ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

การลาของข้าราชการ


สรุประเบียบการลาของข้าราชการ

สรุประเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๕ 

ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๓๙) และฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๔๒)

นายศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

****************

 ๑.  ผู้รักษาการตามระเบียบ คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับระเบียบนี้

๒.  ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม และมีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับระเบียบนี้

๓. หากการตีความของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงยุติธรรม    ขัดแย้งกันให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีวินิจฉัยชี้ขาด

๔. ปลัดกระทรวงตามระเบียบนี้ หมายรวมถึง ปลัดทบวง และปลัดกรุงเทพมหานคร

๕. หัวหน้าส่วนราชการ ตามระเบียบนี้ นอกจากอธิบดีแล้ว หมายรวมถึง หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักในสังกัดกรุงเทพมหานคร นายกราชบัณฑิตยสภา  และเลขานุการรัฐมนตรี

๖. เข้ารับการตรวจเลือก หมายความว่า  เข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์)

๗. เข้ารับการเตรียมพล  หมายความว่า  เข้ารับการระดมพล เข้ารับการตรวจสอบพล เข้ารับการฝึกวิชาทหาร (ร.ด.) หรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

๘. การไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ไม่รวมถึงการเดินทางไปราชการตามระเบียบว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการหรือการจัดประชุมของทางราชการ การไปรับราชการประจำในต่างประเทศ การไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน ณ ต่างประเทศ    

๙. ลาติดตามคู่สมรส หมายความว่า ๑) สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ๒) คู่สมรสต้องเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ๓) เป็นไปตามความต้องการของทางราชการ ๔) ระยะเวลาตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป ไม่รวมถึง กรณีคู่สมรสลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ    

๑๐. การลาตามระเบียบนี้ หากมีระเบียบหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เป็นพิเศษ ผู้ลาและผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาต ต้องปฏิบัติตาม

๑๑. ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลา จะมอบหมายหรือมอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นผู้พิจารณาหรืออนุญาตแทนก็ได้  แต่ต้องทำเป็นหนังสือ

๑๒. ข้าราชการที่ไปช่วยราชการหน่วยงานอื่น  มีความประสงค์จะลาให้เสนอต่อผู้บังคับบัญชาที่ไปช่วยราชการ

๑๓. การนับวันลา นับตามปีงบประมาณ 

๑๔. วันลากิจส่วนตัว วันลาป่วย และวันลาพักผ่อน ให้นับเฉพาะวันทำการ

๑๕. การลาป่วยหรือลากิจส่วนตัว ที่มีระยะเวลาต่อเนื่องกัน เป็นปีเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ให้นับเป็นการลาหนึ่งครั้ง ถ้าจำนวนการลาครั้งหนึ่งรวมเกินอำนาจผู้มีอำนาจอนุญาตระดับใด ให้เสนอใบลาตามลำดับจนถึง  ผู้มีอำนาจอนุญาต

๑๖. ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ มีอำนาจอนุญาตให้ข้าราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาคในสังกัดจังหวัดหรืออำเภอที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศใด ที่ขออนุญาตไปต่างประเทศนั้นได้ ครั้งหนึ่ง ไม่เกิน ๗ วัน (ผู้ว่าราชการจังหวัด) และ ๓ วัน (นายอำเภอ)

๑๗. การลา แบ่งเป็น ๙ ประเภท คือ ๑) ลาป่วย ๒) ลาคลอดบุตร ๓) ลากิจส่วนตัว ๔) ลาพักผ่อน ๕) ลาอุปสมบทหรือลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ๖) ลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ๗) ลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ๘) ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ๙) ลาติดตามคู่สมรส

๑๘. การลาป่วย ตั้งแต่ ๓๐ วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแนบกับใบลาหรือผู้มีอำนาจอนุญาตการลา อาจให้ใช้ใบรับรองของแพทย์ตามที่ผู้มีอำนาจอนุญาตการลา เห็นชอบก็ได้

๑๙. การลาป่วย ไม่ถึง ๓๐ วัน ครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตการลาเห็นสมควรให้มีใบรับรองแพทย์ หรือสั่งให้ไปรับการตรวจจากแพทย์ของทางราชการเพื่อประกอบการลาก็ได้

๒๐. การลาป่วย และลาคลอดบุตร อาจให้ผู้อื่นลาแทนได้หากผู้ขอลาไม่สามารถลงชื่อได้ หากสามารถลงชื่อได้แล้วให้ส่งใบลาโดยเร็ว

๒๑. ลาคลอดบุตรให้ส่งใบลาก่อน หรือในวันที่ลา สิทธิการลาคลอดบุตรได้ ๙๐ วัน (โดยได้รับเงินเดือน และไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์) ส่วนอัตราจ้างสามารถลาได้ รวม ๙๐ วันทำการ โดย ๔๕ วันทำการแรก ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากหน่วยงานราชการนั้น และสามารถลาได้อีก ๔๕ วันทำการหลัง (รับเงินจากประกันสังคม)

๒๒. ข้าราชการลาเลี้ยงดูบุตร มีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่องจากลาคลอด ได้ไม่เกิน ๓๐ วันทำการโดยได้รับเงินเดือน ถ้าจะลาต่อลาได้อีกรวมแล้วไม่เกิน  ๑๕๐ วันทำการ โดยไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน (ลากิจส่วนตัว+ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ได้ปีละไม่เกิน ๔๕ วันทำการ)

๒๓. ข้าราชการมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ในหนึ่งปีได้ ๑๐ วันทำการ เว้นแต่บรรจุเข้ารับราชการไม่ถึง ๖ เดือน ดังนี้

      ๑) บรรจุเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก

      ๒) ลาออกจากราชการเพราะเหตุส่วนตัว แล้วต่อมาได้รับการบรรจุเข้ารับราชการอีก

      ๓) ลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือสมัครรับเลือกตั้ง นับแต่วันออกจากราชการ

      ๔) ถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีอื่น (นอกจากกรณีไปรับราชการทหาร และกรณีไปปฏิบัติงานตามความประสงค์ของทางราชการ แล้วต่อมาได้รับการบรรจุเข้ารับราชการอีก)

๒๔. ข้าราชการลาพักผ่อนประจำปีไม่ครบ ๑๐ วันทำการ ให้สะสมวันลารวมในปีต่อไปได้ ไม่เกิน ๒๐ วันทำการ (วันลาพักผ่อนสะสม+วันลาพักผ่อนปีปัจจุบัน  ไม่เกิน ๒๐ วันทำการ)

 ๒๕. ข้าราชการที่รับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี มีสิทธิสะสมวันลา รวมกับวันลาพักผ่อน ในปีต่อไปได้ ไม่เกิน ๓๐ วันทำการ (วันลาพักผ่อนสะสม+วันลาพักผ่อนปีปัจจุบัน ไม่เกิน ๓๐ วันทำการ)

๒๖. ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ที่มีวันหยุดภาคการศึกษา หากได้หยุดราชการตามวันหยุดภาคการศึกษา เกินกว่าวันลาพักผ่อนตามระเบียบนี้   ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน

๒๗. ข้าราชการที่มีความประสงค์จะลาอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์ ต้องจัดส่งใบลาก่อนวันอุปสมบท หรือไปประกอบพิธีฮัจย์ ไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน  หากไม่สามารถส่งใบลาได้ตามกำหนดให้ชี้แจงเหตุผลประกอบและให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลา

๒๘. ลาอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์ ต้องอุปสมบทหรือเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์  ภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันเริ่มลา และต้องกลับมารายงายตัวปฏิบัติราชการ ภายใน ๕ วันนับแต่วันลาสิกขาหรือเดินทางกลับถึงประเทศไทย

๒๙. หากลาอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์แล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้     ให้ถือวันที่ลานั้นเป็นวันลากิจส่วนตัว

๓๐.  ข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกเข้ารับการตรวจเลือก ต้องรายงานลาผู้บังคับบัญชา ก่อนวันเข้ารับการตรวจเลือก ไม่น้อยกว่า ๔๘ ชั่วโมง (๒ วัน) และไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาต และให้บังคับบัญชา เสนอรายงานไปตามลำดับถึงหัวหน้าส่วนราชการ

๓๑.  ข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกเข้ารับการเตรียมพล ต้องรายงานลาผู้บังคับบัญชา ภายใน ๔๘ ชั่วโมง (๒ วัน) นับแต่วันรับหมายเรียก และไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาต และให้บังคับบัญชา เสนอรายงานไปตามลำดับถึงหัวหน้าส่วนราชการ

๓๒. เมื่อพ้นจากการลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ให้รายงานตัวปฏิบัติราชการ ภายใน    ๗ วัน เว้นแต่เหตุจำเป็นหัวหน้าส่วนราชการ  หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรง ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการ กทม. หรือ รมต.เจ้าสังกัด อาจขยายเวลาได้ รวมแล้วไม่เกิน ๑๕ วัน

๓๓. ข้าราชการที่จะลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ ให้เสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรง เพื่อพิจารณาอนุญาต

๓๔. การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ให้ส่งใบลาถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงรัฐมนตรี  เจ้าสังกัดเพื่อพิจารณา

๓๕. การไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ มี ๒ ประเภท คือ

    ประเภทที่ ๑  - ประเทศไทยเป็นสมาชิกและเป็นวาระที่ต้องส่งไปปฏิบัติงาน

                       - รัฐบาลมีข้อผูกพันที่ต้องส่งไปปฏิบัติงานตามความตกลงระหว่างประเทศ

                     - เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศตามความต้องการของรัฐบาล

      ประเภทที่ ๒  - ไปปฏิบัติงานนอกเหนือจากประเภทที่ ๑

๓๖. คุณสมบัติของข้าราชการที่ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ

      ๑) เป็นข้าราชการประจำต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า ๕ ปี ก่อนถึงวันได้รับอนุญาต

          เว้นแต่  ๑.๑) ไปปฏิบัติงานในองค์การสหประชาชาติ  ไม่น้อยกว่า ๒ ปี

๑.๒)  ผู้เคยปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ ๒ มาแล้ว ต้องมีเวลาการกลับมาปฏิบัติหน้าที่ครั้งสุดท้าย ไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับแต่วันเริ่มกลับมาปฏิบัติหน้าที่

         ๒) ผู้ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ ๒ อายุไม่เกิน ๕๒ ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ได้รับอนุญาต

       ๓) ความรู้ ความสามารถเหมาะสม ความประพฤติเรียบร้อย ไม่อยู่ระหว่างสอบสวนว่าทำผิดวินัย

    *** การยกเว้นหรือผ่อนผันคุณสมบัติ ให้เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัด พิจารณา ***

๓๗. ระยะเวลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ ๑ ไม่เกิน ๔ ปี/ประเภทที่ ๒ ไม่เกิน ๑ ปี โดยไม่ได้รับเงินเดือน  เว้นแต่ อัตราเงินเดือนที่ได้รับจากองค์การระหว่างประเทศต่ำกว่าอัตราเงินเดือนจากทางราชการ  กลับมาแล้วต้องรายงานตัวภายใน ๑๐ วัน นับจากวันถัดจากวันเสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน และรายงานผลให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันกลับมาปฏิบัติงาน

๓๘. ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ ๒ เกินกว่า ๑ ปี           ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ออกจากราชการในช่วงที่เกินระยะเวลา ๑ ปี

๓๙. ส่วนราชการต้นสังกัดต้องทำสัญญา ให้ผู้ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ ๒ ให้กลับมารับราชการเป็นเวลา ๑ เท่า ของการไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ  (ส่งสัญญาให้กระทรวงการคลัง ๑ ชุด และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ๑ ชุด) หากไม่กลับ ๑) ชดใช้เป็นจำนวนเท่ากับ เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยระยะเวลา (เป็นเดือน) ที่ไปปฏิบัติงาน เศษของเดือนเกิน ๑๕ วัน คิดเป็นหนึ่งเดือน  ๒) กลับมารับราชการไม่ครบตามสัญญา ชดใช้เป็นเบี้ยปรับตาม ๑) ตามส่วน

๔๐. ลาติดตามคู่สมรสให้เสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงเพื่อพิจารณาอนุญาต  ลาได้ไม่เกิน ๒ ปี จำเป็นให้ลาต่อได้อีก ๒ ปี รวมไม่เกิน ๔ ปี  ถ้าเกิน ๔ ปี   ให้ลาออกจากราชการ

๔๑. ลาครบกำหนดตามระยะเวลาแล้ว ไม่มีสิทธิลาอีก ยกเว้น คู่สมรสกลับมาปฏิบัติงานประจำประเทศไทย แล้วต่อมาได้รับคำสั่งไปปฏิบัติงานในต่างประเทศอีกช่วงเวลาใหม่

๔๒. การลาทุกประเภทของข้าราชการตุลาการในตำแหน่งข้าราชการธุรการหรือตำแหน่งการเมืองในกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในศาล ให้เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงยุติธรรม

๔๓. ข้าราชการตุลาการหรือดะโต๊ะยุติธรรม ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

๔๔. การลาทุกประเภท และการไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ให้อยู่ในดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ

๔๕. การลาทุกประเภท และการไปต่างประเทศของข้าราชการการเมือง ให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หรือในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดแล้วแต่กรณีเป็นผู้พิจารณาอนุญาต

๔๖. การลาทุกประเภท และการไปต่างประเทศของข้าราชการการเมืองกรุงเทพมหานคร ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือประธานสภากรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณีเป็นผู้พิจารณาอนุญาต

๔๗. อำนาจอนุญาตการลา ของผู้บริหารสถานศึกษา

      ๑) ลากิจส่วนตัว ครั้งหนึ่ง ไม่เกิน ๓๐ วันทำการ

      ๒) ลาป่วย ครั้งหนึ่ง ไม่เกิน ๖๐ วันทำการ

      ๑) ลาคลอดบุตร ครั้งหนึ่ง ไม่เกิน ๙๐ วันทำการ

๔๘. ลากิจส่วนตัว  ลาป่วย  ลาคลอดบุตร  นับเฉพาะวันทำการ

๔๙. หลักเกณฑ์การลาบ่อย (ปฏิบัติงานในสถานศึกษาลาเกิน ๖ ครั้ง ปฏิบัติงานในสำนักงานลาเกิน ๘ ครั้ง)

๕๐. ลาเกินครั้งที่กำหนด แต่รวมวันลาไม่เกิน ๑๕ วัน ผลงานดีเด่นอาจผ่อนผันให้เลื่อนเงินเดือนได้

๕๑. หลักเกณฑ์สายเนือง ๆ (ปฏิบัติงานในสถานศึกษา สายเกิน ๘ ครั้ง      ปฏิบัติงานในสำนักงาน สายเกิน ๙ ครั้ง)

 *************************

 

หมายเลขบันทึก: 424071เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2011 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ ก็ยังมีความรัก สำหรับครอบครัวของทุก ๆ คนครับ    คุณยาย ขอให้คุณยายมีความสุขกับวันครอบครัว และวันแห่งความรักที่มีทุก ๆ วันครับ...

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท