นวัตกรรมกับ KM


นวัตกรรมกับ KM


          เมื่อวันที่ 21 ก.ย.48   ช่วงเช้าผมไปร่วมพิธีเปิดงาน InnovAsia 2005 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   และช่วงค่ำไปร่วมพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (www.nia.or.th) กิจกรรมทั้งสองนี้น่าสนใจมาก   เป็นมิติใหม่ของสังคมไทยและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่จะต้องเรียนรู้วิธีการเอาความรู้หรือผลงานวิจัยมาต่อยอด   สร้างคุณค่าและมูลค่า


          ผมได้รับแจกเอกสารมาหลายชิ้น   ชิ้นที่น่าสนใจมีอยู่ 2 ชิ้น   ดังได้เอารูปหน้าปกมาให้ดู

                     

หนังสือสุดยอดนวัตกรรมไทย         Programme and Abstracts

                          

                                 Prof. Stephen C. Hill


          หนังสือสุดยอดนวัตกรรมไทย   มีรายละเอียดของผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ   ซึ่งแบ่งเป็นรางวัลด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม   นอกจากนั้นยังมีข้อมูลผลงานนวัตกรรมเด่นด้านเศรษฐกิจและโครงการนวัตกรรมที่ สนช. ร่วมมือกับภาคเอกชน   ผู้สนใจน่าจะเข้าไปติดต่อขอได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน


          ผมอยากเห็นการให้รางวัลนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง   คือในระดับชาวบ้าน   ที่ชาวบ้านสร้างความรู้ขึ้นใช้และก่อผลดีอย่างกว้างขวาง   โดยมีเกณฑ์และวิธีวัดแตกต่างออกไปจากรางวัลนวัตกรรม 2 ด้านที่กล่าวมาแล้ว


          ผมประทับใจมากที่ผู้กล่าวในพิธีเปิดของฝ่ายไทยทั้ง 3 คนคือ   ผู้ว่า กทม.,   ปลัดกระทรวงพาณิชย์,   และ รมต.วิทย์   มีสำเนียงภาษาอังกฤษที่ดีมาก   ส่วนในสาระผมติดใจคำกล่าวของ        Prof. Stephen C. Hill,  Director and UNESCO Representative,  UNESCO Office Jakarta,  Regional Science Bureau for Asia and the Pacific ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย   ได้กล่าวใน Opening Remarks ถึง “alignment between informal (tacit) and formal (explicit) knowledge”  และใน paper ที่นำเสนอในภายหลัง (ผมไม่ได้ฟัง)   เรื่อง Empowering Innovation in the Third World : A Case for Promoting New Global Localism.   ได้ระบุว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้เกิดวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่เน้น networking,  multidisciplinarity และการไหลของ tacit knowledge ข้ามพรมแดนประเทศ   และมีข้อพิสูจน์ว่าประเทศกำลังพัฒนาได้ทำผิดที่ลอกรูปแบบระบบนวัตกรรมของประเทศพัฒนาแล้วมาใช้


          ศ. ฮิลล์ ได้เน้น “the empowerment of local and village – based innovation…”   โดยจะต้องเน้นที่นโยบายใหม่ที่เรียกว่า global localism


          ผมเสียดายจริง ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ฟัง ศ. ฮิลล์นำเสนอบทความนี้


                                                                             วิจารณ์  พานิช
                                                                                23 ก.ย.48

หมายเลขบันทึก: 4275เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2005 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท