การพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันทางสาธารณสุข บทเรียนร่วมกันของอุทกภัยหาดใหญ่ ปี 2543: บทที่ต้องเรียน


ชีวิตนับแสนคนต่างได้ร่วมทุกข์ร่วมกันแต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือเราได้เรียนรู้ร่วมกันถึงภาวะที่ต้องพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกัน

ต่อจาก ตอนที่ 1 เมื่อ รพศ.หาดใหญ่ถูกน้ำท่วม  

2. บทที่ต้องเรียน
     ในฐานะสถานบริการสาธารณสุข เราคงจะปกป้องผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลโดยการส่งต่อผู้ป่วยหนักและหนักมากไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  ดูแลผู้ป่วยใน  ญาติ  เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังพอจะมาถึงเราได้  แต่หากเราตระหนักว่ายังมีคนทุกข์และยิ่งทุกข์หนักทั้งจากอุทกภัย ความขาดแคลนอาหาร  ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่อาจจะดูแลตนเองได้  ในฐานะที่เราเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขความพยายามของเรา การลงทุนของรัฐ  ในการสร้างสถานพยาบาลใหญ่โต  เครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง  กลับไม่สามารถช่วยประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรได้  เราตระหนักว่า  แม้แต่การจะฝ่าข้ามสายน้ำเฉี่ยวกรากเพียง  50  เมตร  เกือบเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป แม้ว่าเราหวังว่าในเหตุการณ์นั้นจะมีใครเป็นอัศวินม้าขาว มาจากจังหวัด  มาจากกระทรวงสาธารณสุข หรือมาจากที่ใด ๆ แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันคือในภาวะนั้นต่างก็ไม่มีใครสามารถเข้ามาได้   วันศุกร์ที่ 24  พฤศจิกายน 2543  เป็นวันแรก  ที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เข้ามาและมอบหมายนโยบาย พร้อมสั่งการต่อการสนับสนุนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราตระหนักคือ ทำอย่างไร เราจะพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งพาอาศัยของกันและกันในหมู่ผู้ประสบภัยได้มากกว่านี้ เพราะเวลาเพียง 5นาที  1  ชั่วโมง  1  วัน  ของผู้เจ็บป่วยของผู้ขาดแคลนอาหารหรือ เด็กซึ่งต้องอดนม  และอยู่ในความหนาวเย็น  อาจหมายถึงชีวิตของเขา

3. ไม่ใช่เพียงการป้องกัน
     การป้องกันไม่ให้น้ำท่วม  คงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดของการป้องกันอุทกภัยแต่เมื่อธรรมชาติได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปและธรรมชาติได้สอนเราแล้วว่าวันหนึ่งธรรมชาติก็จะชนะเรา  ความพยายามที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยู่ห่างเกินไป  ทำให้ความพยายามที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ว่าจะป้องกันน้ำท่วมได้อาจยังเป็นความฝันสำหรับวันนี้

4. พึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกัน
     การเตรียมการเพื่อรับภัยพิบัติที่ยังคงจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะป้องกันเราจากทุกข์ของภัยพิบัติ
     อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่เราจำต้องหวนกลับมาตระหนักถึงความถึงความจำเป็น  รถยนต์ ไฟฟ้า  โทรศัพท์มือถือ  และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ได้กลายเป็นความว่างเปล่าในภาวะที่เราจมอยู่กับอุทกภัย วิถีชีวิตที่ซื้ออาหารตามร้านอาหาร , รถเข็น, และร้านฟาสต์ฟุดไปวัน ๆ ทำให้หลายคนหลายครอบครัวไม่มีอาหารอยู่ในบ้านหรือไม่สามารถจะปรุงอาหารได้แม้ว่าพอจะมีอาหารแห้งอยู่บ้าง  การหุงหาอาหารเอง  การมีการเก็บตุนอาหารไว้บ้างได้ช่วยหลายคนหลายครอบครัวให้มีอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ประทังชีวิตกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ  หลายคนหลายครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจากบ้านใกล้เรือนเคียงที่พอจะมีอาหารแบ่งปันกัน  บ้าน  2-3 ชั้นในย่านที่มีบ้านชั้นเดียวได้รับคนจากบ้านรอบ ๆ มาอยู่ด้วย  หลายบ้านรับมาอยู่เกือบ  60  คน  บ้านที่มั่นคงแข็งแรงในย่านน้ำเชี่ยวเก็บ (ช่วย) คนที่ไหลมาตามน้ำเพื่อพักอาศัยหลายสิบคน  หลาย ๆ คนเมื่อสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปได้พอพึ่งพิงอาศัยอาหารที่อยู่ เสื้อผ้า และยารักษาโรคจากบ้านใกล้เรือนเคียง หรือ บ้านที่ตนได้ไปพักพิง  บทเรียนเหล่านี้ในฐานะของบุคลากรสาธารณสุขอันเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ประชาชนมีความสุขเราจะทำได้อย่างไร

4.1 อาหาร
โรงพยาบาลหาดใหญ่

     โดยปกติโรงพยาบาลเตรียมทั้งอาหารสดและอาหารแห้งไว้เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยใน ช่วงหน้าฝน ฝ่ายโภชนาการจะเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง และก๊าซหุงต้มไว้มากกว่าปกติ  น้ำท่วมครั้งนี้โรงพยาบาลยังสามารถมีอาหารไว้เลี้ยงดูทั้งผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่  แต่ปริมาณที่ต้องใช้เลี้ยงดูมากขึ้นหลายเท่าจากเฉพาะผู้ป่วยใน 400-500  คน/วัน  เป็น กว่า 1,000 คน/วัน  เมื่อย่างเข้าวันที่  3  อาหารเริ่มร่อยหรอ  แต่โชคดีว่าหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์  สามารถเข้ามาลงบนลานจอดได้  ทำให้โรงพยาบาลได้รับสนับสนุนอาหารอย่างเพียงพอ และสามารถแจกจ่ายได้ น้ำดื่ม น้ำใช้ของโรงพยาบาลก็มีอยู่ตามที่เก็บน้ำหลายจุด  รวมทั้งมีน้ำฝนที่ตกมาต่อเนื่อง  แต่น้ำใช้ก็จำเป็นต้องใช้น้ำท่วมที่ขังอยู่สำหรับการชำระล้างบางอย่าง

     การมีการตุนข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำ  การเตรียมการเรื่องการอุปกรณ์ประกอบอาหารเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อน้ำท่วมตัวโรงพยาบาล   ยุทธศาสตร์สำคัญอันหนึ่งในการปกป้องโรงพยาบาลคือการปกป้องโรงครัว  แม้ว่าจะไม่มีแม่ครัวตัวจริงเพียงพอ  เรายังพอจะระดมเจ้าหน้าที่ และญาติไปร่วมกันทำครัวได้  อาหารหลักที่เป็นที่รู้กันของโรงพยาบาลคือข้าวต้ม  เพื่อจะให้เราสามารถยืดเวลาในการมีเสบียงอาหารนานพอก่อนที่จะมีใครเข้ามาช่วย

ชุมชน
     ด้วยเหตุที่เราเริ่มมีครอบครัวเล็กที่ไม่ได้หุงหาอาหารเอง มีนักเรียน – นักศึกษา คนวัยแรงงานที่อาศัยในบ้านเช่า แฟลต อพาร์ตเม้นต์ ซึ่งไม่หุงหาอาหารเอง  แต่ซื้อหาอาหารกินไปเป็นมื้อ ๆ  ข้อเสนอก็คือ
     1. ครอบครัว ควรจะมีการหุงหาอาหารเอง แม้ว่าจะเป็นอาหารง่าย ๆ  เช่น หุงข้าว ต้มแกงและไข่เจียว นอกจากจะทำให้เราประหยัดมีอาหารที่ดีมีคุณค่าในชีวิตประจำวัน  การดำรงชีวิตแบบครอบครัวจะสมบูรณ์ขึ้น การพึ่งพาแต่ร้าน 7 –11 และรถเข็นจะลดลง  เราควรมีเสบียงอยู่บ้างเราอาจจะซื้อหาอาหารสำเร็จทานด้วย  แต่ที่สำคัญเราจะพึ่งตนเองได้แม้แต่ยามปกติหรือยามวิกฤต

     2.คนที่อยู่ตัวคนเดียว การปรุงอาหารอาจจะเป็นเรื่องดูเหมือนยุ่งยากแต่จริง ๆ แล้วไม่    การปรุงอาหารเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญ  เราอาจจะต้องเริ่มสอนวิชาการปรุงอาหารสำหรับคนตัวคนเดียวที่ง่ายและไม่ซับซ้อน  ถ้าเคยดูหนังเกี่ยวกับการเดินป่าจะเห็นว่าแม้แต่เขาอยู่ในป่ามีหม้ออลูมิเนียมหนึ่งใบก็ยังสามารถหุงข้าว ต้มแกง ชงกาแฟได้     ความสุขจากการปรุงอาหารกินเองมีอยู่ตลอดมาและเมื่อน้ำท่วมอาหารแสน
อร่อยเกิดจากน้ำมือของเราเอง อย่างไรก็ตามคงเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากของหลายคน การมีเสบียงที่เป็นอาหารสำเร็จพร้อมกินข้าวกระป๋อง อาหารกระป๋อง น้ำ นม ฯลฯ อยู่บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในห้องและเราหมุนเวียนรับประทานแล้วหามาใหม่ นอกจากจะทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาร้านค้าตลอดเวลา 24 ชั่วโมง  เราก็จะสามารถบริหารตนเองทั้งในยามปกติและเมื่อมีเหตุจำเป็น   

4.2  เครื่องนุ่งห่ม
     เราต้องเก็บรักษาเสื้อผ้าไว้ไม่ให้เปียกน้ำหมด แม้ว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ต้องลงไปในน้ำหรือเปียกน้ำ  แต่เสื้อผ้า 2 – 3 ชุด  ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มสักพืนจำเป็นที่จะต้องมีถุงพลาสติกที่กันน้ำเก็บรักษาไว้  ผู้เขียนจำเป็นต้องลุยน้ำและอยู่ในน้ำทุกวันติดต่อกัน  5 วัน แม้ว่าน้ำจะลดแล้ว  ชุดที่ต้องใช้มี 2 ชุดหลักคือ ชุดเปียกและชุดแห้ง แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนที่พัก  ชุดแห้งประจำตัวก็ถูกใส่ถุงดำสำหรับใส่ขยะมัดปิดสนิทติดตัวไปด้วย  ผู้ปกครองซึ่งมีลูกเล็ก ควรเก็บเสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัวให้เด็กไว้ในถุงพลาสติก เตรียมพร้อมไว้ในภาวะน้ำท่วม  หากเมื่อเราต้องโยกย้ายหรือบ้านที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมจะได้มีเสื้อผ้าแห้งให้เด็ก ๆ ได้เปลี่ยน หากจำเป็นต้องลงน้ำเราสามารถพลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าเปียกมาใช้อีกได้

     ชูชีพอาจจะไม่ใช่อุปกรณ์ปกติที่เป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่มีชูชีพ  6 ตัว เพื่อใช้เวลาไปออกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัย แต่ครั้งนี้เราไม่ได้ออกไปที่ไหนไกล  ชุดชูชีพถูกใช้เพื่อข้ามจากประตูโรงพยาบาลไปขึงเชือกฟากตรงข้ามโรงพยาบาล เพื่อรับคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาล  ได้ให้แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่คอยช่วยคนไข้อยู่ในน้ำได้รู้สึกปลอดภัยขึ้น  เราประเมินว่าเราคงต้องมีชูชีพมากกว่านี้   แต่สำหรับประชาชนทั่วไปการมีขวด  แกลลอนที่ปิดสนิท  การมีกล่องโฟม   แท่งโฟม ห่วงยาง ก็สามารถดัดแปลงเพื่อการผูกติดตัวไปหากต้องลงไปในน้ำ

     พวกเราที่อยู่ในสถานีอนามัย อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและหน่วยงานที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ต้องเตรียมทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต ชูชีพ  เสื้อผ้าแห้งและถุงกันน้ำ เพื่อจะได้ใช้อย่างทันที ทั้งช่วยผู้อื่นและป้องกันตนเอง

4.3  ที่อยู่อาศัย
     เมื่อครั้งที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติสร้างขึ้น  หลาย ๆ คนมองถึงความไม่เหมาะสมของแบบที่ผู้ป่วยจะต้องขึ้นไปบนชั้น 2 ของอาคารใต้ถุนโล่ง  น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เราพบว่า บ้านใต้ถุนโล่งคือภูมิปัญญาของคนไทยในเขตมรสุมที่มีน้ำท่วมหรือน้ำหลาก  บ้านใต้ถุนโล่งคือการอยู่ร่วมที่กลมกลืนกับธรรมชาติ  เรามีบ้าน 2 ชั้น  3 ชั้น  โดยในชั้นหนึ่งเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้และในที่สุดธรรมชาติได้เลือกแบบบ้านที่เหมาะสมให้เราอีกครั้ง หลายคนอยากมีบ้านชั้นเดียว  สร้างบ้านชั้นเดียวและวันหนึ่งเราได้อาศัยหลังคาของบ้านเป็นที่อยู่อาศัย

     โรงพยาบาลหาดใหญ่มีตึกหลายชั้น มีลานเฮลิคอปเตอร์ซึ่งได้ช่วยเหลือทั้งการขนย้ายผู้ป่วยและส่งข้าวปลาอาหาร  แต่โรงพยาบาลหาดใหญ่มีห้องใต้ดินไว้เป็นคลังยา  มีลานจอดรถใต้ดินที่มีห้องควบคุมไฟฟ้าของอาคารใหม่  แล้วทั้งหมดจมลงใต้น้ำ

     บ้านชั้นเดียวควรเป็นบ้านใต้ถุนสูง บ้าน 2 ชั้นไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์ที่มากเกินไปควรเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทนน้ำและหรือโยกย้ายได้ง่าย

     ควรมีอุปกรณ์พื้นฐาน  เช่น เชือก ค้อน ตะปู ไม่ขีด ไฟฉาย เทียนไข ภาชนะใส่น้ำ  ภาชนะหุงต้ม ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันหลายบ้านกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้พอหยิบใช้ได้ในยามวิกฤต

     โรงพยาบาลหาดใหญ่และสถานพยาบาล ควรจะมี ชั้น 2 หรือกรณีสถานีอนามัยควรจะมีใต้ถุนสูง  แต่หากจำเป็นที่อยู่ในเรือนชั้นเดียวควรมีตู้ลอยไว้เก็บของใช้ฉุกเฉิน  ยาและวัสดุการแพทย์ฉุกเฉินและจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้ายของใช้ฉุกเฉินไปยังที่ปลอดภัยก่อนที่น้ำจะท่วมถึง  เพราะความเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากเราเองก็เหลือแต่มือเปล่า

4.3  ยารักษาโรค
     เมื่อเกิดอุทกภัย ปัญหาสำคัญในการแสวงหาบริการสุขภาพคือการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ แนวคิดเรื่องการมียาสามัญประจำบ้าน  การมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน   การมีศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสถานีอนามัยนับเป็นความเหมาะสมที่จะเอื้ออำนวยให้การเข้าถึงบริการสุขภาพหรือยารักษาโรคเป็นไปได้ง่ายที่สุด  โรงพยาบาลนับเป็นสิ่งที่ห่างไกลเมื่อระยะทางเพียง 1 – 2 กิโลเมตร เราอาจจะต้องใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมงเพื่อไปให้ถึง สำหรับคนที่ไม่ได้เจ็บป่วย

     ปล.เป็นความรู้จากเอกสารที่ผมได้รับมาจาก นพ.อมร รอดคล้าย ตามบันทึก ก็เพราะ GotoKnow.Org อีก(ครั้ง) ครับ

     อ่านต่อ ตอนที่ 3 หลังอุทกภัยผ่านไป

หมายเลขบันทึก: 43035เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท