บริการวิชาการแก่สังคม


การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

     ปีที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2548)  ดิฉันได้ไปดำเนินโครงการพัฒนาอำเภอหนองสองห้องเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งได้รับผิดชอบโครงการย่อยคือ โครงการพัฒนาหนองละเลิงเค็งเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  โครงการนี้เป็นโครงการแบบบูรณาการสหสาขาของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีสำนักวิทยบริการ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกัน การดำเนินงานของโครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะเราตั้งเป้าหมายว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้ หัวใจหลักคือทำอย่างไรให้ชุมชนมีส่วนร่วม พวกเราต้องวางแผนและใช้ยุทธวิธีสารพัดที่จะทำให้ชุมชนร่วมแรงร่วมใจโดยไม่สนใจด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค สร้างถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ในหมู่บ้าน  แต่ใช้สติปัญญา จิตสำนึกรักบ้านเกิด และความมุ่งมั่นศรัทธาที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเป็นตัวนำ  ในระยะแรก ๆ การตอบรับจาก อบต. รวมทั้งข้าราชการในท้องถิ่นไม่ค่อยกระตือรือร้นกับโครงการของเราเท่าไรนัก อาจจะเป็นเพราะว่าเขามีงานราชการอื่นๆต้องทำมากอยู่แล้วก็ได้ หรือคิดว่าพวกอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เท่านั้น    มาทำอะไรไม่รู้ ทำได้ไม่นานก็ไปแล้ว คงไม่กลับมาอีก แต่สิ่งที่ทำให้พวกเรามีกำลังใจคือ ชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่ตำบลดงเค็งโดยเฉพาะกำนันวิชัย เจริญ (ปัจจุบันเป็นนายก อบต.ดงเค็ง) ผู้ใหญ่ขาว เฉียบแหลม อ.หนูแดง เอี่ยมศรี อ.สังคม นาดี พ่อวิไลสิทธิ์ สาตรนอก กระตือรือร้นมาก และฝากความหวังไว้กับพวกเรามากว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะช่วยเขาได้ คำพูดทุกครั้งที่มาส่งเราขึ้นรถกลับบ้านคือ "อาจารย์อย่าทิ้งพวกเรานะ" ดิฉันเก็บเอามาคิดเสมอ ว่าทำอย่างไรจะช่วยพวกเขาได้ ทำอย่างไรจะช่วยสานต่อจิตวิญญาณของบรรพบุรุษตำบลดงเค็งที่ปลูกฝังความรัก ความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องที่ตำบลดงเค็ง คือ ป่าชุมชน และหนองละเลิงเค็ง ให้คงอยู่ตลอดไปและประกาศให้คนต่างถิ่นได้รู้ว่าดงเค็งมีของดีที่บรรพบุรุษของเขาได้เก็บไว้เป็นมูลมังให้ลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน เมื่อดำเนินงานโครงการมาได้ระยะหนึ่ง ข้าราชการในท้องถิ่นและ อบต. เริ่มจะเข้าใจงานของพวกเราว่า เรานำปัญญาที่มีอยู่ไปช่วยชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยช่วยในด้านการวางแผน การจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อนำไปเสนอของบประมาณจังหวัดขอนแก่น แนะนำการหาแหล่งเงินสนับสนุนจากภายนอก นำสื่อมวลชนไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประชาสัมพันธ์ทั้งทางรายการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ตให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้าง  นับวันคนต่างถิ่นเริ่มรู้จักป่าโนนชาด หนองละเลิงเค็ง ป่าไตรคาม ป่าโคกหนองจาน มากขึ้น  จังหวัดขอนแก่น นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติให้ความสนใจและสนับสนุนด้านงบประมาณ

    วันนี้ตำบลดงเค็งคงมีคนสานต่อด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ก็ขอฝากความหวังว่าจังหวัดขอนแก่นและผู้นำชุมชนทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติ คงจะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความฝันของชาวดงเค็งที่จะพัฒนาหนองละเลิงเค็งและป่าชุมชนโนนชาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชนประสบความสำเร็จ พวกเราชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่นำโครงการนี้ไปจุดประกายให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ได้ชี้นำสังคมแล้วถึงความต้องการของชาวดงเค็งที่ต้องการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ก็หวังว่าสังคมจะหันกลับไปดูชาวดงเค็งบ้าง ช่วยทำความฝันของเขาให้เป็นความจริงด้วยเถอะ

หมายเลขบันทึก: 42964เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นโครงการที่ดีมากเลยค่ะอาจารย์ ไม่ทราบว่าปีงบประมาณ 49 นี้อาจารย์ทำโครงการพื้นที่ อ.หนองสองห้องเหมือนเดิมหรือเปล่า หนูทำงานอยู่ฝ่ายติดตามและประเมินผลของศูนย์บริการวิชาการนะคะอาจารย์ (หนู่พึ่งเข้ามาทำงานได้ 2 เดือน) ถ้าหากอาจารย์ต้องการคนไปช่วยเหลือในการทำโครงการก็บอกได้ค่ะ ถือว่าเป็นการไปเยี่ยมโครงการไปด้วยก็ดีค่ะอาจารย์  เมื่อตอนปลายเดือนที่แล้ว หนูก็ได้ไปโครงการของสหสาขา (อ.วรนุช) ที่อ.ภูเวียง และ จ.ร้อยเอ็ด เป็นโครงการการสร้างทัศนคติต่อข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเมื่อได้ไปช่วยงานอาจารย์แล้ว ก็ทำให้รู้จักอาจารย์มากขึ้น และถือเป็นสิ่งที่ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท