แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

ฤกษ์ดี By ครูเละ (โยคะสารัตถะ ต.ค.๕๒)



 
เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


ฤกษ์ดี

ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ (ครูเละ) 
คอลัมน์ ; โยคะวิถี
โยคะสารัตถะ ฉ.ตุลาคม ๒๕๕๒

 

ถึงแม้จะค้นพบความลงตัวของชีวิตบนเส้นทางของการเป็นผู้เยียวยามาหลายปีดีดักแล้ว แถมยังวาดฝันว่าจะมีอาศรมเพื่อเป็นสถานที่บำบัดเยียวยาผู้ที่เจ็บป่วยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเป็นที่แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ครูหลายท่านถ่ายทอดให้ผมอย่างไม่เม้มมิดปิดบัง

ทว่าความฝันที่ผมเรียกว่าเป็นความฝันเล็กๆ อันงดงามของผู้ชายสามัญ ก็ยังไม่แทงยอดออกจากใจกลายเป็นความจริงที่จับต้องได้สักที

กระทั่งสองเดือนก่อนระหว่างกลับไปอินเดียเพื่อทำการบำบัดด้วยวิธีอายุรเวทแบบเต็มสูตรให้ครูผู้เป็นทั้งแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณและเกื้อกูลหนุนส่งให้ผมได้ย่างก้าวบนทางสายนี้  ผมเกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าอยากมีอาศรมแห่งการเยียวยาที่วาดหวังไว้ในใจมาหลายปี คล้ายกับว่าจู่ๆ เมล็ดพันธุ์แห่งความฝันได้แตกยอดเป็นต้นกล้าจากการได้ลงมือบำบัดครูผู้ดูแลผมเสมือนหนึ่งเป็นลูกชายของท่าน

หลังจากกลับเมืองไทยผมจึงปรึกษาหารือกับมิตรสนิทรุ่นพี่ที่สนใจในศาสตร์แห่งการเยียวยาไม่น้อยไปกว่าผม จนตกลงปลงใจว่าจะช่วยกันถักทอความฝันเรื่องอาศรมแห่งการเยียวยาให้กลายเป็นจริง

และเพื่อให้ความใฝ่ฝันของเราเป็น “ฝันด้วยใจที่พอจะไปได้ถึง” เราจึงคิดตรงกันว่าน่าจะเริ่มต้นจากคลินิกเล็กๆ ก่อน ซึ่งถึงกระนั้นก็คงต้องเสาะหาและตระเตรียมเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น

อาจจะเป็นเพราะเราสองคนต่างก็ข้องแวะอยู่ในโลกแห่งการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตอยู่พอสมควร เราจึงคิดว่าน่าจะมีเวบไซต์เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและแบ่งปันความรู้สู่ผู้คน ซึ่งน่าจะค่อยๆ ทำไปได้เลยในระหว่างที่มองหาทำเลที่เหมาะสมและเตรียมการเรื่องคลินิก อีกทั้งเราเองก็ลงตัวแล้วกับชื่อเสียงเรียงนามของอาศรมที่ครูทุกคนของผมเห็นพ้อง และที่สำคัญยังอวยชัยให้พรกับการก่อการดีในชื่อที่เราคิดกัน ว่า “ไภษัชยาศรม” ซึ่งแปลสั้นๆ ว่า “อาศรมแห่งการเยียวยา”

แม้ว่าวัยของเราสองคนรวมกันเกือบร้อยแล้ว แต่คล้ายกับใจบางส่วนยังคงรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม เราจึงตกลงจดทะเบียนชื่อเวบไซต์ก่อนแล้วค่อยทำเวบไซต์ให้เป็นตัวเป็นตนทีหลัง ลึกลงไปในใจผม ผมรู้สึกว่าการมีชื่อเวบไซต์ไว้ก่อน เหมือนกับการวางหมุดหมายแรกที่เร่งให้ตัวเองขับเคลื่อนจังหวะก้าวต่อไป

เพียงไม่กี่วันหลังจากปรารภและปรึกษาครูผู้เป็นเสมือนพ่อของผมว่าเราจะจดทะเบียนเวบไซต์ในชื่อที่ครูให้พรไปก่อนหน้านี้ ครูส่งอีเมลแจ้งว่าไปขอฤกษ์ผานาทีสำหรับจดทะเบียนเวบไซต์จากแม่ครู(ผู้ที่ผมรู้สึกว่าท่านมีญาณพิเศษ และเคยให้พรผมด้วยความเมตตาการุณย์ ทั้งยังมอบมนตราให้ผมบริกรรมเป็นประจำทุกวัน)ให้พวกผมแล้ว ตรงกับวันที่ ๑๑ กันยายนเวลาบ่ายโมงครึ่งถึงบ่ายสองครึ่ง

นอกจากความรู้สึกปีติและซาบซึ้งในเมตตาของครูและแม่ครูแล้ว ผมไม่คิดว่าต้องเตรียมการใดๆ เป็นพิเศษนอกไปจากต่ออินเตอร์เน็ตและลงชื่อเวบไซต์ตามวันเวลาที่ได้รับฤกษ์มา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรู้สึกว่าก็แค่จดทะเบียนชื่อเวบไซต์เท่านั้น

กระทั่งสามวันก่อนถึงฤกษ์ผานาทีที่แม่ครูให้มา ผมเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับตอนที่ได้รับมนตราสองบทในช่วงเวลาห่างกันหนึ่งปีที่แม่ครูเลือกสรรขณะอยู่ในสมาธิจิตและมอบให้ผมบริกรรม นี่คือมนตราที่แม่ครูใช้พลังและความตั้งใจเลือกสรรให้ผมโดยเฉพาะ ผมรู้สึกว่าต่อให้ไม่เข้าใจในความหมายอันลุ่มลึกหรือประสบสัมผัสพลังแห่งมนตรา อย่างน้อยๆ ผมควรจะรักษาพันธสัญญาทางใจกับแม่ครู ด้วยการบริกรรมมนตราที่ได้รับมอบเป็นประจำทุกวัน

ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่ผมปฏิบัติมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

วันนั้นผมเกิดความรู้สึกว่า ฤกษ์ผานาทีที่แม่ครูสู้อุตส่าห์เลือกมาให้ด้วยใจเมตตา คือโมงยามศักดิ์สิทธิ์ที่ผมพึงทำให้มันมีความหมาย โดยไม่สำคัญว่ามันเป็นฤกษ์ผานาทีเพื่อการใด

หลังจากปรึกษากับมิตรรุ่นพี่ที่ร่วมก่อการดีด้วยกัน เราจึงทำพิธีบูชาใหญ่ในวันที่แม่ครูเลือกให้ นอกจากสวดบูชาพระรัตนตรัย บูชาเทพแห่งการเยียวยาในขนบของอายุรเวทและบูชารำลึกถึงครูบาอาจารย์แล้ว พวกเราร่วมกันบริกรรมไภษัชยคุรุมนตราซึ่งเป็นมนตราของพระพุทธเจ้าแห่งการเยียวยา(Medicine Buddha) ๑๐๘ จบ

ช่วงเริ่มต้นพิธี ผมนึกถึงอีเมลของบรรดาครูอายุรเวทซึ่งเป็นทั้งมิตรสนิทที่ส่งมาแสดงความยินดีและอวยชัยให้พร

อย่างเช่นครูหมออายุรเวทที่ผมไปจำหลักพำนักอยู่ด้วยหลายปี บอกว่าพลันที่รู้ข่าวว่าผมจะตั้งใจจะสานฝันให้เป็นจริง ครูรู้สึกมีความสุขที่สุด อ่านเมลของครูแล้วผมรู้สึกได้ว่า มันคือวันเวลาที่ครูรอคอยและเอาใจช่วยผมมานาน

เพื่อนสนิทซึ่งเป็นทั้งครูของผมอีกคนซึ่งกำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่ญี่ปุ่นบอกว่าเขาดีใจมาก ทั้งยังบอกว่านอกจากกำลังใจและพรที่เขามีให้ด้วยใจเต็มร้อยแล้ว หากมีสิ่งใดที่เขาสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลก่อนที่ผมจะเปิดอาศรมอย่างเป็นรูปธรรมเขาก็ยินดีและจะมีความสุขมาก ก่อนจะตบท้ายว่าทีนี้เขาก็มีเหตุผลที่หนักแน่นในการแวะเมืองไทยระหว่างบินไป-กลับประเทศอินเดียและญี่ปุ่นแล้ว

ภรรยาของเพื่อนสนิทอีกคนบอกว่าเธอชอบชื่ออาศรมมาก และขอให้ผมประสบความสำเร็จในหมุดหมายที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

ระหว่างบริกรรมไภษัชยคุรุมนตรา ผมรู้สึกว่าครูและมิตรสนิทของผมได้ร่วมร่ายมนตราไปกับพวกเราที่อยู่ในพิธีด้วย บางห้วงขณะผมรู้สึกถึงพลังบางอย่างที่ทั้งเอิบอาบและเคลื่อนวนอยู่ภายใน เป็นพลังที่ยากบ่งบอกบรรยาย

ผมปิดท้ายพิธีบูชาด้วยการนอนราบเพื่อกราบรูปปั้นและภาพครูของครูที่อยู่ตรงหน้า ขณะที่หน้าผากแนบอยู่กับพื้น ความรู้สึกตอนที่ผมนอนราบกราบครูโดยหน้าผากแนบกับหลังเท้าของครูผุดพรายขึ้นในใจอีกครั้ง มันเป็นความรู้สึกของการสยบยอมอย่างไม่มีเงื่อนไข ผมตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ศิโรราบ” ก็ในคราวนั้นเอง

ขณะรอให้ถึงเวลาที่จะจดทะเบียนชื่อเวบไซต์ทางอินเตอร์เน็ต ผมรู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้ว่าคำว่า “ฤกษ์ดี” นอกจากเป็นฤกษ์ผานาทีที่ถูกเลือกมาให้แล้ว ยังอยู่ที่การบรรจงทำให้ห้วงยามนั้นมีความหมายและคุณค่าด้วยการตั้งใจทำกิจอันดีงามด้วย

ค่ำวันนั้นระหว่างโทรศัพท์คุยกับมิตรรุ่นพี่ที่ร่วมก่อการดีด้วยกัน เมื่อพี่เขาถามเป็นเชิงปรารภว่า เราถือว่าวันที่ ๑๑ กันยายนเป็นวันก่อตั้ง “ไภษัชยาศรม” เลยดีไหม ผมจึงเห็นด้วยและตอบรับในทันที

ราวกับว่าคำตอบนี้รออยู่ที่ริมฝีปากผมอยู่แล้ว


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 431770เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2011 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท