สาเหตุหนึ่งแห่งความยากจน


ทุกคนต้องประหยัดกันจนกระทั่งแทบจะทานข้าวคลุกกับน้ำปลาผสมกับน้ำตา เพื่อมอบสิ่งที่ตนเองหามาได้ทุกอย่างให้กับ “ลูก” และ “การศึกษา” ซึ่งได้มาของสิ่งที่เรียกว่า “ปริญญา”

ความยากจนคืออะไร

ใครบ้างล่ะที่ยากจน

ความยากจนนั้นมาจากไหน มีสาเหตุมาจากอะไร


คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สังคมไทยกำลังหาคำตอบและพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

ต้นเหตุของปัญหาหรือต้นตอของความยากจนหลัก ๆ นั้นมาจากอะไร

ในมิติหนึ่งของปัญหาความยากจนในปัจจุบันที่ไม่ค่อย (ไม่เคย) มีใครพูดเท่าใดนัก

หลายคนอาจจะมองข้ามรูรั่วของค่าใช้จ่าย ซึ่งนำมาสู่ปัญหาค่าใช้จ่ายอันมหาศาลของครอบครัว

ทำให้เกิดปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบันหรือปัญหาต่าง ๆ ซึ่งตามขึ้นมามากมาย

รูรั่วของค่าใช้จ่ายที่ว่านั้นคืออะไร........

 

ครั้งหนึ่งนายรักษ์สุขได้เคยสนทนากับพี่แดง (คุณสุจิตร์ สว่างอารมณ์) วันนั้นพี่แดงได้ตั้งคำถามกับนายรักษ์สุขได้อย่างถูกจุดเจ็บแปลบเข้าไปถึงหัวใจและนำมาสู่คำตอบที่นายรักษ์สุขได้พยายามขบคิดมาตลอดเวลา

วันนั้นพี่แดงได้ถามว่า

เศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำกันในปัจจุบันส่วนใหญ่ใครเป็นผู้ที่ทำได้ เข้าใจ และเข้าถึง ผู้ใหญ่ใช่ไหม แล้วลูกของผู้ใหญ่เหล่านั้นน่ะ เขาทำได้กันหรือเปล่า

 

อื่ม เป็นประเด็นที่ตอนนั้นนายรักษ์สุข  ตอบไม่ได้ครับ

เพราะตอนนั้นพอย้อนกลับมาดูตนเองก็เป็นอย่างที่พี่แดงพูดเหมือนกันครับ

พ่อแม่เราใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่เราซื้อโน่นซื้อนี่ นั่งกินข้าวร้านอาหาร กินแต่ของแพง ๆ ตามสมัย ตามเพื่อน

ก็เลยขอติดคำตอบกับพี่แดงไว้ก่อนครับ ขออนุญาตไปลองคิดและค้นหาคำตอบอันน่าฉงนนี้...

ประกอบกับการที่ได้ร่วมทำงานกับพี่แดง ท่านพระอาจารย์กิตติ แห่งวัดวังดิน (ชมรมลูกเขาผึ้ง) และพี่ต่าย (สสส.) ภาคเหนือ ในการจัดทำแผนชีวิตและข้อเสนอภาคประชาชนด้านปัจจัยการผลิตของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง พอช. สกว. มหาวิทยลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด

โดยงานหลักเป็นการเก็บข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชนในจังหวัดอุตรดิตถ์จำนวน 9 ตำบล

สิ่งที่น่าอัศจรรย์เมื่อเก็บข้อมูลมานั้นที่ทำให้เกิดประเด็นในการคิดต่อมานั้นก็คือ

รายได้ส่วนใหญ่ของประชาชนจาก 6 ใน 9 ตำบลนั้น มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย

คำถามตามมาทันทีเลยครับว่า

"อ้าว ถ้ามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายแล้ว เขาจะจนได้อย่างไร"

เราประมวลผลผิดหรือเปล่า

หรือว่าเขาตอบมาไม่ตรงความจริง

แบบสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่เราทำไปมีส่วนใดบกพร่องไปหรือเปล่า

เอ๊ มันเกิดปัญหาอะไรขึ้นนะ

 

ตอนนั้นนายรักษ์สุขได้ทำการย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบแบบสำรวจภาคครัวเรือนว่ามีข้อผิดพลาดและช่องโหว่ตรงไหน

นายรักษ์สุขก็พบช่องโหว่เบ้อเร่อเลยครับ

สิ่งที่พบและขาดไปอย่างมาก ๆ นั้นก็คือ

ค่าใช้จ่ายของลูกและค่าใช้จ่ายที่มีต้นเหตุมาจากลูก

ซึ่งในแบบสำรวจส่วนใหญ่ที่ทำกันทั้งประเทศในชุดโครงการของ พอช. โครงการนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีการเก็บเฉพาะเรื่องของ ค่าการศึกษาบุตร ค่ารถเดินทาง ค่าขนม เงินที่ให้ไปโรงเรียนในแต่ละวัน ส่วนอื่น ๆ นั้นจะเป็นรายจ่ายของครัวเรือน ของครอบครัว หัวหน้าครอบครัว และค่าใช้จ่ายภาคการเกษตรหรือการประกอบอาชีพเป็นหลัก

ซึ่งก็เป็นคำตอบอย่างหนึ่งได้ครับว่า ผู้ใหญ่เขาประหยัดกันอยู่แล้ว

ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยครับว่า ทำไมเวลาคิดรายได้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้ว "ชุมชนถึงมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย"

ถ้าไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับและค่าใช้จ่ายที่มีต้นเหตุมาจาก ลูก ให้ละเอียดแล้ว

จะไม่เจอจุดโหว่ใหญ่ของปัญหาความยากจนในประเทศไทยทุกวันนี้ครับ....


 

การแก้ปัญหาความยากจนในปัจจุบัน หลาย ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ กลุ่มองค์กรเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ มุ่งเป้าปัญหาไปที่การใช้จ่ายของผู้คนในระดับหัวหน้าครอบครัว ซึ่งมาจากการประกอบอาชีพเป็นหลัก

เกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน หัวหน้าครอบครัว

จากการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเกษตรกร แม่บ้าน พ่อบ้าน คนในชุมชนเป็นหลัก ทำให้เกิดโครงการตามมาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกลุ่มอาชีพสตรี การแปรรูปผลผลิต การผลิตปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำยาล้างจาน แชมพู การลดค่าเหล้า ค่าหวย รวมกลุ่มทอผ้า ผลิตไวน์ ทำข้าวเกรียบ ปลูกผัก การตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เอง ปลูกผักปลูกหญ้ากินกันในครอบครัว

ถ้าเราทำได้ทั้งหมดเช่นทีกล่าวมาข้างต้น เชื่อหรือไหมครับว่า อาจจะไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายใน งานวันเกิดลูก เพียงวันเดียว

งานวันเกิด ที่พ่อและแม่ให้เงินลูกไปจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เฮฮากับหมู่มวลเพื่อนในร้านอาหารหรูหราในตัวเมืองหรือตัวอำเภอ มีเค้ก เป่าเทียน และร้องเพลง Happy birthday กัน เช็คบิลออกมาแล้ว เป็นเงิน.............. บาท

ค่าใช้จ่ายในงานวันเกิดลูก ไม่มีเก็บไว้ในรายจ่ายภาคครัวเรือนนะครับ

จริงหรือไม่  ใช่หรือมั่วครับ

การทำงานเก็บหอมรอมริบของครอบครัว การทำงานของพ่อและแม่มาตลอดทั้งปี

ทรัพย์สินเกือบทั้งหมดจะต้องเข้าไปอยู่ใน "โรงรับจำนำ" ในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อซื้อ ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน รองเท้าใหม่ ถุงเท้าใหม่ เสื้อสีขาว ๆ

"ลูกจะไม่ได้อายเพื่อน"

ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์เช่นนี้ทุก ๆ ปีครับ ถ้าใครยังจำข่าวในช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมได้

โรงรับจำนำต้องสำรองเงินไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้ผู้ปกครองนำของต่าง ๆ มาจำนำเพื่อนำมาซื่อสิ่งต่าง ๆ ให้ ลูก

พ่อแม่ทุกคนมีลูกเป็นดวงใจครับ อยากให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด

โดยเฉพาะตอนนี้เป็นยุค Generation Y เป็นยุคที่สังคมเรานิยมมีลูกกันเพียงแค่หนึ่งหรือสองคน

เป็นยุคแห่งคุณภาพ ยุคแห่งเทคโนโลยี ยุคแห่งสุขภาพ

ดังนั้นเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นมา พ่อและแม่จะต้องดูแลและสร้างเสริมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข จิตใจ ร่างกาย ดนตรี กีฬา ทุกอย่างลงไปที่แก้วตาดวงใจทั้งหมดครับ

พ่อและแม่ยอมอดได้เพื่อให้ลูกได้อิ่มและสบาย

 

ช่องทางแห่งธุรกิจระบบ ทุนนิยม ไม่พลาดครับสำหรับหนทางในการดำเนินธุรกิจ

ผู้ใหญ่ วัยกลางคน มีชีวิตและประสบการณ์ผ่านความยากลำบากมานาน ภูมิคุ้นกันสูง

เด็ก วัยรุ่น ภูมิคุ้มกันทางด้านความประหยัดต่ำกว่าครับ "ช่องทางนี้เล่นง่ายกว่า"

"ให้เด็กซื้อ และซื้อเพื่อเด็ก"

 

โรงเรียนนานาชาติ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี โรงเรียนสอนดนตรี ศูนย์กีฬา อาจารย์สอนพิเศษ อาหารเสริม ร้านขายหนังสือ ผุดกันขึ้นเหมือนดอกเห็ด

 


หรืออาจจะลองเทียบง่าย ๆ ครับดูจากปัจจัย 4 ก็ได้ครับ

1. อาหาร

ร้านอาหารฟาสต์ฟู๊ด ไก่ทด แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ไอศกรีม

กลุ่มลูกค้าหลักที่เราเห็นก็คือ เด็กและวัยรุ่น "เด็กเหล่านี้ทำงานหาเงินกันได้แล้วเหรอครับ"

เงินมาจากไหน ที่นำไปใช้กินอะไรแพง ๆ ขนาดนั้น

พ่อและแม่ทานน้ำพริก ผักต้ม น้ำเปล่า แกงปลา กุ้งฝอย ขนมสอดไส้ ขนมต้ม

ลูกกินไก่ทอด พิซซ่า มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม ปลาดิบ เทมปุระ

ไก่ทอด 1 ชิ้นที่ลูกกิน 40 บาท แม่ซื้อไก่ได้ครึ่งตัว

สุกี้หนึ่งชั้นหนึ่งคอนโด แม่ซื้อกับข้าวมาทำกินได้ทั้งวัน

ไปกินกับเพื่อนเถอะลูก

 


2. เสื้อผ้า

พ่อกับแม่ หาซื้อได้จากตลาดนัด คลองถม ตัวละ 30, 40  เต็มที่ 199 ถ้าเจอเสื้อผ้ามามื้อสองจากเกาหลีเป็นกอง ๆ สิบบาทยี่สิบบาทก็ยังได้ครับ

หรือว่าจะทอ ตัดใส่เอง (ผลจากการที่ได้รับการอบรมมา ทั้งทอ ทั้งตัด แต่ขายไม่ได้) ขายไม่ได้ก็ใส่เองนี่แหละครับ

โดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อบต. อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สส. หาเสียงกันที ลองเข้าไปดูในชุมชนสิครับ เสื้อผ้าแทบไม่ต้องซื้อกันเลย สีสันสวยสดงดงาม แถมมีตัวอักษรชื่อคนโน้นคนนี้อีกต่างหากครับ

เคยเห็นเด็กใส่มาเที่ยวห้างไหมครับ

หรือที่เป็นกันมาก ๆ ก็คือ การได้รับมรดกตกทอดมาจากลูกที่ใส่กันเบื่อแล้ว

รองเท้า พ่อกับแม่ มีกันท่านละ 1-2 คู่ รองเท้าแตะ รองเท้าปู๊ตใส่ทำงาน รองเท้าหนังใส่ประชุม

ลูก ๆ ต้องซื้อตู้เก็บรองเท้ากันเลยครับ

ถ้าเป็นเด็กนักเรียนก็เริ่มตั้งแต่รองเท้าผ้าใบหรือหนังสีดำ รองเท้ากีฬา รองเท้าพละ รองเท้าแตะ รองเท้าใส่เที่ยว เที่ยวกลางวัน เที่ยวเย็น ๆ เที่ยวดึก ๆ เที่ยวป่า เที่ยวทะเล เที่ยวห้าง ฯลฯ

ยังมิต้องพูดถึงเสื้อผ้าของเด็ก ๆ สมัยนี้นะครับ

ตามสมัยและ ดารานิยม ออกมาจากแม็กกาซีนกันเลย แต่ละตัวถูก ๆ ทั้งนั้นครับ ใส่ครั้งสองครั้ง ตกยุคตกเทรนด์แล้ว เปลี่ยนใหม่ ๆ ๆ

พูดแล้วทำให้นึกย้อนถึงตอนที่อุตรดิตถ์น้ำท่วมเลยครับ เสื้อผ้าที่มาบริจาคกันออกมาจากแม็กกาซีน รัดติ้วกันมาเยอะเลยครับ หาผ้าถุงแทบไม่เจอเลยครับ

 


3. ที่อยู่อาศัย

บ้านไม้ใต้ถุนสูงแบบดั้งเดิม อากาศโปร่งโล่งสบาย

ปลูกบ้านตึกกันเถอะแม่

บ้านปูนร้อนจัง "ซื้อแอร์กันเถอะแม่"

เปิดแอร์หนาวจัง "ซื้อผ้าห่ม ToTo กันเถอะแม่"

ข้าง ๆ บ้านเขาดูการ์ตูนเนทเวอร์ค มีสารคดี เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค "ติดจานดาวเทียมกันเถอะแม่"  (เพื่อคุณภาพของลูกนะแม่นะ) บ้านข้าง ๆ เขาติดกัน อายเพื่อน ตกข่าว คุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง

"ขออินเทอร์เนทมาใช้กันเถอะแม่"

"ค่าชั่วโมงเนทล่ะแม่"

เปลี่ยนเป็นทีวีจอแบนนะแม่ รักษาสุขภาพตา

จอเล็ก ๆ มองตัวหนังสือไม่ชัด ขอสัก 29 นิ้วนะคะ

แม่ อาจารย์ให้แผ่นงานมาเป็นดีวีดี ไปซื้อดีวีดีกันนะแม่

เตาถ่านล้าสมัยใช้แก๊สกันเถอะแม่ มีเตาอบยิ่งดีนะแม่ หนูเรียนเรื่องขนมอบมา

ไมโครเวฟสะดวกมาก ๆ เลยนะแม่ไปซื้อกันเถอะ

หมอนแบบนุ่นไม่ดีนะแม่มีไรฝุ่น เดี๋ยวจะเป็นภูมิแพ้ ไปซื้อหมอนใหม่กันเถอะ แถมเตียงสปริงด้วยนะคะ เดี๋ยวจะมีปัญหากับกระดูกสันหลัง (ของหนู)

ซักผ้ามาก ๆ มือเปื่อย ซื้อเครื่องซักผ้ากันเถอะแม่ หรือไม่ก็จ้างเขาซักรีดเลยนะแม่ หนูจะได้มีเวลาอ่านหนังสือ....

 แล้วแม่จะเอาเงินมาจากไหนล่ะลูก....


4. ยารักษาโรค

พ่อแม่ไปนั่งรอหมอที่โรงพยาบาลตั้งแต่แปดโมงเช้ายันบ่ายเพื่อรอหมอเรียกตรวจ ตามหลักการประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาท รักษาทุกโรค (หายหรือไม่หายว่ากันอีกที) หรือบางครั้งก็พึ่งพายาชุดบ้าง ยาหมอตี๋บ้าง

"แม่หนูไม่อยากรอนาน ไปโรงพยาบาลช้าน่ะ เดี๋ยวหนูไปเรียนไม่ทัน ถ้าขาดเรียนไป เรียนไม่ทันเพื่อน เอนท์ไม่ติดนะคะแม่  ไปคลินิคเลยนะแม่นะ" 

"โรงพยาบาลรัฐน่ากลัว ไปโรงพยาบาลเอกชนกันเถอะนะแม่"

"ฟันหนูห่างไม่สวย ดัดฟันนะ ขูดหินปูน รักษารากฟันนะแม่นะ"

 


อีกตัวอย่างหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เป็นช่องโหว่ของการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทไทย ณ ปัจจุบัน

หน่วยงานภาครัฐมักจะมองว่าคนในชุมชนฟุ่มเฟือย กินเหล้าเมายา ต้องลด ๆ  ๆ ๆ

คนในชุมชนเขากินเหล้า "ไทยวิสกี้"  ยี่ห้อ มัสคอร์ท (มัดขอด) อันนี้ต้องถามอาจารย์จตุพรและอาจารย์จรัณธรครับ ว่ารู้จักเหล้ายี่ห้อ มัดขอด หรือเปล่าครับ

ซื้อมัดขอดมา 50 บาทเมากันทั้งวงครับ ไก่หนึ่งตัวกินกันทั้งบ้าน

เขากินหนึ่งเดือนยังไม่เท่าท่านไปกินร้านอาหารหนึ่งวันเลยนะครับ

เพราะแค่ค่าเหล้าค่าเบียร์ของท่านอย่างเดียวขวดหนึ่งหลักร้อยหลักพัน อาหารสั่งกันมาเป็นชุด ๆ เรื่องเหล้านี่ก็พูดกันอีกยาวครับ ฝากทุกท่านติดตามต่อในบันทึกเรื่อง เหล้า สุรา วงเหล้า กับสภากาแฟฉบับไทย ครับ

คนในชุมชนฟุ่มเฟือย มีมือถือใช้กันหมด อันนี้ต้องย้อนกลับไปดูความหวังดีประสงค์ร้ายของเด็ก ๆ นะครับ ที่มาจากมีมือถือเก่าตกรุ่น "อายเพื่อน" อยากได้เครื่องใหม่ เครื่องเก่าไปขายได้ไม่กี่ร้อย

เอาไปให้พ่อให้แม่ใช้ดีกว่า

ลูกกตัญญูครับ จะได้ติดต่อพ่อกับแม่สะดวกครับ

พอเวลากลับมาบ้านก็ใช้โทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์พ่อกับแม่โทรอีกครับ เพราะพ่อกับแม่เติมเงินไว้

ลองหยิบโทรศัพท์ของท่านมาดูแล้วเทียบกับเด็ก ๆ สิครับ...แล้วคุณจะรู้

คอมพิวเตอร์มีกันทุกบ้านครับ (มรดกจากลูก) เป็นส่วนใหญ่ครับ

ถ้าลูกไปเรียนต่างจังหวัดแล้วได้คอมใหม่ คอมฯ เก่าไม่ขายครับ เอากลับมาไว้บ้าน เหล่านี้เป็นต้นครับ

ทำให้ผู้แก้ไขปัญหามองว่า คนในชุมชนฟุ่มเฟือย มีของใช้กันอย่างหรูหราอลังการณ์ แต่ที่สิ่งของเหล่านั้นมีที่มาที่ไปครับ..

 


ที่เขียนบันทึกนี้มาไม่ได้เพราะว่าผมจะโทษเด็กนะครับ แต่เพื่อชี้ให้เห็นถึงสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมในปัจจุบัน

เพราะการแก้ไขที่ผ่านมุ่งเน้นแต่การลงไปที่ชุมชน และมองเห็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายพี่น้องในชุมชนของเราเป็นจำเลยสังคม

ทั้ง ๆ ที่หลาย ๆ ชุมชนหลาย ๆ ครอบครัว ทุกคนต้องประหยัดกันจนกระทั่งแทบจะทานข้าวคลุกกับน้ำปลาผสมกับน้ำตา เพื่อมอบสิ่งที่ตนเองหามาได้ทุกอย่างให้กับ

 ลูก และ การศึกษา

ซึ่งได้มาของสิ่งที่เรียกว่า ปริญญา

จะลำบากแค่ไหนลำบากเท่าใด พ่อและแม่ไม่เคยบ่น ขอให้ลูก ๆ มีการศึกษา เพื่อในอนาคตจบไปจะได้ไม่ลำบากเหมือนกับตัวท่านเอง

และอีกประการหนึ่งเพื่อฝากให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้คิดถึง เงิน ที่พ่อและแม่ได้ส่งเสียให้เราได้ศึกษาเล่าเรียน

เราควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

พยายามสร้างภูมิคุ้นกันจาก สื่อ และ ทุนนิยม การหลงใหลไปในอบายต่าง ๆ รวมทั้งชั้นเชิงทางธุรกิจ

รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่และมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว น่าจะหันมาอุดช่องโหว่ทางด้านนี้ด้วยครับ

 


ถ้าพ่อและแม่ยังกินน้ำพริกผักต้ม แต่เด็กยังกินพิซซ่าและไก่ทอด

ถ้าพ่อและแม่ยังเดินคันนาแต่เด็กยังเดินห้างอยู่

 

ปัญหาต่าง ๆ คงจะต้องใช้เวลาแก้ไขหลายสิบหลายร้อยหรืออาจจะนับพันปีก็เป็นได้ครับ

    

หมายเลขบันทึก: 43091เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ประเด็นดีมากเลยครับ

 ตอนผมเด็กๆ ก็ไม่รู้ค่าของเงินครับ จนกระทั่งเริ่มทำงานพิเศษเก็บเงินเองนั่นแหละ เลยเริ่มเข้าใจว่าเงินไม่ได้ลอยมาและหายากแค่ไหน......

อาจบางทีพ่อแม่เด็กให้ของเด็กง่ายเกินไป จนเด็กไม่รู้คุณค่าของเงิน

อาจบางที สื่อจะสร้างค่านิยมแปลกๆ ให้เด็กติดตามโดยไม่สร้างเหตุผลอื่น นอกจาก ตามกระแสหรือกลัวเชย

ความรักของพ่อแม่ถ้าเอียงมากไปก็ทะลักล้นได้นะครับ

 

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับคุณจันทร์เมามายครับ
  • ประเด็นต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเก็บมาจากชีวิตจริงของผมเองครับ
  • เป็นประเด็นที่ตอนเด็ก ๆ แม้กระทั่งตอนนี้ เวลาที่จิตไม่นิ่งจริง ๆ ก็เผลอไปบ้างครับ
  • โดยยิ่งเฉพาะตอนนี้ใกล้วันแม่ ก็ยิ่งคิดถึงสิ่งที่แม่ทำให้ผมอย่างเต็มที่มาตั้งแต่เด็ก ๆ ครับ
  • แต่ตอนนี้ผมเองยังไม่มีโอกาสทดแทนบุญคุณท่านทั้งสองมากเท่าที่ควรครับ เพราะตอนนี้ยังเรียนไม่จบครับ
  • ตอนนี้ทำได้แค่เพียงเป็นลูกที่ดีครับ ทำทุกอย่างให้พ่อและแม่ได้ภูมิใจครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท