การพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันทางสาธารณสุข บทเรียนร่วมกันของอุทกภัยหาดใหญ่ ปี 2543: หลังอุทกภัยผ่านไป


ชีวิตนับแสนคนต่างได้ร่วมทุกข์ร่วมกันแต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือเราได้เรียนรู้ร่วมกันถึงภาวะที่ต้องพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกัน

ต่อจาก  ตอนที่ 2 บทที่ต้องเรียน และ ตอนที่ 3 หลังอุทกภัยผ่านไป

     หลังอุทกภัยครั้งนี้ การใช้ศูนย์บริการสาธารณสุขประมาณ 8-10 แห่ง ร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งในบริการรอบพื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและในจุดที่เข้าถึงได้ยาก เป็นกลยุทธ์ที่สามารถบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในภาวะที่ระบบบริการต่าง ๆ ยังไม่สามารถดำเนินการได้สมบูรณ์ทั้งโรงพยาบาล และการคมนาคม ภาระของประชาชนในการต้องดูแลบ้านเรือนและทรัพย์สินของตน

     อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริการสาธารณสุขเกือบทุกแห่งล้วนถูกน้ำท่วมสูง 1 – 3 เมตร การเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่น้ำลด ได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนในการให้ใช้พื้นที่ที่ล้างทำความสะอาดแล้ว ได้รับความช่วยเหลือจากทีมหน่วยแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลต่าง  ๆ  ที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน นับเป็นการได้พึ่งพาอาศัยกันครั้งสำคัญและผู้เขียนซาบซึ้งต่อน้ำใจของทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการ

     ในอีกด้านหนึ่ง ในภาวะน้ำท่วมเมื่อระบบต่าง ๆ จมอยู่ใต้น้ำ บทเรียนครั้งนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับมาถึงเรื่องของการพึ่งตนเองให้มากขึ้น


บุคคลหรือครอบครัว
     น่าจะมีการเก็บยาสามัญประจำบ้านหรือยาประจำโรคของตนเอาไว้ในบ้านหรือประจำตัว เพื่อเวลาจำเป็นหรือมีวิกฤตจะได้หยิบฉวยมาใช้ได้ ในภาวะอุทกภัยควรใส่ไว้ในภาชนะพลาสติกที่ปิดสนิทหรือในถุงพลาสติกที่ผูกมัดให้แน่นไม่ให้น้ำเข้าถ้าตกหล่นลงในน้ำหรือเก็บไว้ในที่สูงพ้นจากน้ำท่วมและสามารถหยิบฉวยได้ง่าย ในภาวะอุทกภัยการมีภาชนะพลาสติกที่ปิดได้สนิท เช่น ขวดหรือแกลลอนใช้เป็นชูชีพได้ หากต้องลงไปในน้ำหรือต้องเดินทางผ่านบริเวณที่น้ำท่วมสูงหรือน้ำเชี่ยว     หากมีโฟมหรือเสื้อชูชีพอาจจะได้ใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก

ชุมชน
     ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสถานีอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐานจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงภาระกิจการให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นมากขึ้น ทีมงานต้องรู้และมีทักษะการดูแลรักษาโรคเบื้องต้น บาดแผล การคลอด การลำเลียงผู้ป่วย ฯลฯ ยาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินต้องเตรียมไว้และอาจจะสำรองไว้ในที่ปลอดภัย หากน้ำท่วมสถานบริการหมดดังที่เกิดขึ้น เราต้องย้อนกลับมาคิดกับชุมชนว่าเราจะต้องเตรียมอะไรที่มากกว่าอดีต  เราต้องเตรียมอาสาสมัคร เครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยชีวิต เครื่องมือลำเลียง เชือก ชูชีพ หรือถ้าชุมชนพร้อมเราอาจจะมีหน่วยกู้ภัยในชุมชน ทั้งการมีรถกู้ภัย เรือกู้ภัยที่เตรียมไว้ใช้ทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน ชุมชนริมคลอง ริมแม่น้ำหรือริมทะเล เป็นจุดสำคัญที่เราน่าจะพัฒนาหน่วยกู้ภัยของแต่ละชุมชน เพราะจะสามารถปฏิบัติการได้ทั้งในยามปกติและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ การช่วยเหลือกันของอาสาสมัครเอกชนหรือองค์กรท้องถิ่นต่างๆ ในภาวะอุทกภัยที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันความช่วยเหลือซึ่งใกล้ชิดและทันการณ์แม้ว่าจะมีศักยภาพด้อยกว่าหน่วยกู้ภัยของทหาร แต่ก็ทำให้เห็นว่าหน่วยเล็ก ๆ หากอยู่ในชุมชนเองรู้พื้นที่เล็ก ๆ อาจจะทำให้การช่วยเหลือกันในหมู่บ้านหรือชุมชน 100 – 200 ครัวเรือนได้รับการช่วยเหลือทันทีและทันท่วงที

องค์กรทางสาธารณสุข
     ในภาวะปกติเรามีหน่วย EMS (Emergency Medical Service) และหน่วยเคลื่อนที่ต่าง ๆ ที่ออกไปให้บริการนอกโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล บทบาทหลักของเรามักเป็นการตั้งรับ เมื่อน้ำท่วมทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง เพราะหน่วยที่มีอยู่ไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับวิบัติภัยขนาดนี้ การพยายามตั้งมั่นในสถานที่ตั้งให้ได้และจัดบริการให้ได้เป็นิสิ่งสำคัญที่สุดที่เราพยายามทำ แต่บทบาทที่เราควรจะเป็นที่พึ่งของชุมชนทางด้านสาธารณสุขก็กลายเป็นเรื่องไกลเกินไป เราคงต้องเริ่มต้นใหม่ในการจำแนกบทบาทและภาะกิจของแต่ละระดับของหน่วยบริการ คงจะไม่ไกลเกินไปที่จะคาดหวังว่าระดับอำเภอและส่วนกลางมีศักยภาพสูงกว่าระดับตำบล ระดับจังหวัดมีศัลกภาพสูงกว่าระดับอำเภอและส่วนกลางมีศักยภาพสูงกว่าส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น คงไม่ใช่เป็นการเหนือกว่าทางสายบังคับบัญชา แต่คงจำเป็นที่จะต้องเหนือกว่าในการปฏิบัติภาระกิจ มีเรือ มีเฮลิคอปเตอร์ มีทีมที่มีศัลยภาพมีเทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ประชาชนอยู่ในภาวะวิกฤต

     เพื่อพัฒนาการพึ่งตนเอง หน่วยบริการระดับท้องถิ่นจะต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและการส่งต่อที่แท้จริงไม่ใช่เพียงอยู่ในกระดาษ ทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลจังหวัด คงต้องพัฒนาทีมที่มีศักยภาพพิเศษทั้งในภาวะปกติและวิกฤต  รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยบริการท้องถิ่นและปฏิบัติการได้เอง  การดำรงอยู่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุข คงไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานธุรการขนาดใหญ่เพราะองค์กรเหล่านี้ประกอบด้วยบุคลากรทางสาธารณสุข  ศักยภาพที่เหนือกว่าในการสนับสนุนและการปฏิบัติการช่วยเหลือองค์กรระดับล่างที่ประสบพิบัติภัยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาขึ้น  การบริหารจัดการและการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตในขณะที่หน่วยงานระดับล่างแม้แต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ประสบภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาขึ้นเพื่อจะเป็นที่พึ่งของประชาชนและเป็นที่พึ่งพาได้ของหน่วยงานระดับล่าง หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเราคงจะต้องตระหนักในภาระกิจของเราในการพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันในระดับหน่วยปฏิบัติการให้มากยิ่งขึ้น

5. บทส่งท้าย
     พิบัติภัยจากอุทกภัยครั้งนี้ ยังคงเป็นบทที่เราต้องเรียน พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงอุทกภัยในหาดใหญ่และบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ยิ่งทำให้เราตระหนักถึงการพัฒนาเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ การพึ่งตนเองและความเพียรจะเป็นหนทางที่จะนำเราหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น

     ปล.เป็นความรู้จากเอกสารที่ผมได้รับมาจาก นพ.อมร รอดคล้าย ตามบันทึก ก็เพราะ GotoKnow.Org อีก(ครั้ง) ครับ

หมายเลขบันทึก: 43038เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 Scuba Diving เรียนท่านชายขอบ รบกวนขอความคิดเห็นครับ

http://gotoknow.org/blog/uackku/43909





เรียน อ.หมอ JJ

     ครับผม รับทราบแล้วครับ ตอนนี้ผมเพิ่งกลับจากเดินสาย จะขอตริตรองและเรียบเรียงสักนิดนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท