แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการเครือข่ายบริการปฐมภูมิ


เรามัวแต่มุ่งเป้าหมายมากเกินไป จนลืมสังเกต สนใจความสวยงามรอบๆตัวขณะเดินทางไปสู่จุดหมาย

เมื่อ 27-28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางสำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพชุมชน (สพช.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสกัดขุมความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (CUP Management) โดยคัดเลือกCUPที่มีความโดดเด่น มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อถอดบทเรียน โดยจัดไป 1 ครั้งแล้ว ด้วยการนำเสนอจุดเด่นของแต่ละCUP แต่เนื่องจากเป็นลักษณะของการนำเสนอซึ่งมีความจำกัดเรื่องเวลาและรูปแบบ ครั้งนี้ทาง สพช.จึงต้องการใช้กระบวนการจัดการความรู้มาช่วยในการถอดบทเรียน โดยประสานไปยัง สคส.เพื่อขอสนับสนุนวิทยากร ทางอาจารย์หมอวิจารณ์ได้ส่งคุณอุรพิน(น้องอ้อม) กับคุณอุไรวรรณ (น้องอุ) มาช่วยเป็นวิทยากรกระบวนการและให้ผมเข้ามาเป็นผู้ช่วย ช่วยเป็นวิทยากรร่วมกับผู้จัดการโครงการคือคุณหมอสุภัทร(หมอจุ๊ก)จากโรงพยาบาลจะนะ พร้อมทีมงานจากโรงพยาบาลบ้านตากอีก 2 คนคือคุณสุภาภรณ์ (น้องเอ้) กับคุณวรวรรณ(น้องปูเป้) และเนื่องจากCUPบ้านตากได้รับเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยผมจึงให้คุณวรุตม์(พี่ปุ๋ย) รองผู้อำนวยการมาเป็นผู้ร่วมกิจกรรม งานนี้จัดที่บ้านผู้หว่าน นครปฐม งานนี้ทีมงานทั้งหมดทั้งของ สพช.ที่มีคุณทัศนีย์(โน่) คุณปุ้ยกับทีมงานอีก 2 คน ผมและทีมงาน อ้อม อุและหมอจุ๊ก ค่อนข้างเตรียมตัวมากเป็นพิเศษคุยกันถึง ตี1 เพื่อวางแผนการจัดกิจกรรมทั้งสองวัน และพอทำจริงปรากฏว่าทุกอย่างต้องปรับไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา แต่ที่น่าทึ่งคือพวกเราทั้งหมดสามารถรับลูกกันได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเพิ่งมาทำกิจกรรมร่วมกันก็ตาม

ช่วงเช้า เราเริ่มกิจกรรมกันด้วยกลุ่มสัมพันธ์ โดยน้องอ้อม เป็นผู้นำกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 18 คน มาจาก 10 CUP กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการให้แต่ละคนเขียนความคาดหวังที่มาใส่กระดาษเพื่อเป็นการทำBARก่อนเริ่มกิจกรรม ในการทำกลุ่มสัมพันธ์นั้น น้องอ้อมได้แจกกระดาษรูปหัวใจให้ทุกคนเขียนชื่อตัวเองไว้เป็นชื่อเล่นแล้วก็เก็บไปแจกให้คนอื่นๆคนละแผ่นโดยไม่ให้เป็นของเจ้าตัว แล้วให้คนที่ได้รับเขียนเกี่ยวกับชื่อคนที่ตนเองได้รับว่าเป็นอย่างไร ผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นการทายลักษณะคนจากชื่อเล่น แล้วก็ให้เอาไปคืนคนที่ชื่อที่ตนเองได้รับ บรรยากาศก็สนุกดี ต่างคนต่างรีบที่จะเอาไปให้คนที่ตนเองได้รับและรีบหาของตนเอง ของผมเองได้ชื่อว่า สุ ผมก็คิดในใจว่า สุ แปลว่าดี น่าจะเป็นผู้หญิง ใจดี น่ารัก แล้วก็ใช่ ของพี่ปุ๋ย มีคนทายว่าเป็นผู้หญิงสวย น่ารัก เพราะเขาคิดถึงปุ๋ย ที่เป็นนางงามจักรวาล จริงๆแล้วพี่ปุ๋ยเป็นผู้ชาย พอได้แนะนำตัวกันครบก็ให้มีการแนะนำตัวโดยแนะนำคนที่อยู่ก่อนตนเองด้วยจนครบรอบ ทำให้พวกเราจำชื่อกันได้หมดในเวลาอันสั้น สิ่งที่สังเกตประการหนึ่งก็คือขณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเอาหัวใจไปคืนเจ้าของนั้น ทุกคนต่างพยายามรีบเร่งที่จะเอาไปคืนให้เร็วที่สุดและรีบรับเอาหัวใจของตนเองมาให้ได้เร็วที่สุดนั้น พบว่าหลายๆคนกลับไม่ได้สนใจที่จะถามชื่อเสียงเรียงนามหรือพูดคุยกับคนที่เอามาคืนหรือคนที่เราเอาไปคืนเขาเลย ทุกคนต่างพยายามทำให้บรรลุเป้าหมายของตนเองคือทั้งรับและคืนให้เร็วที่สุด รวมทั้งตัวผมเองด้วยที่ไม่ได้ถามชื่อคนที่เอามาคืนแต่ยังดีที่ถามชื่อคนที่เราเอาไปให้เขา  พอกิจกรรมเสร็จผมก็ได้คิดว่า เรามัวแต่มุ่งเป้าหมายมากเกินไป จนลืมสังเกต สนใจความสวยงามรอบๆตัวขณะเดินทางไปสู่จุดหมายหรือการลืมพูดคุยทำความรู้จักกับคนอื่นๆที่เราได้ไปถามเขาเพื่อจะหาและคืนหัวใจ เหมือนการเดินทางที่มุ่งสู่ปลายทางโดยไม่ได้เหลียวมองดอกไม้ ทิวทัศน์ของสองข้างทางที่จะทำให้เราสุข สดชื่นไปด้วยขณะเดินทางไป การสังเกต สนใจเส้นทางและสิ่งแวดล้อมรอบๆนี้ก็คือการเรียนรู้นั่นเอง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เติมความสดชื่น มีชีวิตชีวาบนเส้นทางเดินของเราซึ่งไม่ได้มีคุณค่าน้อยไปกว่าเป้าหมายที่เราบรรลุเลย แต่ก็มักจะถูกมองข้าม คงเหมือนการทำงานของเราที่เราทำตามกระบวนการไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ขณะทำไปนั้นเราไม่ได้ให้เวลากับเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้ใช้เวลาพูดคุยทักทาย ไม่ได้ใช้เวลาเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างน่าเสียดาย  พอกลับจากกิจกรรมวันนั้น ผมเองก็มานั่งคิดต่ออีกว่าที่เราสามารถคืนหัวใจให้เจ้าของได้และรับหัวใจคืนมาได้นั้น เป็นการบรรลุเป้าหมายจริงหรือไม่  ผมกลับได้คิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงกระมัง เพราะการให้และได้หัวใจคืนไม่ใช่เป้าหมายที่เรามาทั้งสองวันนี้และไม่น่าจะใช่เป้าหมายของคุณอ้อมด้วย เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็นการสร้างความรู้จักกันของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า ถ้าคนที่ร่วมกิจกรรมกันยังไม่รู้จักมักคุ้นกัน  ก็ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งเรามักจะพบเสมอว่าหลายหน่วยงานทำงานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่กลับไม่บรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจหรือเป้าหมายร่วมของหน่วยงาน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็กลายเป็นว่าเราเองก็ไม่ได้บรรลุเป้าหมาย เป็นแต่เพียงทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จๆไปเท่านั้น  หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมก็เป็นการพักเบรค

ผมจะต้องรับช่วงต่อจากน้องอ้อม ตามตารางเดิมกำหนดไว้ว่าเป็นการบรรยายหรือเล่าเรื่องKMให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฟัง แต่ทีมงานก็มาคิดกันว่า เราไม่อยากให้เขาคิดว่ามาทำKMแต่เรากำลังมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องCUP Managementกัน ผมก็เลยไม่บรรยาย ไม่ใช้สไลด์ แต่ผมได้ใช้เวลาช่วงพักเบรกไปอ่านความมุ่งหวังของผู้มาร่วมกิจกรรมแต่ละคนว่าต้องการหรือคาดหวังอะไรกันบ้าง แล้วถอดเอาประโยคหรือวลีเด่นๆมา และพบว่าคำเหล่านั้นก็คือหัวใจสำคัญๆของการจัดการความรู้ นั่นเอง ผมจึงเอาคำเหล่านี้มาผูกเข้าด้วยกันด้วยการเล่าเรื่องให้เห็นว่าที่ทุกคนมุ่งหวังนั่นแหละเป็นส่วนสำคัญของการจัดการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ สิ่งดีๆ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน  เครือข่าย  เป็นต้น พร้อมทั้งได้แทรกแนวคิดการจัดการความรู้ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้การเล่าเรื่องและสุนทรียสนทนา พร้อมทั้งจัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการเล่าเรื่อง โดยให้แต่ละCUPเล่าเรื่องที่โดเด่นและภาคภูมิใจโดยมีน้องอ้อม หมอจุ๊กและผมเป็นคุณอำนวย น้องเอ้ น้องปู น้องอุ เป็นคุณลิขิตและมีคุณโน่กับน้องปุ้ยเป็นผู้บันทึกประเด็นโดยสรุปลงในคอมพิวเตอร์

ทีมที่มาแลกเปลี่ยนก็มีพี่ศักดิ์จากสิชล พี่ภาจากทัพทัน พี่ปุ๋ยจากบ้านตาก พี่นอมจากน่าน น้องสุและผู้อำนวยการหนองหญ้าไซ หมอกรภัทร จากสมุทรสาคร พี่อ้อยกับพี่แจ๋วจากตาคลี พี่ฉิกจากภูกระดึง น้องหนึ่งจากนครไทย น้องพชรจากสามโคก(ที่เหลือจำไม่ได้แล้ว ช่วงนี้ความจำสั้นไปหน่อย) ใครจำได้ช่วยเขียนเติมให้ด้วยครับ วันที่สองมีเพิ่มพี่นิลเนตรจากสูงเนิน  หลังจากเสร็จสิ้นวันแรกทีมงานก็มาสรุปและเตรียมการในวันที่สองที่เราทำเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมไปตอบมาเพื่อทดลองจัดทำเป็นตารางอิสรภาพ โดยให้ประเมินแบบอิสระมากๆคือให้ประเมิน1-5 โดยให้ไปคิดเองตามความรู้สึก พอตอนเช้าวันที่สองก็ให้ผู้ที่ประเมินได้คะแนนสูงๆมาเป็นผู้เล่าก่อนพร้อมกับการซักถามจากผู้ร่วมกิจกรรม

ก่อนเลิกกิจกรรมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ก็มีการให้สรุปเกี่ยวกับKMให้ฟังสั้นๆ ผมก็ได้สรุปประเด็นให้พร้อมทั้งน้องอ้อมก็ได้ฉายสไลด์เกี่ยวกับการเล่าเรื่องและการสนทนาพร้อมทั้งนำรูปแม่เป็ดกับลูกเป็ดมาให้ดูซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมากและทำให้เห็นภาพได้ดีมาก หลังจากนั้นก็เป็นการทำAAR ด้วยคำถาม 3 คำถาม ซึ่งก็ได้รับแง่มุมต่างๆของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมาก   ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่บอกว่าการมาพูดคุยกันแบบนี้รู้สึกดีมาก รับรู้ถึงมิตรภาพและสิ่งดีๆของแต่ละที่   อยากให้มีการจัดขึ้นอีก

ส่วนตัวผมเองก็ได้ร่วมทำAARกับกลุ่มด้วย ดังนี้

1.        สิ่งที่ได้ได้ตามความคาดหวังหรือไม่ เพราะอะไร ได้ตามความคาดหวังคือได้เป็นวิทยากรกลุ่มของการทำสุนทรียสนทนาด้วยตัวเอง ปกติอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตากมักไม่ได้เป็นคุณอำนวยเอง ได้เรียนรู้ประสบการณ์และเทคนิคดีๆของที่ต่างๆ

2.        ยังไม่ได้ตามความคาดหวังคืออะไร  ต้องการให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นมีการเปรียบเทียบผลลัพธ์กันแล้วค่อยมองย้อนไปดูกระบวนการ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการจัดทำข้อตกลงในเรื่องการประเมินผลลัพธ์กันอย่างชัดเจน หรือไม่ได้ทำตารางอิสรภาพเพื่อเปรียบเทียบก่อน จึงทำให้ไม่มีการวัดที่ชัดเจน เมื่อแลกเปลี่ยนกันแล้ว อาจมีข้อสงสัยว่าเกิดผลลัพธ์ที่ดีจริงหรือไม่ การยอมรับหรือนำไปประยุกต์ใช้อาจน้อยลงไป

3.        เทคนิค เคล็ดลับดีๆ ของเพื่อนที่เราจะเอาไปใช้ในพื้นที่ ในครั้งนี้สิ่งที่ได้ชัดเจนก็คือมิตรภาพของผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยน การเปิดใจเข้าหากัน ได้เทคนิคดีๆในการวางระบบPCUของสูงเนิน  บริการสุขภาพจิตที่โดเด่นรวมทั้งการอบรมเพิ่มพูนความรู้แก่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยของตาคลี การสร้างทีม การนำเสนอผลงานแก่ชาวบ้านและองค์กรในตำบลรวมทั้งหมู่บ้านเข้มแข็งของนครไทย  บทบาทที่โดดเด่นของสถานีอนามัยในการสร้างเสริมสุขภาพเป็นตัวนำแทนที่จะใช้การรักษาของแพทย์เป็นตัวนำในงานPCUและความรู้สึกของพยาบาลโรงพยาบาลที่ไปออกPCUของหนองหญ้าไซ  การทำให้โรงพยาบาลเป็นของชุมชน ดูแลโดยชุมชน การสร้างพฤติกรรมสุขภาพของเจ้าหน้าที่ของสิชล  ระบบบริหารจัดการCUPและการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งการให้พยาบาลในโรงพยาบาลได้เรียนรู้จากชาวบ้านของภูกระดึง

4.        การประชุมเพื่อเสริมสร้างเครือข่าย CUP ควรจะมีรูปแบบอย่างไร ผู้เข้าร่วมควรเป็นใคร อยากให้มีการกำหนดประเด็นที่ชัดเจน มีการเปรียบเทียบผลลัพธ์ ทีมที่เข้าร่วมมีทั้งผู้อำนวยการ สาธารณสุขอำเภอและผู้ปฏิบัติในทั้งสองส่วนเพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายของการบริหารจัดการ มีการจัดทำเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของCUP Management อย่างต่อเนื่องและผมเองก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทีมที่เข้าร่วมได้เข้าไปสมัครและใช้ B2BในGotoknowด้วยพร้อมการนำเสนอให้เห็นของจริงโดยน้องอ้อมที่ต่ออินเตอร์เน็ตเปิดgotoknowโชว์ให้เห็นกันเลย 

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 42847เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
สวัสดีคะ...มาเมียงมองหลายครั้ง..เป็นบันทึกเรื่องเล่าที่ยาว...บันทึกหนึ่งนะคะ...นานๆ ทีจะเห็นคุณหมอติ่ง...เขียนยาวๆ อย่างนี้ วันที่ 18 ไป มข. เหรอคะ...เห็นคุณพิชชาให้ช่วยฝากประชาสัมพันธ์...ยินดีต้อนรับนะคะ....
  • อ่านแล้วเกิดความคิดคลิกเข้ามาในหัวใจ
  • วันนี้ดิฉันได้รับการติดต่อจากกรมสุขภาพจิตแต่ยังไมได้คุยอะไรมากนัก และยังไม่มีแนวคิดที่ปิ๊ง แต่ได้อ่านบันทึกนี้แล้วเกิดไอเดียมากค่ะ
  • ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะThank You
  • เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป อยู่ PCU ที่ไม่แน่ใจว่า จะเป็น PCU /สอ.กันแน่ เพราะขาดการสนใจ จาก CUP จนตอนนี้ยังไม่ผ่านการประเมินเลยค่ะ
  • อ่านบทความของคุณหมอแล้ว มีกำลังใจขึ้นเยอะ ดีใจ ที่หมอสนใจงานชุมชน..ที่ไม่ค่ยมีใครสนใจ
  • อยากได้เอกสารดีๆ
  • ถ้าเป็นไปได้ อยากพาพวก เรา..ที่ทำงาน มาเที่ยว รพ.บ้านตากค่ะ
  • .จากเชียงราย...

                 ตอนที่ผมเริ่มมาอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านตาก ผมก็รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งจากจังหวัด แต่ผมก็มาคิดได้ว่าถ้ามัวคิดอย่างนี้มันก็จะทำลายพลังของเราไปเรื่อยๆ  ผมก็หันกลับมามองสิ่งที่มีอยู่ภายในโรงพยาบาลและในชุมชนของเรา แล้วก็พบว่าเรามีสิ่งดีๆมากมายในชุมชนและหน่วยงานเราที่จะพอพึ่งตนเองได้ แล้วก็เริ่มทำมาเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้

                  อย่าท้อถอยครับ หากจะมาเยี่ยมเยียนกันชาวโรงพยาบาลบ้านตากก็ยินดีต้อนรับครับ

รู้สึกว่า คุณหมอมี ไอเดียดีๆ ในการทำงานชุมชนมากๆเลย  เวลาอ่านบทความแล้ว มีกำลังใจทำงานมากขึ้น จึงยังไม่คิดจะลาออกไปก่อนเวลา

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามอ่านบทความของอาจารย์เป็นประจำ  เพราะทุกครั้งที่อ่านจะทำให้ผมได้แนวคิดกลับไปปรับใช้กับองค์กรของผม ซึ่งตอนนี้ท่าน ผอ.ก็มีแนวคิดที่จะนำเรื่อง KM มาใช้ในการจัดการงานและองค์กร  และแพลนที่จะไปเยี่ยม รพ.บ้านตากช่วงต้นปี 51 แต่ทราบข่าวว่า อาจารย์ได้ทุนไปต่างประเทศ  ยังไงก็ขอคำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นในฐานะคุณอำนวย/ประสาน  ที่มีผู้นำมุ่งมั่นด้วยนะครับ

ผมออกจากโรงพยาบาลบ้านตากได้ประมาณ 4 เดือนแล้ว ถ้าจะไปดูงานที่บ้านตากติดต่อที่ไปที่โรงพยาบาลได้โดยตรงเลยครับ

เรื่องของKM ทำไปเลยครับโดยใช้หลักการง่ายๆว่า เคารพและเห็นคุณค่าความรู้ที่ซ่อนอยู่ในตัวคนทำงานจริงๆ ยอมรับเขา ให้เกียรติเขา ให้โอกาสเขาได้แสดงสิ่งนั้นออกมาผ่านทางกระบวนการใดๆก็ได้ที่เป็นทางบวก ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า อาจจะเขียน คุย เล่า หรืออะไรก็ได้ครับ

สุกัญญา ดวงเจริญกุล

กำลงจะหมดไฟอยู่พอดี ได้อ่านบทความดีดีแล้วกำลังใจกลับคืนมาตั้งเยอะค่ะ เป็นพยาบาลที่ออกไปอยู่PCUตั้งแต่ปี2545เห็นการเปลี่ยแปลงอะไรหลายๆอย่างมากมายจนบางทีรู้สึกท้อเอามาก จะมีหมอซักกี่คนที่เข้าใจงานสุขภาพชุมชน อยากเดินไปมผัสขอรับใออุ่นแห่งอุดมการณ์จังเลยคะ

ศูนย์สุขภาพชุมชนโนนสมบูรณ์ ต.ยางหล่อ อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู

สวัสดีครับคุณสุกัญญา

ลองชวนเพื่อนๆที่ทำงานแบบเดียวกันในอำเภอแล้วนัดเจอกันสักเดือนสองเดือนครั้ง แล้วให้แต่ละคนเอาความสุขหรือสิ่งดีๆที่เจอตอนทำงานชุมชนมาเล่าให้กันและกันฟังสิครับ จะเป็นแรงกระตุ้นพลังใจและสรางความสุขได้มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท