ชื่อเรื่องวิจัย - ยาวทำไม? : การวิจัยเชิงทดลอง


เราใช้ตัวแปรและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรมาตั้งชื่อเรื่องวิจัยเชิงทดลอง

ดูตัวอย่างชื่อเรื่องวิจัยที่เราพบบ่อยๆ

การศึกษาผลการสอนภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกหัดการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ในโรงเรียนประถมศึกษา ในเขตการศึกษา ๖ ปีงบประมาณ ๑๔๓๙

ตัวอย่างนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง  ประเภท Action Research  ตัวแปรทดลองหรือตัวแปรอิสระ คือ  แบบฝึกหัดอ่านจับใจความ  และตัวแปรตามคือ  คะแนนหรือผลการอ่านจับใจความ  หรือ ความเข้าใจในการอ่าน  แต่ตามชื่อข้างบนนี้เป็น ผลการสอนภาษาไทย   ตัวแปรทั้งสองนี้สัมพันธ์กันด้วยคำว่า  โดย

ในแง่ของการนำตัวแปรมาตั้งชื่อเรื่อง  และระบุความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  นับว่าถูกต้อง  แต่ขาดความชัดเจน  ความชัดเจนควรเป็นดังนี้

(๑) ผลของการใช้แบบฝึกหัดการอ่านจับใจความ  ที่มีต่อ  ความเข้าใจในการอ่าน   หรือ

(๒) บทบาทของ แบบฝึกหัดการอ่านจับใจความ ที่มีต่อ ความเข้าใจในการอ่าน

หลังจากเราทดสอบนัยสำคัญทางสถิติแล้ว   ถ้าพบว่า  มีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  .05  หรือ   .01   (แล้วแต่เราจะเลือก)  เราก็ลงความเห็นภายในขอบเขตของตัวอย่างและประชากรที่เราเลือกกลุ่มตัวอย่างมา  ประชากรในที่นี้ก็คือ  จำนวนนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๓ จำนวน ...... คน  ดังนั้น  ชื่อเรื่องที่จำเป็นก็คือ

ผลของการใช้แบบฝึกหัดการอ่านจับใจความ ที่มีต่อความเข้าใจในการอ่าน ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๓

นอกนั้นให้นำไปกล่าวไว้ในรายละเอียดชองวิธีการวิจัย(Method)

สำหรับคำว่า   การศึกษา  นั้น  เราไม่นิยมใช้ในการวิจัยเชิงทดลอง (การวิจัยประเภทอื่นก็ไม่จำเป็นที่จะใช้  เพราะว่า  การวิจัยทุกเรื่องนับเป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว  ที่นิยมใช้กันมากจะพบในการวิจัยเชิงสำรวจ)

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า  แม้แต่การตั้งชื่อเรื่องก็มีความสำคัญไม่เบา  มีเหตุผลในการตั้ง   มันเป็นเครื่องบ่งชี้อะไรๆ หลายอย่าง  ผู้วิจัยจึงควรระมัดระวัง  และรอบคอบ  ควรเลือกอ่านรายงานวิจัยจากวารสารที่มีมาตรฐาน เพราะเขามีกลุ่มผู้รู้ตรวจสอบก่อนตีพิมพ์

หมายเลขบันทึก: 43062เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2006 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
สวัสดีค่ะอาจารย์ ระบบใช้งานได้ดีหรือยังค่ะ

ไม่ทราบว่า ดิฉันเข้าใจผิดไปหรือเปล่านะค่ะ ดิฉันคิดว่างานวิจัยทางสายสังคมศาสตร์ไม่ค่อยจะเน้นงานด้านการทดลอง เพราะที่คณะดิฉันไม่มีคนเล่นด้านนี้เลยค่ะ

ดิฉันจบมาทางด้านการทดลอง ชอบค่ะ สนุกดี ชอบมากกว่าการ survey เพราะได้เห็นพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักที่ควบคุมตัวแปรแวดล้อมอื่นๆ

ส่วนเรื่องการตั้งชื่อ ดิฉันอยากสนับสนุนบันทึกนี้ของอาจารย์ค่ะ เพราะหลายครั้งที่เห็นงานในชื่อไทยที่เป็นงานทดลอง เขาจะไม่ตั้งชื่อว่า ผลของ (The effects of...) ค่ะ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านพลาดไปได้ค่ะ

ผมรีบดู Email  ตั้งแต่เช้ามืด  ลองบันทึกเรื่องนี้แหละครับ  มันเป็นพยานว่าใช้ได้แล้ว  อ้อ - รหัสเข้าใช้ระบบเปลี่ยนไป  ที่เป็นอักษรล้วนๆ นั้น  คลิกแล้วมันบอกว่ากดตัวเลขผิดทุกครั้ง ทั้งๆที่มีแต่ตัวอักษร  ต่อมาครั้งหนึ่ง  มีตัวเลขตัวหนึ่ง ผสมตัวอักษรอื่นๆ ครั้งนี้จึงเข้าได้ ครับ 

ผมคิดว่า อาจารย์ไล่ผมออกจากสมาชิกเสียแล้ว  เหตุเพราะไม่ได้บันทึกทุกวันตามกติกา!!  ขอบคุณที่อาจารย์แนะนำฉับไว ครับ

เราเพิ่งเปลี่ยนเมื่อคืนค่ะ เพื่อป้องกัน spam comment ที่ใส่มาโดยอัตโนมัติค่ะ เรียกว่า พยายามหากลวิธีเตรียมดักไว้ก่อนที่จะสายเกินแก้ค่ะ

สนุกจริงๆ!  ผมบันทึกตอบอาจารย์ครั้งเวลา ๐๘.๕๓ พอกดปับออกมาพบบันทึกของอาจารย์ครั้งเวลา ๐๙.๐๐ ครับ

ไม่ผิดหรอกครับ   สังคมศาสตร์ก็เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเราใช้กระบวนการค้นหาความรู้มานิยามคำว่า วิทยาศาสตร์ (Science)   และในสาขาวิทยาศาสตร์นั้น  มี Assumption ว่า  มีกฎธรรมชาติในธรรมชาติ   และคำว่ากฎนี้หมายความต่อไปว่าจะต้องมีตัวแปรอย่างน้อยสองตัวสัมพันธ์กัน  คือ ตัวแปรเหตุ - ตัวแปรตาม  ที่จะต้องค้นหาด้วย วิธีการเชิงทดลอง เป็นส่วนใหญ่แล้ว  การวิจัยทางสังคมศาสตร์จึงต้องเป็นการวิจัยเชิงทดลอง

อย่างไรก็ตามในสาขาสังคมศาสตร์ยังมีตัวแปรเชิงคุณภาพรวมอยู่ด้วยที่ศึกษาได้ด้วยวิธีเชิงสำรวจ  ซึ่งเป็นวิธีวิจัยที่ง่ายกว่าการทดลอง 

ในบางสาขาวิชาจะวิจัยเชิงทดลองได้ยากมาก เช่น สาขาปรัชญา  สาขาวรรณกรรม ฯลฯ

การวิจัยเชิงทดลองหรือไม่ทดลองจึงถูกกำหนดด้วยธรรมชาติของสขาวิชาด้วย

สำหรับเรื่องการตั้งชื่อวิจัยนั้น ไม่มีในตำรา  ผมจึงอยากให้เผยแผ่ไปทั่วโลกทีเดียวครับ  ขอขอบคุณอาจารย์และทีมที่เกือ้หนุนในเรื่องนี้ เป็นอย่างยิ่งครับ

เรียน ท่าน ดร. ทั้งสอง ด้วยความเคารพครับ

กระผมกำลังทำวิจัย เกี่ยวกับการสอนพอดี โชคดีมากเลยที่ท่านกำลังคุยเรื่องการ ตั้งชื่ออยู่  ประเด็นปรึกษา (ขออนุญาตปรึกษาเลย) คือ ชื่อ ครับ จะตั้งอย่างไรดี

คือ ผมสร้างเอกสารประกอบการเรียน เรียกว่าเป็นหนังสือเรียน ตามกรอบของหลักสูตรฯ แล้วนำมาใช้สอน แสดงว่า งานวิจัย ก็ควรตั้งชื่อเป็น ผลของการสอนสอนภาษาไทยโดยใช้แบบเรียนภาษาไทย ฯ เล่ม 1 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนประถมศึกษา.........................ใช่ไหมครับ

ขอรบกวนท่านเท่านี้ก่อน ตอบให้ด้วยนะครับ ขอขอบคุณครับ

The effects of ... แปลเป็นว่า ผล หรือ ผลกระทบ หรืออย่างไรดีค่ะ

ข้อความเต็มจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหมครับ :

        " The effect(s) of ..............on ............." 

        " The effect(s) of  (A)  on  (B) "

        " ผลของ   (ไฟ)  ที่มีต่อ   (การเดือดของน้ำ) "

        " ผลของ   (เกรด A)  ที่มีต่อ  (ความรู้สึกดีใจ) "

ข้อความเหล่านี้มี "นัย" ว่า  "อันหนึ่ง"  กระทำต่อ "อีกอันหนึ่ง"    มีความหมายเปน  "สาเหตุ"  และ  "ผล" หรือ  " CAUSE - EFFECT"  จะใช้คำว่า "เหตุผล" ก็ไม่ได้  ต้องใช้คำว่า "สาเหตุและผล" ครับ

คำหารือข้างบนนี้  ถ้าใช้คำ "ผล"  ตัวเดียว จะทำให้ความหมายเปลี่ยนไปครับ  ควรใช้คำว่า "ผลของ...." หรือ "ผลของ ....  ที่มีต่อ..... " จึงจะมีความหมายเป็น "สาเหตุและผล" โดยที่  "ตัวแรก" มาก่อน (Antecedent) "ตัวหลัง" (Consequence)  ถ้าใช้คำ "ผลกระทบของ .... ที่มีต่อ ....."  ก็มีนัยเชิงสาเหตุและผลครับ  อาจารย์จะเลือกใช้คำใดก็ได้ครับ  แต่ต้องใช้ให้เต็มความครับ

ขอบคุณอาจารย์ครับ ที่เข้ามาเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท