patchy
นางสาว พัชรา ทองสวัสดิ์

ธรรมศาสตร์ดึงนักศึกษาทำนา


สอนติดดิน-รับใช้คนจน

มธ.จัดโครงการธรรมศาสตร์ทำนา สอนนักศึกษารู้จักชีวิตคนยากจน ทำตัวติดดิน สร้างสำนึกรับใช้ประชาชนคนรากหญ้า

           "สุเมธ"นำทีมอธิการบดี-อาจารย์มธ.ดำนา ระบุ "รวยแล้วต้องหมั่นทำบุญสร้างกุศล กรรมไม่คอยใคร" ด้านอธิการบดีเผยนักศึกษาร่วมโครงการ 200 คน ระบุไม่บังคับให้เป็นไปตามสมัครใจ แนวโน้มใช้เป็นกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ 

          เมื่อวันที่25 ก.ค.2549 ที่แปลงนาข้าวด้านข้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้มีพิธีเปิดโครงการ"ธรรมศาสตร์ทำนาเศรษฐกิจพอเพียง"ขึ้น โดยมีดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)เป็นประธานพร้อมด้วยศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมธ. คณะผู้บริหาร อาจารย์และนักศึกษามธ.ประมาณ 200 คนเข้าร่วม ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการธรรมศาสตร์ทำนาว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปีเพราะปัจจุบันนักศึกษามธ.ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง มีคนชนบทไม่มากและไม่มีโอกาสได้เห็นวิถีชีวิต ความยากลำบากของคนส่วนใหญ่ของประเทศเช่น เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาเป็นอาชีพที่เป็นนามธรรมมาก นักศึกษาเคยเห็นแต่ในตำราเรียน อยากให้นักศึกษาได้มีความเข้าใจวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อเห็นว่ามธ.ศูนย์รังสิตมีพื้นที่ว่างมากพอ จึงทำเป็นแปลงนา 6 ไร่และให้นักศึกษาที่สนใจสมัครเข้ามาทำนา โดยไม่มีการบังคับใดๆ ตอนนี้มีนักศึกษาสนใจทำนาประมาณ 200 คน เพื่อนักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิตของชาวนากว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ดยากลำบากอย่างไร ทำให้ทัศนคติของนักศึกษาที่มีต่อชาวนาเปลี่ยนไป

          "โครงการนี้ไม่คุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ข้าว 10 เกวียนใช้เงินไปถึง 1 แสนบาท แต่การสอนให้นักศึกษารู้จักทำนา รู้ชีวิตชาวนาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเพราะตรงกับคำสอนของมธ.ที่บอกว่าฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน โครงการนี้ทำให้ความหมายนี้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักศึกษารู้จักประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อจบออกไปเป็นบัณฑิตมธ. จะได้ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศเพราะรู้ถึงความลำบาก เดือดร้อนของคนเหล่านี้ ต่อไปจะนำไปเป็นกระบวนการรับเพื่อนใหม่ด้วยการทำนา แต่คะแนนแอดมิชชั่นส์มธ.อาจจะลดลง จึงใช้วิธีเชิญชวนนักศึกษา ไม่มีการบังคับ คาดว่า 3-4ปีข้างหน้า นักศึกษาทั้งหมดจะเข้าร่วมโครงการนี้"ศ.ดร.สุรพล กล่าว

          ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและนายกสภามธ. กล่าวว่า ตอนถูกทาบทามเป็นนายกสภามธ.ไม่คิดว่าต้องทุกข์ระกำถึงขั้นทำนา เมื่ออธิการบดีมธ.ไปเชิญมาเป็นประธานเปิดโครงการธรรมศาสตร์ทำนา ก็ขอดำนาด้วยเพราะเป็นอาชีพทำปีละ 3-4 ครั้ง และเร็วๆนี้จะตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชาสุดา สยามบรมราชกุมารีไปเกี่ยวข้าว "ผมเป็นประธานมูลนิธิข้าวไทย มีโครงการทำข้าวกล้องให้เด็กกินเป็นอาหารบำรุงสมอง ในหลวงทรงรับสั่งข้าวกล้องมีประโยชน์อยู่แล้ว การบริจาคข้าวกล้องทำให้เด็กกินข้าวที่พ่อแม่ผลิตเอง และซื้อนำมาเลี้ยงลูก คนรวยแล้วไม่ต้องการอะไร ต้องการสร้างกุศลก็พอเพียงแล้ว ยิ่งรวยเท่าไหร่ยิ่งควรสร้างกุศลเพราะกรรมมันไม่คอยใครต้องสร้างกุศลไว้ให้มากๆ โดยการสร้างกุศลเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่หนึ่งคือ ทานัง ที่ทุกคนรวมถึงนักบริหารต้องทำตาม การให้ทานโดยไม่หวังประโยชน์กลับคืนมา" ดร.สุเมธ กล่าว

          ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องข้าว แต่ทุกคนทุกอาชีพทั้งนักธุรกิจ นักบริหารต้องนำไปใช้ในการทำงาน ยกตัวอย่างรางวัลการพัฒนามนุษย์ที่สหประชาชาติให้นายโคพี่ อันนัน นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายในหลวง ไม่ใช่แค่ถวายเพื่อเป็นเกียรติยศ แต่นำไปดำเนินการอย่างจริงจังมีการจัดประชุมใหญ่เมื่อเร็วๆนี้ที่กรุงเจนีวา และที่นิวยอร์กเร็วๆนี้ โดยเชิญตนไปบรรยายและเร็วๆนี้คนจาก 20 ประเทศจะมาดูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนั้นเป็นการสอนให้ใช้ปัญญานำทาง ไม่ใช้กิเลสตัณหานำทาง ซึ่งตนรู้สึกรำคาญคนกลัวตกขบวนรถโลกาภิวัฒน์และใครจะตามก็ตามไป ตนไม่ขอตามด้วยเพราะนำโลกไปสู่ความหายนะ ซึ่งในหลวงนำทางไปก่อนแล้วเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก่อให้เกิดความสุข และต่างประเทศเริ่มเดินตามโดยอันดับความสุขไทยอยู่ที่ 32 ขอให้รักษาอันดับไว้

          "ไม่ผิดหวังที่มาเป็นนายกสภามธ.เพราะโครงการธรรมศาสตร์ทำนา ย้ำความเป็นธรรมศาสตร์ อย่างปี 2512 ผมเคยเป็นอาจารย์มธ.พานักศึกษาไปดูสลัมคลองเตย ดูความยากจน เมื่อนักศึกษาพวกนี้จบเป็นทูต ได้มาขอบคุณเพราะประสบความสำเร็จในชีวิตจากการเข้าใจชีวิต ความหมายชีวิต ไม่ใช่ตำแหน่ง เงินเดือน การทำนาสอนบทเรียนชีวิตต้องแตะดิน บรรจุพลังลงสู่แผ่นดินของเรา" ดร.สุเมธ กล่าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สุเมธได้สอนถึงการดำนาโดยแนะให้กดหัวแม่โป้งลงลึกถึงดิน 4-5 เซนติเมตรและปักกล้าข้าว 3-5 ต้น ซึ่งภายหลัง ดร.สุเมธ ให้สัมภาษณ์เพิ่มด้วยว่า เชื่อมั่นโครงการธรรมศาสตร์ทำนา จะช่วยสร้างจิตวิญญาณและจิตสำนึกให้นักศึกษามธ.รู้จักช่วยเหลือคนยากจน เช่น เป็นข้าราชการก็มีจิตสำนึกในการบริการประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน ด้าน ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการธรรมศาสตร์ทำนาใช้งบประมาณ 2.9 แสนบาท โดยได้รับงบสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆเช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ธนาคารไทยพาณิชย์ สอนให้นักศึกษารู้จักชีวิตชาวนา เข้าใจความลำบากของชาวนา เพื่อให้เห็นคุณค่าของการติดดิน ไม่ใช่เรียนสูงแล้วไม่รู้จักติดดิน แต่ไม่ได้มุ่งใหับัณฑิตจบมาเป็นชาวนา แต่ผลิตบัณฑิตรับใช้สังคม ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นแรก เชื่อว่าต่อไปจะมีนักศึกษาเข้าร่วมมากขึ้น และจะพานักศึกษารุ่นแรกไปคุยกับชาวนาและเรียนรู้การทำนาที่จ.ปทุมธานีด้วย โดยเป้าหมายโครงการท้ายสุดเด็กต้องรู้จักดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าวและกินข้าวที่ตัวเองปลูก

          รศ.ดร.บุญหงษ์ จงคิด หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ที่นาทั้งหมดมี 6 ไร่ เบื้องต้นจะทำไป 2 ไร่ก่อนโดยปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และปทุมธานี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่คัดสรรแล้วว่าให้ผลิตสูงและมีคุณภาพ และค่อยๆขยายพื้นที่เพิ่ม ซึ่งการทำนาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มูลสัตว์ ซากพืชและใส่ปูนขาวด้วยเพราะดินความเป็นกรดสูง โดยจะดำนาให้เสร็จ 2 ไร่ภายใน 6-10 วันและคาดว่าเกี่ยวข้าวได้ในเดือนพ.ย.นี้และนวดข้าวในเดือนธ.ค.นี้ตามเป้าหมายปลูกข้าววันแม่เก็บเกี่ยวข้าววันพ่อ

          น.ส.นิรันตี จับเกตุ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มธ. หนึ่งในนักศึกษาในโครงการทุนช้างเผือกในหลวงครองราชย์ 60 ปีที่มาร่วมโครงการธรรมศาสตร์ทำนา กล่าวว่า เป็นคนจ.อยุธยาที่บ้านมีอาชีพค้าขาย จึงลองมาทำนา อยากรู้ชีวิตชาวนาเป็นอย่างไร เมื่อมหาวิทยาลัยมีโครงการจึงเข้าร่วม ซึ่งคิดว่าได้รับประโยชน์เพราะสอนให้นักศึกษาเป็นคนติดดิน รู้จักชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศ

          นายธีรศักดิ์ ชอบทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เป็นคนจ.สุรินทร์มาร่วมโครงการธรรมศาสตร์ทำนาเพราะที่บ้านมีอาชีพทำนา จึงอยากให้ทุกคนรู้ว่าอาชีพชาวนาไม่ใช่อาชีพที่น่าอาย แต่เป็นอาชีพหลักของสังคมมีมาตั้งแต่โบราณ และการทำนาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง สอนให้ไม่ฟุ้งเฟ้อ อยู่แบบเรียบง่ายและรู้ว่าเป็นคนธรรมศาสตร์ต้องติดดิน นึกถึงประชาชนและใกล้ชิดประชาชน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นเวลา 15.20 น. ตัวแทนนักศึกษา 5 กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการแก่ ชุมนุมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ชุมนุมนักศึกษาอีสาน คณะกรรมการนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ คณะกรรมการนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ซึ่งมีทั้งหมด 80 คนเพื่อลงไปดำนาร่วมกับดร.สุเมธ ศ.ดร.สุรพลและอาจารย์มธ. จากนั้นเวลา 15.28 น. ดร.สุเมธได้ลงไปดำนาโดยศ.ดร.สุรพลกล่าวระหว่างดำนาว่า อาจารย์สุเมธดำนาเร็วมาก หลังจากนั้นเวลา 15.43 น.ดร.สุเมธได้ขึ้นจากการดำนามานั่งพักผ่อน

คำสำคัญ (Tags): #นักศึกษา
หมายเลขบันทึก: 42783เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 ตอนนี้เราเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าวิธีคิด  วิิธีปฏิบัติที่ผ่านมานั้น มันไม่ได้ผล ไม่ช่วยให้วิถีชีวิตดีขึ้นเหมือนที่บางฝ่ายได้ โฆษณาไว้  ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องกลับให้หาวิธีการ ดำเนินชีวิตที่ี่ถูกต้อง โดยเฉพาะตามแนวทางของ พระเจ้าอยู่หัว 

ได้ติดตามข่าว...ทางโทรทัศน์...

ยังรู้สึกชื่นชมยิ่งนัก...ขอปรบมือให้นะคะ...

ร่วมกันเทินทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท