เสวนาจานส้มตำ ๘ : คุณค่าของคลังความรู้ การเจาะเวลากลับไปเสวนากับนายรักษ์สุข เมื่อเดือนที่แล้ว


ทุกบันทึกมีสาระประโยชน์มากครับ ถ้าหยิบมาขยายผลต่อได้ จะทำให้ได้ความรู้ที่ลึก และเสริมสร้างความรู้ให้กับคนอ่านได้มากขึ้น
คุณค่าและความสำคัญของ gotoknow ในบทบาทของคลังความรู้ของประเทศ หลายคนอาจจะยังมองไม่ออกว่า เป็นอย่างไร เหมือนกับคลังสมบัติที่เก็บทรัพย์สินที่สามารถนำออกมาใช้ในยามต้องการหรือ ไม่

และเสวนาจานส้มตำในตอนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า คลังความรู้ของ gotoknow เหมือนกับคลังสมบัติที่สามารถจะนำออกมาใช้ในยามที่ต้องการได้

หลังจากที่ชาวตลาดโต้รุ่ง 3 ท่าน  คลิกย้อนกลับไปอ่านบันทึกเก่าๆ และอยากจะขอเสวนาแลกเปลี่ยนกับข้อคิดเห็นของนายรักษ์สุข (คุณปภังกร) ที่ทิ้งร่องรอยไว้ เมื่อ 8 ก.ค. 2549

และครูอ้อยกลับเข้ามาอ่านอีกครั้งและเขียนความคิดเห็นเพิ่มเติมเมื่อ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา

กับบันทึก หยิบศักยภาพของนักศึกษา ปริญญาเอกมาใช้ประโยชน์ # 3 ; การเชื่อมโยงพัฒนบูรณาการศาสตร์กับมุมมองของคุณขจิต คุณปภังกร คุณนิว ครูน้อย-สิริพร และ ผอ.บวร


คู่สนทนา 1 -  "ผมมองว่า บันทึกชิ้นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและควรจะมีบันทึกในลักษณะนี้ออกมา อีก เป็นบันทึกเชิงวิเคราะห์รอบด้าน แล้วยังสามารถที่จะจุดขุมพลังแห่งความกระตือรือร้นของคุณปภังกรให้หลั่งไหล ออกมา เหมือนกับน้ำป่าที่ทะลักออกมา เห็นบันทึกในลักษณะนี้น้อยมากที่จะสามารถสร้างพลังให้กับบุคคลที่กล่าวถึง คือ คุณปภังกร ให้เกิดอาการไฟแห่งความรู้ลุกท่วมสมอง จนต้องปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ กับการเขียนแสดงข้อคิดเห็นคนเดียวถึง 5 ครั้งภายในเวลาใกล้ๆกัน ไม่ค่อยมีใครเขียนข้อคิดเห็นได้ถึงขนาดนี้"

นายบอน - "ดูช่วงเวลาและความถี่ในการเขียนข้อคิดเห็น เรียกว่าภายในช่วงเวลานั้น นายรักษ์สุขอยู่กับบันทึกชิ้นนี้ คิด และถ่ายทอดความรู้ออกมาในช่วงเวลานั้นอย่างเต็มที่"

(หมายเหตุ ช่วงเวลาและความถี่ในการบันทึกข้อคิดเห็น)

นาย ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ เมื่อ ส. 08 ก.ค. 2549 @ 15:06

นาย ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ เมื่อ ส. 08 ก.ค. 2549 @ 15:16

นาย ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ เมื่อ ส. 08 ก.ค. 2549 @ 15:26

นาย ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ เมื่อ ส. 08 ก.ค. 2549 @ 15:29

นาย ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ เมื่อ ส. 08 ก.ค. 2549 @ 16:09


คู่สนทนา 2 -  "อยากเขียนบันทึกในลักษณะแบบนี้ได้บ้าง เขียนข้อความที่ทำให้คนอ่านเกิดไฟแห่งความรู้ ลุกท่วมสมอง จนต้องหาทางปลดปล่อยความรู้ที่อัดแน่นออกมา"

นายบอน -  "ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ การสนใจผู้ที่เราอ่านบันทึกอย่างแท้จริง หลายคนอาจจะอ่านเอามันส์ อ่านหาความรู้แล้วก็คลิกผ่านไป แต่ถ้าอ่านในลักษณะเข้าให้ถึงหัวใจของคนเขียน ต้องคอยอ่าน คอยสังเกต เหมือนกับเราเฝ้ามองคนที่เรารัก"

คู่สนทนา 1 -  " ที่เขียนวิเคราะห์บล็อกของทั้ง 5 ท่าน คุณขจิต คุณนิว คุณสิริพร คุณปภังกร ท่าน ผอ.บวร เป็นผมคงไม่กล้าที่จะไปวิเคราะห์ผู้ใหญ่กว่าเราถึงขนาดนั้น ทำไมถึงกล้าวิเคราะห์ล่ะ"

นายบอน -  "ได้ประเมินดูเบื้องต้นแล้วว่า พวกเขาทั้งหมด เป็นบุคคลที่เปิดกว้าง  และขวนขวายหาความรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถปรึกษาหารือ ให้ข้อคิดเห็นต่อปัญหาหลายเรื่องได้ เลยลองวิเคราะห์ดู ส่วนผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น  ถ้าเค้าไม่ชอบก็โดนด่า ก็เท่านั้นเอง  ซึ่งเค้าจะมีศิลปะและชั้นเชิงเฉพาะตัว อย่างพี่ขจิต
ในบันทึกหยิบศักยภาพของนักศึกษาปริญญาเอกมาใช้ประโยชน์ #2 ดึงศักยภาพแบบสุดๆ
กับบางคำในประโยคสั้นๆของพี่เค้า  หรือคุณนิว ในบันทึก เสวนาจานส้มตำ ๗ : คิดอย่างปริญญาเอก ?
ซึ่งก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ทำให้คนอ่านคิดในมุมมองของเค้าได้หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านมองในแง่มุมไหนได้บ้าง"

คู่สนทนา 2 - "ดูเหมือนว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวจริงๆ คนที่อยู่สูงเสียเปรียบคนที่อยู่ในระดับล่างๆลงมา ตรงที่มีความเป็นอิสระในการจะทำอะไรได้น้อย เพราะจะมีกรอบครอบเอาไว้ อย่างการแต่งตัว และบุคลิกภาพ  ถ้าแต่งตัวไม่เรียบร้อย ก็ถูกมองว่า แต่งตัวไม่เหมาะสมกับระดับการศึกษาเลย แต่บางคนที่ไม่ยึดติดกรอบ เป็นตัวของตัวเอง ไม่สนเสียงนินทา กลับเป็นคนที่สามารถแสดงศักยภาพในตัวออกมาได้อย่างสูงที่สุด เหมือนคุณปภังกร ที่ว่า ท่านเป็น กบฎทางวิชาการ แต่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นตัวของตัวเอง และรักษาจุดยืนของตัวเองไว้ได้"

คู่สนทนา 1 -  "ชอบที่ gotoknow มีข้อมูลหลากหลายสะสมไว้  กลับไปอ่านย้อนหลังได้ตลอด และกลับไปแสดงข้อคิดเห็นย้อนหลังได้ตลอดเวลา เหมือนที่นายบอนโดน ครูอ้อย "ยี้" เข้าให้ เพราะดันไปเขียนชื่อเล่นท่านผิด ว่า ครูน้อย  ในบันทึกหยิบศักยภาพตอน 3  หรือบันทึกที่น่าสนใจอื่นๆ ใน gotoknow ยังสามารถกลับไปเปิดอ่านได้ มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้บันทึกเก่าๆ ทำให้คนย้อนกลับไปอ่านได้อีก ในขณะที่มีบันทึกใหม่ๆทุกๆวัน"

นายบอน -  "ในบันทึกของแต่ละบล็อก นอกจากชื่อบันทึกที่น่าสนใจแล้ว ความชื่นชอบในสไตล์การเขียนของเจ้าของบล็อกก็เป็นสิ่งสำคัญ อ่านบันทึกชิ้นหนึ่งแล้วประทับใจ เลยย้อนไปดูบันทึกอื่นๆของเจ้าของบล็อก หรือการสืบค้นหัวข้อที่สนใจ ทำให้ค้นพบบันทึกเก่าๆที่ต้องการ"

คู่สนทนา 2 -  "ผมว่า บางทีบันทึกหลายชิ้น สิ่งที่เขียนออกมา ไม่ตรงใจคนอ่าน ทั้งๆที่คนบันทึกมีความรู้มากมาย นึกอะไรออกก็เขียนเรื่องนั้นลงไป  ถ้าได้รู้ถึงสิ่งที่คนอ่านต้องการ น่าจะทำให้บันทึกนั้นมีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากขึ้น"

นายบอน -  "บันทึกประสบการณ์ต่างๆ ก็มีหลายเรื่องที่ตรงกับวิถีชีวิตของหลายคน ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะอยู่ในสาขาวิชาชีพไหน "

คู่สนทนา 2 -  "ผมว่า ถ้ามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่าง 2 ฝ่าย เช่น ที่นายบอนหยิบประเด็นที่คุยกับคนอื่นที่เจอกัน มาบันทึกในแบบเสวนาจานส้มตำ เหมือนกับการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านว่า สนใจเรื่องอะไร ก็นำเสนอเรื่องนั้น เพื่อให้เป็นประโยชน์และตรงใจต่อผู้อ่านมากขึ้น"

คู่สนทนา 1 -  "ผมเห็นด้วยครับ ถ้าลองไปคุยกับคุณปภังกร หรือ ครูอ้อย สิริพร จะได้มุมองที่ขยายความในเรื่องนั้นๆออกมาอีก ชอบที่คุณปภังกรได้แสดงข้อคิดเห็นออกมาถึง 6 ครั้งติดต่อกันในเวลา 1 ชั่วโมง ถ้าสื่อสารกันในลักษณะถามตอบ หรือเสวนา คงจะได้ประเด็นความรู้ที่ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น ไม่ใช่เขียนบันทึกตอนหนึ่งจบแล้ว มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง แล้วก็เขียนบันทึกเรื่องใหม่ๆต่อไป ทั้งๆที่บันทึกเรื่องหนึ่ง สามารถลงลึกถึงรายละเอียด เข้าถึงแก่นแท้ขององค์ความรู้ได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว"

นายบอน -  "ผู้อ่านคงจะต้องเขียนกระตุ้น หรือขอให้เจ้าของบล็อกเขียนเรื่องที่สนใจนั้นอีก ในแง่มุมไหนบ้าง "

คู่สนทนา 1 -  "อ่านแล้วอยากแลกเปลี่ยนในหลายๆประโยคกับคุณปภังกร และครูอ้อยครับ"


 ** *  นายบอน เลยต้องจัดให้ตามคำขอครับ  * * *
เจาะเวลากลับไปเสวนากับนายรักษ์สุขเมื่อเดือนที่แล้ว
  ซึ่งนายบอนได้ทำการจดประเด็นสำคัญๆเอาไว้ด้วย ทำให้บันทึกชิ้นนี้ ได้ประเด็นเกือบครบถ้วนจากบันทึกเสวนาจานส้มตำตอนก่อนๆมากทีเดียวครับ

////////


คุณปภังกร -  "ผมตั้งใจที่จะเรียนรู้จากทุก ๆ คน ผมไม่เคยจำกัดการเรียนรู้จากสิ่งใด ๆ เรา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ทุก ๆ สิ่งทุกอย่างสามารถทำให้เราเรียนรู้ได้ทั้งนั้นเลยครับ โดย เฉพาะคน ผมเรียนรู้จากทุก ๆ คน ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ผมให้เคารพในความรู้ของแต่ละคน ที่มีประสบการณ์และความรู้ฝังลึกในแต่ละคนเท่า ๆ กัน"

คู่สนทนา - 1  "ไม่เคยได้ยินครูหรือนักวิชาการคนไหนพูดแบบนี้ให้ได้ยินเลยครับ เห็นมีแต่อวดภูมิความรู้ และบอกให้ชาวบ้านว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ บางช่วงก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นพอสมควร แต่สุดท้ายเขาก็บอกว่า ความคิดของเขาดีกว่า ตรงตามหลักวิชาการที่ได้ผ่านการ
กลั่นกรองมาแล้ว"

คุณ ปภังกร - ""นับตั้งแต่ที่ผมได้ยินเรื่อง KM ผมก็เริ่มนำไปใช้เลยครับ ไม่เคยได้อบรม แต่มีจุดหลักอยู่อย่างเดียวตอนนั้นว่า "เราต้องเชื่อมั่นว่าทุก ๆ คนมีความรู้" ผมก็เลยเริ่มนำไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของนักศึกษาปริญญาตรี เด็ก ๆ เนี่ยแหละครับ ผมเชื่อมั่นว่า เขามีความรู้ และบางครั้งมีความรู้ในบางสิ่งบางอย่างมากกว่าผม"
คู่สนทนา 2  -  "อยากให้ครูที่เคยสอนผมเป็นแบบนี้บ้างจัง แต่ดูเหมือนว่า ตัวเราจะด้อยกว่า มีความรู้น้อยกว่า ถ้าเป็นความรู้ในหนังสือเรียนแน่นอนว่า เราไม่รู้เท่าครูผู้สอนแน่นอน เพราะท่านสอนเรื่องนั้นมาตั้งหลายปี พ่อก็เคยบ่นว่า เรื่องพวกนั้นเรียนไปทำไม อย่างเรื่องตรีโกณมิติ ไม่เห็นจะใช้ประโยชน์อะไรได้เลย เวลาขายก๋วยเตี๋ยวไม่เห็นต้องใช้เรื่องตรีโกณมิติซักหน่อย"


คุณปภังกร - "....แม้แต่กระทั่งเรื่องของการบริหารธุรกิจ ซึ่งผมเรียนจบปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ แต่ผมก็ยังเชื่อว่า นักศึกษาปริญญาตรีเนี่ยแหละ เขาก็มีความรู้ในการทำธุรกิจบางสิ่งบางอย่างมากกว่าผม เพราะเขามีประสบการณ์ เคยทำมากับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกษตร การทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงปลา ทุกอย่างเป็นธุรกิจหมดเลยครับ ผมก็ได้เริ่มเรียนรู้จักเด็กนักศึกษา แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ผมเคยสัมผัสมาแต่หนังสือ ทฤษฎี ทดลองเล็ก ๆ น้อย ๆ ศึกษาดูงาน ที่โน่นที่นี่ แต่เด็กเหล่านี้เขาได้สัมผัสจริง ๆ สัมผัสกับงานของพ่อแม่ ครอบครัวของเขา เขาได้เจอพ่อค้าคนกลางขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ พ่อแม่เขามีวิธีการเจรจาต่อรองอย่างไรล่ะ ตอนนั้นทำให้ผมหลงไหลและรักในการจัดการความรู้มาก ๆ เลยครับ เพราะเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก ที่ทำให้การเรียนการสอนเป็นสิ่งที่สนุก เราไม่ได้เอาทฤษฎีและประสบการณ์ของเราไปให้เขาอย่างเดียว แต่เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคมกับเขาด้วยครับ"

คู่สนทนา 2 -  "ได้อ่านข้อความนี้ของคุณปภังกรแล้ว รู้สึกปลื้มครับ แต่ก่อนนึกอยู่เสมอว่า เราขาดความรู้ หากอยากมีความรู้ต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญา ผมก็เคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมคนที่ไม่มีโอกาสเรียนระดับปริญญาเขาก็สามารถทำงาน เลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุขได้ แต่คนที่เรียนปริญญาซะอีก กลับไม่ค่อยจะมีเวลาในการให้ความสุขกับคนในครอบครัวมากนัก เพราะทำงานหนักมากๆ แต่ข้อความที่คุณปภังกรเขียนออกมานี้ อ่านแล้วรู้สึกภูมิใจในตัวเองครับ ถึงแม้ว่า เพื่อนๆของผมจะดูถูกว่า ผมคิดผิด ที่ไม่ไปเรียนต่อในระดับปริญญา แต่กลับมาทำงานที่ดูเหมือนจะขาดความมั่นคงในชีวิต ข้อความของคุณปภังกรช่วยทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมากๆครับ และไม่อายใครอีกแล้ว ที่ตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตด้วยแนวทางของตัวเอง"


คุณปภังกร -  "และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ
ผมอยากกราบขอบคุณ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาก ๆ เลยครับ ที่ได้นำแนวความคิดนี้มาใช้ในสังคมไทย
เพราะ คนไทยเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ มาเยอะครับ เรียนรู้จากทุก ๆ ประเทศในโลก เสียต้นทุนในการเรียนรู้เยอะมาก ค่าเรียน อบรม เดินทาง ไปราชการ ค่าเบรค อาหารกลางวัน ค่าที่พัก โรงแรม เยอะมาก ๆ แต่ไม่ได้นำมาใช้เท่าที่ควร พอจะนำไปใช้ เอ้า! มีทฤษฎีใหม่ ๆ มาอีกแล้วเปลี่ยน ๆ อันเก่าไม่ดี เอาอันใหม่ แต่พอมีการจัดการความรู้ ทำให้ทุก ๆ คน ทุก ๆ หน่วยงาน องค์กร ได้นำทุนเดิมมาใช้อย่างจริงจัง นำสิ่งที่ตนเองมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์  โดยเฉพาะยิ่งมี Gotoknow ทำให้ความรู้จากทุก ๆ คนทุกสารทิศ ระเบิดออกมาอย่างมีพลังมาก ๆ เลยครับ"

คู่สนทนา 1 -  " เวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ในห้องสมุดประชาชน  รู้สึกงงเหมือนกันที่ว่า ทำไมถึงมีเรื่องใหม่ๆออกมากมายนัก ผมพยายามศึกษาเรื่องการจัดการ อ่านจากบทความในหนังสือพิมพ์ มีแต่ศัพท์ใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆเยอะมาก อย่าง Six Sigma , TQM, QC ฯลฯ   ผมก็พึ่งรู้จากที่คุณปภังกรเขียนว่า แม้จะมีเยอะ แต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้ เสียต้นทุนไปเฉยๆ คุณปภังกรได้สรุปประเด็นออกมาให้เห็นภาพที่เข้าใจง่ายครับ gotoknow มีพลังมากจริงๆ"


คุณ ปภังกร -  "ผม เคยได้ฟังอาจารย์ท่านนึงเล่าให้ผมฟังว่า ท่านเนี่ยเป็น ดร. จบจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่สามารถสอนท่านได้ ทำให้ท่านคิดในสิ่งที่ไม่เคยคิดได้ นั่นก็คือ "สุนัข" ท่านบอกว่า แม้แต่สุนัขก็สอนเราได้ มี ครั้งนึงท่านกำลังรีบมาก ๆ จะไปสอนหนังสือ ของเข่าก็พะลุงพะลัง รีบวิ่งขึ้นไปสอนให้ทัน แต่ในขณะที่เดินไป ผ่านสุนัขตัวหนึ่ง มันนอนอยู่ พอมันเห็นอาจารย์เดินมา มันก็เงยหน้าขึ้นมาดู แล้วก็มอบตาปริบ ๆ แล้วมันก็นอนลงไปอย่างเดิมอาจารย์บอกว่า สุนัขมันคงคิดว่า พวก "คน" เนี่ย มันจะรีบไปไหนของมัน ช้า ๆ ก็ได้ ห้องเรียนไม่หนีไปไหนหรอก อาจารย์ก็เลยคิดขึ้นได้ว่า เอ่อ เราจะรีบไปทำไมกัน เดี๋ยวก็หกล้มหกลุก สุนัขก็สามารถทำให้เรามีสติได้เหมือนกัน"

คู่สนทนา 1 -  "ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่า ที่ผู้บริหาร ครู อาจารย์หลายท่านทำอะไรหลายๆอย่างนี่ เขาทำไปเพื่ออะไรกัน พวกผมทำได้แค่ทีละอย่างๆ แต่เราก็พอใจในสิ่งที่เราทำ เคยสงสัยว่าการศึกษา ทำให้คนเราเกิดความต้องการมากขึ้น อยากทำอะไรมากขึ้น คิดมากขึ้น ฟุ้งซ่านมากขึ้นหรือเปล่า หลายท่านหาเงินให้ได้มากๆเข้าไว้ แต่สุดท้ายเมื่อตายไป ก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง แล้วจะดิ้นรนขวนขวายทำอะไรที่มากเกินไปทำไม "

คู่สนทนา 2 -  " ประเด็นนี้ ดูแล้วเหมือนกับท่านเหล่านั้นเพี้ยนจริงๆ เหมือนกับว่า ถ้าไม่ได้ทำสิ่งนั้น โลกนี้จะล่มสลาย ฟ้าถล่ม ดินทลายไปตอนนั้น เห็นนักวิจัยหลายคนเข้ามาเก็บข้อมูล พอได้ยินหัวเรื่องที่เค้ากำลังทำ สงสัยเหมือกันว่า เค้าทำไปทำไม มันได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะเคยเห็นนักวิจัยที่เข้ามาเก็บข้อมูลในพื้นที่ ชื่อเรื่องฟังดูมีประโยชน์มาก แต่ผ่านไปแล้ว 2 ปีกว่า ไม่รู้ว่า ข้อมูลนั้นเอามาใช้ประโยชน์กับชุมชนหรือยัง"

นายบอน -   "งานวิจัยหลายชิ้นมีวัตถุประสงค์เจาะจงเฉพาะกลุ่มตัวอย่าง เฉพาะกรณี ไม่ได้ครอบจักรวาลแบบนั้น "

คู่สนทนา  1  -  " มีบันทึกเก่าๆอีกหลายเรื่องในหลายบล็อกที่อยากให้หยิบมาขยายผลอีกครั้งบ้าง เมื่อเวลาผ่านไปน่าจะให้มุมมองที่แตกต่างออกไปนะ เพราะแต่ละช่วงเวลามีความเปลี่ยนแปลงตลอด ความรู้ในวันวาน อาจจะช่วยเตือนสติ หรือให้ข้อคิดในปัจจุบันนี้ได้บ้าง"

นายบอน -   "อยากจะหยิบบันทึกในบล็อกของใครมาขยายผลอีกบ้าง"

คู่สนทนา 2 - " Dr.ka-poom, คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร, คนไร้กรอบ, โอ๋-อโณ, พี่เม่ย, คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, คุณสิริพร กุ่ยกระโทก"

คู่สนทนา 1 - "อยากให้นายบอนเขียนในสไตล์ หยิบศักยภาพ # 3 ในแบบที่คุณปภังกรบอกว่า ได้อ่านบันทึกนี้ เหมือนกับได้ไป Shopping ความรู้จากทุก ๆ บันทึกเลยครับ   อยากให้จับบล็อกของ คุณชายขอบ, JJ, ดร.จันทวรรณ, คุณออต, panda, นายก็อต, เภสัชกรประชาสรรค์, ดร.ธวัชชัย, คุณพิไล Dr.ka-poom และคนที่คู่สนทนา 2  เสนอไว้ เอามาเขียนวิเคราะห์ทุกคนเลย"

นายบอน -  "รุ่นใหญ่ทั้งนั้น !! แต่คงเขียนวิเคราะห์ได้แค่ 3-4 ท่านเท่านั้นแหละ ไม่มีเวลามากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว "

คู่สนทนา 2 -  "ทุกบันทึกมีสาระประโยชน์มากครับ ถ้าหยิบมาขยายผลต่อได้ จะทำให้ได้ความรู้ที่ลึก และเสริมสร้างความรู้ให้กับคนอ่านได้มากขึ้น"


และนี่คือเสวนาจานส้มตำในแบบที่ครบเครื่องครับ เพราะมีทั้งการจดบันทึกประเด็นสำคัญๆไปพร้อมกัน สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่ง คือ ความเปลี่ยนแปลงของคู่สนทนาทั้ง 2 ที่ใช้สำนวนที่ดีขึ้น ซึ่งพวกเขาได้ติดตามอ่าน gotoknow มาได้เกือบ 2 เดือนแล้ว ความคิด+มุมมองต่างๆของเขาเติบโตขึ้นจากการอ่านคลังความรู้ gotoknow แห่งนี้
และในตอนท้าย ยังได้รู้อีกด้วยว่า พวกเขาเป็นแฟนประจำของบล็อกไหนบ้าง !!!



หมายเลขบันทึก: 42503เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2006 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณนายบอนเป็นอย่างยิ่งเลยครับที่หยิบประเด็นของนายรักษ์มาถอดได้อย่างถึงกึ๋นเลยครับ

ประเด็นถัดมา ขอมอบรางวัลสุดยอดขวัญใจเด็กตลาดโต้รุ่งให้ไปเลยครับ เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ นายบอนเป็นขวัญใจทุก ๆ คนจริง ๆ ครับ

ประเด็นที่สาม ขอมอบรางวัลคุณเอื้อยอดเยี่ยม คุณอำนวยยอดเยี่ยม และคุณลิขิตยอดเยี่ยมให้กับนายบอนครับ ที่ทั้งเอื้อให้เกิดเสวนาจานส้มตำเกิดขึ้นอย่างมีคุณค่าและทรงพลัง โดยใช้ทุน "ส้มตำ" ทุนง่าย ๆ ที่อยู่กับสังคมไทยมานานครับ ยอดเยี่ยมมาก ๆ ครับ รวมทั้งเป็นผู้อำนวยกระบวนการเสวนา ตั้งประเด็นคำถามได้อย่างถึงใจ มีสมาธิตั้งมั่นในการจัดกระบวนการอย่างยอดเยี่ยมครับ สุดท้ายสกัด จับประเด็นได้อย่างละเอียดมาก ๆ ครับ อ่านแล้วเหมือนกันไปนั่งอยู่ในวงเสวนาด้วยเลยครับ ขาดอย่างเดียวก็คือนึกถึงรสชาดส้มตำไม่ออกครับ ว่าจะอร่อยสักแค่ไหน

ประเด็นที่สี่ ขอชื่นชมคู่สนทนาที่ 2 ครับ ที่เข้าใจถึงคุณค่าของ "ความรู้" มากกว่านักวิชาการอีกหลาย ๆ ท่านครับ เพราะความรู้ไม่ได้มาจากใบปริญญาเท่านั้นครับ การเป็น "บัณฑิต" คือคนที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องครับ ดังนั้นผมขออนุญาตเรียกคู่สนทนาที่สองว่า "บัณฑิตตลาดสด" ผู้ที่เข้าใจถึงความรู้อันแจ่มแจ้งและแท้จริงครับ

ประเด็นที่ห้า ขอชื่นชมคู่สนทนาที่ 1 ครับ ที่สะท้อนมุมมองนักวิชาการไทยที่รับเอาทฤษฎีต่าง ๆ เข้ามาเยอะแยะ รับมารู้มาแต่ไม่ทำเลยครับ จริง ๆ อย่างที่คู่สนทนาที่ 1 บอกครับ ทฤษฎีเยอะมาก TQM 6 Sigma เยอะแยะเต็มไปหมดเลยครับ ผมเคยสอนวิชาบริหารมาสี่ปี ยังจำทฤษฎีได้ไม่หมดเลยครับ รวมถึงตอนเลิกสอนมาแล้ว วันนั้นไปคุยกับพี่คนหนึ่งที่ทำงานบริษัทอยู่ เขาบอกว่ามีทฤษฎีใหม่มาอีกแล้ว ฟังแล้วเศร้าเลยครับ

ประเด็นสุดท้าย ขอปรบมือและชื่นชมกับทุก ๆ ท่านใน Gotoknow ครับ ไม่ว่าจะเป็น Dr.ka-poom, คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร, คนไร้กรอบ, โอ๋-อโณ, พี่เม่ย, คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, คุณสิริพร กุ่ยกระโทก คุณชายขอบ หรืออีกหลาย ๆ ท่านมิได้เอ่ยชื่อครับ

ทุก ๆ ท่านได้ร่วมกันรังสรรค์ความงดงามให้กับชีวิตและสังคมอย่างมาก ๆ ครับ

ดังนั้นผมขอมอบรางวัล "คนใจดี" ให้กับทุก ๆ ท่านเลยครับ

 

ความฝันมี  ปรบมือดัง  ลั่นสนั่นหู 

เปิดเว็บ gotoKnow ดู  พบว่ามี  คนบ่นถึง 

พิสูจน์ว่า  ใครหนอ  อ้อนายบอนวอนคนึง 

พูดสุดซึ้ง  ถ้อยวาจา  พาอาวรณ์

ขอบคุณคุณปภังกรกับการปรบมือ  เหมือนชาร์ทแบตให้หลังจากอ่านบันทึกคู่สนทนาของนายบอนขวัญใจตลาดโต้รุ่งจนหมดแรง

เก็บประเด็นให้ gotoKnow และทีมงานวิจัยให้อย่างดีเยี่ยม

นับว่าทำหน้าที่เป็น key informant ได้ดีเยี่ยมเช่นกัน

ขอบคุณนายบอนที่สะท้อนความคิด  จุดประกายต่อมความคิดให้

ขอบคุณทุกคนค่ะ

 

นายรักษ์ สุข (คุณปภังกร)ครับ
     ส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการต่อยอดความคิดออกในมารูปแบบนี้ ก็มาจากข้อคิดเห็นที่ให้สาระและประเด็นอย่างเต็มที่ครับ รวมทั้งประเด็นข้อคิดเห็นถึง 6 ประเด็น ก้ไม่แน่นะครับว่า ในอนาคต ทั้ง 6 ประเด้น อาจจะกลายเป็นเสวนาจานส้มตำอีกตอนหนึ่งก็ย่อมได้

    รางวัลสุดยอดขวัญใจนั้น เกิดจากบันทึกต่างๆใน gotoknow นี่เองครับ ถ้าไม่มีสาระความรู้ต่างๆ คู่สนทนาทั้ง 2 ย่อมม่สามารถที่จะมีประเด็นแลกเปลี่ยนกันได้อย่างแน่นอนครับ

    เสวนาส้มตำ ก็เหมือนกับการพบปะพูดคุยกันในช่วงสบายๆ กับการรับประทานอาหาร ที่มีส้มตำเป็นอาหารหลัก เวลาเจอกัน ก็คุยกันไป แล้วก็หยิบยกมาบันทึก ซึ่งก้เป็นวิถีชีวิตปกติในสังคมอยู่แล้วครับ เพียงแต่มาปรากฏใน gotoknow ซึ่งผู้เขียนบันทึกส่วนใหญ่ จะบันทึกจากประสบการณ์ องค์ความรู้ หน้าที่การงาน ฯลฯ

ประเด็นที่ 4 และ 5 นั้น นายรักษ์สุขวิเคราะห์ได้ถึงแก่นจริงๆครับ จากความคิดที่นำมา สามารถที่จะวิเคราะห์ออกได้ว่า คู่สนทนาคนที่ 1 กับ คนที่ 2 มีความเข้าใจใจแง่มุมไหนบ้าง คู่สนทนาคนที่ 1 จบบริหารธุรกิจมาครับ ถือว่า นายรักษ์สุข แกะรอยได้ถูกทางเหมือนกันนะครับ

 ครูอ้อยครับ (เขียนชื่อถูกนะครับ ไม่ได้ "ยี้ "ซะแล้ว)
      ขอบพระคุณมากครับ สำหรับบทกวียามราตรี ตอนตี 1  เขียนสำนวนได้โดนใจแบบนี้ คาดว่า คราวต่อไป เสวนาจานส้มตำ จะเป็นการเจาะเวลากลับไปเสวนากับครูอ้อยรึเปล่าเนี่ย!!!!

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท