ชีวิตอินเทอร์น : ย่างเข้าเดือนที่สอง


solution ใหม่ที่มาจากความพร้อมใจของทุกฝ่าย

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการสรุปความเข้าใจ และทบทวนตัวเอง หลังจากที่ได้มา"ฝึกตนฝนปัญญา" อยู่ที่สคส.ครบ ๑ เดือนเต็ม  วันจันทร์เช้า เป็นการรวบรวมความถี่ในการเข้าไปบันทึกบทความของสมาชิก Gotoknow ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อทำการคัดเลือก blog of the month ตามหลักเกณฑ์การคัดสรรของสคส. ซึ่งช่วยให้มองภาพของการสื่อสารผ่านblog และภาพการค้นคว้าผ่านblogได้ว่าต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขของอะไรบ้าง ทำให้ได้รู้จักการทำงานของblogมากขึ้น และจินตนาการต่อไปได้ว่าจะนำกลับไปปรับประยุกต์กับงานของส่วนประมวลและพํฒนาความรู้อย่างไร ต้องขอขอบคุณอาจารย์จันทวรรณ และอาจารย์ธวัชชัยมากเลยค่ะ ที่ได้คิดเกี่ยวกับลักษณะในการใช้blog ทั้งในแง่ของประโยชน์ในการสื่อสาร และแง่ของประโยชน์ในการค้นคว้ากันมาแล้วอย่างรอบคอบ ทำให้ผู้มาทีหลังถอดบทเรียนไปใช้ต่อได้อย่างสะดวก

 วันจันทร์บ่าย และวันอังคารตลอดทั้งวัน ทำการซ่อมแซม Slide Presentation ในโปรแกรม Power Point ที่เตรียมทำไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน แต่ปรากฏว่าไฟล์หายไปส่วนหนึ่ง ด้วยความไม่ชำนาญการของตัวดิฉันเอง  ไฟล์การนำเสนอชุดแรกเป็นการ AAR ชีวิตอินเทอร์นว่าเป้าหมายในการมาฝึกตนครั้งนี้คืออะไร / สิ่งที่ได้เรียนรู้ไปมีอะไรบ้าง สอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ไหม / ปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นไปตามคาดหวัง / อะไรที่ทำให้ยังไม่ได้ตามที่คาดหวัง / ในอีก ๑ เดือนข้างหน้า (ก่อนที่จะสิ้นสุดความเป็นอินเทอร์น) มีแผนว่าจะเรียนรู้เรื่องอะไร / เตรียมจะนำ KM ไปใช้ที่โรงเรียนอย่างไร   ส่วนการนำเสนอในอีกชุดหนึ่ง คือ การแบ่งปันความเข้าใจ (KS) จากการไปอ่านบทความเรื่อง  From Deficit Discourse to Vocabularies of Hope : The Power of Appreciation ของ James D. Ludema ซึ่งเป็นการ review AI ในบทสุดท้าย ก่อนที่จะชวนกันอ่านหนังสือเล่มอื่นต่อไป!

 วิชาการนำเสนอด้วย Power Point นี้ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่ดิฉันได้มาเรียนรู้จาก อ้อ-อุรุพิณ  อ้อ-อารีย์  และอ้อม-วรรณา ซึ่งเป็นเรื่องที่มากเกินกว่าความคาดหวังที่ตั้งใจไว้เดิม แต่ก็ดูจะเป็นประโยชน์ต่องานของดิฉันอยู่ไม่น้อย ต้องขอขอบคุณ อ้อ อ้อ และอ้อม ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 กำหนดการ AAR ชีวิตอินเทอร์นของดิฉันเริ่มเมื่อเวลา ๗ โมงเช้า !! ของวันพุธ การได้เวลาของการประชุมที่เช้าตรู่เช่นนี้ก็เนื่องมาจากว่า อาจารย์วิจารณ์ไม่มีวันว่างในสัปดาห์นี้เหลืออยู่อีกเลย หากจะเลื่อนการ AAR ออกไปเป็นสัปดาห์หน้า อ้อ-วรรณาซึ่งเป็นบัดดี้ของดิฉันก็ติดคิวไปจับภาพที่ภาคอีสานกับคุณอาทิตย์ทั้งอาทิตย์ และขณะที่ทุกคนพยายามจะหาวันว่างกันอยู่นั้น เสียงใครคนหนึ่งในวงก็พูดขึ้นมาว่า "งั้นก็ตอน ๗ โมงก่อน Weekly (meeting) แล้วกัน"  แล้วอาจารย์ก็บันทึกลงไปในปาล์มของอาจารย์ว่า ๗ โมง  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในห้องครัว ที่มีโต๊ะอาหารขนาด ๖ ที่นั่งตั้งอยู่ริมหน้าต่างกระจกบานใหญ่ หลายๆคนกำลังนั่งทานข้าวเช้ากันอยู่ แล้วอาจารย์ก็เดินเข้ามาเล่าเรื่องที่ไปอินเดียให้ฟัง ก่อนจบการสนทนาดิฉันจึงขอคิวนัดท่านทั้งหลายที่ประชุมพร้อมกันอยู่ ณ ห้องนั้นได้อย่างครบครัน   ที่เล่ามาเสียยาวนี้ก็เพราะอยากจะสกัดความรู้ออกมาว่า การที่ทุกคนเห็นว่าเรื่องของทุกคนมีความสำคัญ ทำให้เราได้ solution ใหม่ที่มาจากความพร้อมใจของทุกฝ่าย  นั่นหมายถึงว่า แต่ละคนได้ร่วมสละความสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ด้วยการก้าวเท้าออกมาคนละก้าวด้วยความเต็มใจ นั่นเอง
 เช้าวันพุธ เมื่อดิฉันมาถึงสำนักงานตอนประมาณ ๖ โมงครึ่ง ก็ได้พบว่าอาจารย์นั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงานอยู่ก่อนแล้ว  ประเด็นที่พูดคุยกันตอน AAR ก็เป็นไปตามลำดับที่ตั้งไว้ ในส่วนของปัจจัยที่ช่วยให้ดิฉันบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาลปรร. เก็บประสบการณ์กลับไปปรับใช้กับโรงเรียนให้มากที่สุด นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความมีฉันทะ และความมีใจจดจ่อต่องานของดิฉัน แต่อีกหลายส่วนเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการทำงานของสคส. ที่มีอาจารย์วิจารณ์เป็นต้นแบบของการสร้างให้เกิดบรรยากาศที่มีการลปรร.กันอย่างกว้างขวาง  ตลอดจนบุคลากรเองก็เป็นคุณกิจตัวจริงที่สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอินเทอร์นและสมาชิกของสคส.จึงเป็นไปอย่างเข้มข้น สมความตั้งใจของทั้ง ๒ ฝ่าย 

ในส่วนของการนำ KM เข้าไปใช้กับโรงเรียนนั้นได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ดังนี้
 โรงเรียนอาจจะเริ่มจากการจัดให้คุณครูของแต่ละชั้น ได้ผลัดกันมาเล่าความประทับใจ / สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน / เรื่องที่ประสบความสำเร็จ  คนละ ๓ นาที เริ่มจากสัปดาห์ละ ๑ ชั่วโมงก่อน วิธีนี้ทำให้ครูเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง  ได้เรียนรู้จากเรื่องของเพื่อน ได้ทดลองนำไปปรับใช้กับงาน เมื่อปฏิบัติได้ผลอย่างไรก็นำกลับมาเล่าสู่กันฟัง  ทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้าครูก็จะมีความเข้าใจเด็กมากขึ้น  และควรหาทางให้เกิดการลปรร.ข้ามกลุ่ม ข้ามระดับ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของการจัดการความรู้
 คุณอำนวยของแต่ละกลุ่มก็จะเป็นคนดึงเรื่องหลักๆที่จำเป็นต่อการเป็นครูออกมาตั้งเป็นแก่นความรู้ ที่ระบุระดับคุณภาพในเรื่องนั้นๆเอาไว้  แล้วทำการพัฒนากลุ่มให้เกิดความรู้ ทั้งจากการแลกเปลี่ยน และการเติมเต็มภาคทฤษฎีด้วยการอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งด้วยกัน แล้วมานำเสนอกันคนละบท เหมือนที่สคส.ทำอยู่ 
 ที่สำคัญคือ บรรยากาศในการลปรร.แต่ละครั้งจะต้องน่าสนใจ  และทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้อะไรกลับไป  ซึ่งทุกคนที่เข้ามาร่วมวงจะต้องมีบทบาทเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ  ไม่เพียงแต่ในเรื่องของทักษะการทำงานเท่านั้น แต่การจัดการความรู้ขั้นสูงนั้นยังเป็นการจัดการด้านคุณค่า  ซึ่งหากครูได้ตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่อย่างลึกซึ้ง ครูจะเกิดพลัง เกิดความเคารพตนเอง เคารพผู้อื่น คุณค่าต่อชีวิตจะสูงหากสามารถทำให้การทำงานเป็นการสร้างความรู้อยู่ตลอดเวลา  บทบาทของครูจะเชื่อมโยงไปถึงครูคนอื่น ถึงพ่อแม่ในการให้ความช่วยเหลือเด็ก คุณค่าและมูลค่าของครูจะมีมหาศาล
 ครูต้องไม่ลืมว่า แท้จริงแล้วเด็กก็คือครูของครู ครูต้องเรียนรู้จากเด็กให้มากที่สุด  ในอีกด้านหนึ่งเด็กเองก็คือครูของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้จากลูกให้มากที่สุดเช่นกัน

 

หมายเลขบันทึก: 42526เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันนี้ได้อ่าน blog นี้

http://gotoknow.org/blog/thaikm/42860

กลับมาเมื่อไร  มาทำ people mapping ในโรงเรียนกันนะคะ  มีผู้ปกครองเริ่มถามหาคนที่สนใจเรื่องเดียวกันแล้ว 

  • อยากบอกว่าเด็กและคุณครูที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันจะมีความสุขมากครับผม
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท