We love the king # 35 *ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ *


“คืนป่าไม้และสายน้ำให้แผ่นดินที่ราบสูง”*

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูล้อมข้าว
ภูเพ็ก เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าใหญ่บนเทือกเขาภูพาน ถือกำเนิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี ๒๕๒๕ โดยเริ่มก่อสร้างที่ทำการศูนย์ฯ เมื่อปี ๒๕๒๗ บริเวณบ้านนานกเค้า
ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร…”

นี่คือข้อมูลทางการ–แต่ความจริง โครงการนี้อยู่ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มาตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๙๘ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานเป็นครั้งแรก
ซึ่งในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่าได้เสด็จฯ มายังภาคอีสานอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะที่บ้านนานกเค้า ซึ่ง
ปัจจุบันเป็นที่ทำการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

คุณยายบือไล ผาด่างแก้ว ราษฎรบ้านนานกเค้า ๑ ใน ๒๑ หมู่บ้านที่ตั้งรายรอบศูนย์ฯ ยังจำได้ถึง
ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนินตัดทุ่งนามายังหมู่บ้านเพื่อสอบถามความเป็นอยู่
ของราษฎร

“สมัยก่อนฝนมาทีน้ำสิท่วม แล้งก็แล้งหลาย ตอนพ่อหลวงมาที่นี่นั้นเฮาได้เด็กน้อย (มีลูก) คนหนึ่ง
แต่ก็ยังบ่ฮู้หรอกว่าพ่อหลวงท่านสิตั้งศูนย์ฯ ภูพานที่นี่ เห็นท่านไกล ๆ ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เข้า
เฝ้าฯ” ยายรับว่าลืมไปแล้วว่าเป็นปีไหน มาเห็นอีกทีศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ก็เปิดมาได้ระยะ
หนึ่งแล้ว และปัญหาต่าง ๆ ก็ได้รับการแก้ไขไประดับหนึ่ง

สมชาย พิกุลประยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เล่าว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้
ปัญหาความแห้งแล้ง ความยากจน และการขาดแคลนทรัพยากร ซึ่งเป็นปัญหาที่คนอีสานเผชิญมานาน
นับศตวรรษ

อ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่

“เริ่มจากน้ำ ป่า สู่การแก้ปัญหาอื่น หนึ่ง ฟื้นฟูป่าไม้ แหล่งน้ำและดิน สอง พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่
ในหลวงมีพระราชดำริว่าในภาคอีสาน เรื่อง ‘น้ำ’ สำคัญมาก การขาดแคลนน้ำส่งผลให้ดินไม่มี
คุณภาพสำหรับการเพาะปลูก ผลต่อเนื่องคือคนจะบุกรุกป่า จึงมีพระราชประสงค์สร้างที่นี่ให้เป็นต้น
แบบในการแก้ปัญหาของภาคอีสาน โดยเมื่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ขึ้นแล้ว ทางศูนย์ฯ ก็ได้
ประสานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ให้มาทำงานในพื้นที่ โดยมีกรมชลประทานเป็นหลัก สิ่งแรกคือ
สร้างอ่างเก็บน้ำ ฟื้นฟูป่าไม้ สร้างที่ทำการศูนย์ฯ ทดลองและวิจัยงานด้านต่าง ๆ รวมทั้งแนะนำ
ระบบเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ราษฎร”

ผอ. สมชายกล่าวว่า พระราชประสงค์อีกข้อหนึ่ง ก็คือการให้ที่นี่เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”
เป็นห้องทดลองทางการเกษตรที่จะคอยสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้เกษตรกรนำไปใช้ได้จริง

ถึงวันนี้หากมองเรื่องการฟื้นฟูป่าไม้และสัตว์ป่าซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานหลัก ก็ต้องนับว่าศูนย์ศึกษาการ
พัฒนาภูพานฯ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ด้วยถ้าย้อนไปดูข้อมูลในรายงานของ สืบ นาคะ
เสถียร ที่ลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๕๒๘
จะเห็นภาพป่าภูพานในเวลานั้นค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ “นิเวศวิทยาสัตว์ป่าในบริเวณเขตปริมณฑล
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายาก ๑๖ ชนิด นก ๔๐ ชนิด คาดว่าทั้งป่าไม้
และสัตว์ป่าจะเสื่อมโทรมลงและหมดไป (ถ้าหากยังไม่มีมาตรการแก้ไข) อีกทั้งคนในพื้นที่ก็มีการล่า
สัตว์และตัดไม้กันเป็นประจำ”

ปัจจุบัน แม้จะยังไม่สามารถฟื้นฟูป่าและสัตว์ป่าคืนมาได้ทั้งหมด แต่สถานการณ์ก็ดีขึ้นด้วยฝายแม้วที่
ในหลวงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำภายในเขตของศูนย์ฯ ทำให้
สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นเอาไว้ได้ในฤดูแล้ง

สายของวันปลายเดือนเมษายนซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ นำทีมงาน สารคดี ไปเยือนป่าเหนืออ่างเก็บน้ำ
ตาดไฮใหญ่ ลำธารต่าง ๆ ล้วนแห้งผาก แต่เมื่อถึงบริเวณฝายแม้ว ฝายคอกหมู ก็ปรากฏว่ายังมีน้ำ
ส่วนหนึ่งถูกกักไว้เหนือฝายให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ได้ยังชีพในช่วงที่แห้งแล้งที่สุดของปี ภายใน
ป่า ต้นไม้นานาพันธุ์ที่ได้รับความชุ่มชื้นจากแหล่งน้ำเล็ก ๆ เติบใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ ทั้งยังมีนก
นานาชนิดส่งเสียงร้องอยู่เป็นระยะ

ความชุ่มชื้นเช่นนี้เองที่ทำให้อ่างเก็บน้ำ ๑๑ แห่งในพื้นที่ศูนย์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ยังคงมีน้ำอยู่
ตลอดปี ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเสริมได้เมื่อฤดูกาลเพาะปลูกสิ้นสุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรน้ำมากขึ้นด้วยการเข้ามาเป็น
กรรมการอ่างเก็บน้ำ จากเดิมที่งานดังกล่าวเป็นงานของข้าราชการเพียงฝ่ายเดียว ผอ. สมชาย
เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม

“คำว่า ‘มีส่วนร่วม’ ผมว่าน้อยไป ที่จริงชาวบ้านควรเป็นฝ่ายนำเจ้าหน้าที่ โดยเราทำเพียงให้
การสนับสนุนด้านงบประมาณและข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งถ้าทำได้ การแก้ปัญหาจะยั่งยืน เพราะถึงที่สุด
คนที่ได้รับผลดีผลเสียคือคนในพื้นที่ ผมยกตัวอย่างเรื่องน้ำ เราถอนเจ้าหน้าที่ออกมาได้ ๒ ปีแล้ว
สมัยก่อนชาวบ้านบอกน้ำไม่พอ แต่จากการคำนวณทางวิศวกรรมพบว่าปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ๑๑
แห่งพอเพียงในฤดูแล้ง พอตรวจสอบดูก็พบว่าประตูน้ำบางส่วนรวมถึงคลองส่งน้ำต่าง ๆ เสียหาย
จากการประกอบอาชีพของชาวบ้านเอง ผลคือคนต้นน้ำได้ใช้น้ำ แต่คนปลายน้ำไม่ได้ใช้ เพราะน้ำ
เหลือไปไม่ถึง

“เราแก้ไขโดยการให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มดูแลอ่างเก็บน้ำ ให้เขาบริหารน้ำเอง เราจ้างเขาเป็นเจ้า
หน้าที่ชลประทาน ปีแรกให้งบประมาณ ๓ เดือน ปีนี้ให้ ๖ เดือน ปีหน้าจะให้ทั้งปี ซึ่งได้ผลมาก เช่น
ก่อนหน้านี้เราส่งน้ำไปพักในคลองซึ่งไม่นานก็ระเหยหมด แต่ชาวบ้านเขาใช้วิธีขุดบ่อเล็ก ๆ ในที่ดิน
ของเขาแล้วเปิดประตูปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ๑-๒ วัน น้ำก็จะไหลเข้าคลองส่งน้ำแล้วส่งไปพักใน
บ่อจนเต็ม จากนั้นก็ปิดประตูอ่างเก็บน้ำ พอน้ำในบ่อหมดก็เปิดประตูปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำอีกครั้ง
วิธีนี้ประหยัดน้ำได้มาก นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้าน เราแค่ร่วมประชุมกับเขาทุกเดือน ให้ข้อมูลทางวิชา
การและงบประมาณเท่านั้น”

ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ยังทำการสาธิตกิจกรรมตามแนวพระราชดำริอื่น ๆ อีกถึง ๑๑
กิจกรรม ประกอบด้วยกิจกรรมด้านชลประทาน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง การพัฒนาดิน อุตสาหกรรม
ในครอบครัว สาธารณสุข การพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง ส่งเสริมการเกษตร ก่อนจะขยายผลสู่หมู่บ้าน
รอบศูนย์ฯ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมอาชีพ

“ตอนนี้งานหลัก ๆ ของเราอย่างการฟื้นฟูป่าสำเร็จไปราว ๖๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำ ๗๐ เปอร์เซ็นต์
ส่วนเรื่องการพัฒนาให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ต้องค่อย ๆ ทำให้
สมบูรณ์ทีละนิด เพราะธรรมชาติไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ทุกวันนี้ในหลวงยังทรงติดตามโดยตลอด เป้า
หมายของพระองค์คือการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้นด้วย แม้
ช่วงนี้พระพลานามัยไม่แข็งแรง เสด็จฯ ไกล ๆ ไม่ได้ ก็ยังทรงส่งองคมนตรีมาติดตามงาน โดยทุก
ครั้งชาวบ้านจะมาร่วมบรรยายสรุปผลด้วยเพราะเขาได้ลงมือทำจริง ๆ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

“รัฐบาลแต่ละชุดมาแล้วก็ไป แต่ในหลวงไม่เคยทรงทิ้งประชาชน ทรงมุ่งให้เกษตรกรซึ่งถือเป็นคน
ส่วนใหญ่ เป็นกำลังหลักของสังคมไทย แข็งแรง พึ่งตนเองได้ เราจะช่วยในหลวงได้ก็ด้วยการเผย
แพร่แนวคิดของพระองค์ออกไปมาก ๆ ”

เพราะการคืนป่าไม้และสายน้ำให้แผ่นดินอีสาน อีกนัยหนึ่งนั้นก็คือการคืนวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คนที่นี่นั่นเอง

*ละมัย พังแสงสุ *
เกษตรกรตัวอย่างของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

*“เราตั้งตัวได้เพราะความรู้จากพ่อหลวง” *

ปี ๒๕๒๕ หนุ่มบ้านนานาม ละมัย พังแสงสุ กระโดดเกาะหลังรถกระบะพร้อมกับเพื่อน ๆ ร่วม ๑๐
คน เดินทางมาทำงานเป็นลูกจ้างศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ที่เพิ่งก่อตั้ง โดยมีเงินติดตัว ๒๕ บาท

ปี ๒๕๔๗ ละมัยไม่ใช่ลูกจ้างอีกแล้ว เขากลายเป็นเกษตรกรตัวอย่างของศูนย์ฯ ที่นำแนวพระราช
ดำริมาใช้จนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และการใช้ชีวิตอย่าง “พอ
เพียง” ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในที่ดินทำกินซึ่งได้รับการเอื้อเฟื้อ
จากทางศูนย์ฯ

กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ละมัยบอกว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ๒๕๔๕

“ต้องย้อนชีวิตก่อน บ้านเดิมผมอยู่ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สมัยก่อนเช่านา
แล้วทำไปวัน ๆ ไม่มีที่ดินของตัวเอง ราวปี ๒๕๒๕ รู้ข่าวว่าทางศูนย์ฯ รับสมัครลูกจ้าง ก็เลยตัดสิน
ใจมาทำงานเป็นคนงานฝ่ายกิจกรรมพืชสวน ทำอยู่ ๑๐ ปี ศูนย์ฯ ก็ประกาศหาเกษตรกรอาสาสมัคร
จะให้มาทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริโดยจะสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ให้ จุดประสงค์เพื่อดูแล
ที่ดินของศูนย์ฯ และช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ตอนนั้นหาคนเข้าโครงการไม่ได้เลย
เพราะเกษตรกรยังไม่เชื่อว่าวิธีนี้จะประสบความสำเร็จได้ แต่ผมเองไม่มีอะไรเสียเลยตัดสินใจ
ลองดู ก็เลิกเป็นลูกจ้างของศูนย์ฯ แล้วสมัครมาอยู่ตรงนี้ แรก ๆ เพื่อน ๆ ก็บอกว่าโง่ เป็นลูกจ้าง
มีเงินประจำดีอยู่แล้ว มาเป็นเกษตรกรทำไม แต่ผมคิดว่าจะทำอะไรต้องทำจริง เลยแน่วแน่สู้มาตลอด

“ศูนย์ฯ จ่ายเงินเดือนให้ ๓ เดือนเพื่อจะได้เป็นทุนตั้งตัว ให้ที่ดิน ๑๐ ไร่ในพื้นที่ที่เป็นแปลงผักและ
บางส่วนหญ้าขึ้นจนรก ตอนแรกก็คิดว่าจะเริ่มยังไงหนอ ในที่สุดก็ตัดสินใจเริ่มต้นทำเกษตรปลอดสาร
พิษก่อน เอาผักที่ตลาดต้องการมาปลูกเพื่อให้ขายได้ง่าย โดยไปสำรวจตลาดเอง ได้ผลมาว่าต้อง
ปลูกผักกาดดอก ข้าวโพด ผักคะน้า กะเพรา โหระพา กะหล่ำปลี แล้วก็ปรับวิธีการใช้ที่ดินมาเรื่อย
ๆ โดยนำวิธีการของศูนย์ฯ มาใช้ อย่างที่คนทั่วไปเรียกกันว่าเป็นการทำเกษตรตามแบบเศรษฐกิจ
พอเพียง

“เจ้าหน้าที่เขาก็มาแนะนำเป็นระยะ ส่วนเราจะทำตามหรือไม่ก็แล้วแต่ใจเรา ต่อมาผมก็เอาแนว
คิดเรื่องการแบ่งพื้นที่มาใช้จริงจัง คือทำนา ๓ ไร่ ที่เหลือทำสวน ขุดบ่อปลา ปลูกผัก ปีหนึ่งได้ข้าว
๒.๕ ตัน หลังฤดูเก็บเกี่ยวก็ปลูกผักโดยอาศัยน้ำจากบ่อปลาไปรด ก็ทำให้มีรายได้ตลอดปี ปลาที่
เลี้ยงไว้ก็ได้กิน ผมคิดของผมว่าเวลาทำอะไรต้องทำจริง ขอแค่ขยันก็จะประสบความสำเร็จแน่
อย่างเราขอพันธุ์พืชมา ก็เอามาปลูกจริง ขณะที่บางคนขอมาแล้วเอาไปตั้งทิ้ง เจ้าหน้าที่มาดูแล้วพบ
ว่าไม่ปลูก ก็ไม่อยากให้อีก”

ในที่สุด ละมัยก็มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ “พออยู่พอกิน” ไม่รวย แต่ก็พอใช้ในชีวิต และที่สำคัญคือ
ไม่มีหนี้สิน

“คิดดูว่าเมื่อก่อนผมต้องไปเซ็นซื้อของที่ร้านค้า เงินเดือนออกก็เอามาจ่ายหนี้หมด เรียกว่าใช้เงิน
แบบเดือนชนเดือน ไม่มีเงินเก็บ แต่ทุกวันนี้เดือนหนึ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ บาท จากที่เคยยืม
รถไถนาเขาใช้ ก็มีรถไถนาของตัวเอง มีเงินซื้อวัวมาเลี้ยง มีเงินเก็บในธนาคาร ส่งเงินกลับไป
ให้ญาติได้ แม้รายได้จะไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับการขายพืชผล แต่มันก็มั่นคงพอสมควรเพราะมี
อาหารกินในครัวเรือนตลอดไม่อดอยาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ขายลิ้นจี่ได้มา ๔ หมื่นบาท ซื้อวัวได้อีกตัว
หนึ่ง ซึ่งนี่ก็เหมือนกับเงินเก็บของเรา อย่างปีก่อนไปผ่าตัดมะเร็ง ก็ขายวัวเอาเงินมารักษาตัว ไม่
ต้องไปยืมเงินใคร”

ก่อนจากกัน ภรรยาของละมัยหยิบสมุดปกสีน้ำตาลอ่อนเล่มหนึ่งออกมาให้เราดู หน้าปกเป็นรูป
ในหลวงพระราชทานอุปกรณ์การเรียนให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นสมุดแบบที่คนอายุสัก ๒๕ ปี
ขึ้นไปอาจเคยเห็นหรือเคยได้ใช้เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นประถม

“ผมทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ศูนย์ฯ ดูตลอด สมุดบัญชีหน้าปกก็เป็นรูปพ่อหลวง ผมสบายใจเวลาได้
เห็นรูปของท่าน และเป็นการช่วยเตือนใจให้เราขยันขันแข็ง ถ้าไม่มีพ่อหลวง เราคงไม่ได้เป็นหลัก
เป็นฐานแบบนี้ ผมไม่รู้จะพูดอะไรอีก นอกจากอยากกราบขอบคุณพ่อหลวง”

สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง

หมายเลขบันทึก: 42762เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท