ภาษาสันสกฤต ไม่มี "ฬ"?


ในบันทึกครั้งก่อน (ภาษาสันสกฤต มีพยัญชนะกี่ตัว?) ได้กล่าวถึงพยัญชนะในภาษาสันสกฤตว่ามีทั้งหมด 34 ตัว (ถ้าไม่นับ ฬ ก็มี 33 ตัว เท่ากับในภาษาบาลี)  ในบันทึกนี้จึงขอเล่าเรื่องอักษร ฬ ในภาษาสันสกฤตให้กระจ่างมากขึ้นครับ

 

ตำราไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตส่วนใหญ่ไม่ใส่ตัว ฬ ไว้ในผังพยัญชนะเลย แม้แต่ตำราไวยากรณ์ "อัษฏาธยายี" ของปาณินิ ก็ไม่มี ท่านกล่าวถึงอักษรในภาษาสันสกฤต ใน "สูตรมเหศวร" หรือ "ศิวสูตร" ดังนี้

 

อะ อิ อุ, ฤ ฦ, เอ โอ, ไอ เอา,

ห ย ว ร, ล,

ญ ม ง ณ น, ฌ ภ, ฆ ฒ ธ, ช พ ค ฑ ท,

ข ผ ฉ ฐ ถ จ ฏ ต, ก ป,

ศ ษ ส

 

ไม่มี ฬ! (นับสระได้ 9 ตัว พยัญชนะ 33 ตัว)

 

ปรมาจารย์ปาณินิ ไม่ได้บอกว่ามี ฬ (ย้ำว่า ท่านไม่ได้บอกว่า "ไม่มี ฬ",  เพียงแต่ท่าน "ไม่ได้พูดถึง ฬ", ตรงนี้ต้องขีดเส้นใต้ครับ เพราะคัมภีร์อัธยายีของท่านใช้ภาษาตรงไปตรงมา เราไม่ควรตีความเอง)

 

ตำราไวยากรณ์เล่มอื่นๆ เช่น

-Sanskrit Grammar ของ William Dwight Whitney,

-A Practical Grammar of the Sanskrit Language ของ Monier Williams

-A Sanskrit Grammar for Beginners ของ Max Muller หรือ

-A Higher Sanskrit Grammar ของ M. R. Kale 

ก็ไม่ใส่ไว้ในผังพยัญชนะ... แต่ กล่าวถึง อักษร ฬ เอาไว้ในหมายเหตุสั้นๆ แทบจะเหมือนกัน ว่า

นอกจากผังพยัญชนะข้างต้น (มีด้วยกัน 33 ตัว ซึ่งไม่มี ฬ รวมอยู่ด้วย) ยังมีพยัญชนะอีกสองตัวที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท นั่นคือ "ฬ" และ "ฬฺห" โดยที่  ฬ มักจะเป็นตัวแทนของ ฑ และ ฬฺห เป็นตัวแทนของ ฒ (Whitney พูดถึง ฬ เฉยๆ ไม่ได้กล่าวถึง ฬฺห ซึ่งความจริงก็ คือ ฬ นั่นเอง แล้วแต่ว่า ควบ หรือ เดี่ยว)

 

ยืนยันกันอย่างนี้ ก็น่าจะชัดเจน ว่าภาษาสันสกฤต มีอักษร ฬ แต่!.. เราตามไปดูกันดีกว่า ว่ามีจริงไหม อย่างไร ... อย่าเพิ่งเชื่อ! ถึงว่าแม้ศาสตราจารย์ที่มีชื่อข้างบนจะน่าเชื่อถือก็ตาม ;)

 

เปิด ฤคเวท เล่มแรก ก็เจอแล้ว... หน้าแรก เลย บรรทัดแรกด้วย

       "อคฺนิมีเฬ  ปุโรหิตํ ยชฺญสฺย เทวมฺฤตฺวิชมฺ ฯ" (ฤคเวท, 1.1.1)

แยกออกมา จะได้เห็นชัด ๆ  "อคฺนิมฺ  อีเฬ" แปลว่า ข้าสรรเสริญพระอัคนิ

คำว่า อีเฬ นี้ ท่านว่า รากศัพท์ ก็คือ อีฑฺ เมื่อเติมเสียง เอ (เพื่อแสดงปัจจุบันกาล เอกพจน์ บุรุษที่ 1) ก็จะกลายเป็น อีเฑ, แต่ เมื่อ ฑ อยู่ระหว่างสระ จะกลายเป็น ฬ ไป คำนี้จึงเป็น อีเฬ นั่นเอง...

"ฬ" ในฤคเวทคงไม่ได้มีแค่นี้ ส่วนตัว "ฬฺห" ผมยังหาไม่เจอ อิอิ (ฤคเวทมีอยู่ 10 เล่ม ฬฺห อาจจะอยู่ท้ายๆ เล่มที่ 10 ก็ได้)

 

ถามว่า ฬ ออกเสียงอย่างไร?

ตอบ นักภาษาสันสกฤตไม่ได้ฟันธงชัดเจน ว่า ฬ ในสมัยโบราณนั้นออกเสียงอย่างไร แต่สันนิษฐานว่า น่าจะออกเสียงตามฐานของวรรค ฏ (ไม่ทราบจะอธิบายอย่างไร เอาเป็นว่า เวลาออกเสียงให้กำหนดเสียงคล้าย ล แต่ตำแหน่งปลายลิ้นอยู่กลางๆ เพดาน) ท่านหนึ่งว่าออกเสียง อย่าง ll ในคำว่า hallow

 

ตำรามักกล่าวว่า เสียง ฬ หายไปในภาษาสันสกฤตสมัยหลัง แต่ตัวหนังสือที่ใช้แทน เสียง ฬ เดิมนั้น มีมาถึงสมัยหลัง แต่เสียงเปลี่ยนไป ในภาษาฮินดี ฬ ออกเีสียงเป็น ล ธรรมดา (อักษรขอม อักษรไทย ก็มี ฬ แต่ออกเสียงเหมือน ล, ในภาษาบาลี ฬ ก็ออกเสียงเหมือน ล เช่นกัน)

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในภาษาบาลีมีทั้ง ฑ และ ฬ, ขณะที่ ภาษาสันสกฤตสมัยหลัง ไม่มี ฬ ให้เห็น แต่คำที่ภาษาบาลีใช้ ฬ มักตรงกับคำภาษาสันสกฤตที่ใช้ ฑ เช่น จักรวาฬ ในภาษาบาลี ตรงกับ จักรวาฑ ในภาษาสันสกฤต (แม้ว่าในกรณีนี้เสียง ฑ จะอยู่ระหว่างสระ ก็ไม่เปลี่ยนเป็น ฬ)

 

สรุปตรงนี้ว่า พยัญชนะสันสกฤตจะนับว่ามีกี่ตัว ก็อยู่ที่ว่า ท่านจะนับ ฬ หรือไม่ ถ้าไม่นับ ก็มี 33 ตัว ถ้านับ ก็มี 34 ตัว  และตัว ฬ นี้ มีปรากฏเฉพาะในวรรณคดีพระเวทเท่านั้น (ซึ่งก็เป็นภาษาสันสกฤตยุคหนึ่ง แม้จะแตกต่างจากการใช้ภาษาสันสกฤตสมัยหลัง แต่ก็ไม่สามารถแยกเด็ดขาดจากกัน)

หมายเลขบันทึก: 428169เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีค่ะ

อ่านไปก็คิดตามไปด้วย (ปนงง ๆ เพราะพื้นความรู้ยังมีไม่พอ)

สรุปว่ามีตัว ฬ ในภาษาสันสกฤต แต่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทำให้ในยุคหลัง(ฤคเวท) ตัว ฬ ถูกลดความสำัคัญลงไป จนคล้ายกับว่าไม่ใช่ตัวอักษรหนึ่งในสันสกฤต

คิดว่าน่าจะคล้ายกับตัว ฅ (ฅ ฅน) ซึ่งเกือบจะไม่ได้ใช้ในภาษาไทยปัจจุบัน เด็กบางคนที่ท่อง ก-ฮ ได้ แต่ให้หาตัว ฅ ฅน บนคีย์บอร์ดก็จะหาไม่ค่อยเจอ (ตัวเองก็หาอยู่นานเหมือนกัน) นั่นเพราะเป็นตัวอักษรที่ไม่ค่อยได้ใช้ หรือมีตัวอื่นที่ใช้ได้ง่ายกว่านั่นเอง

(^__^)

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คนไม่มีราก

รู้สึกว่าจะมีความพยายามจะฟื้นฟู ฃ ขวด, ฅ คน ขึ้นมาเหมือนกันครับ

แต่ถึงใช้ก็คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะมีไม่กี่ตัวที่จะใช้

คล้่ายๆ ตัว ฦ ฦๅ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เพิ่งมีโอกาสได้อ่านบทความของอาจารย์ ประทับใจและหลงใหลมากเลยค่ะ หากมีคำถามขอความกรุณาอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่างด้วยนะคะ...

มีคำถามแล้วค่า?

ทำไมราชบัณฑิตยสถานจึงจัดให้ ฬฺห เป็นภาษาบาลีล่ะคะ

อาสาฬห, อาสาฬห์ [สานหะ, สานละหะ, สาน] น. เดือนที่ ๘ แห่งเดือนจันทรคติ.

(ป.; ส. อาษาฒ).

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

ขอบคุณมากนะครับที่ติดตามอ่าน ;)

อักษร ฬ มีในภาษาสันสกฤตก็จริง แต่พบได้น้อยและมีใช้ในภาษาบาลีมากกว่าครับ

สำหรับคำที่ยกมา เป็นคำบาลีครับ (อาสาฬฺห) คำที่มีความหมายตรงกันในภาษาสันสกฤต คือ อาสาฒ

ราชบัณฑิตท่านจึงบอกว่า อาสาฬห เป็นคำบาลี ครับ

กรณีนี้ ตรงกับตำราไวยากรณ์ส่วนมากที่บอกว่า

โดยทั่วไป ฬ (ḷ) ในสมัยหลังกลายเป็น ฑ (ḍ), ส่วน ฬฺห (ḷh) ในสมัยหลังจะกลายเป็น ฒ (ḍh)

นักภาษาบอกว่าภาษาบาลีนั้น แยกจากภาษาสันสกฤตในราวหลังสมัยพระเวทเล็กน้อย

ดังนั้น บาลีจึงน่าจะคงสภาพ ฬ ไว้, ส่วนภาษาสันสกฤตได้คลี่คลายไปเป็น ฑ และ ฒ ดังกล่าว

(จากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นว่า ในภาษาสมัยพระเวทเอง ฑ และ ฬ ยังเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้)

มีทฤษฎีทางภาษาบอกว่า ภาษาจะเปลี่ยนจากยากเป็นง่ายครับ นับว่าโชคดีสำหรับคนรุ่นเราที่ได้ใช้ภาษาง่ายกว่าเดิม

แต่โชคร้าย ที่ต้องบันทึกจำภาษาหลายสมัยที่แตกต่างกัน ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณมากค่ะ ได้ความกระจ่างมากเลยค่ะ ตัวเองเรียนจบครูมามีแต่ความรู้เรื่องวิธีการสอน ส่วนความรู้พวกนี้ต้องหาอ่านเอง

โชคดีจริงๆ ที่มีอาจารย์ผู้อาทรเช่นนี้ จะพยายามติดตามบทความของอาจารย์ไปตลอดนะคะ

ขออีกคำถามนะคะ?

สงสัยมานานแล้วค่ะว่า ทำไม คำว่า สํสกฤต ไทยจึงออกเสียงว่า สัน-สะ-กฺริด ไม่ออกเสียงว่า สัม-สะ-กฺริด เพราะเคยรู้มาว่า ตัว ํ ในภาษาสันสกฤตจะออกเสียงเป็น อัม ใช่ไหมคะ ขอความกรุณาช่วยไขข้อสงสัยอีกสักครั้งนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

ถามสั้นๆ แต่ต้องตอบยาวครับ ;)

เครื่องหมาย ํ (ไทยเรียก นฤคหิต แต่สันสกฤตเรียก นิคฺฤหิต) นี้ออกเสียง เป็น อัม ครับ ถูกต้องแล้ว

ยกเว้น

-เมื่อพยัญชนะวรรค ก (ก ข ค ฆ ง) ตามมา จะออกเสียงเป็น อัง

-เมื่อพยัญชนะวรรค จ (จ ฉ ช ฌ ญ) ศ ตามมา จะออกเสียงเป็น อัญ

-เมื่อพยัญชนะวรรค ฏ (ฏ ฐ ฑ ฒ ณ) ษ ตามมา จะออกเสียงเป็น อัณ

-เมื่อพยัญชนะวรรค ต (ต ถ ท ธ น) ส ตามมา จะออกเสียงเป็น อัน

สํสฺกฺฤต คำนี้ "สํ" ตามด้วย "สฺ" จึงต้องออกเสียงว่า สัน ครับ

คำนี้ ฝรั่งก็ออกเสียง Sanskrit เช่นกัน

ตัวอย่างคำอื่นๆ เช่น

-อลํการ อ่านว่า อลัง- เพราะ ลํ มีพยัญชนะวรรค ก ตามมา,

-สํธฺยา อ่านว่า สัน- เพราะ สํ มีพยัญชนะวรรค ต ตามมา,

-สํชย อ่านว่า สัญ- เพราะ สํ มีพยัญชนะวรรค จ ตามมา

ในภาษาอังกฤษก็มีคล้ายกันครับ เช่น

con (อุปสรรค) + p... (คำที่ขึ้นต้นด้วย p) = comp... (เราจะไม่เห็นคำ con ตามด้วย p)

con (อุปสรรค )+r... (คำที่ขึ้นต้นด้วย r) = corr... (เราจะไม่เห็นคำ con ตามด้วย r)

con+l... = coll...

ฯลฯ

สันสกฤตเรียกว่า การสนธิ นั่นเองครับ

ทางภาษาศาสตร์เรียกว่า การกลมกลืนของเสียง ให้เข้ากับเสียงที่ตามมา

(ในภาษาสันสกฤต ส่วนมากแล้ว เสียงที่ตามมาจะส่งผลให้เสียงข้างหน้าเปลี่ยน)

เทียบภาษาไทย ของเราเสียงหน้าไปบังคับเสียงที่ตามมา เช่น อย่าง+นี้ = ยังงี้, อย่าง+ไร = ยังไง

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ตัวเองยังต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้อีกเยอะเลยค่ะ ถ้ายังไงขอความกรุณาอาจารย์ช่วยแนะนำหนังสือที่ว่าด้วยภาษาสันสกฤตที่พอจะอ่านเข้าใจได้ให้ด้วยนะคะ จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลยค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

หนังสือว่าด้วยภาษาสันสกฤต ในบ้านเรามีไม่มากนัก

ถ้าเป็นหนังสือว่าด้วยเกร็ดความรู้ ภาษา วรรณคดี

มี ศ.ดร.กุสุมา รักษมณี และ ศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เขียนไว้บ้าง

ลองค้นจากหอสมุึดของธรรมศาสตร์ หรือ จุฬาฯ นะครับ

สำหรับตำราด้านไวยากรณ์ หรือหนังสือเรียนนั้น มีไม่มากเช่นกัน

ที่พอหาซื้อได้ก็มี ของ ศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก ครับ

ไม่ทราบว่าอยากจะอ่านแนวไหนครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณที่กรุณาแนะนำหนังสือดีๆ ให้ค่ะ ตัวเองคิดว่า จำเป็นต้องศึกษาจากหนังสือของอาจารย์จำลองเลยล่ะค่ะ อย่างน้อยเวลาที่ลูกศิษย์ถามอะไรจะได้มีแหล่งค้นคว้าที่ดีค่ะ ว่าแต่หนังสือของอาจารย์จำลองหาซื้อได้ที่ไหนหรือคะ?

สวัสดีครับ คุณครูภาษาไทย

หนังสือของอาจารย์จำลองซื้อได้ที่ร้านมหาจุฬาบรรณาคาร ท่าพระจันทร์ กทม.

(ด้านหลังคณะพาณิชย์ฯ มธ.) ที่เดียวครับ

ถ้าอยู่ กทม. อยากให้แวะไปหอสมุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีหนังสือของ ศ.วิสุทธิ์ บุษยกุล ที่ท่านได้ขยายความจากตำราเรียน

A Sanskrit Primer ของ Edward Delavan Perry แต่ปัจจุบันไม่ได้พิมพ์จำหน่ายแล้ว

หนังสือของเพอร์รี่ โหลดได้จากนี่ครับ

http://ia600106.us.archive.org/16/items/sanskritprimer00perrrich/sanskritprimer00perrrich.pdf

ขอเพิ่มเติมครับ

หนังสือ "แบบเรียนภาษาสันสกฤต" ของ ศ.วิสุทธิ์ หาซื้อได้จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ครับ

ISBN : 9786165512589

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ จะลองหาหนังสือเล่มที่อาจารย์กรุณาแนะนำมาศึกษานะคะ

ป.ล. อยู่ ก.ท.ม. ค่ะ ^o^

อยากได้ประวัติผลงาน ปาณินิ พอมีไหมค่ะ

สวัสดีครับ คุณเอ๋ย

ประวัติและผลงานของปาณินิ ย่อๆ ก็มีผลงานด้านไวยากรณ์นะครับ

"ธาตุปาฐ" และ "คณปาฐ" เป็นหนังสือรวมธาตุ และนามศัพท์ในภาษาสันสกฤต ตามลำดับ และอภิมหาไวยากรณ์สันสกฤต ชื่อ "อัษฏาธยายี"

สำหรับประวัติของปาณินิตามเว็บไซต์นี้นะครับ

http://en.wikipedia.org/wiki/P%C4%81%E1%B9%87ini และ

http://www-history.mcs.st-andrews.ac.uk/Biographies/Panini.html

 

ประวัติของปาณินิไม่ค่อยจะเป็นชิ้นเป็นอันอะัไรนัก

ส่วนมากะเป็นแนวคิดและผลงานมากกว่าครับ

 

ที่พอจะหาได้เป็นเล่ม ก็ตามนี้ครับ

Páṇini: his place in Sanskrit literature

ผมดีใจมากคับ ทีได้อ่่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท