สรรพนาม..บางอย่างที่คิดอยู่เรื่อยๆ


    คิดมาเรื่อยๆ เรื่อง สรรพนาม กับ การ "ฟัง" ความเห็น ว่าน่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในระดับสูง ทีเดียว โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนชื่นชมวรรณะ

    สรรพนามที่เปลี่ยนไปจาก "คุณ" เป็น "ท่าน"  เป็น "ท่านอาจารย์" ดูผาดๆ ก็ธรรมดา ผู้คนก็เรียกกันไม่เห็นจะต้องคิดมาก มันอาจเป็นสิ่งที่เขานึกอยากเรียกเพื่อแสดงว่า ได้ "รู้จัก" บางอย่าง เกี่ยวกับคนถูกเรียก ว่า ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ทางการศึกษา หรืออาจเพราะเขามีประสบการณ์ว่า   ในสังคมบางที่ บางแห่ง ถ้าไม่เรียกเช่นนั้น เผลอๆ คนถูกเรียกหน้าตึง ก็มีให้เห็นถมไป เพราะมันเหมือนกับลืม ยกย่องให้เกียรติ

   แต่ตัวเองมักจะรู้สึกสะกิดใจหน่อยๆ ถ้าคนเคยคุ้น เมื่อไหร่ถูกเปลี่ยนจาก ชื่อธรรมดา เพิ่ม คำว่า "คุณ" ว่า ดูเหมือนว่าช่องว่างระหว่างกันคงกว้างขึ้น คนเรียกคงไม่รู้สึกสนิทเท่าเดิม

   แล้วถ้าเพิ่มคำว่า "อาจารย์" เข้าไป ในท่ามกลางสาธารณะ จะยิ่งเหมือนเขามาเตือนนะว่า "อย่าทำอะไรหละหลวม ส่อเค้า "หลุด" เพราะหมวก "อาจารย์" ถูกวางครอบลงหัวแล้ว

  ยิ่งมีคำรุ่มร่ามขยาย เติม เป็น "ท่านอาจารย์" เลยยิ่งเหมือนขึ้นหิ้ง จะพูดจะจาอะไรด้วยก็คิดทบทวนแล้ว ทบทวนอีก จะพูดด้วยดีไหม เผลอๆ ทำเป็นลืมๆ เรื่องที่จะพูดไปซะ เลิกพูดก็ไม่ต้องกังวลว่าพูดถูกไม่ถูก ที่เคย ลปรร อย่างรื่นเริง ก็ต้องกลับไปคิดก่อนวันสองวัน แล้วค่อยเข้าไปตอบ

   ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง การเป็น "คุณ" กับการเป็น "ท่านอาจารย์" ก็เท่ากับเป็นการยกหมวกขึ้นบังหน้า คนเห็นตัวก็เห็นหมวก ไม่ใช่เห็นสีหน้าในฐานะ ที่เป็นบุคคล ของคนหนึ่งคน ไปซะงั้น น่ะซิ สุดท้ายถ้าความคิดเห็นก็ต้องถูกฉาบสีไว้ก่อนอ่านอย่างนั้นแล้ว การเรียนรู้จะเกิดอิสระทางปัญญากันได้เมื่อไหร่

   ทบทวนอยู่เรื่อยๆ ว่า ในสังคมไทยทั่วไปทุกวันนี้ผู้คนก็มักจะเคลือบๆ ด้วยอะไรๆ ที่วาววับ ฉาบกันด้วยน้ำตาล(ฟอกสี) เวลาจะเรียกกันสักครั้ง จึงต้องเรียกกันเป็น "ท่าน" ให้ดูฟุ่มเฟือยเข้าไว้ จนถูกหล่อหลอมเข้าเป็นคำธรรมดาพบเห็นทั่วไป รวมทั้งในสังคมแห่งปัญญาด้วย

   จะทักท้วงใครๆ ว่าอย่าเรียก เป็น "ท่านอาจารย์" ก็ยังค้านตัวเองว่า ก็แค่สรรพนาม ถ้ายังไปยึดติดว่า คนอื่นต้องมาเรียกตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ ก็แสดงว่า ยังหลงมั่นกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้และไม่มีเมตตากับคนเรียกเอาเสียเลยเพราะยังไปกำหนดบังคับใจคน

   เมื่อใครพอใจเรียกตัวเองอย่างไรก็ต้องยินดีให้เขาเรียกเพื่อเป็นการให้อิสระกับคนอื่น ในเมื่อในใจของตัวเองรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ทำอะไร และยินดีกับธารปัญญาแห่งนี้ ยินดีกับการ ลปรร กับคนทุกคน โดยไม่ไปดูที่หมวกของเขาสักหน่อย..สรรพนามสำหรับตัวเองไมได้สัมพันธ์กับการฟังความเห็นแล้ว...ต่อไปข้างหน้า ใครจะมาเรียกว่าเป็นอื่น ก็ย่อมจะเต็มใจ...เพราะก็แค่สิ่งสมมตินี่นา

  ก็ยังคิดเรื่อยๆ..นะ

   

 

 

คำสำคัญ (Tags): #well_being
หมายเลขบันทึก: 42934เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     สำหรับผมสรรพนามเป็นสิ่งสมมติที่จำเป็นมากครับเพื่อการให้เกียรติกันและแสดงความเคารพกัน สรรพนามยังเป็นเครื่องแสดงถึงระดับความคุ้นชินกันด้วยครับ

อ่านบันทึกนี้ ของ (ท่าน) อาจารย์แล้ว อดนึกถึงโคลงบทนึงไม่ได้

ว่ากันว่าเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อนหน้านี้

หัวโขน    สมหัว       คนเต้น
เห็นเป็น   ลิงยักษ์     สักครู่
ถอดโขน   แล้วคน   เดิมดู
ใช่ผู้         ยักษ์ลิง    สิ่งลวง ฯ

บางคนเขาก็ (เสพ) ติดโขน จริงๆ นะครับอาจารย์
ยิ่งมีคนนิยมชมชอบมากเท่าใด คนที่สวมก็เหมือนจะยิ่งแสดงมากเท่านั้น (ส่วนจะดีหรือไม่ก็อีกเรื่องนึง)

อ่านบันทึก (ท่านป อาจารย์แล้วได้ฉุกคิดอีกวาระหนึ่ง

ขอบคุณ (ท่าน) อาจารย์มากครับ

ใช่เลยครับ ถ้าอย่างงั้นผมขออนุญาตเรียกพี่จันทรรัตน์ได้ไหมครับ

จะได้ไม่รู้สึกห่างเหินครับ

  • ขอบคุณค่ะ  ถึงอย่างไรก็ขออนุญาตเรียกว่าอาจารย์เหมือนเดิมนะคะ 
  • ขออนุญาตอาจารย์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องหัวโขนค่ะ  ดิฉันคิดว่าหัวโขนคือสิ่งที่สังคมสวมให้เราค่ะ   ในระหว่างงานเขาสวมหัวโขนให้เราเป็นอะไร เราก็ต้องทำหน้าที่ของหัวโขนนั้นให้ดีที่สุด  ส่วนนอกเหนือจากงานแล้ว  เราถอดหัวโขนออก เป็นตัวของเราเอง เราก็ทำหน้าที่เป็นคนดีของครอบครัวของเราต่อไปค่ะ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท