"คนไม่รู้ไม่ชี้" กับ "คนไม่รู้แล้วชี้" กับการทำ KM


 

จากการที่ผมได้มีโอกาสทำงานในเรื่องการจัดการความรู้ หรือที่พวกเราเรียกกันว่า KM ที่วลัยลักษณ์ในฐานะ CKO  มาประมาณ 1 ปี ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีประสบการณ์ในการทำ KM และทั้งจากภายใน และภายนอก วลัยลักษณ์  ซึ่งผมรู้สึกสำนึกในพระคุณของทุกท่านเสมอมา

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และเข้าใจถึงสัจจะธรรมในเรื่องของการเรียนรู้ก็คือ ไม่ว่าเราจะต้องการเรียนรู้อะไร หากเราไม่ได้ลองคิด ลองทำ อย่างคนที่มีใจเปิดกว้าง และตระหนักอยู่เสมอว่าเรายังเป็นผู้ที่ไม่รู้  ก็จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้อย่างแท้จริง นั่นคือ ทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั่นเอง แต่ถ้าเราทำตนเสมือนหนึ่งเป็นผู้รู้แล้วก็มักจะทำให้เราไม่มีทางเข้าถึงแก่นของการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ได้เลย  ผมนึกถึงคำกล่าวที่ว่า หากเราทำตัวเป็นชาล้นถ้วยแล้ว ก็คงยากที่จะได้เรียนรู้อะไรเลย

จากความสำเร็จต่าง ๆในการทำ KM ที่วลัยลักษณ์ ผมต้องขอชื่นชมทีมงานของผม ทั้งในส่วนที่เป็น คุณอำนวย คุณประสาน  เพราะพวกเราทุกคนทำงานด้วยใจจริง และพวกเราก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการความรู้ที่วลัยลักษณ์ของเรา แต่แนวคิดในการจัดการความรู้ที่วลัยลักษณ์ อาจจะแตกต่างจากที่อื่น ๆ เพราะที่วลัยลักษณ์ เราเน้นในเรื่องการจัดการความรู้สึก ก่อน แล้วจึงมุ่งไปที่การจัดการความรู้ ซึ่งภายใต้แนวคิดเช่นนี้จึงทำให้เป็นตัวกำหนดรูปแบบของกิจกรรม และระยะเวลาของการดำเนินงาน

ปัญหาและอุปสรรคของการจัดการความรู้ในองค์การต่าง ๆ ผมคิดว่ามีหลายปัจจัย เช่น ด้านงบประมาณ การสนับสนุนจากผู้บริหาร โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ขององค์การ และ ความไม่เข้าใจของคนบางกลุ่มในองค์การ เป็นต้น ประเด็นที่ผมอยากจะขอเขียนถึง ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุด และต้องใช้ความอดทน และความตั้งใจของทีมงานอย่างมากจึงจะสามารถฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคนี้ไปสู่ความสำเร็จได้ ก็คือ ความไม่เข้าใจของคนบางกลุ่มเกี่ยวกับการทำ KM ในองค์การของเรา  ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกองค์การมีบุคคลประเภทนี้ทั้งสิ้นแต่จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมที่เข้มแข็งในเชิงบวกขององค์การแต่ละองค์การ  บุคคลที่ไม่รู้และไม่เข้าถึงแนวคิดและประโยชน์ของการจัดการความรู้ ยังมักจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ พวกที่ไม่รู้และไม่เข้าใจ แต่ก็ไม่สนใจอะไร ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือ หรือการจัดกิจกรรมใด ๆ ซึ่งบุคคลพวกนี้ ผมเรียกว่า คนไม่รู้ไม่ชี้  ซึ่งจะว่าไปแล้วบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นปัญหาของการจัดการความรู้ แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะบุคคลเหล่านี้หากได้รับการจูงใจที่ถูกจุด และตรงใจก็จะกลับเข้ามามีส่วนร่วมได้ไม่ยาก และบางครั้งเมื่อเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม KM ก็จะพกพาเอาความคิดและพลังเชิงบวกมาช่วยในการพัฒนา KM ขององค์การของเราได้อย่างดี ที่วลัยลักษณ์เองเราก็ได้บุคคลเหล่านี้มามากขึ้น แต่บุคคลที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่อง KM แต่มีพฤติกรรมแสดงตนเป็นผู้รู้ เข้าตำรา       คนไม่รู้แล้วชี้ บุคคลกลุ่มนี้ผมถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างต่อการพัฒนา KM ในองค์การต่าง ๆ เพราะนอกจากตนจะไม่รู้ และไม่เข้าใจ แล้ว ยังมักจะมีลักษณะเป็นบุคคลประเภทชาล้นถ้วยไปพร้อม ๆ กัน หากถามผมว่า แล้วเราจะสามารถแก้ปัญหาและลดอุปสรรคที่เกิดจากบุคคลกลุ่มนี้ได้อย่างไร ผมคงตอบเป็นวิธีการได้ยาก แต่ในแนวคิดแล้ว ง่ายนิดเดียวทำให้บุคคลเหล่านี้มีความสุขที่สุดที่ได้ชี้ แต่ในการก้าวเดินต่อไปบนเส้นทาง KM เราต้องเดินไปพร้อมกันเป็นทีม และให้ทีมของเราทุกคนช่วยกันกำหนดแนวทางในการเดินร่วมกัน  โดยมีการใช้ข้อมูล  ใช้สติ และใช้ประสบการณ์ พวกเราก็จะสามารถเดินต่อไปอย่างไม่ผิดทางและไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายร่วมกันได้อย่างแน่นอน จริงไหมครับ
หมายเลขบันทึก: 42367เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 06:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ปิติกานต์ จันทร์แย้ม

จากการได้สัมผัส KM พบว่า...
...ไม่ทำ เราไม่รู้....
...ไม่หัดเดินก็ไม่เป็น...
...สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ...

ยิ่งได้สัมผัสยิ่งทำให้หัวใจเราอ่อนโยน ยิ่งทำให้เราต้องใส่ใจและแบ่งปัน (Care&Share) เคารพซึ่งกันและกัน....ซึ่งตนเองคิดว่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานร่วมกัน...ทำให้เราหรือเพื่อนร่วมงานแสดงศักยภาพ ช่วยเหลือซึ่งกันอย่างเต็มที่ ทุ่มเทพลังกาย...พลังใจเพื่อวลัยลักษณ์

สิ่งที่ประทับใจและมีความสุขภายหลังจาก KM รุ่นที่ 4 คือแม้ KM 4 จะเสร็จ...แต่ ความสุข ความผูกพัน บรรยากาศของ Care&Share ของชาว KM รุ่น 4 ยังครุกรุ่น สังเกตจากการเข้ามา Share Idea หน้า Web KM http://km.wu.ac.th/ คึกคัก อบอุ่น เต็มไปด้วยบรรยากาศความรู้สึกดีๆ หรือแม้แต่บรรยากาศเมื่อพบกันที่โรงอาหารหรือบนรถบัส ทักทายกันอย่างครึกครื้นทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ขึ้นรถเส้นทางเดียวกันแต่ก็ไม่ได้ทักทายกัน และตนเองคิดว่าความรู้สึกดีๆ บรรยากาศดีๆ เช่นนี้ได้แพร่กระจายให้ทุกคนและคนใกล้ชิดมีความสุข
เมื่อได้เห็นและได้ฟัง ในฐานะผู้ประสานก็มีความสุขและขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ที่จะขับเคลื่อน KM เพื่อให้ในการพัฒนาคนและพัฒนาองค์กร...เพื่อวลัยลักษณ์เราต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท