ชีวิตที่พอเพียง : 83. เรียนที่จุฬาฯ


         ปี ๒๕๐๓ ผมเข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ     การเรียนการสอนสมัยนั้นว่ากันตามความเคยชินของอาจารย์     นิสิตรุ่นก่อนผมหนึ่งรุ่นสอบตกเป็นรีพีตเตอร์กันตั้งเกือบครึ่งชั้น    นับว่ามากเป็นประวัติการณ์    เขาก็มาอยู่ชั้นเดียวกันกับผม แต่อยู่คนละเซ็คชั่น    แทบไม่มีโอกาสรู้จักกัน     และคนก็เรียกเขาว่า รีพีตเตอร์ ทำให้เสียศักดิ์ศรีหรืออับอาย     คนเหล่านี้หลายคนมาเรียนแพทย์พร้อมผมและจบรุ่นเดียวกัน     คือที่สอบตกอาจจะไม่ใช่เขาไม่เก่ง  แต่ระบบอาจจะมีข้อบกพร่อง

       การเรียนสมัยนั้นเรียนวิชาเป็นปี    ปีหนึ่งมี ๒ เทอม    พอก่อนปิดเทอมกลางปีก็สอบมิดเยียร์     เก็บคะแนนไปรวมกับสอบปลายปี     ข้อสอบเป็นอัตนัยทั้งหมด    สมัยนั้นยังไม่รู้จักข้อสอบปรนัย     แต่ตอนสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมฯ และสอบเข้าจุฬาฯ มีข้อสอบถูกผิดหรือให้เลือกคำตอบ     แต่ข้อสอบตอนเรียนเป็นอัตนัยล้วน     และที่จุฬาถ้าคะแนนไม่ถึง ๖๐% ถือว่าตก    ถ้าคะแนนต่ำนิดหน่อยก็ให้สิทธิ์สอบซ่อม สมัยนั้นเรียก รีเอ็กแซม     ถ้าสอบซ่อมไม่ผ่านวิชาใดก็ถือว่าตกต้องเรียนใหม่ทั้งชั้นปี เรียนทุกวิชาของชั้นนั้น    ยกเว้นวิชาที่สอบได้คะแนนสูงจริงๆ จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเรียนซ้ำ    เรียนยากกว่าสมัยนี้มากครับ

       เมื่อวันที่ ๖ กค. ๔๙ ผมนั่งฟังคณบดีคณะแพทย์ศิริราชอ่านรายชื่อบัณฑิตแพทย์เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง    พบว่ามีกว่า ๑๐% ของจำนวนบัณฑิตทั้งหมด     สมัยผมมีคนเดียวหรือบางปีไม่มีเลย     รุ่นผมมีวลีคนเดียวได้เกียรตินิยมและได้แค่อันดับสอง   

       ที่จุฬาฯ นิสิตทุกคนต้องดูแลตัวเอง  ต้องมีสติอยู่กับทั้งการเล่น  สังคม และการเรียน    เพื่อนที่มาจากห้องคิง รร. เตรียมเหมือนผมสนุกกับการสังคม การกีฬา มากเกินไปจนสอบตก     รุ่นพี่บางคนเป็นนักเรียนเตรียมห้องคิง แต่มาอยู่จุฬาฯ สอบตกสองปีซ้อนถูกรีไทร์     แล้วสอบเข้ามาใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้จนเขาเรียก "ปู่จุฬา"     ดูๆ คล้ายมีอาชีพ (ไม่) เรียน     คือชอบชีวิตสังคมของการเป็นนิสิต  ไม่ขวนขวายเดินเส้นทางชีวิตของผู้ใหญ่ต่อไป     ผมไม่ได้เอาใจใส่ท่านเหล่านี้มากนักเพราะมัวแต่รักษาความพอดีในเรื่องสังคมและเล่น ไม่ให้เสียการเรียนของตนเอง

       เพื่อนคนหนึ่งชื่อธีระ มาจาก รร. เตรียมฯเหมือนผม     พอมาอยู่จุฬาฯ ก็ใจแตก    เล่นไพ่จนขาดเรียนและสอบตกสองปีซ้อน    ถูกรีไทร์     ที่น่าเห็นใจคือธีระเป็นลูกพ่อเลี้ยงเมืองเหนือ    พ่อแม่เช่าบ้านให้อยู่    เพื่อนเล่าว่าเพื่อนๆ พากันไปเล่นไพ่ที่บ้านเช่าของธีระ    พอถึงเวลาดูหนังสือเพื่อนก็หยุดเล่นไพ่ตั้งหน้าดูหนังสือและสอบได้    แต่ธีระยังมีเพื่อนขาไพ่คนอื่นๆ มาชวนเล่นอยู่อีก    ธีระขัดไม่ได้จึงเล่นจนไม่ได้ดูหนังสือ     ที่จริงธีระอาจจะหัวดีกว่าผมเสียอีก    ผมยังจำนามสกุลได้แต่ขอไม่บอก    นี่คือตัวอย่างจริงของชีวิต ที่ต้องมีสติ รู้จักคอยคุมตนเอง  ชีวิตจึงจะเป็นปกติสุขได้ 

        ผมชอบสังเกตชีวิตของเพื่อนๆ     และคาดคะเนว่าใครจะได้ดีด้านไหน     ใครจะไม่ค่อยดี    ปรากฎว่าบางคนทำให้ผมตกใจมาก    ที่อยู่ๆ ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป     และเพื่อนบางคนเป็น "จิ๊กโก๋" แต่กลายเป็นคนธรรมะธัมโมในที่สุด    ชีวิตคนเรามีปัจจัยที่ไม่คาดคิดเยอะมาก     ผมเดาอนาคตเพื่อนได้ไม่ค่อยถูกนัก    แสดงว่าวิธีคิดตอนเด็กๆ ของผมเป็นวิธีคิดแบบเด็กๆ     แต่วิธีคิดแบบนี้แหละที่ทำให้ผมระมัดระวังตัว     ไม่เฉไฉออกนอกลู่นอกทาง

วิจารณ์ พานิช
๙ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 43063เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 06:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์ครับ ได้อ่านบทความอาจารย์แล้วรู้สึกถึงวันที่ผ่านมาครับ ผมคงเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความหวังว่าสักวันจะได้เรียนที่จุฬาฯ ตอนนี้ก็จบปริญญาตรีแล้วครับ อยากจะต่อปริญญาโท ผมจบมาจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะวิทยาการสารสนเทศ อยากให้อาจารย์แนะนำสาขาที่น่าจะเรียนต่อ เพราะได้ดูสาขาที่สนใจไว้โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ทางด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ และทางด้าน เทคโนโลยีการศึกษาครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

 

                              ธนกร ศิริกิจ

สวัสดีครับ  ท่าน อ. หมอวิจารณ์

         ผมแวะมาเก็บเกี่ยวเอาข้าวพันธุ์ดีของท่านอาจารย์  ครับผม

          ขอบพระคุณมากครับ

                         จาก...umi

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท