ธรรมชาติของภาษา (Nature of Language)


ภาษาคือเครื่องมือสื่อสารระหว่างมนุษย์

  

เรียบเรียงโดย  เฉลิมลาภ ทองอาจ  

 

          การศึกษาภาษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาของนักเรียน  มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นผู้ที่สามารถใช้ภาษาไทยเพื่อคิดวิเคราะห์  คิดไตร่ตรอง  คิดวิจารณ์และคิดสร้างสรรค์ได้      ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพของนักเรียนในอนาคต  เหนือสิ่งอื่นใดการคิดเหล่านี้ย่อมก่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม  ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จ      พระเจ้าอยู่หัว  ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษา  ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   วันที่  ๗  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๔๙๘  ความตอนหนึ่งว่า 

                        “...ณ  บัดนี้  ข้าพเจ้าใคร่จะให้คติเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง  คือ  นอกจาก                      ความรู้และความสุจริตประจำตัวแล้ว  ท่านควรมีหรือตั้งจุดมุ่งหมายให้                                         แน่วแน่ในการงานที่จะกระทำนั้น  แล้วใช้ความคิดไตร่ตรองว่าจะทำอะไร                         อย่างไรบ้าง  กิจการที่กระทำหรือดำเนินอยู่นั้นจะเจริญก้าวหน้า  เกิดประโยชน์                         งอกงามยิ่งขึ้น  การหัดใช้ความคิดให้เป็นระเบียบตรงตามแนวทางหรือ                                         จุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้นั้น  เป็นความต้องการอยู่ในปัจจุบันนี้  ถ้าไม่ใช้ความคิด                              ผลงานเคยได้อย่างไรก็จะได้เพียงแค่นั้นเอง  เป็นงานที่ล้าหลัง  ตัวท่านเอง                              ก็จะเป็นคนล้าหลัง  ประเทศชาติของท่านก็ไม่ก้าวหน้าได้ทันสมัย  และ                       การใช้ความคิดดังว่านี้  จำเป็นต้องใช้สติควบคุม  มิฉะนั้นก็จะเป็นความคิด                     ฟุ้งซ่านซึ่งประเทศชาติไม่พึงปรารถนา....”

            จากพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมาข้างต้น  นักเรียนจะเห็นว่า  การใช้ความคิดนั้นต้องควบคู่กับการใช้สติ  หรือความรู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังคิดเรื่องอะไร  มีปัจจัยใดที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น  ส่วนใดเป็นสาเหตุและส่วนใดเป็นผล  เป็นต้น   การคิดเช่นนี้ย่อมยังผลในทางวัฒนะ  คือสร้างความเจริญงอกงามให้กับตนเองและสังคม  ยกตัวอย่างเช่น  การคิดหาสาเหตุของการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลต่างๆจากข่าวที่ได้ฟังหรืออ่านข่าว   คิดไตร่ตรองเรื่องหลักจริยธรรม      ในการใช้สัตว์เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์   คิดวิเคราะห์หาปัจจัยที่เกี่ยวกับข้อบกพร่องพฤติกรรมของตนเอง  หรือคิดสร้างสรรค์แนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น  ซึ่งการที่นักเรียนจะคิดเช่นนี้ได้  นักเรียนจะต้องมีความคิดพื้นฐานหรือ  “มโนทัศน์” เกี่ยวกับสิ่งต่างๆพอสมควร  คำถามที่อาจเกิดขึ้นคือ  แล้วมนุษย์จะสร้างมโนทัศน์ได้อย่างไร  นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาได้ค้นคว้าเพื่อตอบคำถามดังกล่าวมากว่าศตวรรษ  ในที่สุดจึงพบว่า  มนุษย์ใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติสร้างมโนทัศน์หรือภาพความคิด  ซึ่งเครื่องมือนั้นก็คือ   “ภาษา”  นั่นเอง  ดังนั้นการศึกไทยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนี้จึงเป็นโอกาสดีที่นักเรียนจะได้ฝึกปฏิบัติการใช้ภาษาซึ่งนอกจะเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพแล้ว  นักเรียนยังจะได้พัฒนาความคิดของตนเองให้เป็นผู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอด้วย 

             นักเรียนทราบหรือไม่ว่า  ภาษาเป็นเทคโนโลยีของมนุษย์  เพราะมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างกัน  โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดคือ  “เสียง”          ที่เปล่งออกมา  ภาษานับเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าหลายร้อยล้านปีนับตั้งแต่มีเผ่าพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นบนโลก  และเทคโนโลยีทางภาษานี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ  ข้อสรุปนี้นักภาษาศาสตร์ชื่อ  ฮอกเคท  (Hockett)  ได้ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะภาษาที่มนุษย์ใช้กับระบบการสื่อสารของสัตว์ไว้อย่างชัดเจน  โดยกล่าวว่า  ระบบการสื่อสารของสัตว์มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

                        ๑. ไม่สามารถใช้สัญลักษณ์พิเศษหรือถ้อยคำ

                        ๒. ไม่สามารถแยกองค์ประกอบของเสียงเป็นหน่วยเสียงได้

                        ๓. ไม่สามารถสื่อสารข้ามกาลเวลาหรือพูดถึงอดีตและอนาคตได้

                        ๔.  ไม่สามารถสร้างสรรค์เสียง  คำหรือข้อความใหม่ได้

                        ๕.  ไม่สามารถสอนและถ่ายทอดถึงกันได้

                        ๖.  ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างทางภาษาได้ 

            นักเรียนเห็นด้วยกับข้อสรุปของ ฮอกเคท หรือไม่  อย่างไรก็ตาม  เมื่อแนวคิดทางภาษาศาสตร์ขยายตัวมากยิ่งขึ้น  นักภาษาศาสตร์อีกคนหนึ่งคือ  ชอมสกี้  (Chomsky)  ได้เสนอหลักการว่า  ภาษาต่างๆในโลกมีลักษณะพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันทั้งด้านส่วนประกอบหรือหน่วยเสียงต่างๆ  และด้านโครงสร้างทางภาษา  ซึ่งเด็กทุกคนสามารถตอบสนองต่อลักษณะพื้นฐานของภาษาได้  เราสามารถสันนิษฐานจากข้อสรุปของเขาได้ว่า ภาษาไทยซึ่งเป็น ๑  ในหลายพันภาษาที่ใช้อยู่ปัจจุบัน  ก็ย่อมมีลักษณะพื้นฐานหรือธรรมชาติของภาษาที่คล้ายคลึงหรือมีความเป็นสากลเช่นเดียวกันกับภาษาอื่นๆ  ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้ในลำดับต่อจากนี้

 

 

         ภาษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็นหลายตระกูลตามรูปลักษณ์หรือไวยากรณ์ที่คล้ายคลึงกัน  เช่น  ภาษาตระกูลอินเดีย-ยุโรป  ภาษาตระกูลไทย-จีน  ภาษาตระกูลมอญ-เขมร  ภาษาตระกูลพม่า-ทิเบต  ภาษาตระกูลชวา-มลายู  เป็นต้น  ซึ่งในแต่ละตระกูลก็จะมีภาษาจำแนกแยกย่อยลงไปอีกมาก  เช่นภาษาตระกูลไทย-จีน  ยังแบ่งออกเป็น  ภาษาไทย  ภาษาจีน        ภาษาญวน  เป็นต้น  ซึ่งนักภาษาศาสตร์ได้ทำวิจัยเพื่อหาข้อค้นพบเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษา  ซึ่งหมายถึงลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งที่เรียกว่า  “ภาษา”  และพบว่าธรรมชาติของภาษาโดยส่วนใหญ่มีดังต่อไปนี้ 

          ๑.  ภาษาคือเสียงพูด 

                   นักภาษาศาสตร์ให้ความสำคัญกับ  “เสียงพูด”  ของมนุษย์มากกว่าตัวอักษรที่ใช้เขียน  ทั้งนี้เพราะถือว่า  แทบทุกภาษาเสียงพูดย่อมเกิดขึ้นก่อน  จากนั้นเมื่อกำหนดว่าเสียงใดหมายถึงสิ่งใดแล้ว  จึงสร้างอักษรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ไว้สำหรับบันทึกเสียง   ดังนั้นการศึกษาภาษาจึงต้องเริ่มจากการศึกษาให้รู้ถึง  “หน่วยเสียง”  ที่ปรากฏในภาษานั้นๆ  ยกตัวอย่างเช่น          หน่วยเสียงในภาษาไทยมี  3  ประเภท  คือ  หน่วยเสียงสระ  หน่วยเสียงพยัญชนะและหน่วยเสียงวรรณยุกต์  ซึ่งนักเรียนได้ทราบมาแล้วในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   โดยสำหรับหน่วยเสียงวรรณยุกต์นั้นพบในภาษาตระกูลไทย-จีนเท่านั้น  ดังนั้นภาษาส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยหน่วยเสียงสระและหน่วยเสียงพยัญชนะ   หน่วยเสียงเหล่านี้เมื่อมาประกอบกันเข้าก็จะเกิดเป็นพยางค์      เป็นคำ  เป็นประโยคและเป็นข้อความให้เจ้าของภาษาเลือกใช้สื่อสารได้ตามอัธยาศัย   

                        การศึกษาเรื่องหน่วยเสียงในภาษานั้น  ต้องใช้ความรู้ด้านชีววิทยาและฟิสิกส์พอสมควร  เพราะนักเรียนต้องศึกษาเกี่ยวกับกลไกของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียง         การเคลื่อนที่ของลิ้น  ปริมาตรในช่องปากและคลื่นเสียง  เป็นต้น  ความรู้ในส่วนนี้นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาการออกเสียงผิดหรือออกเสียงไม่ชัดเจนของตนเองและผู้อื่นได้ 

          ๒.  ภาษาคือระบบหรือโครงสร้าง

                   การออกเสียงเพื่อสื่อความหมายในแทบทุกภาษานั้น  มีระบบหรือโครงสร้างที่บังคับอยู่ภายใน  หาได้สามารถออกเสียงโดยอิสระไม่  มนุษย์จะต้องนำหน่วยเสียงที่มีอยู่ในภาษาตนเองมาจัดเรียงตามระบบหรือโครงสร้างที่ยึดถืออยู่  เช่น  ชาวฝรั่งเศส  ถ้าจะกล่าวว่า       “หนังสือสีแดง”  ก็ต้องนำเสียง   ๓  เสียง  มาเรียงต่อกันว่า  “le  livre  rouge”  (le-หนังสือ-แดง)  แต่หากเป็นชาวอังกฤษ  ที่ต้องการกล่าวข้อความเดียวกัน  ก็ต้องกล่าวว่า  “the  red  book”    (the-แดง-หนังสือ)  ซึ่งนักเรียนจะเห็นว่า  ใจความของข้อความนั้นเหมือนกัน   แต่เมื่อมีระบบหรือโครงสร้างทางภาษาที่แตกต่างกันแล้ว  การจัดว่างหน่วยเสียง/หน่วยคำในข้อความย่อมแตกต่างกันด้วย  ดังกรณีของภาษาฝรั่งเศสที่นำหน่วยคำขยายไว้หลังหน่วยคำที่ต้องการขยาย  ซึ่งตรงข้ามกับภาษาอังกฤษซึ่งหน่วยคำที่ขยายต้องวางไว้ข้างหน้าหน่วยคำที่ต้องการขยาย  ซึ่งระบบหรือกฎเกณฑ์นี้ในบางครั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุใดจึงต้องเป็นเช่นนั้น  ถือว่าเป็นเรื่องที่ใช้สืบเนื่องกันมาและเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง  ที่สำคัญการเรียนรู้ระบบหรือโครงสร้างทางภาษานั้นเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น 

                        เมื่อนักเรียนเข้าใจระบบหรือโครงสร้างของภาษาไทยที่ถูกต้อง  นักเรียนจะสามารถสื่อสารกับคนไทยคนอื่นๆได้เข้าใจรู้เรื่อง  เพราะผู้ที่พูดภาษาเดียวกันจะเข้าใจระบบหรือโครงสร้างของ  “ภาษาแม่”  ว่า  เหตุใจจึงกล่าวในลักษณะเช่นนั้น  หรือข้อความนี้จะต้องเขียนออกมาอย่างไรจึงจะเข้าใจ  นักเรียนควรสังเกตด้วยว่า  เมื่อนักเรียนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับระบบหรือโครงสร้างภาษาไทยแล้ว  จะทำให้นักเรียนสื่อสารผิดพลาดหรือไม่  เช่น  หากนักเรียนกล่าวกับเพื่อนที่ได้รับรางวัลว่า  “เรารู้สึกยินดีกับเธอเมื่อวานนี้ที่รางวัลได้รับจริงๆ”    เพื่อนของนักเรียนย่อมไม่เข้าใจเพราะหน่วยคำที่นำมาประกอบนั้น  ไม่ได้จัดวางในระบบโครงสร้างของภาษาไทย  ซึ่งที่จริงควรเรียงลำดับว่า  “เมื่อวานนี้  เรารู้สึกยินดีกับเธอจริงๆที่ได้รับรางวัล”  ดังนั้น  นักเรียนจึงควรตระหนักว่าในชีวิตประจำวัน  นักเรียนอาจต้องประสบปัญหากับเรื่องระบบหรือโครงสร้างของภาษา  ซึ่งหนทางป้องกันก็คือ  การศึกษาให้เข้าใจเรื่องระบบและโครงสร้างของภาษาและฝึกปฏิบัติการใช้ที่ถูกต้องจนเป็นนิสัย 

          ๓.  ภาษามีความหมาย

                   เมื่อมนุษย์รู้จักใช้การเปล่งเสียงเป็นเครื่องมือสื่อสารแล้ว  มนุษย์จึงได้พัฒนาวิธีการออกเสียงต่างๆให้เป็นระบบมากขึ้น  จากนั้นจึงกำหนด  “ความหมาย”  ให้กับเสียงเหล่านั้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ  ในทางภาษาศาสตร์นั้น  ความหมายแบ่งเป็น  ความหมายโดยตรง คือ  ความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมหรือตามการรับรู้ของเจ้าของภาษา คือเมื่อเปล่งเสียงออกมาแล้วอาจมีความหมายเดียวหรือหลายความหมายที่ชัดเจน  เช่น  เมื่อเปล่งเสียงว่า  “เข็ม” ในภาษาไทยมีถึง ๓  ความหมาย  คือหมายถึง  เหล็กแหลมที่ใช้เย็บผ้าหรือกลัดสิ่งของ  อย่างหนึ่ง  ชื่อไม้พุ่มในวงศ์  Rubiaceae  มีดอกตูมคล้ายเข็มอย่างหนึ่ง  หรือหมายถึงชื่อปลา     น้ำจืดขนาดเล็กที่มีลักษณะลำตัวยาวคล้ายเข็มก็ได้  ส่วนความหมายอีกประเภทหนึ่ง  คือ  ความหมายโดยนัย   คือ  ความหมายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากความหมายโดยตรงและเป็นความหมายที่เกิดจากความคิดของคนกลุ่มหนึ่งๆ  เช่น  คนกลุ่มหนึ่งเมื่อได้ฟังคำว่า  “เข็ม”  อาจคิดถึงสภาพความเจ็บปวดอันเนื่องจากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งทิ่มแทงจิตใจ  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจ    นึกถึงการรักษาโรคตามระบบแพทย์แผนจีนหรือเกาหลี  เป็นต้น 

                        การศึกษาเกี่ยวกับความหมายของเสียงในภาษาต่างๆจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก   เพราะความหมายซึ่งใช้แทนความคิดนั้นมีมหาศาล  แต่เสียงหรือคำที่ใช้สื่อนั้นมีจำกัด  ดังนั้น     คำคำหนึ่งอาจใช้สื่อแทนความหมายได้หลายความหมาย      ซึ่งนักเรียนสามารถฝึกทักษะการพิจารณาความหมายของตนเองได้โดยการเรียนรู้  “หลักการตีความ”  สารต่างๆ  เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง 

          ๔.  ภาษาเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นและเกิดจากความนิยมร่วมกัน

                   ไม่มีผู้ใดทราบว่าเหตุใดสังคมจึงคัดเลือกเสียงใดเสียงหนึ่งมาใช้เพื่อแทนความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังคมนั้น    เช่นในกรณีที่คนภาคกลางเรียกผลไม้ชนิดหนึ่งว่า  “มะละกอ”  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก  “บักหุ่ง”  ภาคเหนือเรียก  “มะก้วยเตด”  เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าภาษาเป็นสิ่งที่สังคมหนึ่งๆสมมติขึ้นใช้  แล้วเกิดความนิยมกระทั่งตกลงใช้ร่วมกัน                    ดังนั้นเสียงที่เปล่งออกมาจึงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความหมาย   เพราะความหมายเป็นสิ่งที่สังคมสมมติขึ้นและโดยส่วนใหญ่แล้วเสียงจะไม่สัมพันธ์กับความหมาย  เช่น  เมื่อนักเรียนได้ยินเสียงที่เปล่งออกมาว่า  “ศีรษะ”  (  /สี-สะ/  )  เสียงทั้ง  ๒  เสียงนี้แท้ที่จริงมิได้มีเสียงใดที่ทำให้นักเรียนนึกถึงภาพของอวัยวะส่วนบนสุดของร่างกาย  แต่ที่นักเรียนเข้าใจความหมายได้เพราะนักเรียนได้จดจำความหมายของคำนี้และเก็บไว้ในระบบความทรงจำมาแต่เยาว์วัย  เช่นเดียวกันกับเสียงในคำว่า  “โทรศัพท์” ( /โท-ระ-สับ/  ) ก็มิได้สื่อความหมายถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์          มีปุ่มสำหรับกดหรือสามารถส่งสัญญาณเสียงได้   อย่างไรก็ตาม  มีเสียงอยู่ส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับความหมาย  เช่น  เสียงของสระ  /เอ/  ในกลุ่มคำว่า  “เก  เข  เฉ  เบ้   เป๋   เย้  เห”  เหล่านี้ที่สื่อความหมายถึงความคดงอ    ความไม่ตรง  หรืออย่างคำเลียนเสียงธรรมชาติ  เช่น   แมว   ตุ๊กแก  โครม    ซ่า  ซู่  ฉู่ฉี่  ซึ่งคำเหล่านี้มีเสียงที่สัมพันธ์กับความหมายทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเสียงทั้งหมดในภาษา  เสียงที่สัมพันธ์กับความหมายนั้นมีจำนวนน้อยมาก     

          ๕.  ภาษามีความสร้างสรรค์

                        ความสร้างสรรค์ในที่นี้คือการที่มนุษย์สามารถดัดแปลงภาษาตามความต้องการเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารของตนเองได้  ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงสามารถใช้ภาษาสร้างสรรค์ถ้อยคำหรือข้อความต่างๆได้ไม่จำกัด  ยกตัวอย่างเช่น  หากนักเรียนได้เรียนรู้คำว่า  “ใคร  ใช้  ให้   ไป”     นักเรียนสามารถสร้างสรรค์ประโยคจากคำทั้ง  ๔  คำ       ได้หลายประโยค  เช่น  ให้ใครไปใช้             ใครไปให้ใช้  ใช้ให้ใครไป   ให้ใครใช้ไป  เป็นต้น  ซึ่งนักเรียนจะเห็นได้ว่าประโยคเหล่านี้มีความหมายที่แตกต่างกัน  ในขณะที่สัตว์ไม่สามารถสร้างสรรค์เสียงที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารได้หลากหลายเหมือนมนุษย์  ในขณะที่อาจมีผู้แย้งว่า  มีสัตว์บางชนิดสามารถเลียนเสียงมนุษย์ได้  ซึ่งก็เป็นความจริงที่สัตว์สามารถ  “เลียน” เสียงได้  เพราะสัตว์สามารถจดจำเสียง  แต่สัตว์ไม่สามารถนำเสียงต่างๆมาเข้าระบบทางไวยากรณ์และสื่อสารในสถานการณ์ใหม่ๆได้  

                        ความสร้างสรรค์ของภาษาอีกประการหนึ่งคือ  มนุษย์สามารถขยายประโยคต่อเนื่องไปจนไม่สิ้นสุด  เพราะมนุษย์มี  “คลังความหมาย”  จำนวนมาก  ตราบใดที่สามารถนำเสียงหรือคำมาเรียงต่อกันแล้วยังสามารถสื่อความหมายตามหลักไวยากรณ์ของภาษา  มนุษย์ก็สามารถขยายประโยคหรือข้อความให้ยาวมากขึ้นเรื่อยๆ  กรณีนี้นักเรียนเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่านักเรียนสามารถขยายประโยคใดประโยคหนึ่งให้ยาวออกไปได้โดยไม่จำกัด  เช่น  หากนักเรียนมีประโยค  “นักวิทยาศาสตร์ทดลองอุปกรณ์ใหม่”  นักเรียนสามารถขยายประโยคดังกล่าวให้ยาวออกไปได้หรือไม่ 

          ๖.  ภาษามีเอกลักษณ์

                   ทุกภาษาย่อมมีเอกลักษณ์ของตนเอง  คำว่าเอกลักษณ์ในที่นี้หมายถึงลักษณะที่มีเหมือนกันหรือร่วมกันของแต่ละภาษา  ซึ่งลักษณะร่วมดังกล่าวนี้ทำให้ภาษาหนึ่งแตกต่างจากภาษาหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น  ภาษาไทย  มีเอกลักษณ์หลายประการ  เช่น  ผู้ใช้ภาษานิยมใช้คำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองเพื่อให้ฟังแล้วรื่นหู  นักเรียนจะสังเกตได้ว่าชื่อบุคคล  ชื่อสถานที่ต่างๆ  นิยมร้อยเรียงให้เกิดเสียงสัมผัสขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น  ชื่อประตูสำคัญของพระบรมมหาราชวัง  กรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีทั้งสิ้น  ๑๓  ประตู  ท่านได้ตั้งชื่อไว้ดังนี้   รัตนพิศาล วิมานเทเวศร์         วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์     สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ   วิจิตรบรรจง   อนงคารักษ์   พิทักษ์บวร   สุนทรทิศา    เทวาภิรมย์    อุดมสุดารักษ์  และในขณะเดียวกัน  ก็สามารถอ่านชื่อย้อนจากหลังมาหน้าได้อย่างคล้องจอง  ดังนี้    รักษ์สุดาอุดม  ภิรมย์เทวา ทิศาสุนทร บวรพิทักษ์  รักษ์คาอนง  บรรจงวิจิตร สิทธิไชยศักดิ์ พิทักษ์เทวา โสภาสวัสดิ นพรัตน์มณี ไชยศรีวิเศษ เทเวศร์วิมาน พิศาลรัตน

                        เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของภาษาไทย  คือ  การผวนคำ  การผวนคำนี้คือ    การสลับเสียงพยัญชนะต้นของคำแล้วสลับตำแหน่งของคำใหม่  แล้วทำให้เกิดความหมายใหม่ถือเป็นการละเล่นเกี่ยวกับคำในภาษาไทย  เช่น  หมาตาย (หมายตา)   ใกล้ม้วย (กล้วยไม้)           น้องรัก (นักร้อง)   ขี้เถ้า (เข้าที่)   ความตาย (ควายตาม)  เบอร์ห้า (บ้าเห่อ)   ไตวาย (ตายไว)    เป็นต้น  โดยส่วนมากการเล่นคำผวนทำให้เกิดความสนุกสนานในการใช้ภาษา  ดังนั้นมีมีผู้นำไปเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า  “ปริศนาผะหมี”  โดยได้รับความนิยมอย่างมากที่อำเภอ        พนัสนิคม  จังหวัดชลบุรี  และอำเภอบางบ่อ  จังหวัดสมุทรปราการ  ตัวอย่างปริศนาผะหมีคำผวน  เช่น 

                                          แต หนึ่งนายหมู่ไม้           มีพิษ                      (แตยำ – ตำแย)
                                    แต หนึ่งกวนสะกิด                ยั่วเย้า                      (แตยอ – ตอแย)
                                    แต หนึ่งดัดจริต                     โป้ปด                      (แตหลอ – ตอแหล)
                                    แต หนึ่งสัตว์สี่เท้า                 กู่ก้องร้องไกล             (แตกุ๊ก – ตุ๊กแก)

                        การมีระดับของภาษาถือเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของภาษาไทย  เนื่องจากคนไทยจะคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  ดังนั้นเราจึงมีคำที่มีความหมายเดียวกันแต่ใช้สำหรับกลุ่มบุคคลแตกต่างกัน  ยกตัวอย่างเช่น  คำที่มีความหมายถึงการนำอาหารเข้าสู่ปาก       มีหลายคำ  คือ  แดก  ยัด  ขม้ำ  เขมือบ  ล่อ  ฟัด   ฟาด   กิน  ทาน  รับประทาน  เสวย  บริโภค  หรืออย่างคำสรรพนามบุรุษที่  ๑  ก็มีหลายคำ  คือ  กู  ข้า  ข้าน้อย   ผม  ดิฉัน   ข้าพเจ้า   กระหม่อม   เกล้ากระหม่อมฉัน    ข้าพระพุทธเจ้า   ซึ่งแต่ละคำใช้เฉพาะกลุ่มคนหรือกาลเทศะหนึ่งๆเท่านั้น   ที่ได้กล่าวมานี้คือเอกลักษณ์ของภาษาไทยซึ่งคนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ

          ๗.  ภาษามีความเหมือนและความแตกต่างระหว่างภาษาด้วยกัน

                        นักภาษาศาสตร์ได้จัดภาษาไว้เป็นตระกูลๆ  ตามลักษณะบางประการที่เหมือนกัน  แต่เมื่อพิจารณาไปถึงระดับไวยากรณ์ก็พบว่าระหว่างภาษาตระกูลเดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่   ยกตัวอย่างเช่น  ภาษาไทยและภาษาจีน  ซึ่งจัดอยู่ในภาษาตระกูลเดียวกัน  ต่างมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่มากไม่ว่าจะเป็นในด้านที่เป็นภาษาคำโดดด้วยกันทั้งคู่  คือ  คำแต่ละคำสามารถนำไปใช้ได้อย่างอิสระ  โดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปคำตามเพศ  พจน์  กาล  การก  เหมือนกับภาษาบาลี สันสกฤต   การเรียงลำดับคำในประโยคก็คล้ายกัน  คือขึ้นต้นด้วยบทประธาน          บทกริยาและบทกรรมตามลำดับ  นอกจากนี้ยังมีการสร้างคำในลักษณะการนำคำมาประสมกัน        มีคำลักษณะนาม  และมีระบบเสียงวรรณยุกต์เหมือนกันอีกด้วย  ตัวอย่างเช่น  คำว่า   ก่าว   ในภาษาจีนฮกเกี้ยนมีความหมายว่า  ถึง  มา  หรือ เกมไพ่  แต่เมื่อเปลี่ยนเสียงเป็น  ก้าว   ก็จะมีความหมายว่า  สุนัข  หรือเมื่อเปลี่ยนเสียงเป็น  ก๋าว   จะมีความหมายว่า   ลิง  เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตาม  ภาษาจีนก็ยังมีความแตกต่างจากภาษาไทยอยู่บ้าง  เช่น  มีระบบการเขียนที่แตกต่างกัน  มีเสียงควบกล้ำบางเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย  เป็นต้น

                        นอกจากภาษาตระกูลเดียวกันจะมีความเหมือนกันแล้ว  ภาษาต่างตระกูลกันก็ยังมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันด้วย  เช่น  ภาษาไทยกับภาษาเขมร  ที่จัดว่าเป็นภาษาคนละตระกูลกัน  แต่ลักษณะการสร้างคำของภาษาทั้งสองก็มีความคล้ายคลึงกันมาก  ตัวอย่างเช่น    ในภาษาทั้งสอง  เมื่อต้องการขยายคำใด  ก็จะวางตำแหน่งคำขยายไว้หลังคำที่ต้องการขยาย  ดังนี้

ภาษาเขมร

ภาษาไทย

                         ผกาลฺออ

                          ดอกไม้สวย

                         บายตุม

                          ข้าวสุก

                        นครธมฺ

                          เมืองใหญ่

                        ปฺรักแข

                          เงินเดือน

 

                         นักเรียนควรสังเกตความเหมือนและความแตกต่างระหว่างภาษาโดยอาจเริ่มจากการศึกษาความแตกต่างระหว่างภาษาถิ่นต่างๆ  ในเรื่องของเสียง คำ  ความหมายหรือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์เบื้องต้น  แล้วจัดทำเป็นโครงงานเพื่อรวบรวมลักษณะภาษาต่างๆไว้  เพื่อให้ในอนาคตจะได้มีแหล่งข้อมูลสำหรับค้นคว้าต่อไป 

          ๘.  ภาษามีการเปลี่ยนแปลง

                        ภาษาทุกภาษาย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง  ยกเว้นภาษาที่ตายแล้ว  เช่นภาษาละติน  ภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี  ซึ่งภาษาเหล่านี้เป็นภาษาที่มีระบบไวยากรณ์ที่เคร่งครัดมากทำให้ยากที่จะนำมาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน   แม้จะมีการใช้อยู่บ้างก็เป็นแต่เพียงวงจำกัด  เช่นในหมู่นักภาษาศาสตร์  นักวิชาการ  นักศาสนศาสตร์  เป็นต้น  สาเหตุการเปลี่ยนแปลงของภาษามีหลายประการ  แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเพราะภาษามีความผูกพันกับผู้ใช้คือมนุษย์  ซึ่งก็มีความแตกต่างและแปรเปลี่ยนโดยตลอด  ฉะนั้นภาษาของแต่ละบุคคล  กลุ่มชน  สังคมหรือประเทศก็ย่อมเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการใช้นี้ทั้งสิ้น  ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่พบในภาษานั้นเป็นธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า  “วัฒนธรรม”  อันหมายถึง  สิ่งที่เป็นความเจริญซึ่งหมู่ชนสร้างสรรค์ขึ้น   วัฒนธรรมใดเป็นที่นิยมก็จะคงอยู่และสืบเนื่องมาไปยังอนาคต  ในขณะที่วัฒนธรรมใดสร้างความรู้สึกล้าหลัง  สังคมก็จะเสื่อมความนิยมลงในที่สุด  และวัฒนธรรมนั้นก็จะสูญหายไป  ภาษาก็จัดอยู่ในลักษณะเช่นเดียวกับวัฒนธรรมด้วย  คือมีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากคำบางคำที่ปรากฏในวรรณคดีไทยโบราณ  เช่น  เขือ  ผลก  ทะบู    ทยา   แตระ  เตรน  ชำงือ   เหล่านี้แทบไม่ใช้ในการสื่อสารทั้งการพูดและเขียนปัจจุบันแล้ว  ทั้งนี้อาจสรุปสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของภาษาออกได้หลายประการ   ดังนี้

                        ๑.  การออกเสียงในชีวิตประจำวัน   การออกเสียงคำต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับความนิยมส่วนบุคคล  บางคนออกเสียงให้สั้นเข้าเพื่อประหยัดถ้อยคำและเวลาในการพูด  เช่น  คำว่าอาจารย์   ก็ออกเสียงว่า  /จาน/   มหาวิทยาลัย  ก็ออกเสียงว่า  /หมา-ลัย/    โรงพยาบาล  ก็ออกเสียงว่า  /โรง-บาน/  เป็นต้น  หรือบางคนเปลี่ยนเสียงสระและพยัญชนะเพื่อให้สะดวกในการพูด  เช่นคำว่า  อย่างไร  ออกเสียงเป็น  /ยังไง/   จริงหรือไม่ ออกเสียงเป็น  /จริงดิ/  หรือ  /เจงเร่อ/  นอกจากนี้ยังมีบางคนที่เปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ของคำเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความสนใจ  ทำให้คำบางคำมีเสียงเพี้ยนหรือดัดแปรไปมากกว่าปกติ  เช่น  พนักงานประชาสัมพันธ์ในห้างสรรพสินค้า  หรือ  สตรีที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สินค้าต่างๆตามงาน  (pretty)  เป็นต้น                             จากสภาพดังที่กล่าวมานี้  นักเรียนจึงจำเป็นต้องสังเกตลักษณะการออกเสียงในชีวิตประจำวันของตนเองและผู้อื่นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง  และหากพบว่าหากออกเสียงผิดก็ควรหาแนวทางแก้ไขต่อไป 

                       ๒.  การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม  เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  จึงทำให้มีคำใหม่ๆเกิดขึ้นเพื่อรองรับกับความเจริญก้าวหน้าหรือนวัตกรรมที่สร้างขึ้น   ยกตัวอย่าเช่น  ปัจจุบันมีคำว่า  นาโนเทคโนโลยี    วิศวพันธุกรรม   สัจนิยมมหัศจรรย์    แฮนดี้ไดรฟ์  เป็นต้น  ซึ่งคำเหล่านี้นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  นอกจากนี้   ความหมายของคำบางคำก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  เช่น  คำว่า  “ทางลัด”  แต่เดิมหมายถึงทางที่มีระยะทางสั้นกว่าทางใหญ่   แต่ปัจจุบันน

หมายเลขบันทึก: 424757เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท