ตลาดนัดความรู้ จังหวัดปัตตานี (วันที่ ๒)


ผู้นำเสนอต่างมีสีหน้าแววตาที่สดใส เล่าเรื่องดีๆ ที่เรียนรู้จากเพื่อนและคิดว่าตนจะนำไปใช้ต่อ

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙

ดิฉันตื่นแต่เช้าตรู่อีกตามเคย เอาข้อมูลบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่พิมพ์ไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้มาพิจารณาว่าจะจับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีม รพ.ใดบ้าง ครั้งนี้พยายามจะจัดให้ได้แลกเปลี่ยนกันหลายๆ รพ. การจัดตลาดนัดความรู้ครั้งที่ผ่านๆ มา เราได้รับ feed back เสมอว่าอยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากกว่าที่จัดให้เป็นคู่ๆ ๒ รพ. ครั้งนี้แต่ละทีมมากันถึง ๖ คน จึงสามารถแบ่งเป็น ๓-๓ หรือ ๒-๒-๒ ได้ ใช้เวลาไม่เบาสำหรับการจับคู่ให้ลงตัวและให้มีการกระจายคนได้อย่างเหมาะสม ดิฉันใช้หลักว่าถ้า competence ไหนมี “ผู้พร้อมให้” แห่งเดียว ก็จัด “ผู้ใฝ่รู้” มา ๑-๒ ทีม (รวมแลกเปลี่ยนกัน ๒-๓ ทีม) ส่วน competence ที่มี “ผู้พร้อมให้” ๒ แห่ง ก็จัด “ผู้ใฝ่รู้” มา ๒ ทีม (รวมแลกเปลี่ยนกัน ๔ ทีม)

ดิฉันเก็บข้าวของทั้งหมดกะว่าไม่กลับมาห้องพักอีกแล้ว รับประทานอาหารเช้า ๐๗.๐๐ น. เตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมวันที่ ๒ ตอน ๐๘.๐๐ น.

เริ่มด้วยกิจกรรมอุ่นเครื่อง เป็นการออกกำลังกายด้วยเพลงทางใต้ ๑๐ ท่าด้วยกัน นำโดยคุณอาฬสา หุตะเจริญและคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน เราใช้ VCD ที่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุขเริ่มจากท่าช้าๆ ก่อนแล้วตอนหลังจังหวะจะเร็วขึ้น กิจกรรมนี้นำไปใช้ในงานใดก็จะได้เห็นสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและได้ยินเสียงหัวเราะของผู้เข้าประชุมเสมอ ดิฉันคอยเชียร์อยู่ด้านข้างเพราะเป็นคนที่ทำอะไรไม่ค่อยเข้าจังหวะเหมือนคนอื่น

อุ่นเครื่องกันแบบนี้

ต่อจากนั้นดิฉันจึงนำเสนอกราฟข้อมูลที่แต่ละ รพ.ประเมินตนเองเมื่อค่ำวานนี้ ธารปัญญาและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมแจกแจงว่าในแต่ละ competence ทีมใครจับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับใครบ้าง แยกย้ายกันไปคุยกันให้ลึกๆ เป็นกลุ่มๆ ใช้เวลาชั่วโมงกว่า แล้วให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอว่าใครได้เรียนรู้อะไรจากเพื่อนบ้าง ผู้นำเสนอต่างมีสีหน้าแววตาที่สดใส เล่าเรื่องดีๆ ที่เรียนรู้จากเพื่อนและคิดว่าตนจะนำไปใช้ต่อ ทุกคนที่ออกมานำเสนอมีสมุดจดบันทึกประจำตัวกันด้วย มีบางกลุ่มที่ “ผู้พร้อมให้” ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้จาก “ผู้ใฝ่รู้” เลยเพราะถูกซักถามอย่างเข้มข้น เราอัดเทปเสียงช่วงเวลานี้ไว้ แต่เสียดายที่เกิดขัดข้องทางเทคนิค มีเสียงหวีดดังตลอดฟังไม่ได้เลย แต่คุณสุภาพรรณได้พิมพ์ข้อมูลไว้ได้บางส่วน จบการนำเสนอด้วยการพักรับประทานอาหารว่าง

จับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

เกือบ ๑๑.๐๐ น. นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าทีมเบาหวาน รพ. สุไหงโก-ลก ซึ่งได้รับรางวัลที่ ๒ ของ Terumo Diabetes Patient Care Team Award เมื่อปีที่แล้ว มาเล่าเรื่องการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ตั้งแต่ที่มาของแนวคิดในการจัดบริการว่าต้องการให้ผู้ป่วยได้รับในสิ่งที่ควรได้ ปัญหาที่พบในคลินิก การดำเนินการต่างๆ ทีม DM Care Team ของสุไหงโก-ลก เป็นทีมคร่อมสายงานและยังทำงานเชื่อมโยงกับ PCT อื่นๆ เช่น PCT ศัลย์ PCT สูติ PCT จักษุ PCT เด็ก เป็นต้น รพ.ยังทำงานเชื่อมโยงลงไปถึงชุมชนด้วย ถ้าจำไม่ผิดดิฉันได้ยินว่ามีเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดอยู่ในหมู่บ้านที่ผู้ป่วยสามารถไปตรวจได้อย่างสะดวกด้วย คุณหมอธงชัยบอกว่ามีแหล่งประโยชน์ในระบบอยู่เยอะที่ช่วยเราในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ ไม่ใช่มีแต่หมอและพยาบาลเท่านั้น

พักรับประทานอาหารกลางวัน อาหารอร่อยอีกเช่นเคย มื้อนี้มีแกงพุงปลา (แกงไตปลา) อร่อยมาก ไม่เค็มเหมือนบางร้านในกรุงเทพ คุณปั้งได้ยินคำชมก็กุลีกุจอไปสั่งให้เราหิ้วกลับกรุงเทพด้วย (โรงแรมลืมนำมาให้ เรารู้ตัวตอนเดินทางข้ามแพไปสงขลา คุณปั้งยังโทรศัพท์ให้โรงแรมนำมาส่งที่ห้าแยกก่อนเข้าหาดใหญ่อีก)

ช่วงบ่ายเราเริ่มด้วยการแจกรางวัลผู้ที่ส่งเรื่องเล่ามาล่วงหน้า (๔๒ เรื่อง) จับฉลากให้ ๓ รางวัล ดิฉันขอให้ผู้เข้าประชุมช่วยกันวางแผนขับเคลื่อนเครือข่ายเบาหวาน จังหวัดปัตตานี ได้ข้อเสนอที่คุณปั้งสามารถนำไปดำเนินการต่อได้หลายเรื่อง ตั้งแต่การจัดทำสมุดบันทึกสำหรับผู้ป่วยให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะทุกวันนี้หลาย รพ.ก็มีของตนเอง แต่ละ รพ.ไม่เหมือนกัน การรวมทีมไปดูงาน (แบบ peer assist) มีน้องสาวคนสวยจาก PCU (ลืมจดชื่อ) บอกว่า “พี่ไปดูงานที่ไหน เอาหนูไปด้วย” คุณหมออรุณ เจ๊ะแว บอกว่าจะทำอะไรต้องรีบทำเพราะตอนนี้ทุกคนมีความตั้งใจสูง ถ้าทิ้งไว้นานความตั้งใจจะลดน้อยลงไป แล้วอยากจะให้ได้กลับมาแลกเปลี่ยนกันแบบนี้อีก คุณหมอยา สารี ฝากไว้ว่า “......เหมือนเรามาจ่ายตลาด จะเลือกอะไรก็ให้นึกถึงคนทางบ้านด้วย สิ่งที่เอาไปต้องปรับใช้ที่บ้านเราได้ ทำงานอย่ายึดตามกระแส แต่ให้ยึดตามความกระสัน และต้องหลบกระสุนไปพร้อมกัน”

พี่ตุ๊ก จาก สสจ.ปัตตานีออกมารับปากว่าจะมีการคุยกันต่อ จะเชิญตัวแทนจากทุก รพ.มาคุยกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง เครือข่ายเบาหวาน จังหวัดปัตตานี มีเจ้าภาพที่ตั้งใจจริงและทีมเบาหวานของทุก รพ.ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสูง น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดต่างๆ ได้เดินตาม

บ่ายนี้เราแบ่งเวลาให้ นพ.ทนงศักดิ์ ชาวจีน รพ.โคกโพธิ์ ได้อธิบายเรื่อง GLUCOSE BAD ซึ่งคุณสุนิสา กาญจนจันทร์ พยาบาลจาก รพ.แม่ลาน ประทับใจมากๆ ตั้งแต่วันแรกและอยากให้ผู้เข้าประชุมได้รู้ด้วย คุณหมอทนงศักดิ์ใช้ GLUCOSE BAD ซึ่งแต่ละตัวเป็นตัวย่อที่บอกว่าต้องดูอะไรบ้าง เป็นกรอบเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ตกหล่น คุณปั้งจะจัดการเอาไปพิมพ์แจกทุกคนต่อไป

ปิดท้ายด้วย AAR เราเริ่มจากผู้ที่อายุน้อยสุด (เกิดปี ๒๕๒๕) แล้วกระจายให้โอกาสทั้ง “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ได้พูด จบการประชุมตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จังหวัดปัตตานีด้วยบรรยากาศดีๆ ความรู้สึกดีๆ และความประทับใจมากมาย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 42378เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท