โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๖)_๑


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๖)_๑


           มาแล้วครับ   การดูดซับ (capture) ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์จากภายนอกมาใช้งาน     เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับ ดินดี” ในอีกมิติหนึ่งที่ชาวนาไม่เคยทำเองได้     เป็นการเรียนรู้ที่ถ้าไม่มี “คุณอำนวย” ชาวนาก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้    ความรู้เกี่ยวกับดินที่ได้จากการทดสอบดินอย่างง่าย (ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับชาวนา) ช่วยเปิดจินตนาการและความเข้าใจเรื่องดินในอีกมิติหนึ่ง   

ตอนที่  5  ดินดีเป็นอย่างไร  :  ทดสอบดิน

             หากเราๆ ท่านๆเดินลงไปในแปลงนาข้าว  แล้วลองหยิบดินขึ้นมาดูสักกำมือหนึ่ง  ใครจะพอตอบได้บ้างว่า  ดินที่อยู่ในมือนั้นเป็นอย่างไร  คร่าวๆ...  จากการสังเกตดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว  ใครๆ  อาจจะพอตอบได้ว่าดินเป็นอย่างไร  แม้แต่เด็กๆก็ยังพอจะตอบให้ได้ว่า  ดินมีสีอะไร  มีความร่วนซุยมากน้อยเพียงใด  น่าจะเป็นดินประเภทใด  พอมองเห็นได้ว่าในดินมีวัตถุอะไรปะปนอยู่บ้าง 

             ดินดีเป็นอย่างไร  นักเรียนชาวนาหลายคนบอกว่า  ดินเป็นอย่างไรนั้นนะหรือ...  ดินดีก็คือดินที่ปลูกข้าวแล้วต้องให้ผลผลิตดีด้วย  ดินดีจึงเป็นอย่างนั้นแหละ  และเมื่อถามต่อไปอีกว่า  ที่ว่าดินดีนั้น...  อะไรอยู่ในดินบ้าง  พอมาถามอย่างนี้...  จึงทำให้ใครหลายต่อหลายคนเริ่มสงสัยไปตามๆกัน  บางคนก็ไม่มั่นใจที่จะตอบ  และเพื่อเป็นการขจัดข้อสงสัยใดๆที่เกิดขึ้น  ก็ต้องมาค้นหาคำตอบ  ต้องทำวิจัยสักเล็กน้อยกันแล้ว  เพราะหากอยากจะเป็นชาวนานักวิจัยกัน  ก็ต้องตั้งคำถาม  แล้วจึงค่อยค้นหาคำตอบ 

             นักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์เดินทางเข้าสู่กระบวนการชาวนานักวิจัยดิน  หรือจะเรียกกันอย่างสั้นๆให้คุ้นชื่อก็คือ  หมอดิน  นั่นเอง  นักเรียนชาวนาทุกคนจะต้องฝึกทดลองด้วยตัวเอง  จะลองผิดหรือจะลองถูก  ก็ต้องฝึกทดลองกันดู  ไม่ลองก็ไม่รู้  การทดลองจะช่วยทำให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  เรื่องนี้สำคัญยิ่งนัก

             ทุกคนอยากจะรู้ว่าดินในนาของตนเองเป็นอย่างไร  ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการค้นหาคำตอบ  คราวนี้สนุกกันใหญ่แล้ว  ป้าๆลุงๆ  น้าๆอาๆ  พากันแบกจอบแบกเสียมเดินเข้าไปขุดเอาดินจากในนา  เพื่อจะนำมาทดลองตรวจสอบดินกันยกใหญ่เลย  ทุกๆคนต่างกระตือรือร้นขนดินจากบ้านจากนามาที่โรงเรียนชาวนากันเป็นถุงๆ  มีบ้างบางรายถึงกับแบกก้อนดินที่ก้อนใหญ่ๆใส่กระสอบหอบมาถึงโรงเรียนเลยก็มี  เพราะต้องการเอาดินมาทดลองตามกระบวนการวิทยาศาสตร์  แต่อันที่จริงแล้ว  การเอาตัวอย่างดินมาตรวจมาทดลองนี้  ให้สุ่มตัวอย่างดินจากในนามาเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง  ไม่จำเป็นต้องแบกก้อนดินก้อนใหญ่ๆมาก็ได้  ทว่าบางคนมากระซิบบอกแก้เขินว่า  ที่เขาเอามาเยอะๆมากๆนี่เนี่ยนะ...  เขาเอามาเผื่อ  เอามากันไว้ก่อน  เผื่อจะได้ใช้ทดลองมากๆ  เล่าความกันมาอย่างนี้

             แปลงนา  1  แปลงนั้น  นักเรียนชาวนาควรจะสุ่มเก็บตัวอย่างดินอย่างน้อยแปลงละ  10  จุด  โดยให้ใช้จอบหรือเสียมขุดดินลงไปลึกประมาณ  15  เซนติเมตร  ขุดเอาเนื้อดินทั้งสองข้างของหลุม  ขูดเอาเนื้อดินบางๆจำนวนเล็กน้อย  ขุดและขูดเนื้อดินมาให้ได้สัก  10  จุดเป็นอย่างต่ำ  นักเรียน   ชาวนาคนใดที่มีที่ทางกว้างใหญ่นัก  ก็ให้เก็บมามากจุดหน่อย  เอ...  แล้วทำไมต้องเก็บมากจุดด้วยเล่า...  หลายคนสงสัย  เก็บสักที่เดียวมิได้หรือ...  นี่เป็นคำถามที่ดี  การสุ่มเก็บตัวอย่างดินในแปลงหนึ่งๆควรเก็บให้มากจุด  เพื่อป้องกันความผิดพลาดและหาค่าเฉลี่ยของธาตุอาหารในดินได้ละเอียด  มีผลคลาดเคลื่อนน้อย

             นักเรียนชาวนาเดินสุ่มเก็บตัวอย่างดิน  ก็ควรจะเดินให้ห่างจากคันนาอย่างน้อยประมาณ  2  เมตร  และควรเดินขุดเก็บตัวอย่างดินกลางแปลงหรือขอบแปลงในลักษณะสลับฟันปลาหรือทะแยงมุมให้ทั่วแปลง

             เมื่อได้ดินมาจากแต่ละจุดแล้ว  ก็ให้นำดินที่เก็บได้จากทุกจุดมาผสมคลุกเคล้ารวมกัน  นักเรียนชาวนาบางคนก็ขุดดินแห้งมา  บ้างก็ขุดดินเปียกมา  (บ่งบอกว่าขุดเอามาจากในนากันอย่างสดๆร้อนๆเลย)  อย่างนี้ควรจะนำดินไปผึ่งลมไว้แถวที่ร่มๆหรือใต้ถุนบ้านก่อน  รอให้ดินแห้ง  จะได้นำมาทดลองได้ง่ายและสะดวก  จากนั้นให้นำดินมาทุบให้ละเอียด  ทำให้เป็นผงได้ยิ่งดี   

             นักเรียนชาวนาได้เตรียมดินจากในนามากันอย่างพร้อมเพรียง  ด้วยหมายใจใคร่รู้ใคร่เข้าใจธาตุแท้ที่มีอยู่ในดิน  ดินซึ่งเคยรองรับการปลูกข้าวปลูกผักมาหลายสิบปีหรือนับเป็นชั่วอายุคนหรือเป็นร้อยๆปี  มาบัดนี้จำต้องถูกนำมาทดลองเพื่อการเรียนรู้ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า  จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวนา  วิทยาศาสตร์จะต้องเป็นเครื่องมือของชาวนาด้วย

             การเรียนรู้เรื่องดินนี้  นักเรียนชาวนาต่างตื่นเต้นและเฝ้ารอคอยกันมาหลายคาบเรียนแล้ว  เพราะเรียนรู้เรื่องของการบำรุงดิน  ก่อนที่จะบำรุงดินก็ต้องทำความรู้จักมักคุ้นเรื่องดินๆกันให้กระจ่างแจ้งก่อน  การทดสอบดินจึงเป็นสิ่งที่จำต้องกระทำ  เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเชื่อมโยงกับอีกหลายประเด็นที่จะต้องเรียนรู้ต่อยอดองค์ความรู้ในตัวไปอีกเรื่อยๆ

    

 

             คราวนี้มาเข้าประเด็นเรื่องดินให้เจาะลึกลงไปว่า  ในดินมีอะไร  เป็นอย่างไรบ้าง

             เรียนรู้เรื่องธาตุในดิน

             ธาตุอาหารในดินที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชมี  13  ธาตุด้วยกัน  การปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้พืชขาดธาตุอาหารต่างๆ  ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตที่พืชต้องการเป็นปริมาณมากเมื่อเปรียบเทียบกับธาตุอาหารอื่นมีอยู่  6  ธาตุด้วยกัน  คือ  ไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  โพแทสเซียม  แคลเซียม  แมกนีเซียม  และกำมะถัน  โดยทั่วไปดินมักจะมีธาตุอาหารไนโตรเจน  ฟอสฟอรัส  และโพแทสเซียมไม่เพียงพอแก่ความต้องการของพืช  ส่วนแคลเซียม  แมกนีเซียม  และกำมะถันนั้นมักจะเพียงพอ

ภาพที่  19  เตรียมดินมาจากในนาข้าว  เพื่อนำมาทดสอบ

             ไนโตรเจน  (N)  เป็นธาตุเดียวที่ไม่อยู่ในองค์ประกอบของหินและแร่  แหล่งของไนโตรเจนในดินจะมาจากการสลายตัวพุพังของอินทรียวัตถุ  โดยมีจุลินทรีย์ต่างๆเป็นตัวย่อยสลาย  และปลดปล่อยออกมาในรูปของแอมโมเนียมหรือไนเตรต  พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  ไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโปรตีนและสารประกอบอินทรีย์ต่างๆที่จำเป็นต่อการเจริญ เติบโต  และสร้างผลผลิตของพืช  เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิล  พืชที่ได้รับไนโตรเจนเพียงพอจะมีใบสีเขียวจัด  เติบโตเร็ว  และมีผลผลิตที่สมบูรณ์

             การจัดการเมื่อพืชขาดไนโตรเจน  พืชจะเติบโตช้า  ใบเหลือง  และแคระแกรน  ออกดอกช้า  และให้ผลผลิตต่ำ  วิธีแก้ไขคือ  ใส่ปุ๋ย  (ปุ๋ยอินทรีย์)  หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องใส่เป็นจำนวนมาก  และใส่ล่วงหน้าเพื่อให้เวลาแก่ปุ๋ยอินทรีย์ในการที่จะถูกทำให้สลายตัว  และปลดปล่อยไนไตรเจน      การประเมินระดับไนโตรเจนในดินในห้องปฏิบัติการนิยมวิเคราะห์ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน  แต่หากต้องการวิเคราะห์ไนโตรเจนในภาคสนามแล้ว  อาจใช้วิเคราะห์ปริมาณแอมโมเนียม  หรือ      ไนเตรตแทน  และควรพิจารณาใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเมื่อดินมีปริมาณแอมโมเนียม  ไนเตรตต่ำ  หรือ ปานกลาง
             ฟอสฟอรัส  (P)  เป็นธาตุที่พืชต้องการน้อยกว่าไนโตรเจน  เมื่อพืชได้รับฟอสฟอรัสเพียงพอ  รากจะแข็งแรง  ทนทานต่อการรบกวนของโรคแมลง  ทำให้พืชออกดอกติดผล  และมีคุณภาพดี  แหล่งที่มาของฟอสฟอรัสในดินคือ  อินทรียวัตถุ  และแร่ฟอสเฟตต่างๆ
             การจัดการเมื่อพืชขาดฟอสฟอรัส  เมื่อพืชขาดฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง  พืชจะแคระแกรน  ใบมีสีเขียวทึบ  ใบล่างจะมีสีม่วง  รากพืชจะไม่เติบโต  วิธีการแก้ไขคือ  ใส่ปุ๋ย  ซึ่งอาจจะเป็นซุปเปอร์ฟอสเฟต  หรือทริบเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต  จะต้องใส่ให้อยู่ใต้ผิวดิน  และใกล้กับบริเวณรากของพืชมากที่สุด  เพื่อลดการตรึงฟอสเฟตในดิน  เช่น  ใส่เป็นจุดหรือแถบตามแนวของแถวพืชที่ปลูก
             การประเมินระดับฟอสฟอรัสในดินใช้น้ำยาสกัด  ซึ่งมีอยู่มากมายหลายวิธี  แต่ควรเป็นน้ำยาสกัดที่ได้ทำการวิจัยแล้วว่าปริมาณที่สกัดได้จากน้ำยาชนิดนี้มีสหสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช  หรือปริมาณการดูดกินฟอสฟอรัสในพืช  ปริมาณที่สกัดได้สามารถบอกว่ามีต่ำ  ปานกลาง  หรือสูง  การพิจารณาการใส่ปุ๋ยควรเน้นเมื่อดินมีปริมาณฟอสฟอรัสต่ำ  หรือปานกลาง
             โพแทสเซียม  (K)  พืชต้องการโพแทสเซียมใกล้เคียงกับไนโตรเจน  หรืออาจมากกว่าถ้าเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเป็นหัวที่มีแป้ง  และเมล็ดที่ให้น้ำมัน  ธาตุโพแทสเซียมมีความสำคัญในกระบวนการสร้างอาหารพวกน้ำตาลและแป้งของพืช  รวมทั้งการเคลื่อนย้ายอาหารเหล่านี้ไปยังส่วนต่างๆของพืชที่กำลังเจริญเติบโต  และส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่หัวหรือลำต้น  พืชพวกอ้อย  มะพร้าว    มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน  จึงเป็นพืชที่ต้องการโพแทสเซียมสูงมาก  นอกจากนั้นโพแทสเซียมยังมีความสำคัญในด้านการส่งเสริมคุณภาพของผลผลิตและความแข็งแรงทนทานต่อโรค  แมลง  และความแห้งแล้งของสภาพอากาศด้วย
             การจัดการเมื่อพืชขาดโพแทสเซียม  เมื่อพืชขาดโพแทสเซียมอย่างรุนแรงจะเหี่ยวง่าย  แคระแกรน  ใบล่างจะเหลือง  และเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ  และมีผลผลิตต่ำ  พืชพวกอ้อย  ปาล์มน้ำมัน  และมันฝรั่ง  เมื่อขาดโพแทสเซียม  หัวจะลีบ  มีแป้งน้อย  อ้อยเมื่อหีบออกมาจะไม่ค่อยมีน้ำตาล  เมล็ดปาล์มจะมีน้ำมันต่ำ  วิธีแก้ไขคือใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม  ในกรณีที่เป็นดินเนื้อหยาบ  ควรใส่ปุ๋ยเป็นจุดหรือเป็นแถบตามแนวต้นพืช  และใส่แบบหว่านถ้าเป็นดินเหนียว
             การประเมินระดับโพแทสเซียมในดิน  ใช้น้ำยาสกัดที่ได้มีงานวิจัยรองรับแล้วเช่นเดียวกับกรณีฟอสฟอรัส  และพิจารณาใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมเมื่อดินมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำ  หรือปานกลาง  ในกรณีของดินเนื้อหยาบ  ส่วนในกรณีของดินเนื้อละเอียดนั้น  ควรพิจารณาใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม  เมื่อดินมีระดับโพแทสเซียมต่ำ  ดังนั้น  ในการปลูกพืชทั่วไปจึงมีความจำเป็นต้องมีการเพิ่มธาตุอาหาร  ไนโตรเจน  (N)  ฟอสฟอรัส  (P)  โพแทสเซียม  (K)  ให้แก่ดินในรูปของปุ๋ย  ปุ๋ยอินทรีย์  ได้แก่  ปุ๋ยคอก  ปุ๋ยหมัก  กากเมล็ดพืช  วัสดุเศษเหลือต่างๆ  เป็นต้น
             การใส่ปุ๋ยอินทรีย์นั้นจุดประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน  เช่น  ทำให้ดินร่วนซุย  อุ้มน้ำได้ดีขึ้น  ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อใส่ลงไปในดินจะสลายตัวและปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชด้วย  แต่มีปริมาณน้อยมาก   

             เมื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจแล้วว่าในดินมีธาตุอะไรอยู่บ้าง  ชื่อธาตุแต่ละอย่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นศัพท์วิทยาศาสตร์และมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ  ก็ทำให้นักเรียนชาวนาได้ฝึกทักษะทางภาษาไปด้วยในตัว  แม้จะยากเอาเรื่องอยู่บ้าง  ...  ก็เห็นป้าๆลุงๆ  พยายามฝึกออกเสียงคำศัพท์ชื่อธาตุอาหารในดิน  ต้องออกเสียงให้แม่นๆตรงๆ  คำกันหน่อย  ...  ว่ากันอย่างนั้น

             พอเริ่มต้นเอาเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ  มาวางบนโต๊ะแล้ว  ลำดับต่อไปก็จะสร้างบรรยากาศโรงเรียนชาวนาให้เป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์  ให้ชาวนานักวิจัยได้เรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน  ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบดินนี้  เรียกว่า  ชุดตรวจสอบดิน  เอ็น – พี – เค – กรดด่าง  โดยได้นำมาจากโครงการพัฒนาวิชาการดิน – ปุ๋ย  และสิ่งแวดล้อม  ภาควิชาปฐพีวิทยา  คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ในการนี้ก็ได้คู่มือมาพร้อม  ...  แต่ก่อนจะลงมือทดลองกัน  ก็ต้องชี้แจงแถลงไขก่อนว่าการตรวจสอบดินในครั้งเป็นการฝึกนักเรียนชาวนาเพื่อการเรียนรู้ในเบื้องต้นเท่านั้น  การทดลองจึงไม่ใช่เป็นไปในลักษณะของนักวิชาการหรือในห้องปฏิบัติการ

             การตรวจสอบปริมาณธาตุอาหาร  ไนโตรเจน  (N)  ฟอสฟอรัส  (P)  โพแทสเซียม  (K)  ในดินทำได้  2  วิธี  คือ  วิธีแรก  เป็นการวิเคราะห์ละเอียด  วิธีนี้ต้องทำในห้องปฏิบัติการ  ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพง  ใช้เวลาหลายวันกว่าจะทราบผล  ต้องใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญ  และประสบการณ์สูงในการวิเคราะห์  ส่วนอีกวิธีหนึ่ง  เป็นการตรวจสอบแบบรวดเร็ว  เป็นวิธีทางเคมี  แต่ดัดแปลงวิธีการให้ทำได้ง่าย  รวดเร็ว  ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ทราบผล  ราคาถูก  เป็นอุปกรณ์ง่ายๆ  ชาวนานักวิจัยอย่างนักเรียนชาวนาสามารถตรวจสอบได้เองอย่างสบายๆ  ค่าที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณเท่านั้น  แต่จะมีความถูกต้องมากขึ้นถ้าทดลองอย่างระมัดระวัง

             เมื่อทำความเข้าใจกันดีแล้ว  หลายต่อหลายรอบ  เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมแล้ว  เต็มโต๊ะไปหมด  นักเรียนชาวนาก็พร้อมแล้ว  เต็มบริเวณไปหมดเช่นกัน  ...  และแล้ว  คุณอำนวยของมูลนิธิข้าวขวัญจึงเริ่มสาธิตการตรวจสอบดินให้นักเรียนชาวนาได้ดูกัน  หลังจากนั้นจึงให้ทุกคนมาฝึกปฏิบัติทดลองด้วยตนเอง  ...  คิดว่าจะทำได้หรือจะทำไม่ได้  ก็ต้องทำให้ได้แหละงานนี้  (เพราะนักเรียนชาวนาหลายคนเป็นวิตกกังวล  กลัวเหลือเกินว่าจะทำผิดๆถูกๆ)

             ต่อไปจะเป็นการสกัดหรือการละลายธาตุอาหาร  นักเรียนชาวนานำดินที่บดอย่างละเอียดจนเป็นผงแล้วมาตวงดินใส่ขวดพลาสติก  โดยใช้ช้อนตวง  และใส่น้ำยาสกัดเบอร์  1  ลงไปปริมาตร  20  มิลลิเมตร  โดยใช้กระบอกตวง  แล้วก็เขย่าให้ดินทำปฏิกิริยากับน้ำยาสกัด  ประมาณ  5  นาที  จึง  กรองสารละลายดินโดยใช้กระดาษกรอง  แล้วนำสิ่งที่กรองได้ไปตรวจสอบปริมาณ  ไนโตรเจน  (N)  ฟอสฟอรัส  (P)  โพแทสเซียม  (K)  ในดินขั้นต่อไป

             พอมาถึงขั้นตอนของการตวงผงดินแล้ว  นักเรียนชาวนาต่างก็เห็นว่าดินที่ใช้ในการตรวจสอบนี้  ใช้ในปริมาณเพียงนิดหน่อยเท่านั้น  ดินก้อนใหญ่ที่ขนกันมาแต่คราวแรก  ก็ต้องขนกลับบ้านใครนามัน  หลายคนบอกว่ารู้อย่างนี้ก็เอามาเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว  ไม่น่าจะไปขุดเอามากันเป็นถุงเลย  ...  นี่แหละเขาเรียกกันว่าการเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก

 


   
 

 

ภาพที่  20  เจ้าหน้าที่ภาคสนาม

มูลนิธิข้าวขวัญทำการสาธิตขั้นตอน

การตรวจสอบดินให้ดูก่อนเป็นตัวอย่าง

ภาพที่  21  นักเรียนชาวนาพยายามทำความรู้จักกับเครื่องมืออุปกรณ์ 

และเรียนรู้การตรวจสอบดินด้วยตนเอง

 


    
 

ภาพที่  22  เทผงดินที่ผสมน้ำยาสกัดเบอร์  1  หลังจากที่เขย่าๆกันมาประมาณ  5  นาที

 

ภาพที่  23  กรองน้ำยาสกัดเบอร์  1  เพื่อเตรียมไปตรวจปริมาณ  N  P  K  ในดิน

 

             การตรวจสอบธาตุอาหารในดิน  เริ่มจากการตรวจสอบปริมาณแอมโมเนียม  โดยดูดน้ำที่กรองได้มา  1  หลอดดูด  หรือ  2.5  มิลลิลิตร  แล้วนำใส่ลงในหลอดแก้ว  และเติมผงทำสีเบอร์  2  ลงไปจำนวน  1  ช้อนเล็ก  พร้อมๆกับเติมน้ำยาทำสีเบอร์  3  ลงไปจำนวน  5  หยด  จากนั้นก็ปิดฝาหลอดแก้ว  แล้วก็เขย่าๆให้เข้ากัน  ทิ้งไว้ประมาณ  5  นาที  จึงจะสามารถอ่านค่าแอมโมเนียม  โดยเปรียบเทียบกับแผ่นสีมาตรฐานแอมโมเนียม  และเมื่อสีที่เกิดขึ้นโทนสีฟ้าให้เทียบกับแถบสีแบบที่  1  หากสีที่เกิดโทนสีเขียวให้เทียบกับแถบสีแบบที่  2

             จากนั้นจึงทำการตรวจสอบปริมาณไนเตรต  โดยดูดน้ำที่กรองได้มา  1  หลอดดูด  หรือ  2.5  มิลลิลิตร  แล้วนำใส่ลงในหลอดแก้ว  และเติมน้ำยาทำสีเบอร์  4  ลงไปจำนวน  0.5  มิลลิลิตร  กับเติมผงทำสีเบอร์  5  ไปจำนวน  ½  ช้อนเล็ก  จากนั้นก็ปิดฝาหลอดแก้ว  ทำการเขย่าให้น้ำยาต่างๆ  เข้ากัน  แล้วทิ้งไว้ประมาณ  5  นาที  สุดท้ายจึงสามารถทำการอ่านค่าของไนเตรตได้  โดยเปรียบเทียบกับแผ่นเทียบสีมาตรฐานไนเตรต


  
 

ภาพที่  24  นักเรียนชาวนากำลังเรียนรู้

ร่วมกันในแต่ละขั้นตอนของการทดลอง

ภาพที่  25  เรียนรู้ด้วยตนเอง 

เรียนรู้ตามเอกสารประกอบ

             แล้วต่อมาก็มาทำการตรวจสอบปริมาณโพแทสเซียม  โดยดูดน้ำที่สกัดจากดินมาในปริมาณ  0.8  มิลลิลิตร  ให้เติมน้ำยาเบอร์  8  จำนวน  2  มิลลิลิตร  นำใส่ลงไปในหลอดแก้ว  พร้อมๆกับเติมน้ำยาเบอร์  9A  จำนวน  1  หยด  แล้วจึงเขย่าให้เข้ากัน  และเติมน้ำยาทำสีเบอร์  9  จำนวน  2  หยด  ผสมให้เข้ากันโดยเขย่าหลอดทดลองตั้งทิ้งไว้ให้เกิดปฎิกิริยาประมาณ  5  นาที  หากมีตะกอนเกิดขึ้นให้อ่านว่า  มีปริมาณ  โพแทสเซียม  (K)  สูง  หากใสและไม่ตกตะกอนให้เปรียบเทียบสีที่เกิดขึ้นกับแผ่นสีมาตรฐาน  หากเป็นสีส้มเข้มให้อ่านว่า  มีปริมาณ  โพแทสเซียม  (K)  ต่ำ  หากเป็นสีส้มจางให้อ่านว่า  มีปริมาณ  โพแทสเซียม  (K)  ปานกลาง

             อนึ่ง  ก่อนทำสีโพแทสเซียม  จะต้องเตรียมน้ำยาทำสีเบอร์  9  ก่อน  โดยดูดน้ำกลั่นเติมลงในขวดเบอร์  9  โดยดูดน้ำกลั่นเติมลงในขวดเบอร์  9  ที่มีผงเคมี  จำนวน  3  มิลลิลิตร  แล้วจึงเขย่าให้เข้ากันประมาณ  5  นาที  จนกระทั่งผงเคมีละลายหมดเป็นสีน้ำตาล – ส้ม  เมื่อใช้แล้วควรจัดเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา  ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง  3  เดือน  แต่หากเก็บไว้ตามปกติธรรมดา  จะสามารถเก็บไว้ได้เพียง  7  วัน  เว้นแต่ผงเคมีในขวดที่ยังไม่ผสมน้ำลงไปก็สามารถเก็บไว้ได้ตลอดไป

             นอกจากนี้  ในระหว่างการทดลองนั้น  นักเรียนชาวนาจำเป็นต้องพึงระวังการสัมผัสน้ำยา  เพราะเป็นสารเคมี  จึงต้องแจ้งข้อควรปฏิบัติในการใช้ชุดตรวจสอบดิน  ดังนี้

             1.  น้ำยาและผงเคมีต่างๆ  ในชุดตรวจสอบน้ำมีคุณสมบัติเป็นกรด  ด่าง  และเกลือ  ในระหว่างการทดลองต้องระวังอย่าให้ถูกมือ  อย่าให้เข้าปาก  และตา

             2.  ต้องระวังเก็บรักษาชุดตรวจสอบนี้ให้พ้นมือเด็ก  เพราะเป็นสารเคมีอันตรายหากบริโภคเข้าไป  หรือสัมผัสโดยตรง

             3.  น้ำยาทำให้เกิดสีโพแทสเซียมเบอร์  8  เป็นสารระเหยง่าย  (แอลกอฮอร์)  ต้องระวังการติดไฟไวไฟ  อย่าจุดไฟหรืออย่าสูบบุหรี่ขณะทำการทดลอง

             4.  น้ำยาทำสีโพแทสเซียมเบอร์  9  เมื่อเตรียมใช้แล้วเป็นสารละลายเสื่อมง่าย  หากเก็บไว้ในสภาพธรรมดา  จะเก็บไว้ได้เพียง  7  วันเท่านั้น  นักเรียนชาวนาจึงควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา  จึงสามารถจัดเก็บไว้ได้นานถึง  3  เดือน  เมื่อใช้แล้ววันต่อวันสามารถนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นได้  ไม่จำเป็นต้องแช่ตลอดเวลาการเก็บในตู้เย็น  แต่จำต้องเขียนระบุไว้ว่าเป็นน้ำยาเพื่อกันหยิบผิด

             5.  เมื่อใช้หลอดแก้ว  และอุปกรณ์ในการตวง  และวัดต่างๆแล้ว  ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดแล้ว  ล้างด้วยน้ำกลั่นหรือน้ำกรองอีกครั้งหนึ่ง  ผึ่งลมแห้งแล้วจึงเก็บเข้ากล่อง

 


  
 

ภาพที่  26  ตรวจวัดระดับปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในดิน

ภาพที่  27  เทียบผลการทดลองกับ

แถบสีมาตรฐาน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4236เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2005 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ณรงค์วิทย์ ครองสิน

ปัญหาของชุดตรวจสอบดิน คือ ไม่สามารถหาซื้อน้ำยาทดสอบ เบอร์9A ได้ เพราะว่า บริษัทที่จำหน่ายของเป็นชุดประมาณ2,950 บาท แต่ อยากได้แค่น้ำยาเบอร์ 9 A เท่านั้น สุดท้ายเทคโนโลยีก็ไปจบที่ พ่อค้าเหมือนเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท