ชีวิตมีเงื่อนไข


อาจเพราะมนุษย์มีความทรงจำ เราจึงมองอดีตดั่งเชือกปม

ชีวิตมีเงื่อนไข 

1 มิถุนายน 2549 

อาจเพราะมนุษย์เรามีความทรงจำ จึงทำให้เรามองเห็นอดีตได้เหมือนหนึ่งเปรียบเปรยการผูกเชือก โยงทั้งเรื่องราวและขมวดทั้งปมไว้กับตัวตนของเราเอง ร้อยเรียงเส้นสายเกี่ยวพันไปมาโดยไม่เป็นระเบียบ ด้วยเพราะความรู้สึกของเราไม่ได้แยกขาดเพียงเส้นสายเดียว แต่เป็นผลเชื่อมโยงโดยความคิดคำนึง และความรู้สึกผูกพันกันไปมาอย่างมากมายนี้เอง ซึ่งแยกเรื่องราวตามรายทางอดีตออกมาได้นับไม่ถ้วน ไม่รวมสิ่งที่เราตัดทิ้งจากความทรงจำอีกมาก ซึ่งหากนำกลับมานับรวม เราก็คงต้องเพิ่มพื้นที่สมองส่วนทรงจำจนหัวโตกว่านี้

แต่ถึงแม้เราจะจดจำบางสิ่งและตัดทิ้งบางอย่าง เราก็ยังมีความทรงจำไว้เป็นเงื่อนไขผูกพันชีวิตอยู่มากมาย ดังนั้นสิ่งที่เกี่ยวพันเชื่อมร้อยก็พร้อมสำแดงเดชขึ้นมาในบางครั้งบางคราว ท่ามกลางความสับสนยุ่งยาก จนเราไม่สามารถรื้อเส้นย้อนทางของเรื่องราวเพื่อไปสู่จุดเริ่มของปัญหาได้ ด้วยเพราะเราไม่อาจแยกขาดจนไปสู่จุดเริ่มเพียงหนึ่งเดียว แม้จุดเริ่มจะมีเพียงจุดเดียวก็ตามที 

หลายครั้งเราผูกรายละเอียดของความทรงจำและจากวันคืนที่เราเดินทาง เสมือนหนึ่งรูปรอยปมเชือก โดยไม่ว่าเราจะนับรายละเอียดของเรื่องราวเช่นไร ความหมายที่เกี่ยวพันไว้นั้น กลับส่งผลอันมากกว่าปมขมวดเพียงกลมๆ เพราะบ่อยครั้งที่เจ้าตัวปมเชือกสร้างปัญหาให้กับชีวิต แทนที่จะปล่อยวางว่างเปล่าไว้เพียงหลวม แต่กลับพันแน่นจนกลายเป็นเงื่อนไขฝังในใจเรา ถ้าจะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะต้องมีเงื่อนไขมากำกับกำหนดกฎเกณฑ์ชีวิตอยู่ร่ำไป โดยไม่อาจปล่อยให้ทุกสิ่งลื่นไหลและรื่นเริงไปกับชีวิตอันราบเรียบมีสุขได้

แม้จะไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นก็ตาม แต่เพราะความที่อดีตได้กำหนดบางสิ่งในเงื่อนปมและเงื่อนไข เราจึงสะดุดกับรอยขมวดเหล่านั้นด้วยตนเองเสมือนเป็นทาสแห่งกาลเวลา และมีนายเหนือหัวเป็นความทรงจำที่คอยบอกกล่าวถึงความผิดพลาดบางอย่าง ให้เราต้องคอยเดินตามกับรอยเจ็บและแผลช้ำเหล่านั้น  

จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยฟังคำพูดจากนักจิตวิทยาเด็ก พูดถึงนิสัยการเรียนรู้ของเด็ก ที่สร้างให้ผู้ใหญ่ทุกวันนี้แบกรับบางสิ่งที่มากมายเกินไป ซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุของความทรงจำ นักจิตวิทยาเด็กพูดถึงอุปนิสัยช่างสำรวจและชื่นชอบความท้าทายทดลองชีวิตของเด็ก

โดยบอกว่าหากสังเกตความสุขของเด็กที่วิ่งเล่น เราจะพบกับสีหน้าท่าทางอันสนุกสนาน วิ่งไปด้วยความไม่กังวลและไม่หวาดกลัวต่อสิ่งใด จนเมื่อเด็กคนนั้นล้มลงครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วเรียนรู้ว่าความเจ็บปวดเป็นเช่นไร เขาจะเริ่มจดจำและรับรู้ได้ว่า เขาจะต้องวิ่งอย่างไรไม่ให้ล้ม เพราะรู้ว่าความเจ็บปวดมีรสชาติอย่างไร เท่ากับที่เราจะพบเงื่อนปมบางอย่างที่อาจฝังใจเด็ก และเติบโตขึ้นในร่างกายของผู้ใหญ่ จนซ่อนเร้นอยู่ในท่ามกลางการรับรู้อันเจ็บปวด ที่บางครั้งอาจมากมายเกินไป กระทั่งเด็กคนนั้นอาจไม่กล้าวิ่งอีกเลยในชีวิต ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้ ว่าปมหรือเงื่อนเหล่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง จนไม่อาจหาญสาวเรื่องราวไปสู่ตัวตนของปัญหาแท้จริงได้ แต่เพราะว่าเราไม่แน่ใจกับสิ่งทีเกี่ยวพันไปมามากกว่า ว่าแท้ที่จริงแล้วจุดเริ่มแห่งปมและรอยแห่งเงื่อนไขซึ่งใหญ่โตขึ้นมานั้นมาจากจุดใดกันแน่

โดยแม้ในหลักปฏิบัติทางพุทธปรัชญา และการเข้าหาแก่นแกนของปัญหาที่โลกบังเกิดและผู้คนเป็นไป ก็ได้บอกกล่าวเล่าความไว้ ว่าเหตุของปัญหาคือจุดเริ่ม ที่เราต้องเดินทางเพื่อค้นหาให้พบ จนเมื่อหาเหตุแห่งปัญหาได้เมื่อใด ก็จะสามารถเริ่มต้นหนทางแห่งการแก้ปัญหา แต่เมื่อไม่สามารถหาเหตุได้พบ หรือที่พบกลับไม่ใช่เหตุอันแท้จริง โดยอาจเป็นเหตุเทียมปลอมแปลงมาให้เราหลงมายาเล่น เราก็ต้องพยายามค้นหาให้พบ แม้จะหลงวนเวียนไปมากมายเพียงใดก็ตาม  

ครั้งหนึ่งของการเริ่มต้นตั้งคำถามกับชีวิต ขณะสนุกสนานกับการค้นหาโลก และความหมายจากหนังสือ เรื่องราวของหนังสือที่ชื่อว่า ค้นหาชีวิต ของนวลศิริ เปาโรหิตต์ ก็เป็นหนึ่งในพลังของก้าวย่างแต่ละวัน โดยในบทหนึ่งกล่าวถึงการค้นหาตัวตน แก้ไขปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ผ่านจากร่างกายสู่จิตวิญญาณ และจากเปลือกสู่แก่นแกน โดยเปรียบว่าการค้นหาตัวเอง ก็เหมือนกับการแกะเปลือกหัวหอม ขณะที่เราต้องการเข้าสู่ปัญหาแท้จริง ขณะที่เราแกะเปลือกออกไป น้ำตาของเราก็จะหลั่งไหลออกมา แม้เราจะต้องน้ำตาตก แต่เราก็ยังคงต้องแกะเปลือกเพื่อไปสู่แก่นให้ได้ ไม่แน่ใจว่าตอนนั้น จินตนาการของวัยเริ่มต้นชีวิต ได้โลดแล่นผ่านสู่ความเข้าใจอันแท้จริงที่ว่า เหตุแห่งปัญหาในการค้นหาชีวิตนั้น ต้องทำความเข้าใจเพียงใดกับความละเอียดอ่อน ในเมื่อปัญญาของตัวตนขณะนั้น ยังสนุกกับการค้นหาเพียงเปลือกเท่านั้น ไม่รู้ตื้นลึกมากมายนักสำหรับความเข้าใจอันซับซ้อน

ทั้งหมดจึงกลายเป็นคำถามในหลายปีที่ผ่านมา ว่าแท้จริงแล้วการแกะเปลือกสู่แก่นแกน จะง่ายดายเหมือนแกะเปลือกหัวหอมเช่นนั้นหรือ หรือเป็นเพราะความซับซ้อนที่มากมาย จนทำให้ผู้เขียนพยายามลำดับความอันยากลำบากให้ง่ายดายลงมา เพื่อจะทำให้เราไม่ล้มลงไปก่อนที่จะเข้าใจถึงหนทางแห่งการแก้ปัญหา  

ด้วยเพราะความเข้าใจว่า เหตุแห่งปัญหาและหนทางสู่คำถามอันแท้ ว่าปัญหาคือจุดเริ่มต้นแห่งเรื่องราวทั้งหมด ยิ่งทำให้ผมสะกดคำว่า งง มากขึ้นเป็นร้อยตัวอักษรเสมอ ในยามที่ต้องแยกแยะให้ออก ว่าแท้ที่จริงแล้ว เราเห็นสายที่โยงใยสู่ตัวตนของปัญหาจริงๆหรือเปล่า หรือที่เราพยายามไล่ลำดับไปสู่ปัญหานั้น เรากำลังจับทางและจับเรื่องราวของเงื่อนไขเงื่อนปมมาผิดเส้นผิดสาย เพราะความไม่แน่ใจและคำถามมากมายนี้เอง ที่ยังคงทำให้ในแต่ละวันยังคงเกิดคำถามขึ้นในใจเสมอ ว่าแต่ละวันที่เราหน้าหมองและใจขุ่นหม่นมัวนั้น เป็นเพราะเราไม่ศรัทธาต่อการค้นหาปัญหาที่เพียงพอ หรือเพราะเรายังไม่ศรัทธาจนถึงจุดอันเหมาะสม จึงทำให้เรายังเป็นทุกข์กับสิ่งที่วนเวียนไปมาเช่นนี้  

บางครั้งเงื่อนไขก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่มีเรามีโอกาสผลักดันตัวเองขึ้นมา จากความจำเจเฉยชาส่วนตัว หรือจากการหลบหนีหลีกเร้นได้จากเงื่อนไขที่ฉุดกระชากเรา บางครั้งก็นึกขำกับเรื่องราวอันผูกพันด้วยเงื่อนไข ท่ามกลางชีวิตที่เป็นอยู่ของเรา

ครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสถามไถ่เพื่อนที่เดินทางไปต่างประเทศ ด้วยการหยอกล้อถึงรอยหยักความรู้สึกที่ต้องห่างใครบางคนที่ทำให้เขาอบอุ่นใจ เมื่อถามว่าจะกลับเมื่อไร เขากลับตอบว่า ให้เธอคิดให้ได้ก่อน ถึงจะกลับมา

แม้จะขำกับคำพูดสลับบริบทและวางผิดที่ผิดทาง ถามไปถามมาสามวาสองศอก แต่กลับทำให้รู้สึกได้ว่า บ่อยครั้งเราก็มักเอาชีวิตของเราไปผูกพันได้กับคนอื่นอย่างมากมาย ผูกชีวิตไว้กับเงื่อนไขบางอย่าง ด้วยสายใยที่ไม่มีตัวตนให้เราเห็นและรับรู้ได้ จะมีก็แค่เพียงความเชื่อมั่นและศรัทธา ว่าสักวันหนึ่งเขาจะเอาใจของเขาหรือเธอมาผูกกับสายใยที่ไม่มีตัวตนนี้

จนประโยคสุดท้ายที่รับรู้โดยส่วนตัวของผมก็คือ ถ้าเธอเกิดคิดไม่ได้ขึ้นมา เพื่อนผมคงจะมีเหตุผลสำคัญรองรับปริศนาบางอย่างในชีวิต และมีคำตอบชัดเจนที่ทำให้เขาสามารถตอบความสงสัยของคนอื่นได้บ้าง ว่าทำไมเขายังไม่กลับบ้านเกิดเมืองนอนสักที แม้ว่าภารกิจและหน้าที่การงานในชีวิตเสร็จสิ้นลงก็ตาม  หรืออาจต้องแบกภาระในชีวิตเช่นวีรบุรุษในดวงใจของเขา ที่จำต้องนอนทอดร่างยังต่างแดน โดยไม่ได้คืนกลับบ้านเกิดอีกเลย เพียงแต่ว่ากรณีของเขาอาจเป็นเรื่องเจ็บใจ มากกว่าน่าชื่นชมยกย่อง เพียงเพราะหลุดปากผูกชีวิตตัวเองไว้ กับการคิดได้หรือคิดไม่ได้ของใครบางคน

 

หมายเลขบันทึก: 42874เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กินใจจังค่ะข้อความนี้ "การค้นหาตัวเอง ก็เหมือนกับการแกะเปลือกหัวหอม ขณะที่เราต้องการเข้าสู่ปัญหาแท้จริง ขณะที่เราแกะเปลือกออกไป น้ำตาของเราก็จะหลั่งไหลออกมา แม้เราจะต้องน้ำตาตก แต่เราก็ยังคงต้องแกะเปลือกเพื่อไปสู่แก่นให้ได้"

ถึงต้องหลั่งน้ำตากับปัญหาที่ต้องเผชิญ แต่เราก็ต้องแก้ปัญหาให้พ้นผ่านไปให้ได้ ปัญหาบางอย่างหนักลึกจนเราต้องขุดค้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งค้นยิ่งขุดกลับยิ่งต้องเจ็บ ต้องร้อง ลึกมาก หนักมากก็ยิ่งเจ็บมาก ยิ่งร้องมาก เฉกเช่นการปลอกเหลือกหัวหอม และยิ่งขุดก็มักจะมีเงื่อนไขและเงื่อนปมผุดออกมามากมาย

ปัญหาบางปัญหาเกิดจากการผูกปมและเงื่อนไขของเราเองจริง ๆ มัดเองผูกเอง แต่กลับแก้เองไม่ค่อยจะได้ เพราะตอนผูกก็ไม่จำว่าพันหรือผูกเอาไว้ทางไหน อย่างไรบ้าง พอเป็นปมใหญ่ขึ้นมา จึงแก้ไม่ค่อยจะออก...เพราะขาดสติด้วยความตกใจ...และด้วยเหตุผลของเงื่อนไขบางประการ

บทความนี้ดีจังค่ะ...

"จงปล่อยวางเพื่อให้เกิดความว่างเปล่า.....แล้วจะรู้ว่าค่าของชีวิตนี้คืออะไร..........."
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท