ท้องถิ่นอุตรดิตถ์


อุตรดิตถ์เป็นท้องถิ่นปลายสุดของภูมิประเทศพื้นราบนั่นเอง

 "เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลาดสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก

 อุตรดิตถ์ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่งในปัจจุบันเพราะมีประวัติมายาวนานทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์ ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม มีลางสาดเป็นผลไม้พื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ รวมถึงสภาพภูมิประเทศที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ     

            แต่เดิมชุมชนบริเวณที่ตั้งจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในปัจจุบันนั้นมีชื่อเรียกว่า บางโพ  ซึ่งเป็นชุมชนบริเวณปากคลองโพ แม่น้ำน่าน และอาจเพราะมีต้นโพธิ์ขึ้นเป็นป่าทึบอยู่ตามริมแม่น้ำ ซึ่งในอดีตมีฐานะเป็นเพียง บ้าน เท่านั้น

            แต่ด้วยความที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมาค้าขายกันอย่างมาก ต่อมารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ชุมชนบางโพได้ยกฐานะขึ้นเป็น เมืองบางโพ

            ต่อมาในพุทธศักราช ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามเมืองให้ใหม่ว่า อุตรดิตถ์ แปลว่า เมืองท่าทางทิศเหนือ (อุตร : เหนือ, ดิตถ์ : ท่า) และใช้ชื่อนี้ตลอดมา                 

           จวบจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองประเทศ โดยจัดการปกครองเป็นรูปแบบเทศาภิบาล แล้วตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๕ เพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองเข้าไว้ที่เมืองหลวง ก็คือ กรุงเทพมหานคร

             เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้ค่อย ๆ ผันแปรสู่ความเป็นเมืองซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยทางการปกครองที่ส่วนกลางกำหนดขึ้นและเมื่อมีการประกาศยกฐานะเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นจังหวัด ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๙ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อุตรดิตถ์จึงได้เป็นกลไกของระบบ  ราชการ อย่างเต็มตัว                    

      

แผนภูมิประวัติศาสตร์อุตรดิตถ์

พ.ศ.

2500

เมืองอุตรดิตถ์

2000

เมืองพิชัย

1500

1000

เมืองทุ่งยั้งเมืองฝางเมืองบางโพ

 สมัยประวัติศาสตร์

 500 

บุ่งวังงิ้ว ถ้ำกระดูกแก่งตาน ศิลาเลขปากห้วยฉลองเขตตาพรม

 สมัยก่อนประวัติศาสตร์

             หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการเข้ามาอาศัยอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำแม่น่านจังหวัดอุตรดิตถ์  ได้แก่ การพบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือหินขัด เศษภาชนะดินเผา ที่บ้านบุ้งวังงิ้ว ตำบล  ป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

              การพบแหล่งโบราณคดีในจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการพบโดยบังเอิญ ได้แก่การตัดถนนผ่านแหล่งโบราณคดี  การหักล้างถางพง รวมทั้งการปรับหน้าดินของ ชาวบ้านเพื่อทำการเกษตรกรรมการทำมาหากินตามวิถีชีวิตของชุมชน

              การพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านบุ้งวังงิ้วแหล่งภาพเขียนสีที่เขาตาพรม และถ้ำกระดูกเขาผาตั้ง เป็นหลักฐานการเข้ามาของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังใช้เครื่องมือหินขัด และ หลักฐานของคณะสำรวจทางโบราณคดีของกรมศิลปากร ได้พบภาพเขียนสี กับเครื่องมือโลหะเป็นใบหอกสำริด   

            หลักฐานที่พบแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับชุดเครื่องมือสำริด อันประกอบด้วยกลองมโหระทึก กาน้ำและวัตถุอื่น ๆ ซึ่งชาวบ้านเคยพบที่ตำบลท่าเสา และบนม่อนหน้าโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ซึ่งหลักฐานเหล่านั้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

            และหลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การพบซากโครงกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินขัดในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบุ้งวังงิ้ว ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ที่หอวัฒนธรมจังหวัดอุตรดิตตถ์ 

            ต่อมาในสมัยสุโขทัย ก็มีการตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองทุ่งยั้ง หรือเวียงเจ้าเงาะ ในท้องที่อำเภอลับแล เมืองตาชูชกในท้องที่อำเภอตรอน เมืองสว่างคบุรี ในเขตอำเภอเมือง ในสมัยอยุธยาก็มีการตั้งเมืองพิชัย (อำเภอพิชัยในปัจจุบัน)เป็นต้น

             ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการย้ายเมืองจากเมืองพิชัยมาตั้งใหม่ที่ตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน เมืองต่าง ๆ เหล่านี้มีหลักฐานประวัติศาสตร์ทางศิลาจารึก หลักฐานทางโบราณคดี โดยเฉพาะในสมัยอยุธยาเมื่อ พ.. 1893 ปรากฎว่ามีเมืองขึ้นถึง 16 เมืองด้วยกันในจำนวน 16 เมืองนี้มีเมืองพิชัยที่อยู่ในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบันด้วย

             ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จเมืองทุ่งยั้งและเมืองสว่างคบุรี เพื่อนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์และพระบรมธาตุทุ่งยั้งก่อนที่พระสังฆราช เรือน ไปครองเมืองสว่างคบุรี ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เมืองพิษณุโลกจนถึงอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

              และในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีความเกี่ยวพันกับเมืองพิชัยอย่างแน่นแฟ้น โดยใช้เป็นที่พักทุกครั้งที่กรีฑาทัพผ่านมา และใช่เป็นที่รวบรวมทัพก่อนขึ้นตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและล้านนา

               สมัยก่อนนั้นการเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อนำมาขายทางตอนเหนือ มีสะดวกอยู่ ทางเดียวคือ ทางน้ำ และแม่น้ำที่สามารถให้เรือสินค้าแม้กระทั่งเรือสำเภาขึ้นลงได้สะดวกภาคเหนือตอนล่างก็มีแม่น้ำน่านเท่านั้น เรือสินค้าที่กรุงเทพฯหรือกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาได้ถึงบางโพ ท่าอิฐ เท่านั้น เพราะเหนือขึ้นไปแม่น้ำจะตื้นเขินและมีเกาะแก่งมาก ฉะนั้นตำบลบางโพ ท่าอิฐ จึงเป็นย่านการค้าที่สำคัญ

              ในสมัยก่อนพ่อค้าจะนำสินค้าจากหลวงพระบาง น่าน หรือเมืองเหนืออื่น ๆ ไปขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าทางใต้ เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพฯ สินค้าจากทางใต้จะนำขึ้นเหนือต้องแวะพักกันตามท่าน้ำจอดเรือของจังหวัดอุตรดิตถ์ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าวัฒธรรมตลอดจนการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของกลุ่มชน

               สาเหตุนี้เองทำให้ประชาชนในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ สืบเชื้อสายมาจากคนไทยหลายภาค จึงทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นต่าง ๆ แตกต่างกันไปบ้าง เช่นท้องที่อำเภอน้ำปาดและอำเภอฟากท่าจะมีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมคล้ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องที่อำเภอลับแล อำเภอท่าปลา และตอนเหนือของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมคล้ายภาคเหนือ ส่วนตอนใต้ของอำเภอเมือง อำเภอตรอน อำเภอพิชัย และอำเภอทองแสนขัน มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกับภาคกลางในปัจจุบัน

                  การเลื่อนไหลของการเคลื่อนย้ายอพยพของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ เพื่อหาแหล่งทำมาหากิน เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแนวคิดต่าง ๆ กัน จึงเป็นการผสมผสานกันทางวัฒนธรรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยากต่อการจำแนกให้ชัดเจนดังแต่ก่อนได้ 

                   การเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการหนึ่งของเมืองอุตรดิตถ์ก็คือ เมื่อสร้างทางรถไฟเสร็จและมีรถไฟแล่นมาถึงเมื่อ พ.ศ.2452   ยังผลให้เมืองอุตรดิตถ์กลายเป็นย่านรถไฟใหญ่ มีสถานีอยู่ใกล้ๆ กันถึง 2 สถานี คือ อุตรดิตถ์ และศิลาอาสน์ รถไฟทุกขบวนต้องจอดพักที่สถานีศิลาอาสน์ เพื่อเติมเชื้อเพลิง หรือเพิ่มจำนวนหัวรถจักรลากจูงขบวน เนื่องจากเหนือจากนี้ขึ้นไปรถไฟต้องขึ้นเขาสูงชัน ไปตลอดทางเพราะอุตรดิตถ์เป็นท้องถิ่นปลายสุดของภูมิประเทศพื้นราบนั่นเอง

               การมีเส้นทางรถไฟผ่านอุตรดิตถ์ ได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนี้เป็นอย่างมาก หาดท่าอิฐตลาดการค้าใหญ่ทางเหนือของลำน้ำน่าน ต้องได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรงถึงขั้นต้องล้มเลิกไปเลย เพราะหาดท่าอิฐเป็นตลาดน้ำ การคมนาคมขนส่งสินค้าจากภาคกลางเพื่อนำสินค้ามาขาย และรับสินค้าประเภทของป่าที่คนจากผืนดินลึกเข้าไปนำมาขายที่หาดท่าอิฐนั้น เป็นการคมนาคมขนส่งทางลำน้ำน่าน แม้จะมีความสะดวกมากสำหรับสมัยก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีรถไฟมาถึงแล้วก็สู้กับรถไฟอย่างเทียบกันไม่ติด

             ดังนั้นพ่อค้าที่หาดท่าอิฐจึงต้องขึ้นบกเพื่อหาทำเลการค้าใหม่ ชื่อของ อุตรดิตถ์ ที่แปลว่าท่าน้ำทิศเหนือ ซึ่งมีความหมายมาจากสภาพการณ์ของบางโพ-ท่าอิฐ จึงเริ่มถูกลืมไปจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง จนแทบนึกภาพไม่ออกว่า ท่าน้ำทิศเหนือ นั้นเป็นอย่างไร

             บรรดาพ่อค้าที่ขึ้นมาจากหาดท่าอิฐ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนต่างแยกย้ายไปตั้งทำเลค้าขายในที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แยกเป็น 2 พวก ๆ หนึ่งไปตั้งตลาดการค้าที่บางโพคือที่ตัวเมืองอุตรดิตถ์ อีกพวกหนึ่งขึ้นบกไปตั้งตลาดการค้าที่ท่าเสา จนเกิดเป็นตลาดขึ้นบริเวณหน้าสถานีรถไฟท่าเสา แต่ตลาดท่านี้ก็เฟื่องฟูแข่งกับตลาดบางโพอยู่ได้ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 10 กว่าปี ในระยะที่การสร้างรถไฟขึ้นเหนือต้องหยุดชะงักเท่านั้น เมื่อทางรถไฟเสร็จตลอดสาย สินค้าจากทางเหนือและใต้ไม่ต้องมาหยุดพักเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่ท่าเสา ตลาดท่าเสาก็เริ่มร่วงโรยลงผิดกับตลาดบางโพที่การค้าคึกคักมากขึ้น

              ท้องถิ่นอุตรดิตถ์ปรากฎบทบาทขึ้นอีกครั้งในกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ.2483 เมื่อไทยได้เรียกร้องขอดินแดนที่ฝรั่งเศสขู่บังคับเอาจากไทยไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดอุตรดิตถ์ในฐานะที่มีเขตแดนติดต่อกับอินโดจีนด้านเมืองปากลาย ซึ่งเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน ได้ถูกกำหนดให้เป็นที่มั่นรวบรวมกองกำลังทหารซึ่งยกมาจากจังหวัดนครสวรรค์เพื่อบุกยึดเมืองปากลายคืนมาการรบครั้งนั้นทำให้ท้องถิ่นอุตรดิตถ์ต้องมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะเป็นย่านรถไฟใหญ่และสำคัญก่อนวิ่งขึ้นเขาสู่ภาคเหนือ

              ญี่ปุ่นได้มาตั้งหน่วยประจำการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์จำนวนหนึ่ง มีทั้งหน่วยรบ หน่วยสื่อสาร หน่วยเสบียงอาหาร และหน่วยช่างกล ตลาดบางโพเวลานั้นจะมีทหารญี่ปุ่นดินกันขวักไขว่ไปทั่วราวกับเป็นเจ้าของบ้าน

              ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการแข่งขันของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ วิถีการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เริ่มผูกติดเกี่ยวพันถึงกันเป็นประชาคมโลก ประเทศไทยเริ่มวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2504 เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เขื่อนกั้นน้ำ ถนน กระแสไฟฟ้า เป็นต้น

             ด้วยทำเลที่ตั้งอันเหมาะสมของท้องถิ่นอุตรดิตถ์ ทำให้รัฐบาลเลือกเป็นสถานที่สร้าง  เขื่อนสิริกิตต์  ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นน้ำแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขึ้นบนลำน้ำน่าน ก่อนที่จะบรรจบกันลำน้ำปาดในเขตอำเภอท่าปลา สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้เพื่อการชลประทานและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ แล้วหลังจากนั้นทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัดสายต่าง ๆ ก็ได้รับการพัฒนาขึ้น ช่วยให้การคมนาคมขนส่งทางบกระหว่างท้องถิ่นอุตรดิตถ์กับจังหวัด อื่น ๆ ทุกภูมิภาคเป็นไปด้วยความสะดวกยิ่ง   

หมายเลขบันทึก: 42861เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''งงงงงงงดวเสว้าเดวเกดสวกดาเกดวสเกดสวเ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท