แนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ Hilda Taba


การพัฒนาหลักสูตรในแนวคิดของการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์

 มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

         

 

 

            แนวคิดและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่นิยมนำมาใช้ในการวางแผนหลักสูตร (curriculum planning) ในปัจจุบัน เรียกว่าแนวคิดการบริหารทางวิทยาศาสตร์  (scientific management) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักหลักสูตรกลุ่มผลผลิต (product approach) หรือหลักสูตรที่กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (desirable result) ในรูปของคุณลักษณะหรือสมรรถนะในด้านความรู้และทักษะของผู้เรียนเป็นปลายทางของการพัฒนาผู้เรียน  แนวคิดหลักสูตรกลุ่มผลผลิตนี้เป็นฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์  (outcome based-education) และก่อให้เกิดรูปแบบหลักสูตรใหม่ตามมา ได้แก่ หลักสูตรอิงมาตรฐาน (standards-based curriculum)  และหลักสูตรอิงสมรรถนะ  (competencies based-curriculum)  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของหลักสูตรจะมีความแตกต่างในด้านการกำหนดเป้าหมาย แต่หลักสูตรในกลุ่มนี้ ล้วนแต่มีวิธีการดำเนินการพัฒนาบนกระบวนการหรือขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน  และขั้นตอนเหล่านั้น มาจากแนวคิดของนักหลักสูตรกลุ่มผลผลิต ได้แก่  Tyler (1949), Taba (1962), Saylor, Alexander และ Lewis (1982) โดยเฉพาะแนวคิดของ Taba นั้น ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง  เพราะเธอได้เสนอแนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นขั้นตอนชัดเจนและให้ความสำคัญกับครูในฐานะผู้สร้างหลักสูตร

          Hilda  Taba  (1902-1967) เป็นนักหลักสูตรกลุ่มแนวคิดการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์  (scientific management)  ที่มีชื่อเสียงในวงการด้านหลักสูตรและการสอน  เธอเป็นศิษย์ของ John Dewey  นักปรัชญาการศึกษาพิพัฒนิยม  Taba  สำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง  พลวัตของการศึกษา: วิธีวิทยาของแนวคิดการศึกษาพิพัฒนาการ (1932) (Dynamics of Education: A Methodology of Progressive Educational Thought) ซึ่งเน้นการนำเสนอการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นประชาธิปไตย  ภายหลังเมื่อเธอหันมาสนใจเกี่ยวกับทฤษฎีหลักสูตร  เธอจึงได้มีโอกาสร่วมงานกับ  John Dewey, Benjamin Bloom, Ralph W. Tyler, Deborah Elkins และ Robert Havinghurst  และได้เขียนผลงานซึ่งเป็นตำราเล่มสำคัญเกี่ยวกับหลักสูตรคือ  Curriculum Development: Theory and Practice (1962) ซึ่งเธอได้แสดงแนวคิดของตนเองไว้อย่างชัดเจนว่า  หลักสูตรการศึกษาควรมุ่งเน้นไปที่การสอนให้ผู้เรียนคิดมากกว่าจะเป็นการถ่ายทอดข้อเท็จจริง

          Taba (1962: 10) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรสรุปได้ว่า  หลักสูตรเป็นเอกสารที่เขียนขึ้น โดยประกอบด้วยเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้  เนื้อหาสาระ  กิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ และการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการวินิจฉัย (diagnosis) และตัดสินใจ (decision) เกี่ยวกับองค์ประกอบเหล่านั้น การพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของ Tabaดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนรวมทั้งสิ้น  7 ขั้นตอน ดังนี้ 

                   1.  การวินิจฉัยความต้องการ (diagnosis of needs)  การศึกษาความต้องการเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก  ผู้พัฒนาหลักสูตร (ครู) จะต้องวินิจฉัยประสบการณ์ ความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเพื่อมากำหนดเนื้อหาของหลักสูตร

                   2.  การกำหนดวัตถุประสงค์ (formulation of objectives) เมื่อทราบความต้องการของผู้เรียนหรือของสังคมแล้ว  ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ซึ่งจะใช้กำหนดเนื้อหาว่าจะมีความเฉพาะเจาะจงเพียงใดและวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 

                   3.  การเลือกเนื้อหา (selection of content)  ผู้พัฒนาหลักสูตรเลือกเนื้อหาสาระที่จะนำมาให้ผู้เรียนศึกษาโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ เนื้อหาที่เลือกมานั้นจะต้องมีความตรง (validity) ตามวัตถุประสงค์และมีนัยสำคัญ  (significance) ต่อผู้เรียน     

                   4.  การจัดองค์ประกอบของเนื้อหา (organization of content)  เนื้อหาที่คัดเลือกมาได้นั้น  ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องนำมาจัดเรียงลำดับ (sequence) โดยใช้เกณฑ์หรือระบบบางอย่าง ทั้งยังจะต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงและการเน้น (focus) ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ที่จะสอนและระดับของผู้เรียน

                   5.  การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ (selection of learning experiences)  ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องพิจารณาเรื่องของการจัดเรียงลำดับประสบการณ์  และจะต้องเลือกวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ 

                   6. การจัดองค์ประกอบของประสบการณ์การเรียนรู้  (organization of learning experiences)  การจัดองค์ประกอบของประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การสอนที่สำคัญคือการพัฒนากระบวนการสร้างมโนทัศน์ (strategic of concept attainment) และคำนึงถึงคำถามสำคัญ ได้แก่  จะทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระสอดคล้องกับประสบการณ์และความสนใจของผู้เรียน  และจะทำอย่างไรให้การจัดประสบการณ์       การเรียนรู้สอดคล้องและตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล   

                   7.  การวินิจฉัยว่าสิ่งที่จะประเมินคืออะไรและจะใช้วิธีการและเครื่องมือใดในการประเมิน  (determination of what to evaluate and of the ways and means of doing it)  นักหลักสูตรจะต้องประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร โดยจะต้องตอบคำถามว่า จะประเมินคุณภาพของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างไรและจะใช้เครื่องมือและวิธีการใดในการประเมิน

          ตามแนวคิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ Taba  ข้างต้น  จะเห็นได้ว่าเธอได้ให้ความสำคัญกับครูหรือผู้สอนว่าจะต้องเป็นผู้ที่พัฒนาหลักสูตร  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือหลักสูตรต้องออกแบบโดยผู้ใช้  และกระบวนการพัฒนาหลักสูตรทั้ง 7 ขั้นตอน เป็นรูปแบบการพัฒนาจากรากหญ้า  (grass-roots model)  ซึ่งแตกต่างจาก Tyler  ที่ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่จะจัดให้แก่ผู้เรียน หน้าที่หลักของครูตามแนวคิดของ Taba คือ ผู้จัดการเนื้อหาและมโนทัศน์ความรู้ต่างๆ  ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียน  และหลักสูตรจะต้องสร้างขึ้นจากภายในชั้นเรียน ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรสถานศึกษา  ประเด็นการเรียนรู้และข้อควรพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือ ในฐานะที่เราเป็นครูภาษาไทย เราได้มีส่วนในการจัดการมโนทัศน์ความรู้ต่างๆ ในสาระการเรียนรู้ภาษาไทยมากน้อยเพียงใด เราได้ใช้นักเรียนในห้องเรียนของเราเป็นฐานในการสร้างหลักสูตรภาษาไทยอย่างไร หรือเราเป็นแต่เพียงกลไกการถ่ายทอดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรของผู้บังคับบัญชาใช้หรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หลักสูตรคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ประสบการณ์ที่มีความหมายย่อมเกิดจากกระบวนการพัฒนาหลักสูตรให้มี “ความหมาย” ต่อผู้เรียน ซึ่งจัดการโดยครู  มิใช่เป็นแต่เพียงสาระการเรียนรู้ที่แห้งแล้งดังเช่นการสอนตามหนังสือเรียน ที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งมวล 

 

________________________

รายการอ้างอิง

Taba, H. 1962. Curriculum development: theory and practice. New York, NY: Harcourt,   Brace & World.

 

“การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ ไปเผยแพร่ด้วยวิธีการใดๆ ขอความกรุณาดำเนินการด้วยหลักทางวิชาการ จรรยาบรรณ และความเป็นมนุษย์”

 

หมายเลขบันทึก: 429445เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท