อัตราภาษีศุลกากรของไทยภายใต้ FTA จะเป็น 0%ทั้งหมดหรือไม่


รู้ไว้เป็นเกร็ดความรู้

หายกันไปนานกับการค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี หรือ (FTA) ดังนั้นอาทิตย์นี้ก็จะมาสานงานต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง

เมื่อกล่าวถึงความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA สิ่งแรกที่ทุกคนมักจะนึกถึงก็คือ การลดอัตราภาษีศุลกากร แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว FTA กินขอบเขตการเจรจากว้างขวางครอบคลุมประเด็นอื่นๆอีกมากมาย อาทิ การค้าบริการ การลงทุน เป็นต้น แต่คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าในการเริ่มต้นเจรจานั้น การลดอัตราภาษีศุลกากรเพื่ืือเปิดตลาดการค้าสินค้าเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้นประเด็นที่จะเจาะในบันทึกนี้ก็คือเรื่องอัตราภาษีศุลกากรของไทยภายใต้ FTA จะเป็น 0% ทั้งหมดหรือไม่?

ก่อนที่จะไปถึงคำตอบคงต้องแจกแจงรายละเอียด พันธกรณี การลดอัตราภาษีศุลกากรของไทย ภายใต้กรอบ FTAต่างๆซึ่ง "ไม่เหมือนกัน" ถึงแม้ว่าทุกFTA จะต้องมีการลดอัตราภาษีศุลกากรลงก็ตามและแนวทางการเจรจาของไทยเองก็ให้ลดอัตราภาษีทุกรายการเป็น 0% แต่ว่าในการเจรจา FTA กับประเทศคู่เจรจา ต่างฝ่ายต่างก็มีพื้นฐานและแนวคิดที่แตกต่างกันมาก จนทำให้ผลที่ออกมาแตกต่างกัน ดังนั้นจึงขอแจกแจงแต่ละ FTA โดยเริ่มจาก เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA  เขตการค้าเสรีทวิภาคี และเขตการค้าเสรีพหุภาคี โดยจัดจำแนกเป็นกลุ่มๆให้เห็นถึงพันธะการลดอัตราภาษีศุลกากรที่แตกต่างกัน

เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) "0%"เกือบหมดในปี 2553" สินค้าในบัญชีลดภาษี (Inclusion List) ซึ่งในกรณีของไทย คือ สินค้าเกือบทั้งหมดจะต้องลดภาษีลงเป็น 0% ในปี 2553 จะมีก็แต่เฉพาะสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List) จำนวน 7 รายการเท่านั้นที่อัตราภาษีสุดท้ายเป็น 0-5% ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วอัตราภาษีคงเป็น 5%นั่นเอง

เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย(TAFTA) และไทย-นิวซีแลนด์ (ไม่มีตัวย่อ) "0%ทั้งหมดภายในปี 2568" อันนี้แผนลดภาษีชัดเจนที่สุด กล่าวคือ ในปี2553 สินค้าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ  90 จะมีอัตราภาษีเป็น0% และส่วนที่เหลืออีก 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ความอ่อนไหวสูงสุดโดยเฉพาะนมผงขาดมันเนยจะเป็นสินค้าสุดท้ายที่จะมีอัตราภาษีเป็น 0%ภายในปี 2568

เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ "น่าจะ0%เกือบทั้งหมดหรือทั้งหมด" การจัดทำ FTA กับสหรัฐฯครอบคลุมสินค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม FTA สหรัฐฯ -ออสเตรเลีย ออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตางทรายรายใหญ่ของโลกได้ถูกสหรัฐฯนำน้ำตาลทรายออกจากการเจรจา ดังนั้นการเจรจากับไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายสำคัญนั้น คงเป็นที่คาดเดาได้ว่าสหรัฐฯน่าจะนำน้ำตาลทรายออกจากโต๊ะเจรจาเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วไทยก็น่าจะมีสินค้าที่นำออกจากโต๊ะการเจรจาได้บ้าง แต่ทั้งนี้ในขั้นสุดท้ายก็น่าจะติดตามว่า ไทยจะนำสินค้าในกลุ่มการเจรจาใดออกไปหรือไม่ ถ้าสหรัฐฯนำเอาน้ำตาลทรายออกไปจริงๆ

เขตการค้าเสรีไทย -อินเดีย ,ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป(EFTA) และ BIMST-EC "ไม่น่าจะ0%ทั้งหมด" เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะความไม่พร้อมของคู่เจรจา เช่น อินเดียซึ่งเป็นประเทศสำคัญใน BIMST-EC ด้วย ได้แสดงความไม่พร้อมที่จะลดอัตราภาษีสินค้าทุกรายการเป็น 0%อย่างชัดเจนแล้ว ส่วนประเทศในกลุ่ม EFTA เองนั้นมีการปกป้องสินค้าเกษตรสูงมาก ดังนั้นคงเป็นที่คาดเดาได้ว่ามีสินค้าจำนวนหลายรายการที่คู่เจรจาของไทยคงไม่ลดอัตราภาษีเป็น 0 %

เขตการค้าเสรี ไทย-ญี่ปุ่น "ไม่0%ทั้งหมดแน่" อันนี้ทางฝ่ายญี่ปุ่นมีท่าทีชัดเจนมาก ซึ่งนอกเหนือจากสินค้าสำคัญที่ได้ยินมาตลอด อย่าง ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ และน้ำตาลทรายแล้ว ยังมีสินค้าอื่นอีกจำนวนมากทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นจะไม่ลดอัตราภาษีเป็น0%

เขตการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจาอื่นๆ(อาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, และอาเซียน-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) "ไม่0%ทั้งหมดแน่ๆ" นอกจากจะมีเหตุมาจากความไม่พร้อมของสมาชิกอาเซียนบางประเทศแล้ว คู่เจรจาหลายประเทศก็ไม่มีความพร้อมเช่นกัน เช่น อินเดีย เกาหลี ทั้งนี้มีประเด็นที่น่า่ติดตามในกรณีของอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เนื่องจากทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีแนวทางร่วมกันที่จะให้อัตราภาษีเป็น 0%ทั้งหมดนั้น จะสามารถโน้มน้าวประเทศอาเซียนต่างๆได้หรือไม่  ทั้งนี้ FTA ที่มีการสรุปผลการเจรจาแล้วคือ อาเซียน -จีน นั้นจะเห็นได้ว่า ไทยมีสินค้าในบัญชีสินค้าอ่อนไหว (SL) และสินค้าอ่อนไหวสูง(HSL) จำนวนประมาณ 350รายการ ซึ่งจะมีอัตราภาษีสุดท้ายเป็น 5% และ50% สำหรับ SL และ HSL ตามลำดับ

เขตการค้าเสรี ไทย -บาห์เรน และไทย-เปรู "จะมีหรือไม่มี" คำถามได้เปลี่ยนไปจากจะ "0%ทั้งหมดหรือไม่" ก็เนื่องจากในกรณีของบาห์เรนได้พบว่าแม้กรอบข้อตกลง กำหนดให้ลดอัตราภาษีลงตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งไทยได้ออกประกาศกระทรวงการคลังไปแล้วและเวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงปี2548 แต่บาห์เรนยังไม่ออกประกาศลดอัตราภาษีให้ไทยแต่อย่างใด  (ทำให้การลดอัตราภาษีของไทยไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะยังไม่มีการแลกเปลี่ยนตัวอย่างลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า) สำหรับกรณีของเปรูนั้น ทั้งสองฝ่ายมีแนวคิดแตกต่างกันในเรื่องของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้หากมี FTA แล้วทั้งบาห์เรนและเปรูก็ต้องนำสินค้าบางรายการออกจากแผนการลดภาษีด้วย

 สรุปแล้ว เขตการค้าเสรีต่างๆของไทยจะมีกรณีของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่สินค้าทั้งหมดมีอัตราภาษีศุลกากรเป็น 0% สำหรับ AFTA และสหรัฐฯนั้นแม้ว่าัยงคงมีสินค้าบางส่วนที่มีภาษีอยู่ แต่ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น ส่วน FTA อืี่นๆนั้นน่าจะมีสินค้าจำนวนหนึ่งที่อัตราภาษีสุดท้ายยังไม่เป็น 0%

ัทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสมมติฐานมี่ว่าหากคู่เจรจาไม่ลดอัตราภาษีทั้งหมดเป็น 0% ไทยก็จะไม่ลดอัตราภาษีทั้งหมดเป็น 0%ด้วยเช่นกัน ส่วนผลสุดท้ายจะออกมาเป็นเช่นไรนั้น คงต้องติดตามผลการเจรจาในแต่ละ FTA ว่าไทยจะมีนโยบายต่างตอบแทนในการเจรจาเช่นใด และจะมีการต่อรองกันข้ามกลุ่มการเจรจาหรือไม่

  

หมายเลขบันทึก: 42569เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท