิธีการนี้ค่ะ เราทำกันในชุมชน ไม่ใช่เป็นบริษัทเอกชน แต่อยากจะขอเพิ่มเติมว่าความจริงยังมีอีกหลายวิธีการที่สามารถทำได้ อย่างโซนใต้ก็เอาระเบียบของเครือข่ายฯกับระเบียบของกลุ่มพ่อชบมาดู แล้วปรับทั้ง 2 ส่วนให้เป็นของตนเอง ยังไม่ทันจะได้ใช้เลย พอดีวันนั้นคุณสุวัฒนากับคุณภีมมาก็คุยกันเรื่องนี้ (อ่านรายละเอียดได้จากบันทึก "การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม") คณะกรรมการจึงขอคุยกันในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ผู้วิจัยได้รับอย่างหนึ่งจากการพูดคุยในวันนั้น คือ เราจ่ายสวัสดิการในส่วนของการตายมากเกินไปหรือเปล่า เราน่าจะปรับเปลี่ยนในส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งผู้วิจัยก็ได้แต่คิดและตั้งเป็นคำถามเอาไว้แต่ยังไม่ได้คุยกับใคร จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีสมาชิกเสียชีวิต 1 คนที่กลุ่มบ้านดอนไชย ปรากฎว่าทางกลุ่มได้นำนมถั่วเหลืองของโครงการหลวงไปชงแจกให้กับผู้มาร่วมงาน (ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกกลุ่มวันละบาท) ปรากฎว่านมถั่วเหลืองหมดไปอย่างรวดเร็ว แถมยังมีคนที่ต้องการซื้อไปชงดื่มที่บ้านอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอเมื่อผู้ส่งนมได้รับทราบเรื่องนี้ ก็ได้บอกกับทางกลุ่มว่าต่อไปเวลามีศพของสมาชิกขอให้กลุ่มมาชงนมแจกให้กับผู้มาร่วมงานอีก โดยผู้ส่งจะมอบนมถั่วเหลืองให้อีกศพละ 2 ถุง ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เราอาจลดจำนวนเงินสวัสดิการลง แต่ไปช่วยในส่วนอื่นๆก็ได้ เช่น ไปเป็นเจ้าภาพในงานสวดศพ เป็นต้น สำหรับกองทุนการศึกษาที่พื้นที่ก็มีเหมือนกัน โดยแบ่งเงิน 5% ไปจัดการในส่วนนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยจัดการในเรื่องนี้เลย เพราะ เงิน 5% จะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เครือข่ายฯจนหมด กลุ่มก็เลยไม่ได้นำมาจัดการ แต่เมื่อแยกออกมาเป็นโซนใต้แล้ว เห็นว่าคณะกรรมการจะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ผู้วิจัยเชื่อลึกๆว่าคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในกองทุนนี้ ผู้วิจัยเห็นว่ากองทุนนี้น่าจะถูกยกเลิกไป เพราะ ถ้าเรามาดูเงินที่หมุนเวียนอยู่ในกลุ่มแล้ว จะเห็นได้ว่าในกลุ่มมีกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมด้วย (ตอนนี้หลายกลุ่มยังไม่มีแต่เห็นว่าในโซนใต้ทุกกลุ่มคงจะตั้งในเร็ววันนี้ เพราะ เป็นกองทุนที่สามารถนำมาเสริมสภาพคล่องในภาวะที่จำเป็น รวมทั้งดอกผลที่ได้ก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆได้ เช่น ค่าซื้อคอมพิวเตอร์ ค่านำ ค่าไฟ ค่าโรศัพท์ ค่าเช่าสถานที่ทำการ เป็นต้น รวมทั้งยังสามารถนำมาปันผลให้กับสมาชิกได้อีกด้วย) จากการที่ผู้วิจัยลงเก็บข้อมูลเห็นว่าเงินในกองทุนหมุนเวียนที่ชาวบ้านมาออมแต่ละเดือนไม่เคยได้รับการกู้ไปจนหมด เงินยังเหลืออยู่ ความจริงเอามาให้กู้เพื่อการศึกษาก็ได้ แม้สมาชิกคนนั้นอาจไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุนหมุนเวียน แต่ผู้วิจัยเห็นว่าเราสามารถนำมาใช้ได้เพื่อไม่ให้เกิดความซำซ้อน ส่วนกองทุนเพื่อการศึกษาที่มีอยู่เดิม น่าจะปรับเปลี่ยนเป็น "กองทุนสุขภาพชุมชน" เท่าที่ทราบพรุ่งนี้ทางโรงพยาบาลเถินได้เชิญตัวแทนกลุ่มดอนไชยไปพูดคุยในเรื่องนี้ ผู้วิจัยคิดว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ การที่ผู้วิจัยคิดว่าควรมีการปรับเปลี่ยนในกองทุนเพื่อการศึกษาเป็นกองทุนสุขภาพชุมชนนั้น ไม่ใช่ว่าจะเอาใจแหล่งทุนนะคะ แต่ผู้วิจัยเห็นว่าในกลุ่มมีกองทุนมากมาย ซึ่งแต่ละกองทุนก็มีส่วนที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกันอยู่ ในขณะที่เราบอกว่าเราเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน แต่เราไปมุ่งเฉพาะที่ปลายเหตุ เช่น จะจ่ายสวัสดิการเมื่อ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เราลืมคิดไปหรือเปล่าว่ากระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นมีอยู่อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะปรับเปลี่ยนการปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องสุขภาพและสุขภาวะได้หรือไม่ วันนี้ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ถ้าคิดออกอีกจะเข้ามาเขียนถึงอีกค่ะ คิดถึงทุกคน หมายเหตุ : หากทีมกะหรอต้องการเอกสารเพิ่มเติม เช่น ตัวอย่างจดหมาย กฎระเบียบ (ใหม่) ก็บอกมาได้นะคะ
หมายเลขบันทึก: 43225เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เสียดายที่กะหรอไม่สามารถสื่อสารโดยตรงโดยผ่านช่องทางนี้ได้ มิฉะนั้น เราจะเรียนรู้กันเร็วขึ้นเหมือนกับที่ภาคธุรกิจเขาเรียนรู้กัน โดยที่เป้าหมายของเราเป็นไปเพื่อชุมชน ศัพท์ที่ใช้กันไม่ใช่คุณต่างๆแต่เป็น       "ผู้ประกอบการทางสังคม" ผมเห็นว่านก(ยุพิน)         พัช(พัชรี)และอีกหลายๆคนล้วนเป็นผู้ประกอบการทางสังคม

ขออนุญาติ print ส่วนนี้ให้ทีมกะหรออีกนะคะอาจารย์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท