แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

OUTCOME MAPPING แผนที่ผลลัพธ์ (6-7 ส.ค. '52)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ

 

OUTCOME MAPPING แผนที่ผลลัพธ์

เขียนโดย ; รัชนิดา วงศ์โกสิตกุล
คอลัมน์ ; เทคนิคการสอน
โยคะสารัตถะ ตุลาคม ๒๕๕๒

 

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือ สคส. จัดสัมมนา OM " OUTCOME MAPPING" " เส้นทางเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในวันที่ " 6 - 7 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณสถาบันฯ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ไปเข้าร่วมอบรม

รูปแบบการสัมมนาของ สคส. เป็นการสร้างบรรยากาศให้สบายๆ เริ่มต้นด้วย การแนะนำตัวเอง และ ทาง สคส. เค้าก็ใช้วิธี Before Action Review (BAR.) เข้ามาด้วย ก็แบบที่เราเคยทำแล้วกับอาจารย์ประพนธ์ที่สัมมานา KM ที่ มศว. ดูว่าเป็นวิธีง่าย กับคำถามว่าที่มาเข้าฟังคาดหวังอะไร กับ อีกคำถามนึงก็ ถ้าจะให้เป็นอย่างที่คาดหวังต้องปฏิบัติอย่างไรซึ่งทุกๆ คนก็จะบอกว่า ตั้งใจฟัง มีสติ ถามคำถาม เปิดรับ ซึ่งเหมือนเป็นจิตวิทยาให้เราตั้งเป้า ทำให้เราได้ให้พันธะสัญญากับตัวเอง การทำลักษณะนี้สอดคล้องกับแนวทางของเรา เป็นการเรียกสติ กระตุ้นต่อมการระลึกรู้ และ การอยู่กับปัจจุบัน

เมื่อเราได้ความคาดหวังของเรา และเราจะได้รับทราบความคาดหวังของผู้อื่น ก็อาจทำให้เรามีทิศทางในการฟังมากขึ้น แต่อีกมิตินึง ถ้าเราฟังด้วยการคาดหวังอยากเห็นในอย่างที่เราอยากให้เป็นซึ่งมักมีหลายสิ่งด้วยกัน ระหว่างที่ฟัง เราอาจเผลอไปตัวสินหรือพูดกับตัวเอง ในหัวของเราเองว่ามันเป็นแบบนั้นแบบนี้ เข้ากับงานโน้นงานนี้ แล้วถ้าเราเห็นมันก่อนได้ก็ดีจะได้รีบบอกให้มันหยุดก่อน แต่ถ้าไปเออ ออ ต่อ ความคิดตัวเอง จะทำให้ ไม่มีพื้นที่พอสำหรับการเปิดรับและคิดวิเคราะห์ หลังจากสัมมนาเสร็จ แล้วถึงรู้ว่า เรามาด้วยความคาดหวังอะไร สิ่งที่จะให้เป็นไปตามความคาดหวังก็คือ อันดับแรก ให้ปล่อยวางความคาดหวังนั้นลงก่อน เลย แล้วค่อย เปิดกว้าง ตั้งใจ พร้อมแชร์ มีสติ อย่างที่ทุกๆ คนบอกนั่นแหละ แล้วค่อยหยิบมันขึ้นมาใหม่ตอน ทำ After Action Review ( AAR.) เมื่อจบการสัมมนา โดยเทคนิค ก็คือ ที่เราคาดหวังอะไร เราได้อะไร เกินคาด ได้อะไรน้อยกว่าที่คาดไว้ จะกลับไปทำอะไร ปรับปรุงอะไร

ขอแบ่งปันโดยสรุป ถึง ความหมาย วิธีการ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

"Outcome Mapping" ความหมายเป็นภาษาไทยว่า "แผนที่ผลลัพธ์" เป็นเครื่องมือเพื่อบริหารจัดโครงการ / แผนงาน โดยศูนย์การจัดการและพัฒนาระหว่างประเทศ ( IDRC : International Development and Research Centre) แห่งประเทศแคนาดาพัฒนาขึ้น

เพื่อให้เข้าใจง่าย และ สอดคล้องกับบริบทการทำงานของคนไทย สคส. ได้นำมาปรับและประยุกต์การใช้ศัพท์และวิธีคิดบางขั้นตอนจากต้นฉบับ มาเป็นการมองพัฒนาการของกระบวนการเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นของ "ผลลัพธ์" หรือ "Outcome" ของแผนงานที่เกิดขึ้นกับคน กลุ่มคน หรือองค์กรที่แผนงานทำงานด้วย ผลลัพธ์ที่ OM คาดหวังคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรม (Behavior change) เพราะเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่แม้เมื่อแผนงานนั้นๆ สิ้นสุดลง ผลของแผนงานนั้น รวมทั้งพฤติกรรมของบุคคลในชุดทำงานต่อๆ ไปจะยังคงอยู่ต่อไป

มุมมองสำหรับการนำไปใช้

OM เป็นเครื่องมือวางแผน + ติดตาม/ประเมินผล

OM เน้นการมอง "กระบวนการทำงานภายใน"

OM เหมาะกับ งานสร้างการเปลี่ยนแปลง

OM เป็นการ "Mapping" สิ่งที่ก่อให้เกิด "ผลลัพธ์"

เป็นการ "เสาะหา" และ "โยงใย" เพื่อให้เห็นว่า "ผลลัพธ์" นั้นเกิดมาจาก "เหตุปัจจัย" ไม่เพียงแต่เกิดมาจาก คนเพียงคนเดียวหรือแผนกเดียว

สคส. วางขั้นตอนการวางแผน OM มีรายละเอียดดังนี้

Step 1 : ภาพฝัน (Vision) ความฝันหรือภาพฝันของคนในองค์กร ที่มีฝันร่วมกัน อยากเห็นอะไรเกิดขึ้น ซึ่งอะไรที่จะเกิดขึ้นนี้ต้องเป็นความฝันที่เป็นเป้าหมายสุดท้าย ผู้รับประโยชน์สุดท้าย เราต้องการให้เป็นอย่างไร เป็นความฝันที่เป็นไปได้ ทำให้สิ่งที่เราจะร่วมลงมือทำนั้นไม่ได้มาจากเหตุผลเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นด้วยใจ

Step 2 : สานฝัน (Mission) พันธกิจ ตอบโจทย์ภาพฝัน แต่อาจไม่ทั้งหมด เป็นการระบุชัดว่าเราจะทำอะไร หรือ โฟกัส จุดใดให้ภาพฝันเป็นจริง ภาพฝันอาจค่อนข้างใหญ่ พันธกิจต้องเชื่อมโยงกับภาพฝัน ซึ่งไม่ใช่ Action Plan หรือ ขั้นตอน แต่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้น

Step 3 : ผู้ร่วมฝัน (ภาคีเครือข่าย) แบ่งเป็น ภาคีโดยตรง Direct Partners และ ภาคีกลยุทธ์ Strategic Partner ภาคีโดยตรง Direct Partners คือผู้ที่ยินดี ตั้งใจ เป็นทีมงานในการสร้างฝัน เป็น "คนภายใน" โครงการ ที่มีความตั้งใจและยินดีทำงานเป็นทีมร่วมกัน พร้อมที่จะเปลี่ยนวิธีคิดหรือพฤติกรรม และพร้อมเป็นผู้ที่จะสืบสานงานต่อ และ ภาคีกลยุทธ์ Strategic Partner เป็นกลุ่มคนหรือ องค์กรที่อยากมีฝันหรือวิสัยทัศน์เดียวกับเรา มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนกัน ทั้งเรื่องแนวคิด งบประมาณ นโยบายหรือ เป็นที่ปรึกษา ให้ความร่วมมือให้งานเราสะดวกขึ้น

Step 4 : ผลลัพธ์ที่ท้าทาย (Outcome Challenges) เป็นการออกแบบผลลัพธ์ ซึ่งต้องร่วมกันคิด ระหว่าง ผู้ร่วมทีม หรือ ภาคีโดยตรง ซึ่งจะเป็นผลลัพธ์เชิงพฤติกรรม ความสามารถ ศักยภาพ คือ ผู้ร่วมทีมจะต้องมีอะไรที่ทำให้สำเร็จตามพันธกิจ

Step 5 : เป้าหมายรายทาง (Progress Markers) เป็นขั้นตอน คลี่ขยาย ผลลัพธ์ที่ท้าทาย ตามลำดับพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพ ขีดความสามารถ ทำให้การดำเนินงานอยู่ในทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่มี 3 ขั้นตอน

Expect to see – คาดว่าน่าจะเกิด เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นช่วงแรกของการดำเนินการ

Like to see – อยากจะให้เกิด พัฒนาหลังจากได้ดำเนินการไปพอสมควร

Love to see – ถ้าเกิดได้ก็ดี เกิดขึ้นเมื่อการดำเนินการใกล้สิ้นสุด เป็นการแสดงถึงการบรรลุผล

Step 6 : กำหนดกลยุทธ์ (Strategy) หรือแผนที่ยุทธ์ศาสตร์ แนวทางหลักๆ ที่คอยส่งเสริม และ สนับสนุน ให้ภาคีโดยตรง มีพฤติกรรมไปตามผลลัพธ์ และ เป้าหมายรายทาง มี 2 ส่วนหลัก 1) Individuals : มุ่งที่ ภาคีโดยตรง กลยุทธ์ที่เป็นหลักการ แนวคิด แบบแผน ในการปฏิบัติ ตามด้วยกิจกรรมภายใต้กลยุทธ์ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และ 2) Environment : มุ่งไปที่ปัจจัยแวดล้อม สร้างบรรยากาศในเพื่อให้เกิดการรับรู้ การเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย ให้แรงจูงใจ หรือ ให้กฎระเบียบ อำนวยเครื่องมือที่ทำให้การทำงานสะดวก

Step 7 : แนวปฏิบัติสนับสนุนกลยุทธ์ (Required Practices) เป็นแนวปฏิบัติขององค์กร หรือ ที่ต้นสังกัด หรือ ภาคีกลยุทธ์ เกื้อหนุน ส่งเสริม ให้ภาคีโดยตรงได้ปฏิบัติตาม Strategy

Step 8 : กรอบแนวทางติดตาม&ประเมินผล Monitoring & Evaluation Framework ต้องมีการอธิบาย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สคส.ให้กรอบแนวทางติดตาม และ การประเมินดังนี้

 

ติดตามอะไรบ้าง Monitoring

ประเมินอย่างไร Evaluation

เครื่องมือ/เทคนิค Tools & technique

Progress markers

     

Strategy

     

Required Practices

     

แผนที่ผลลัพธ์ได้รับการพัฒนาในองค์กรที่มีความเชื่อว่า การติดตามและประเมินผลจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แผนงาน / โครงการ มีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ดังนั้นแผนงานที่ใช้แผนที่ผลลัพธ์ จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของทุกฝ่าย

พวกเรา เป็นเครือข่ายครูโยคะ ซึ่งก็เป็นภาคีร่วมหลักของการมีภาพฝันที่ใกล้กัน น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ ตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบการทำงาน และ การใช้ทรัพยากรบุคคลที่ "ชัดเจน" และ "ทรงพลัง" การติดตามและประเมินผลย่อมจะตามมาหลังจากที่เราได้วาดแผนการประเมินผลด้วย

โดยทั่วไป ถ้าเรามองว่าเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง กับงานสอน หรือ งานของเราหรือกับองค์กร ฟังดูแล้วอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาคือ สิ่งที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะเป็นวิถี หรือ อาจเป็นวัฒนะ-ธรรมไปแล้ว ถ้าเราเห็นก่อนว่าทำไมต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเปลี่ยนจะเกิดประโยชน์อย่างไร และ เห็นผลกระทบ Impact ถ้ายังมีความเป็นไปแบบเดิม ความเป็นไปได้ย่อมมีอยู่ และ มีพลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นด้วย เพราะ เราเริ่มภาพฝัน ก็เท่ากับเราเริ่มที่ใจ ได้ทำในสิ่งที่เราอยากเห็นไว้ก่อน เพื่อความสุขซึ่งไม่ได้รออยู่ที่ความสำเร็จ หากแต่อยู่ตามรายทางด้วย 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 431998เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2011 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท