การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม (8) จบ


ช่วงนี้ช่างยุ่งเหลือเกิน เมื่อวานซืนนี้เพิ่งไปลงพื้นที่เถินกับแม่พริกมา (หลังจากห่างหายไประยะหนึ่ง)  ส่วนเมื่อวานนี้ต้องรีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  เนื่องจากต้องมาซ้อมรับปริญญาให้กับนักศึกษา   วันนี้เพิ่งซ้อมเสร็จ (เป็นวันแรก) ก็เลยแว๊ปมาเขียนบันทึกต่อซะหน่อย  จะได้จบเสียที 

คุณสุวัฒนา  กล่าวต่อไปว่า  ตอนนี้ไม่ใช่จะไม่ทำงานหรือหยุดทำงาน  ตอนนี้กำลังดูอยู่ว่ามันยังมีจุดอ่อนอะไรบ้างในสิ่งที่เราทำอยู่  จุดอ่อนที่เห็นในขณะนี้  คือ  ต่อไปในวันข้างหน้าเงินจะหมด  ถ้าผู้นำดีๆไม่อยู่ใครจะสานต่อ  หลักเกณฑ์จะเป็นอย่างไร  อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  จะบริหารเงินต่อไปอย่างไรให้เงินมันโตขึ้น   เพราะ  ต่อไปคนจะอายุยืนขึ้น  จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย  รัฐบาลจะลงมาดูแลอย่างไร  รัฐบาลจะเอาเงินตรงนี้ไปทำให้มันโตขึ้นกว่านี้หน่อยได้ไหม  มีคนเสนอว่าให้เอาไปลงทุนพันธบัตร  หรือเอาไปลงทุนทำรถไฟฟ้า  ฯลฯ  ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ประมาณ 8-9 เรื่อง  ซึ่งทาง มสช. ก็กำลังช่วยศึกษาอยู่  อย่างในกรณีของท้องถิ่นซึ่งจ่ายเงินให้คนชราเดือนละ 300 บาท  มันเสียเปล่าเยอะ  แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดทิ้ง  แต่จะเป็นไปได้ไหมว่าจะเอาเงินไปทำรูปแบบอื่นดีไหม  ที่จริงเบี้ยยังชีพสำหรับคนชรามันได้ไม่ครบคนหรอก  แต่เราจะทำอย่างไรให้มันได้ครบทุกคน  หรือทำอย่างไรที่จะเอาเงินมาใส่ในกองทุนนี้แล้วดูแลกันไปให้ได้ประโยชน์ครบทุกคน

 

คุณภีม  บอกว่า  ที่ลำปางเก่งกว่าสงขลาในเรื่องการจัดการเงิน  เพราะ  ทางสงขลาใช้วิธีฝากธนาคาร  ครูชบจะไม่คิดมาก

 

ผู้วิจัยเสริมจากคุณภีมว่า  ไม่ใช่เรื่องการจัดการเงินอย่างเดียว  แต่ลำปางมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการข้อมูลด้วย  ระบบข้อมูลของลำปางเป็นระบบและละเอียดมาก 

 

อ.ธวัช  กล่าวถึงเรื่องเบี้ยยังชีพต่อว่า  เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกคนจนในหมู่บ้านได้ทั้งหมด 56 คน  แต่มีเงินที่จะช่วยเหลือได้แค่ 11 คน

 

คุณสุวัฒนา  เล่าถึงตัวอย่างที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า  หน่วยงานมีเงินไม่มากพอที่จะจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชราทุกคนที่มีสิทธิ์ได้  เขาใช้วิธีการแก้ไขปัญหานี้  คือ  เขาเอาเงินมารวมกันค้าขาย  พอได้กำไรขึ้นมาก็เอามาหารแบ่งให้ทุกคน  อาจได้ไม่ถึงคนละ 300 บาท  เช่น  อาจได้แค่คนละ 280 บาท  เป็นต้น  แต่ก็ยังดี  พอค้าขายไปเรื่อยๆปรากฎว่าได้กำไรมากขึ้น  แต่ละคนก็ได้เงินมากขึ้น  พอที่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเขาเอาเงินไปทำปั๊มน้ำมัน  แต่ที่ใต้เอาเงินไปรวมกันซื้อสวนยาง  เงินนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบต. เพราะ  กรมประชาสงเคราะห์ได้ถ่ายโอนอำนาจและภารกิจให้ อบต. แล้ว  เพราะฉะนั้น  ในกรุงเทพฯตอนนี้สามารถจ่ายได้ถึงคนละ 500 บาท  และทุกคนที่มีสิทธิ์ได้รับก็ได้รับแล้ว  เพราะ  เขาสามารถเอาเงินมารวมกันได้ 

 

คุณภีม   บอกว่า  ในส่วนที่เราบอกว่าจะร่วมมือกับ อบต.  หากเราเอาแนวความคิดนี้ไปเสนอว่าเอาเงินเขามาต่อยอดก็จะเท่ากับได้ 2 เท่า  ทุกคนก็จะได้รับเงิน  เขาก็ได้ผลงาน  เราก็ได้เงินเขามาช่วยหนุนด้วย

 

คุณสุวัฒนา  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยก็คือ  การที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นยุค baby boom คือ  มีคนเกิดมาก  แต่ต่อไปคนจะเกิดน้อยลง  เมื่อเด็กเกิดน้อย  คนในวัยหนุ่มสาวก็จะลดน้อยลง  ขณะเดียวกันคนในวัยหนุ่มสาวปัจจุบันก็แก่มากขึ้น  สุขภาพดีขึ้น  อายุยืนขึ้น 

 

คุณภีม  บอกว่า  รู้สึกว่าเรามีข้อมูล  ความรู้เยอะกันพอสมควรแล้ว  แต่อยู่ที่วิธีการ  ยุทธวิธีที่เฉพาะเจาะจง  เช่น  ลักษณะของ อบต. นี้ หรือ  เทศบาลนี้  มีลักษณะอย่างนี้เราจะใช้วิธีการอย่างไร  การพูดอย่างลอยๆคงจะไม่มีประโยชน์แล้ว  คงต้องพูดแบบเฉพาะเจาะจง

 

คุณยุพิน  บอกว่า  ตัวเองได้ข้อคิดจากกลุ่มปทุมธานีที่มาเยี่ยมกลุ่มดอนไชย  ปลัดที่มาด้วยพูดดีมาก  ปลัดถามผู้ใหญ่บ้านเลยว่าคุณจะทำไหม  ถ้าคุณทำอย่างนี้  คุณไม่ต้องเหนื่อย  ทาง อบต. ยินดีให้การสนับสนุนเลย

 

คุณภีม  บอกว่า  อยากชวนมาตั้งเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน  อย่างสมมติว่าใน 6 เดือนข้างหน้าจะมาดูอีกทีหนึ่ง  ข้อมูลตอนนี้ของกลุ่มแม่พริกมีสมาชิก 946 คน  ทั้งโซนมี 4,000 กว่าคน  อีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  เราจะพัฒนาคนเพื่อให้มีคนเก่งเพิ่มมากขึ้นอย่างไรบ้าง  สมาชิกในกลุ่มของเราเพิ่มเท่าไหร่  กลุ่มที่เราไปตั้งใหม่เป็นอย่างไร  กิจการที่เราเอาเงินไปขยายเกิดผลอย่างไร  เราต้องมีการวางแผน  ซึ่งแผนนั้นต้องทำให้เกิดพลังโดยดึงคนอื่นเข้ามาร่วมด้วย

 

คุณยุพิน  บอกว่า  ในส่วนของแผนนั้นตนเองคิดเอาไว้หมดแล้ว  เราอยากทำให้เป็นรูปแบบ  ถ้าคนอื่นเห็นเขาก็จะได้รู้ว่าเอามาจากไหน  อย่างตอนนี้เรามีการเก็บสถิติรายรับ  รายจ่าย  กำไรของร้านค้าชุมชน  ถ้าคนทำงานอยากได้กำไรมากกว่านี้  เขาต้องช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ  คือ  เขาจะพัฒนาด้วยตนเอง  เพราะฉะนั้น  ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าเขามีข้อมูลอยู่ในมือ  เขาจะต้องคิดต่อ

 

คุณภีม เสนอว่า  อยากฟังแผนหรือความคิดของแต่ละคน  อย่างเมื่อกี้นี้เสนอในเรื่องร้านค้า     ชุมชน  สิ่งสำคัญก็คือ  ใช้ข้อมูล  สร้างแรงจูงใจกับคนทำงาน  เพื่อทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริง   แล้วคนอื่นมีความคิดอย่างไรบ้าง

 

คุณยุพิน  เสริมว่า  เราไม่ได้คิดแต่เรื่องร้านค้าชุมชน  แต่เราคิดเรื่องการขยายงานให้กับคนในชุมชนด้วย  อย่างตอนนี้ข้าวมีราคาแพง  ทำอย่างไรที่จะทำให้คนคิดว่าไม่ใช่ปลูกข้าวให้ตัวเองกินอย่างเดียว  แต่ต้องปลูกข้างเผื่อให้คนในชุมชนได้กินบ้าง  แล้วตัวเองก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย  อย่างตอนนี้ที่ร้านค้าชุมชนเราซื้อข้าวมาขายประมาณเดือนละ 14 กระสอบ  แต่ซื้อจากแหล่งอื่น  ก็เลยมาคิดว่าทำไมต้องซื้อจากแหล่งอื่น  ทำไมไม่ซื้อในบ้านของเรา  ที่บ้านของเรามีนาว่างเยอะแยะ

 

คุณสุวัฒนา  เสนอต่อว่า  ให้ไปเก็บข้อมูลว่าใน 1 เดือน  คนในชุมชนของเราใช้ชมพูสระผมยี่ห้ออะไรบ้าง  ใช้เงินซื้อเดือนละกี่บาท  อย่างที่อำเภอวังแสง  จังหวัดมหาสารคาม   เขาบอกว่าซื้อปีละแสนกว่าบาท  เขาก็เลยทำเอง  ปีหนึ่งเขาก็เลยประหยัดได้ปีละแสนกว่าบาท

 

คุณบัณฑิต  บอกว่า  ตอนนี้ตัวเองกำลังคิดในเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการที่รัฐเอาเงินลงมาช่วยแล้วเงินมันก็หายไปเรื่อยๆ  อย่างที่…  ซึ่งมีประชากรน้อยแค่ 20 กว่าหลังคาเรือน  ผมไปตกลงกับเขาเลยว่าต่อไปนี้ผมจะเข้ามาทุก 2 เดือน  คือ  ผมจะพยายามขยับแผนว่าต่อไปผมจะต้องพยายามหาธุรกิจให้เขาทำ  หางานให้เขาทำ  เพื่อให้เขาพ้นจากความยากจน  ผมเคยโยนคำถามเข้าไปว่าเมื่อก่อน อบต.  เขาเอางบลงมาให้ทีละก้อน สองก้อน  ให้เอาไปประกอบอาชีพ  มันเป็นอย่างไร  ชาวบ้านเขาตอบเลยว่า เจ๊ง! เงินหาย  ขาดทุนหมด  ผมก็เลยถามว่าที่มันเจ๊ง  เงินหาย  ขาดทุนหมด  เพราะ  บริหารจัดการกันถูกหรือเปล่า  อย่างเลี้ยงไก่ 1 เล้า  ประมาณ 20-30 ตัว  เมื่อเอาไปขายได้เงินมาแล้ว  แต่ไม่ยอมไปซื้อไก่มาเพิ่ม  แล้วเอาเงินไปใช้  ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่แล้วจะหายจนได้อย่างไร  ผมก็เลยบอกไปว่าอีก 2 เดือน  ผมจะเข้ามาใหม่  มาเปิดประชุมใหม่  ให้ช่วยกันคิดแล้วเสนอกันขึ้นมาว่าจะทำอะไรกันดี  ผมจะเอาแผนตัวนี้เสนอไปที่ อบต. แล้วให้ กศน. ไปสอน  แล้วผมจะไปช่วยบริหาร  ผมจะทำให้เกิดความยั่งยืนให้ได้  ส่วนในกองทุนสวัสดิการ  ตอนนี้ผมกำลังปรึกษากับ อ.ธวัช  อยู่ว่าจะทำอย่างไร  ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน  อย่างถ้าจะเปิดร้านสวัสดิการขายของก็ยังไม่รู้ว่าจะไปได้หรือไปไม่ได้  หรือที่คิดว่าจะทำโรงปุ๋ย  ทำปุ๋ยขาย  ตอนนี้สถานที่เก็บก็ยังไม่มี กำลังรองบ อบต. ซึ่งกว่าจะเข้าแผนก็ปี 2551 

 

ในส่วนของการขยายกลุ่มนั้น  ตอนนี้เรากำลังตกลงกันอยู่ว่าจะใช้ระเบียบเก่าหรือระเบียบใหม่  ในวันที่ 2 สิงหาคม  2549 นี้  อ.ธวัช  ได้รับเชิญจากทางอำเภอให้ไปพูดให้ที่ประชุมกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านฟัง  พวกเราตั้งใจเอาไว้ว่าจะไปขยายในหมู่บ้านต่างๆของเทศบาลตำบลแม่พริก  อย่างบ้านห้วยขี้นก  ตอนนี้ก็กำลังประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านอยู่  อย่างประชากรทั้งหมดของตำบลแม่พริกมีประมาณ 4,000-5,000 คน  ถ้ามาเป็นสมาชิกของเราสักประมาณ 3,000 คนขึ้นไปก็ถือว่าดีมากแล้ว

   

สำหรับคณะกรรมการ  ผมก็อยากพัฒนาให้มีคุณภาพ  เวลาเราเรียกประชุมก็อยากให้มากันให้ครบ  ที่ผ่านมาเวลาเรียกประชุมก็มากันไม่ครบ  มีคณะกรรมการทั้งหมด 12 คน  ก็มาแค่ 7 คน  แต่ก็ยังดีที่มาเกินครึ่ง  ถ้าเป็นวันออม  ทุกคนก็ยุ่งอยู่กับการออม  กว่าจะทำงานกันเสร็จก็บ่าย  ค่ำ  ทุกคนก็เหน็ดเหนื่อย  เราก็ไม่อยากจะรบกวนเขา

 

อ.ธวัช  กล่าวเสริมในเรื่องคระกรรมการว่า  เราอยากจะเน้นไปที่การปลูกฝังให้คณะกรรมการมี   คุณธรรม 5 ประการ  คือ  ซื่อสัตย์  รับผิดชอบ  ตั้งใจ  โปร่งใส  เสียสละ  โดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบและความเสียสละ  เราอยากจะเน้นเรื่องนี้ให้มาก

  

คุณยุพิน  เสนอแนะในเรื่องการทำงานของกลุ่มว่า  เราจะทำอย่างไรให้การทำงานเสร็จภายใน    1 วัน  เพราะ  ในวันออมเป็นการรวมคนที่พร้อมที่สุด  ดังนั้น  จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะลองปรับในส่วนของวันออมว่าให้การทำงานจบในวันนั้น  ประชุมเสร็จในวันนั้น 

 

คุณบัณฑิต  บอกว่า  ผมก็อยากให้เป็นอย่างนั้น  แต่ที่ผ่านมาพอบ่าย  คณะกรรมการก็จะรีบกลับ  เราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

 

คุณยุพิน  บอกว่า  ตอนนี้เราทำงานอย่างนี้เหมือนเราไม่รู้ว่าเราจะหาช่องทางที่จะเจาะข้อมูลของภาครัฐว่าเขาจะลงมาอย่างไร  และจะทำให้หน่วยงานรู้ได้อย่างไรว่าเราทำงานอย่างนี้

 

คุณสุวัฒนา    ยกตัวอย่างกลุ่มพ่อชบที่เขียนโครงการส่งผ่าน พมจ. เพื่อขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสวัสดิการสังคม  อยากจะบอกว่าขอให้จังหวัดอื่นทำด้วยจะได้เหมือนกับที่พ่อชบทำ  พอทำขึ้นไปเยอะๆ  เขาจะต้องคิดแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น  ทำไมเขาคิดกันหลายจังหวัดจังเลย 

 

คุณภีม  บอกว่า  กฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2546  โครงสร้างที่ออกแบบไว้นั้นในทางปฏิบัติอำนาจอยู่ที่จังหวัด  คือ  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกับเลขา  คือ พมจ.จังหวัด และคณะกรรมการ  จะเป็นคนจัดการ เงินกองทุนนี้ก็จะกระจายมาตามจังหวัด  มีระเบียบว่าองค์กรสาธารณะประโยชน์สามารถยื่นขอการจัดสวัสดิการกับชุมชนได้  โดยให้ อปท. เป็นผู้รับรอง  ถ้าเป็นนิติบุคคลแล้วก็ได้เลย  แต่ถ้ายังไม่เป็นนิติบุคคลก็ต้องให้ อปท. เป็นผู้รับรองว่ากองทุนได้ทำกิจการสาธารณะแก่ชุมชนแล้วไปขึ้นทะเบียนกับ พมจ.

 

คุณยุพิน  ตั้งข้อสังเกตว่า  มันจะมีความยุ่งยากไหม  หากเอาเงินมาใช้แล้วจะมีการติดตามตรวจสอบอย่างไร

 

คุณภีม  บอกว่า  ตอนนี้กองทุนที่เราทำอยู่สามารถทำได้หลายรูปแบบ  จะไปจดทะเบียนเป็น  สหกรณ์หรือเป็นวิสาหกิจชุมชนก็ได้  มันสามารถเข้ากับกฎหมายได้หมด  นอกจากนี้แล้ว  ในขบวนการของเราน่าจะมีการสร้างคนที่เชื่อมต่อกับข่าวสาร  ข้อมูล  อย่างครูชบ  เขามีความโดดเด่นอยู่แล้ว  อย่างในวันประชุมของแต่ละเดือน  ครูชบจะถ่ายเอกสารข้อมูล  ข่าวสารต่างๆ  แจกให้ทุกกลุ่ม

 

อ.ธวัช  ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการว่าใช้เงินในส่วนของกองทุนทดแทนซึ่งเก็บจากค่าธรรมเนียม  ซึ่งดูแล้วว่ามันไม่พอ  มันจำเป็นต้องเอาเงินในส่วนอื่นมาใช้  เช่นเดียวกับค่าสวัสดิการคนทำงาน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทุกเดือน  ทุกครั้งถ้าเงินไม่พอผมจะเอาเงินในกองทุนธุรกิจชุมชนมาใช้   ปัญหาก็คือ  เราจะเอาเงินในส่วนไหนมาคืนกองทุนธุรกิจชุมชน  ผมได้เขียนโครงการเสนอขอเข้าไปที่ อบต. แล้ว  แต่ความหวังก็คงจะริบหรี่  ถ้าเราจะยื่นไปที่ พมจ. ได้ไหม  ทั้งๆที่เราทำงานให้ชุมชน 

 

คุณยุพิน  บอกว่า  อย่างที่ดอนไชยเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนจากเทศบาลแล้วเราได้เงินมา 15,000 บาท  สำหรับใช้ในส่วนของวัสดุสำนักงานและวัสดุสิ้นเปลือง  เราจะเน้นไปที่ภาพรวมของกองทุน  เราจะไม่เจาะจงไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง  เราอาจเน้นไปที่การสร้างงานก็ได้  จากนั้นเราค่อยเอางบประมาณมาต่อยอด

 

ผู้วิจัย  เสริมว่า  ได้มีโอกาสไปดูงานที่หนองอ้อ  ราชบุรี  ทำให้เห็นว่าในวันออมคนจะมาเยอะมาก  ทีนี้ในวันออมของเราก็เช่นเดียวกัน  คนจะมาออมมาก  แต่เราไม่มีกิจกรรมอะไร  นอกจากการออมเพียงอย่างเดียว  เราน่าจะมีการจัดกิจกรรมอย่างอื่นเสริม  เช่น  กิจกรรมในด้านสุขภาพ  กิจกรรมด้านการค้า  เป็นต้น  อย่างถ้าเราเอาของมาขาย  เรามีคณะกรรมการอยู่ทั้งหมด 12 คน  เราก็แบ่งเป็น 2 ทีม  ทีมที่หนึ่งทำหน้าที่เก็บเงินออมตามปกติ  ส่วนอีกทีมหนึ่งก็ทำหน้าที่ขายของ  แต่เราก็ต้องทำการสำรวจขึ้นมาก่อนว่าชุมชนของเราใช้อะไรกันมาก  มีความต้องการอะไร  แล้วเราก็เอาเงินที่มีอยู่มาลงทุน  อาจไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก  ใช้ประมาณ 5,000 – 10,000 บาท  หรืออาจขอความร่วมมือกับร้านค้าสวัสดิการของเถินก็ได้  พอขายได้กำไรก็เอากำไรนี้มาช่วยคนทำงานก็ได้ 

 

คุณกู้กิจ  บอกว่า  ในอีก 6 เดือนข้างหน้าทุกกลุ่มจะต้องมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น  รวมทั้งต้องประสานการทำงานกับ อปท.

            คุณภีม  ถามต่อว่า  อยากจะฟังว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าแต่ละกลุ่มจะมียอดสมาชิกเท่าไหร่ 

ที่ประชุมร่วมกันตอบว่า   บ้านดอนไชย  ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน  และขยายในตำบลอื่นอีกอย่างน้อย 2 ตำบล , บ้านเหล่า 1,000 คน  และจะขยายโรงอิฐบล็อกสาขา 2  ถ้าเงินไม่พอก็มากู้ที่บ้านดอนไชย

 

            อ.ธวัช  ถามขึ้นมาว่า  ตอนนี้มีปัญหาในเรื่องของการรับสมาชิก  คือ  เรารับแต่คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่แม่พริก  แต่ในความเป็นจริงยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอญุ่ที่แม่พริก  แต่มีญาติ  หรือเป็นเขย  เป็นสะใภ้  หรือทำงานอยู่ที่อื่นแต่มีญาติอาศัยอยู่ที่นี่จะเข้ามาเป็นสมาชิกได้ไหม

 

            ข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุม  คือ  สามารถทำได้  แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

 

            คุณสุวัฒนา เสริมในประเด็นนี้ว่า ข้อดีของชุมชน  คือ  มีความใกล้ชิดกัน  รู้ความเคลื่อนไหว  เช่น  รู้ว่าครอบครัวนี้มีลูก 3 คน  เพราะฉะนั้นลูกทั้ง 3 คนนี้ก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้  ไม่ควรเข้าไปเป็นสมาชิกของชุมชน  นี่คือ  จุดแข็งของชุมชนที่สามารถตรวจสอบกันเอง  ใช้กลไกของชุมชนดูแลกันเองได้  อย่างที่บึงคอไหที่กรุงเทพฯ  ชุมชนจะช่วยกันดูแลคนแก่  มีคนแก่ที่แก่มากและจนมาก  พอถึงเดือนคนในชุมชนก็จะเอาข้าวสารไปให้  พอถึงปีก็จะมอบเงินให้เป็นก้อนเอาไว้ไปซื้อของกินของใช้ต่างๆ  เขาจะช่วยกันดูแล  เพราะ  ในชุมชนมีคนแก่ไม่มาก 

 

            คุณภีม  บอกว่า  กรณีของพ่อชบที่ชูประเด็นเรื่องสัจจะวันละ 1 บาท  ลดรายจ่าย  เป็นการสะท้อนให้เห็นการออมที่ไม่เน้นการกู้  แต่ของพระอาจารย์สุบินยกระดับขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง  คือ  เป็นการทำบุญ  เงิน 1 บาทไม่ต้องคิดว่าจะกลับมาที่ตัวเอง

 

            คุณสุวัฒนา  บอกว่า  ที่สศค.ก็ยึดแนวคิดแบบนี้  คือ  ให้โดยไม่ต้องหวังว่าจะได้คืน  คิดว่าไม่ได้เบิก  แต่ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถเบิกได้ตามกติกา  นอกจากนี้แล้วยังอยากให้แต่ละกลุ่มกลับไปคิดเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการการตาย  อยากให้ลดลงมากกว่านี้  เพราะ  มันฟุ่มเฟือย  สู้เก็บเอาไว้ใช้ตอนแก่จะดีกว่า  ตัวอย่างที่อยากจะเล่าให้ฟังคือ  ที่ชุมชนบางซื่อเขาบอกว่าแต่ก่อนเวลามีคนตายจะจ่ายสวัสดิการครั้งละ 10,000 บาท  แต่ต่อไปนี้จะไม่เอาแล้วเขาไปทำสัญยากับวัดเลยว่าถ้ามีคนตายแล้วเอาไว้วัด 7 วัน  วัดคิดเท่าไหร่  เขาจ่ายให้เลย  แล้วอาจให้เงินเพิ่มเติมอีก 5,000 บาท  ไม่ต้องคิดว่าออมมาหลายปีได้มาก  คนที่ตายไปแล้วกลายเป็นว่าคนอื่นได้ประโยชน์  แต่คนที่ออมเงินกลับไม่ได้ประโยชน์ 

 

            คุณกู้กิจ  สรุปว่า  วันนี้อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน  ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนชื่อกองทุน  เรื่องการลดเงินสงเคราะห์  และเรื่องภูมิลำเนาของสมาชิก  อยากให้ทุกกลุ่มนำมาคิด  โดยในการประชุมครั้งหน้าเราเอามาคิดกันอีกครั้งหนึ่ง

             การสนทนาก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ค่ะ
หมายเลขบันทึก: 42521เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท