การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิตในอุดมคติ : 3. การพัฒนาวุฒิภาวะหลากหลายด้าน


ในการเรียนรู้ของมนุษย์ เราต้องพัฒนาวุฒิภาวะหลายด้าน แต่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเอาใจใส่ด้านเดียว คือด้านความรู้ภายนอก ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์/วิทยาการ เราไม่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ครบด้าน

การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาบัณฑิตในอุดมคติ  : 3. การพัฒนาวุฒิภาวะหลากหลายด้าน

          การศึกษาของไทย (และของโลก) มันเอียง      ไม่ได้ดุลยภาพ     มันพัฒนาเฉพาะส่วนที่เป็นเทคนิค และส่วนที่ช่วยเปิดรับและพอกพูนกิเลส     มันเน้นพัฒนาความเป็นปัจเจก และตัวใครตัวมัน     มันลดทอนความเป็นชุมชน หรือประชาสังคม ที่เรามีมาแต่เดิม

          ในการเรียนรู้ของมนุษย์ เราต้องพัฒนาวุฒิภาวะหลายด้าน      แต่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเอาใจใส่ด้านเดียว     คือด้านความรู้ภายนอก  ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์/วิทยาการ     เราไม่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ครบด้าน     เราไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะเพื่อการนี้ในมหาวิทยาลัย     เราอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป     เพราะเราตีความคำว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่า     หมายถึงการเรียนวิชา 

         การศึกษาของไทย (และของโลก) จึงผลิต "ผู้มีการศึกษาที่เป็นโรคจิต" (Educated Psychopaths) ขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง      และบางคนก็ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจสูงมาก     จนได้เป็นรัฐบาล    และกำลังนำสังคมไทยสู่หายนะ 

         ขออภัยครับ  สาระมันพาไป     ที่จริงการเขียน บล็อก ต้องเน้นสาระเชิงบวก

          มองเชิงบวกก็คือ อุดมศึกษาไทย (และการศึกษาไทยทุกระดับ) มีโอกาสสูงมากที่จะได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่บ้านเมือง      ถ้เรามองว่า อุดมศึกษา คือการเรียนรู้อย่างสมดุล รอบด้าน     เราก็สามารถจับเอาส่วนที่ยังขาดหรือโหว่อยู่ เอามาพัฒนา    

          คิดแบบ KM  มองปัญหาเป็นโอกาส     สร้าง "หัวปลา" ขึ้นมาจากปัญหาหรือช่องว่าง     เราจะพบหัวปลาเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่     ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการบัณฑิตอุดมคติไทยได้อย่างน่าสนุกสนานและภาคภูมิใจ     เรื่องที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าสูงอยู่ที่การพัฒนาหน่ออ่อนของความดีที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์  

          ทำอย่างไร เราจึงจะช่วยกันจัดกิจกรรม จัดสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันของนิสิต นักศึกษา (และอาจารย์  ผู้บริหาร  ข้าราชการ  พนักงาน ฯลฯ)      ให้เป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่รอบด้าน

         ขอยกตัวอย่าง     เมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว ผมคุยกับผู้รับเหมา และผู้ขายครุภัณฑ์ ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า     ผมมีความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสร้างคน สร้างผู้นำของบ้านเมือง     เราต้องการผู้นำของบ้านเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต     วิธีหนึ่งของการสร้างคือทำเป็นตัวอย่าง    เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นที่สร้างคนซื่อสัตย์สุจริต     เราต้องช่วยกันทำให้มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนแห่งความซื่อสัตย์สุจริต     ดังนั้นผู้รับเหมา ร้านขายของ ต้องอย่าเอาอามิสมาล่อผมหรือคนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อหวังบริการต่อธุรกิจที่ดีที่ยุติธรรม     ในฐานะที่ผมเป็นรองอธิการบดี ผมมีหน้าที่ และมีอำนาจอยู่ส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยดูแลให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ให้บริการการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรมตรงไปตรงมา     มีการจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว  เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของเขา      ในขณะเดียวกันผมก็ขอให้เขาเอื้อต่อมหาวิทยาลัยโดยไม่จ่ายสินบนหรือเบี้ยบ้ายรายทาง

         ผมมีความเชื่อเสมอมา ว่าผมได้ยึดมั่นต่อการสร้างสังคมที่สะอาด     สร้างตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนอาจารย์  ข้าราชการ  และนักศึกษา      ผมยึดมั่นว่า ชีวิตของผมอาจไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโต     แต่ก็ขอให้คนจดจำความซื่อสัตย์  ความตั้งใจทำประโยชน์ให้แก่องค์กรที่ผมเป็นส่วนหนึ่ง     ผมก็พอใจแล้ว     เป็นสิ่งตอบแทนที่หาค่ามิได้อยู่แล้ว    น่าดีใจว่า ผมได้สิ่งนี้จริงๆ      ได้ก่อนตายตั้งนาน

         เผลอไม่ได้นะครับ คนแก่นี่     เผลอเป็นเข้าซอยทุกที     กลับมาเข้าเรื่อง     ถ้าวงการบัณฑิตอุดมคติไทย จับหลักที่การพัฒนาคนทั้งคน     พัฒนาส่วนที่อุดมศึกษาละเลย     เรามีเรื่องดีๆ ทำมากมาย     และจะสามารถทำได้อย่างสนุกสนาน     และที่สำคัญเกิดคุณค่าสูงส่ง     ทำให้เกิดผลงานวิชาการได้มากมาย   

        วิธีหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ทั้งตัว ก็โดยยึดหลัก พัฒนาพหุปัญญา (Multiple Intelligence)     หลักการก็คือ
           - ให้คุณค่าทุก "ปัญญา" (intelligence)
           - ส่งเสริม นศ. ที่ gifted ในแต่ละด้าน
           - เอา นศ. ที่ gifted มาช่วยฝึกเพื่อนโดยการทำกิจกรรมร่วมกัน
           - ให้คุณค่าการแบ่งปัน  การช่วยเหลือและรับใช้ผู้อื่น    เน้นการพัฒนาทั้งระดับปัจเจก และระดับกลุ่ม
           - ให้คุณค่าการยกระดับ "ปัญญา" ทุกด้าน ในทุกคน
          - อาจารย์ ก็เรียนจากกันและกัน   และเรียนจากศิษย์
          - เรียนจากคนในชุมชนด้วย     โดยการทำ people mapping ทั้งในชุมชน และในมหาวิทยาลัย 

        โดยวิธีนี้    มหาวิทยาลัยจะเป็นดินแดนแห่งความสนุก    ความตื่นตัว     เป็นสังคมเปิด    เป็นสังคมที่ผู้คนเคารพในความสามารถ และให้เกียรติ เห็นคุณค่า ซึ่งกันและกัน

        มหาวิทยาลัยก็จะเป็นแหล่ง "อบ-รม" บัณฑิตอุดมคติ     จากการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (เสริมด้วยปริยัติ) เป็นหลัก     และจากการปฏิบัติจริง    และการ ลปรร. อย่างกว้างขวาง จะสามารถสร้างองค์ความรู้ ด้านการพัฒนาหน่ออ่อนของด้านดีในตัวมนุษย์      ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ยังขาดแคลนอย่างยิ่งในสังคมไทย

วิจารณ์ พานิช
๕ สค. ๔๙  

หมายเลขบันทึก: 42860เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
อาจารย์คะ นี่คือสิ่งทีเราควรจะสร้างให้กับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมเลยนะคะ ไม่ต้องรอไปเริ่มที่ระดับอุดมศึกษา เพราะหากเราฝึกให้เยาวชนของเราเป็นผู้"รับ"มาตลอด ตั้งแต่เริ่มการศึกษาในระบบ แล้วเราจะไปหวังเปลี่ยนเขาในปลายทาง เราจะสูญเสียทรัพยากรปัญญาไปมากมายเสียแล้วนะคะ

    ขอบพระคุณครับ 
    เห็นด้วยครับ  ทั้งเห็นด้วยกับคุณ โอ๋-อโณ และขอเพิ่มอีกนิดว่า ..
    นี่คือสิ่งทีเราควรจะสร้างให้กับการศึกษาตั้งแต่ เด็กยังไม่เข้าโรงเรียน ยังอยู่กับพ่อแม่ ต่อเนื่องไปถึงการศึกษาทุกระดับเลย
            และ
    
ทำอย่างไร เราจึงจะช่วยกันจัดกิจกรรม จัดสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา (และอาจารย์  ผู้บริหาร  ข้าราชการ  พนักงาน ฯลฯ)      ให้เป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่รอบด้าน

ดิฉันเห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์ ของคุณโอ๋ - อโณ และคุณ Handy แต่ขอเสริม ว่าตัวจักรสำคัญในการเสริมสร้างเด็ก คือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นครู  ดังนั้นดิฉันจึงได้นำแนวคิดพหุปัญญาไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยค้นหาแววของเด็กแต่ละบุคคล  แล้วส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้เป็นไปตามศักยภาพนั้น ๆ  เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนและสามารถประสบความสำเร็จตามศักยภาพของตนเองได้

ผมชอบสิ่งที่อยู่ในซอยครับ ที่ว่า "ผมมีความเชื่อเสมอมา ว่าผมได้ยึดมั่นต่อการสร้างสังคมที่สะอาด     สร้างตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนอาจารย์  ข้าราชการ  และนักศึกษา      ผมยึดมั่นว่า ชีวิตของผมอาจไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโต     แต่ก็ขอให้คนจดจำความซื่อสัตย์  ความตั้งใจทำประโยชน์ให้แก่องค์กรที่ผมเป็นส่วนหนึ่ง     ผมก็พอใจแล้ว     เป็นสิ่งตอบแทนที่หาค่ามิได้อยู่แล้ว" และผมอยากจะหาวิธีนำมาขยายผลคุณลักษณะนี้ไปยังอนุชนรุ่นต่อ ๆ มาให้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นทวีคูณด้วยอีกครับ

ขอร่วมด้วยช่วยกัน อีกคนครับ

 ทุกวันนี้คนเรียน สูง และมากขึ้นก็จริงครับ แต่เพื่อ ให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น ได้เงินเดือน ค่าตอบแทนสูงขึ้น แต่การใช้ปัญญา ไม่ค่อยมี ความรู้ รู้มาก แต่ไม่เกิดปัญญามีมากครับ

คิดเขียนของอาจารย์ โดนเลยครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ หวังว่าอีกไม่นานคง จะเห็น การสร้างคน ที่เป็นคน มีทั้งความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม และ มีการใช้ปัญญา

วุฒินันท์ กันทะเตียน

ท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง

       กระผมศึกษางานของท่านอาจารย์เป็นระยะ ๆ และมีความสนใจแนวคิดของท่านอาจารย์มากในแง่ที่เน้นการการบริหารจัดการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ การจัดการความรู้ แม้ในกระทู้วันนี้ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เรียนตามตรงว่ากระผมอยากให้อาจารย์วิจารณ์ วิจารณ์ว่าหากเป็นเรื่อง "การศึกษาแนวทางการจัดการความรู้เพื่อสร้างความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา" น่าจะมีกรอบอย่างไรบ้างครับ กรผมเห็นว่าสังคมของผู้มีปัญญา หรือมีความรู้ แต่กลับมีความทุกข์ เพราะอาศัยความรู้ไปฉวยเอาประโยชน์จากผู้อื่น ไปเบียดเบียนผู้บริสุทธิ์ซึ่งมีภูมิรู้ ปัญญาน้อยกว่าครับ อยากจะเห็นคนมีความรู้คู่ความสุขครับ  กระผมอยากจะพัฒนาไปเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกครับ ซึ่งกระผมศึกษาอยู่ทีมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาฯ  ใคร่รบกวนความเมตตา และปัญญาช่วยชี้แนะกระผมด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท