คุณเอื้อตำบลจะหนุนเสริมคุณกิจครัวเรือนแก้จนอย่างไร


จะหนุนเสริมหรือไม่ จะหนุนเสริมมากหรือหนุนเสริมน้อย ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านเรียนรู้ช่วยเหลือตัวเอง พึ่งตนเองแล้วหรือยัง ถ้าได้เรียนรู้วิธีการพึ่งตนเองก่อน ก็น่าจะให้การหนุนเสริมอย่างจริงจัง วิธีการหนุนเสริมอย่างนี้น่าจะเป็นมาตรฐานในการให้การสนับสนุนแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมชาวบ้านต่อไป

คุณเอื้อตำบลจะหนุนเสริมคุณกิจครัวเรือนระดับหมู่บ้านได้อย่างไร 

วันนี้ 27 ก.ค.49  ระหว่างเวลา 09.00 -12.00 น.ผมเดินทางไปทำหน้าที่คุณอำนวยในวงเรียนรู้ของคุณเอื้อตำบล  ซึ่งวงคุณเอื้อตำบลนี้ประกอบด้วยนายก อบต. และกำนัน ของทุกตำบล ในอำเภอปากพนัง และผู้เกี่ยวข้อง ในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครประมาณ 30 คน ณ ห้องประชุม สภอ.ปากพนัง  ตามคำเชิญของอำเภอปากพนัง


เป็นครั้งแรกของผมที่ได้ร่วมวงเรียนรู้กับเวทีคุณเอื้อตำบล เริ่มด้วยนายอำเภอปากพนัง นายโอภาส ยิ่งเจริญ นายอำเภอปากพนัง ประธานในพิธี เปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ อย่างเป็นทางการหมายถึง ประกอบพิธีทางศาสนา หน่วยงานเจ้าภาพกล่าวรายงาน นายอำเภอกล่าวเปิด .....อย่างที่ทราบๆกันแหละครับ รู้สึกว่าเกร็งกันไปพักใหญ่


ผมอ่านความรู้สึกนายอำเภอว่า ท่านคงจะอย่างไรก็ได้ หมายถึงเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ ขึ้นกับหน่วยงานผู้จัดหรือเจ้าภาพจะเตรียมอย่างไรเป็นสำคัญ เวทีเรียนรู้นี้จึงเป็นดูแข็งทื่อไปหน่อยในช่วงแรก ผมว่าน่าจะได้ศึกษาและเรียนรู้กันอย่างจริงจัง ทั้งธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาและการผสมผสานวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่เข้าไปอย่างลงตัว และยอมรับกันได้ตรงจุดใด ก็ปฏิบัติตามนั้น ค่อยๆปรับเปลี่ยน แต่อย่าต้องทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดอาการที่ยอมรับไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยเด็ดขาด อำเภอที่ยังไม่ได้จัดก็น่าจะได้เรียนรู้ หรืออำเภอที่จัดไปแล้วก็ควรจะได้เรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนในครั้งต่อไปเช่นกัน ต้องผสมผสานครับ อย่าสุดโต่งไปทางหนึ่งทางใด เพราะเรื่องความเชื่อ จิตใจมันเป็นเรื่องสำคัญ

นายอำเภอบรรยายในโอกาสต่อมา ว่าข้อมูลระดับการพัฒนาล่าสุดพบว่า อำเภอปากพนังจนที่สุดในบรรดา 23 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่เป็นดังนี้เพราะชาวประมงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีราคาแพง นากุ้งล่ม จากนั้นกล่าวแนวทางการทำงานของอำเภอ ว่ายึดกลยุทธ์การทำงาน  5 เรื่อง คือ ขจัดปัญหาความยากจน การ พัฒนาคนและสังคม มุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรม โอท๊อป และการท่องเที่ยว การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการองค์กรที่ดีและโปร่งใส บรรยายจบลงนายอำเภอก็เดินทางไปงานอื่นต่อไปตามที่ได้ลงนัดหมายไว้

กลยุทธ์การทำงาน  5 เรื่อง โดยเฉพาะกลยุทธ์การขจัดปัญหาความยากจน เป็นเรื่องที่พูดคุยต่อเนื่อง เปลี่ยนบรรยากาศจากที่เกร็งเป็นผ่อนคลายด้วยบรรยากาศการเรียนรู้ เป็นวงเรียนรู้มากขึ้น ผมขันอาสาเป็นคุณอำนวยผมเริ่มที่ทบทวนบทบาทคุณเอื้อตำบลเล็กน้อยว่า นายก อบต.และกำนันทุกท่าน จะต้องหนุนเสริม วงเรียนรู้ของคุณกิจครัวเรือน ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเป็นสำคัญ ให้วงเรียนรู้ของคุณกิจครัวเรือนระดับหมู่บ้านที่วงเรียนรู้ในพื้นที่ตำบล ซึ่งขณะนี้เรียนรู้กัน 2 - 3 เวทีแล้ว  ได้เรียนรู้และได้รับการหนุนเสริมอย่างเต็มที่ เป้าหมายหรือประเด็นพูดคุยวันนี้หรือหัวปลา คือ จะหนุนเสริมการทำงานวงเรียนรู้ระดับหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลของตนเองอย่างไร จะเชื่อมต่อการพัฒนาหรือต่อท่อการพัฒนาร่วมกับชาวบ้าน หรือที่เกินขีดควาามสามารถของชาวบ้านอย่างไร  เมื่อมีกรอบหรือประเด็นพูดคุย นายกอบต.และ กำนัน ก็เล่าการหนุนเสริมที่ได้ทำอยู่บ้างแล้ว และที่กำลังจะทำต่อๆไป ซึ่งน่าประทับใจมากว่า แต่ละท่านที่พูดมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของโครงการนี้อย่างมาก มองเห็นประโยชน์ของกระบวนการเรียนรู้ว่าจะต้องนำการพัฒนา..........ผมจะหยิบยกบางประโยคบางคำพูดของบางท่านมากล่าวนะครับ

กำนันตำบลท่าพระยา แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลของท่านจะประสบปัญหานากุ้งลุ่ม ชาวบ้านไม่ไม่มีจิตใจที่จะมาทำเวทีพูดคุยเรียนรู้ร่วมกัน แต่ท่านกล่าวว่า  ".....เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดการความรู้ แต่ปัญหาที่พบในพื้นที่ของผมคือความสามัคคี ประชุมทำเวทีกันบ่อยไม่ได้เพราะลุ่มนากุ้ง หาเงินเปลื้องหนี้สิน ต้องใช้เวลาในการสร้างรู้สึกที่ดีกลับมา ต้องปรับทุกข์ปลูกมิตร ปรับความรู้สึกและทัศนคติที่ดีเสียก่อน .........."


ผมจึงเสริมว่า เมื่อยังทำใจไม่ได้ ก็เป็นเวทีปรับทุกข์ผูกมิตรกัน สร้างความรู้สึกที่ดี สร้างขวัญกำลังใจกันก่อนก็ได้ โครงการฯนี้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในทุกเรื่องทุกมิติอยู่แล้ว สามารถตั้งเป้าหมายการเรียนรู้เรื่องนี้ก่อนก็ได้ จากนั้นจึงจะค่อยๆต่อยอดไปสู่การเรียนรู้หรือปฏิบัติการแก้จนในเนื้อหาต่างๆในเวทีต่อๆไปก็ได้

นายก อบต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อีกสักท่านหนึ่งครับ ที่ผมอยากจะยืนยันว่าท่านคิดบวกมากๆต่อโครงการนี้ ท่านกล่าวว่า "......ถูกต้องแล้วทีมีการทำโครงการลงทุนด้านกระบวนการเรียนรู้ ไม่ต้องแบบมือขอสตางค์จากทางการอย่างเดียว ปีงบประมาณ 2550 อบต.ปากพนังฝั่งตะวันออกจะประเมินหมู่บ้านที่ อบต.เคยหนุนงบประมาณให้ไปแล้ว ถ้าหมู่บ้านมีการเรียนรู้ ก็จะอุดหนุนต่อเนื่องต่อไป ปี 2550 จะระดมกันอย่างมโหฬาร ปัญหาจากการล่มสลายของนากุ้ง ทำให้ชาวบ้านฉลาดมากขึ้นในการเรียนรู้ ผู้นำชุมชนก็ต้องเรียนรู้การให้เงินสนับสนุนด้วย มิใช่แต่จะส่งเสริมแต่ทำถนนสะพานอย่างเดียว หรือจะหลับหูหลับตาให้แบบสงเคราะห์ช่วยเหลือ ไม่ได้เรียนรู้ใดๆไม่ได้ จะหนุนเสริมหรือไม่ จะหนุนมากหรือหนุนเสริมน้อยขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านเรียนรู้ช่วยเหลือตัวเองพึ่งตนเองแล้วหรือยัง ถ้าได้เรียนรู้วิธีการพึ่งตนเองก่อน ก็น่าจะให้การหนุนเสริมอย่างจริงจัง วิธีการหนุนเสริมอย่างนี้น่าจะเป็นมาตรฐานในการให้การสนับสนุนแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมชาวบ้านต่อไป......"

ใช่ครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าควรจะทำให้เป็นมาตรฐานเลยครับ

บรรยากาศพูดคุยสนุกสนาน แลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นกันเอง พักกลางวันเที่ยงครึ่งครับ นัดหมายวงเรียนรู้นี้ครั้งต่อๆไป อบต.ต่างๆก็จะหมุนเวียนเปลียนกันเป็นเจ้าภาพ เวทีหน้าก็จะเป็นเรื่องเล่าของแต่ละ อบต.และกำนันแต่ละท้องที่ว่าได้ปฏิบัติการหนุนเสริมวงเรียนรู้คุณกิจครัวเรือนหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่อย่างไร คิดว่าคงจะสนุกอีกแน่นอน

ผมเหลือบเห็นมีการบันทึกวีดิโอไว้ด้วย ผมว่าวีดิโอนี้นำไปเรียนรู้ในวงเรียนรู้อื่นได้ครับ คงเป็นสื่อที่ใช้เรียนรู้ได้ดี

27 ก.ค.49



ความเห็น (2)
     เข้มข้นและเข้มแข็งมากเลยครับ ยอมรับจริง ๆ สำหรับคนเมืองคอน
จะเข้มข้น หรือจะเข้มแข็ง ก็ยากที่จะบอกได้ ก็ในเมื่อลุยแล้ว ก็ต้องลุยเดินหน้าครับ ขอบคุณกำลังใจที่หยิบยื่นให้มาโดยตลอด จะส่งหนังสือบันทึกความรู้แก้จนตามวิถีคนคอนไปให้สักเล่มครับ วันนั้นที่มิราเคิล ขอโทษด้วยครับ แบบว่าหมดเสียก่อนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท