การสร้างวัฒนธรรมการวิจัย


เป็นเรื่องท้าทายครูผู้สอนว่า จะทำอย่างไร ให้นักเรียนค้นหาคำตอบ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองในทุก ๆ เรื่องที่นักเรียนได้สัมผัส ได้ประสบ หรือได้เรียน ทำอย่างไร อย่างน้อย กระบวนการ ๔ ขั้นตอนนี้ จะฝังอยู่ในตัวนักเรียน และนักเรียนสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ทุกเรื่อง

การสร้างวัฒนธรรมการวิจัย

                เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการสร้างวัฒนธรรมการวิจัย ซึ่งมีกลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรูโดยใช้กระบวนการวิจัย ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ปฏิบัติงานโดยใช้กระบวนการ เป็นโครงการระยะเวลา ๓ ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๔ โดยขณะนี้ มีสถานศึกษาสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประมาณ ๑๕๐ เขต ที่แสดงความจำนงต้องการเข้าร่วมโครงการ สถานศึกษาต่าง ๆ นี้ อาจจะเป็นโรงเรียนนำร่องหรือโรงเรียนต้นแบบก่อน โดย สพฐ.จะจัดอบรมให้ความรู้แก่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์เขตฯ ประมาณปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนรู้/สร้างองค์ความรู้ที่เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัย ซึ่งในปีแรกเน้นที่นักเรียนก่อน สำหรับกระบวนการวิจัยดังกล่าว ไม่เป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก และนักเรียนจะใช้กระบวนการนี้ในการเรียนรู้ทุกเรื่อง คือต้องการให้กระบวนการนี้ฝังอยู่ในตัวนักเรียนตลอดไป

                กระบวนการวิจัยดังกล่าวมี ๔ ขั้นตอน คือ ๑.การตั้งคำถาม, ๒.การเตรียมการค้นหาคำตอบ, ๓.การดำเนินการค้นหาคำตอบและตรวจสอบคำตอบ, และ ๔.การสรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ขั้นแรก การตั้งคำถาม ครูจะต้องกระตุ้นให้นักเรียนอยากรู้ในเรื่องที่เรียน ให้นักเรียนตั้งคำถามกับตนเองในลักษณะ เช่น เรื่องนี้คืออะไร มีกระบวนการอย่างไร นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ฯลฯ แล้วแต่เรื่องที่เรียน ซึ่งคำถามจะเปลี่ยนแปลงไปตามความอยากรู้ของนักเรียน ซึ่งคำถาม ควรเป็นคำถามที่นักเรียนต้องใช้เวลา และใช้กระบวนการค้นหาความรู้ที่ซับซ้อนบ้าง เมื่อนักเรียนมีคำถามกับตนเองแล้ว ขั้นที่สองการเตรียมการค้นหาคำตอบ ครูต้องซักถามนักเรียน หรือให้เพื่อนนักเรียนช่วยกันซักถามว่า เรื่องดังกล่าว(คำถามของนักเรียน) เจ้าของเรื่องมีกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงาน/กระบวนการหาคำตอบอย่างไร เพื่อจะได้ช่วยกันให้ข้อเสนอแนะให้เจ้าของเรื่องค้นหาคำตอบได้อย่างถูกต้อง เพียงพอ และครบถ้วน เมื่อนักเรียนได้วิธีค้นหาคำตอบที่ดีแล้ว ครูจึงให้นักเรียนดำเนินการค้นหาคำตอบตามวิธีที่นำเสนอ จึงเป็น ขั้นที่สามการดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ โดยครูควรย้ำให้นักเรียนทำการตรวจสอบคำตอบ/ข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้ว่า มีความถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ มีความเพียงพอ ครบถ้วนหรือยัง ที่จะเป็นคำตอบที่ต้องการ และครูควรสอบถามนักเรียนเป็นระยะ ๆ หรือให้นักเรียนนำเสนองานเป็นระยะ ๆ กรณีที่งานต้องใช้เวลานานในการค้นหาคำตอบ เมื่อนักเรียนค้นคว้าหาคำตอบและตรวจสอบข้อมูลเป็นอย่างดี ครบถ้วนแล้ว จึงให้นักเรียนดำเนินการขั้นตอนที่สี่การสรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ ครูควรหารือกับนักเรียนว่าจะสรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบในลักษณะใด รูปแบบใด ที่จะทำให้ผู้อื่นได้เห็นแล้วมีความเข้าใจได้โดยง่าย บางครั้งครูอาจจะมีตัวอย่างให้นักเรียนดูการนำเสนอข้อมูลของผู้อื่น อาจจะเป็นวีซีดี หรือภาพนิ่ง แล้วแต่ความเหมาะสม การจัดการเรียนรู้ดังกล่าว ครูต้องไม่เป็นผู้บอกความรู้ให้กับนักเรียน แต่ครูต้องตั้งคำถามชี้นำให้นักเรียนเดินตามทางที่ควรจะเป็นดังกล่าว และครูต้องเป็นผู้รอบรู้มาก ๆ พอสมควร

               จึงเป็นเรื่องท้าทายครูผู้สอนว่า จะทำอย่างไร ให้นักเรียนค้นหาคำตอบ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองในทุก ๆ เรื่องที่นักเรียนได้สัมผัส ได้ประสบ หรือได้เรียน ทำอย่างไร อย่างน้อย กระบวนการ ๔ ขั้นตอนนี้ จะฝังอยู่ในตัวนักเรียน และนักเรียนสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ทุกเรื่อง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงนำมาเล่าให้ฟังก่อน ก่อนที่กระบวนการดังกล่าวจะปรากฏเป็นรูปร่าง จับต้องได้ หวังว่าคุณครูถ้าได้อ่านบทความนี้ อาจจะมีแนวคิดที่น่าสนใจ และนำไปพัฒนานักเรียนที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาคุณลักษณะใฝ่เรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่ต้องรอให้มีโครงการมาให้ทำ ครูอาจจะคิดโครงการเองก็ได้ การจัดการเรียนรู้แบบนี้ เป็นที่ปรารถนาของ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน และของหลักสูตรฯ ที่ใช้อยู่ รวมทั้งเป็นความมุ่งหวังในการพัฒนานักเรียนในโรงเรียนมาตรฐานสากลที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วย น่าลองนำไปใช้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 431103เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

วันนี้ดิฉันได้มาอบรมการสร้างวัฒนธรรมการวิจัย  น่าสนใจ แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเด็กจะได้ไหม

น่าลองทำดูนะครับ เด็กเราจะได้ใช้ความคิดมากขึ้น ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งในหลักสูตร และนอกหลักสูตร เราจะได้ภาคภูมิใจที่เป็นครูที่สอนให้นักเรียนรู้จักคิด และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

เป็นของเล่นตัวใหม่ของนักวิชาการ เหมือนงาน Potfolio คราวนั้นอบรมกันหลายหน หมดเงินหลวงไปเยอะ แล้วก็จางหายไป

...............สิ่งไหนดี.....น่าจะนำมาใช้อย่างจริงจัง.......กำกับติดตาม......มีผล......บทลงโทษ......ถ้าไม่ปฏิบัติ....กล้า...กล้า...หน่อย

เข้ามาเรียนรู้การทำวิจัยให้เป็นวัฒธรรมค่ะ

สวัสดีค่ะท่าน ดร. เฉลิม

จะทดลองนำไปปฏิบัติกับนักเรียนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท