การแข่งขันทางการค้า


เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือ ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการค้าโดยพ่อค้าคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้อย่างมีระบบ และคำนึงถึงความเป็นธรรมในการควบคุมให้ผู้ประกอบการค้าด้วยกัน ไม่เอาเปรียบกันเอง กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ควบคุมผู้ประกอบการค้าด้วยกัน ไม่ให้เอาเปรียบกัน ไม่เกี่ยวกับผู้บริโภคโดยตรง แต่หากไม่ควบคุมผู้ประกอบการค้าให้ดี ในที่สุดผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อน กฎหมายจึงต้องป้องกันไว้ก่อน

การแข่งขันทางการค้า

โลกเราเคยแบ่งการค้าออกเป็นสองค่ายที่เรียกกันว่า โลกเสรี และค่ายคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม แต่ปัจจุบันถือได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายลงแล้ว ประเทศที่จะเป็นสังคมนิยมอยู่เห็นจะมีเกาหลีเหนือเท่านั้น แต่สภาพเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ เพราะการสร้างผลผลิตในประเทศถูกจำกัดผลประโยชน์ ไม่เหมือนประเทศในโลกเสรีที่ให้เสรีภาพในการประกอบกิจการค้า ไม่จำกัดผลประโยชน์ที่จะได้รับ ใครทำมากก็ได้มาก

แต่การค้าในระบบเสรี เป็นช่องทางให้เกิดการผูกขาดได้ ธุรกิจใหญ่ที่มีทุนมากจะได้เปรียบพ่อค้ารายย่อย เพราะสู้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่ได้ หากไม่มีการควบคุมให้ดี ไม่ให้ความคุ้มครองกับธุรกิจรายย่อยที่เสียเปรียบในทุกด้าน ประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน และอาจเดือดร้อนมากถ้าเป็นการผูกขาดสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิต

ในทุกประเทศที่เจริญแล้วจึงได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่อยู่ในฐานะเสียเปรียบ กรณีห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศที่เข้ามาตั้งในเมืองไทย ขายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชน ดูแล้วน่าจะเป็นผลดี เพราะประชาชนซื้อสินค้าได้ถูก แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้ร้านค้าปลีกที่มีอยู่มากมายไม่สามารถอยู่ได้ เพราะต้นทุนการซื้อสินค้าต่างกัน ราคาขายจึงต่างกันไปด้วย เมื่อร้านค้าย่อยถูกทำลายไปหมดไม่มีคู่แข่งแล้ว ห้างค้าปลีกใหญ่ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นผู้ควบคุมราคาสินค้าในตลาด ถึงตรงนั้นประชาชนอาจจะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น

ผลเสียอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ไม่ว่าคนไทยเราจะซื้อของถูกหรือแพง กำไรจากการขายสินค้าจะถูกออกไปต่างประเทศ หากเราเปิดให้แข่งขันกันอย่างเสรี ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศย่อมไม่มีทางต่อสู้กับนักธุรกิจต่างชาติได้ เพราะเงินทุนของเขามีมากกว่าเรา ในทุกประเทศจึงมีกฎหมายที่จะป้องกันไม่ให้ผู้มีกำลัง(ทางเศรษฐกิจ)มากกว่าเอาเปรียบผู้อื่น ในประเทศไทยเราก็ มีพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่ออกมาเพื่อป้องกันการควบคุมตลาดของยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ เป็นกฎหมายที่ผู้ใช้ต้องเข้าใจเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักในการตลาด การค้าขาย

เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือ ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการค้าโดยพ่อค้าคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้อย่างมีระบบ และคำนึงถึงความเป็นธรรมในการควบคุมให้ผู้ประกอบการค้าด้วยกัน ไม่เอาเปรียบกันเอง กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ควบคุมผู้ประกอบการค้าด้วยกัน ไม่ให้เอาเปรียบกัน ไม่เกี่ยวกับผู้บริโภคโดยตรง แต่หากไม่ควบคุมผู้ประกอบการค้าให้ดี ในที่สุดผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อน กฎหมายจึงต้องป้องกันไว้ก่อน

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้านี้ ได้กำหนดข้อห้ามที่สำคัญไว้ 5 ประการ ตามมาตรา 25-30 มีสาระสำคัญที่พอสรุปอย่างง่ายๆ ได้ดังนี้

1.การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ มาตรา 25 ห้ามผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด กระทำการ 4 อย่างคือ (1) ห้ามกำหนดหรือรักษาราคาสินค้าหรือบริการอย่างไม่เป็นธรรม คือตรึงราคาไว้อย่างไม่เป็นธรรม เช่น ยอมขายต่ำกว่าทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นไม่สามารถขายสินค้าได้ (2) กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้ลูกค้าของตน ถูกจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้า ตัวอย่างเช่น บังคับลูกค้าว่าถ้าจะซื้อสินค้าชนิดหนึ่ง(ซึ่งมักเป็นที่ต้องการของตลาด) ต้องซื้อสินค้าอีกชนิดหนึ่งควบคู่ไปด้วย (3) กระทำการใดๆ เพื่อลดปริมาณของสินค้าให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด เช่น การลดการผลิต ลดการนำเข้า หรือทำลายสินค้าให้น้อยลง โดยไม่มีเหตุอันควร เพราะถ้าผู้มีอำนาจเหนือตลาดทำ จะมีผลต่อราคาสินค้า ที่พอจะเทียบเคียงให้เข้าใจได้ เช่น กลุ่มโอเปกลดการผลิตน้ำมัน แต่ที่สำคัญต้องไม่มีเหตุผลสมควร ถ้ามีเหตุผลสมควรสามารถทำได้ (4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่น โดยไม่มีเหตุสมควร ที่จริงการแทรกแซงผู้อื่นย่อมไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีเหตุสมควรหรือไม่

ปัญหาที่สำคัญของมาตรานี้อยู่ที่คำว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด คือผู้ประกอบธุรกิจประเภทใด มีหลักเกณฑ์อย่างไร ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยข้าราชการจากกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่ง เป็นผู้กำหนดว่าผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดและยอดขายเท่าใด ในธุรกิจประเภทใด จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งในปัจจุบันมีประกาศออกมาบ้างแล้วเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก และผู้ประกอบธุรกิจรถจักรยานยนต์ ดูตัวอย่างเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เช่น ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวมีส่วนแบ่งตลาด 20% และยอดขาย 27,000 ล้านบาทขึ้นไป

2.การรวมธุรกิจ มาตรา 26 ห้ามผู้ประกอบธุรกิจ รวมกิจการอันอาจก่อให้เกิดการผู้ขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ตามที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด แต่ไม่ได้เป็นการห้ามขาด หากมีความจำเป็นที่จะต้องรวมกิจการ ให้ขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาเสียก่อน ถ้าได้รับความเห็นชอบ ก็สามารถรวมกิจการได้ กรณีการรวมกันของ IBC ที่รวมกับ UTV กลายมาเป็น UBC ในปัจจุบัน ก็น่าจะเข้าข่ายตามมาตรานี้

3.การร่วมกันเพื่อผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ตามมาตรา 27 ข้อนี้ต่างจากข้อ 2 เนื่องจากข้อนี้ไม่มีการรวมกิจการ แต่เป็นกรณีผู้ประกอบธุรกิจตั้งแต่ 2 ราย ร่วมกันกระทำการ  ที่สำคัญต้องเป็นการทำเพื่อเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง(บริการใดบริการหนึ่งคือธุรกิจประเภทขายบริการ เช่น การให้บริการเครือขายโทรศัพท์มือถือ)

4.ห้ามจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในราชอาณาจักร มาตรา 28 ห้ามผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างประเทศ กระทำการใดๆ ให้ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อสินค้าจากเมืองนอกมาใช้ในประเทศได้ ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ คือ โทรศัพท์มือถือที่มีรหัสเฉพาะในประเทศไทย ที่เรียกกันว่าอีมี่ สมัยก่อนใครไปซื้อมาจากต่างประเทศโดยตรง จะไม่สามารถใช้กับระบบในเมืองไทยได้ แต่ปัจจุบันยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะขัดกับกฎหมายฉบับนี้

5.การทำให้เสียหาย หรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่น มีกำหนดไว้ในมาตรา 29 ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกัน โดยใช้กลไกทางตลาด หรือวิธีการอื่นใด ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่กว้างมาก

คงจะพอเข้าใจหลักการของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้ากันบ้างแล้วนะครับ

สุดท้ายที่อยากจะขอแถมให้อีกนิดคือ กฎหมายฉบับนี้มีโทษที่รุนแรงมากคือ กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญกรรมการบริษัทต้องเป็นผู้รับโทษด้วย จึงทำให้นักธุรกิจทั้งหลายหวาดกลัวกันมาก

หมายเลขบันทึก: 42633เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอบคุณค่ะที่ให้ความรู้

เดี๋ยวนี้จะไปที่ไหนก็เห็นแต่ห้างค้าปลีกใหญ่ทั้งนั้นนะครับ โชว์ห่วยร้านเล็กๆไม่มีให้เห็นเลยนะครับ

ห้างโมเดิร์นเทรด ยังเอาเปรียบผู้ผลิตได้ตลอดเวลา

ได้แก่ ไม่นำสินค้าติดตลาดเข้ามาขาย / ติดต่อสั่งสินค้าจาก SME ที่ไม่มีกำลังต่อรอง / ขูดรีดค่าส่วนลดการตลาดต่างๆอย่างน่าเกลียด,ถ้าใครไม่ให้จะถูกขู่ยกเลิกการซื้อขาย

ซึ่งผมโดนรังแกอยู่ทุกวันครับ ขอเงินกันฟรีๆเป็นแสนๆทุกเดือน

ไม่เห็นกฏหมายหรือภาครัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออะไรได้

ช่องทางการจัดจำหน่ายถูกพวกมันยึดไว้หมดแล้ว

จะให้ผมไปปล้นจี้มาเลี้ยงครอบครัวหรือไงครับ

ผมก็ต้องฝืนยิ้มค้าขายต่อไป

ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยเงินหมุน หยุดหมุนเมื่อไหร่ลูกเมียคงอดตาย ผมจึงยังลงจากหลังเสือไม่ได้

เมื่อไหร่จะมีฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยผู้ผลิตไทยซักที

นี่ค่าแรงก็จะขึ้นอีก รายได้จากค้าขายสินค้าก็ถูกไถทุกเดือนๆ

จะให้หันไปทำอะไรดีครับ

ผมมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้ครับ

1. ผมเห็นว่าเมื่ออานกฎหมายฉบับนี้พร้อมกับเจตนาในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จากกฎหมายฉบับเก่าแล้วจะเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บัญญํติเพื่อไม่ให้มีการผูกขาด แต่บัญญัติเพื่อควบคุมไม่ให้มีการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (abuse of dominant position) ทั้งนี้เนื่องจากผู้ร่างเห็นว่าโครงสร้างตลาดของประเทศไทยเป้นตลาดแบบผู้ขายน้อยรายและกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด และมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องอาศัยประโยชน์จากการประหยัดเนื่องจากขนาด ดังนั้น โดยหลักแล้วจึงไม่ได้ห้ามการมีอำนาจเหนือตลาดแต่จะมุ่งควบคคุมพฤติกรรมมากกว่า

2. กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของทุกประเทศมุ่งให้เกิดการแข่งขันเพราะการแข่งขันก่อให้เกิดประสิทธิภาพเชิงเศรษฐกิจ ไม่ใช่คุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาด

3. หากเราเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กสู้รายใหญ่ไม่ได้ การที่กฎหมายจะคุ้มครองควรอยู่ในบริบทของกฎหมายฉบับอื่นที่มีเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ในด้านนี้โดยตรงครับ ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะเข้าไปควบคุม กฎหมายจะเข้าไปควบคุมพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจก็ต่อเมื่อเป็นพฤติกรรมที่ขัดแข้งขัดขาผู้ประกอบธุรกิจอื่นโดยไม่ใช่วิธีที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจที่เหนือกว่าเท่านั้น หากต่างฝ่ายต่างประกอบธุรกิจของตนแล้วคนที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าต้องออกจากการแข่งขันไปกฎหมายการแข่งขันทางการค้าควรสนับสนุน เพราะทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะตกอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

อ้า อ้า

มันไม่มีที่ต้องการอ่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท