ชีวิตที่พอเพียง : 80. ห้องน้ำไม่สะอาดก็ทำให้เราเรียนรู้ได้


       ช่วงที่ผมเป็นคณบดีคณะแพทย์  ผมบ่นกับเลขานุการคณะ คือคุณสุนทร นาคประดิษฐ์ บ่อยๆ ว่าห้องน้ำไม่สะอาด     เขาก็แก้โดยเปลี่ยนพนักงานทำความสะอาดห้องคณบดีซึ่งมีห้องน้ำในตัว     ผลก็คือดีขึ้นนิดหน่อย แต่ก็ยังไม่สะอาดแบบห้องน้ำตามโรงแรม     ผมบ่นอยู่เรื่อยจนวันหนึ่งคุณสุนทรก็โพล่งออกมาว่า   "อาจารย์ครับ คนงานเขาไม่รู้ว่าห้องน้ำสะอาดเป็นอย่างไร"

        ประโยคนี้ของคุณสุนทร ทำให้ผม "ปิ๊งแว้บ" ทันที

        ผมบอกคุณสุนทรทันที ว่า "ถ้าอย่างนั้นเราไปเชิญหัวหน้าแม่บ้านของโรงแรมมาฝึกคนของเรา    และพาคนของเราไปดูที่โรงแรมด้วยว่าห้องน้ำสะอาดเป็นอย่างไร"

        ที่จริงตอนคุณสุนทรตอบผมนั้น น่าจะถือเป็น "ปิ๊งแว้บ" ได้เหมือนกัน  

        ปิ๊งสองแว้บ    เกิดผลชนิดเปลี่ยนโลกเชียวนะครับ คือโลกในห้องน้ำ     ตั้งแต่นั้นมาห้องน้ำของคณะแพทย์ก็สะอาดเอี่ยม มาตรฐานโรงแรม     และไม่มีการเอาผ้าม็อบ สก็อตไบรท์  วิม มาวางไว้ในห้องน้ำ    เพราะพนักงานทำความสะอาดเข้าใจแล้วว่าห้องน้ำสะอาดหมายความว่าอย่างไร    สิ่งที่มีไว้ในห้องน้ำต้องมีไว้บริการผู้ใช้เท่านั้น ไม่ใช่ที่เก็บของของพนักงานทำความสะอาด

        เวลานี้ผมไปเข้าห้องน้ำที่ไหน ผมทำหน้าที่ inspector โดยอัตโนมัติ     ถ้าห้องน้ำของหน่วยงานไหนมีผ้าม็อบมาวางอยู่     มีสก็อตไบรท์และถาดใส่ผงขัดวิมวางอยู่เกลื่อนกลาด    ผมก็จะบอกตัวเองว่าหัวหน้าพนักงานทำความสะอาดไม่เก่ง    ร้ายกว่านั้นก็คือผมพาลจะไม่นับถือหัวหน้าใหญ่ของหน่วยงานด้วย ที่ไม่รู้จักจัดการเรื่องเล็กๆ ที่เป็นหน้าตาขององค์กร     ห้องน้ำเป็นหน้าตาขององค์กรนะครับ   

        ห้องน้ำสะอาดในความคิดของเราคือห้องน้ำที่แห้งด้วยนะครับ    เรื่องนี้พนักงานทำความสะอาดที่เป็นชาวบ้านจะไม่มีวันเข้าใจ     เพราะห้องน้ำสะอาดที่บ้านเขาคือห้องน้ำที่ใช้น้ำล้างและขัดพื้นแล้ว     แต่พอไปดูตัวอย่างที่โรงแรมและได้รับคำอธิบายจากแม่บ้านโรงแรมเขาก็แสดงฝีมือจนได้รับรางวัล

        เรื่องนี้ เป็น win - win - win - win ครับ    คือ win ที่ ๑ พนักงานของเราเกิดความรู้ความเข้าใจและภูมิใจผลงานในระดับคุณภาพใหม่   win ที่ ๒ คณะได้ชื่อเสียง   win ที่ ๓ ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลได้รับบริการห้องน้ำสะอาด   และ win ที่ ๔ เราได้มิตรภาพจากหัวหน้าแม่บ้านของโรงแรมครับ    ที่จริงเขามาช่วยฝึกคนของเรา มาเป็นครูทำประโยชน์ให้เรา     แต่เขารู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้รับการยอมรับให้มาเป็นวิทยากรในมหาวิทยาลัย และเป็นที่คณะแพทย์ด้วย เขายิ่งภูมิใจ

       เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมได้ความรู้ ความเข้าใจหลายด้าน    โดยเฉพาะ "ทุนทางสังคม" ของความเป็นมหาวิทยาลัย  ความเป็นคณะแพทย์ เราเอาไปสร้างความสัมพันธ์สร้างมิตรภาพกับสังคมภายนอกได้ อย่างที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน     ผมเอาความรู้ความเข้าใจนี้ไปใช้ต่อในอีกหลายโอกาสและใช้กับพวกผู้นำในหาดใหญ่ - สงขลา ด้วย

วิจารณ์ พานิช
๙ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 42321เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
จากบันทึกของอาจารย์ทำให้นึกถึงการปลูกฝังเรื่องการบริการดุจญาติมิตรให้กับบุคลากร คงต้องนำแนวคิดจากตัวอย่างของบันทึกนี้ไปลองปรับใช้แล้วค่ะ 
  • บันทึกของอาจารย์โดนใจผมครับ เพราะผมคงไม่ต่างจากคุณสุนทร
  • ต้องนำแนวทางของอาจารย์ไปปรับใช้บ้างครับ

 

ปิติกานต์ จันทร์แย้ม
ขอปิ้งด้วยคนนะคะ...
ด้วยหอพักนักศึกษาที่วลัยลักษณ์มีแม่บ้านดูแล 2 คนต่อหอ มีพื้นที่ห้องอาบน้ำประมาณ 60 ห้อง ห้องสุขาประมาณ 60 ห้อง ห้องกิจกรรม 6 ห้องที่ต้องดูแล...เป็นความน่าเห็นใจแม่บ้านคือห้องน้ำ ห้องกิจกรรมในหอพักนักศึกษา นักศึกษาใช้บริการห้องดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง...ทำให้ห้องน้ำและห้องกิจกรรมที่ให้บริการนักศึกษาไม่สะอาดเท่าที่ควร มีกลิ่น แต่ด้วยความพยายามของผู้รับผิดชอบใช้วิธีการตรวจสอบ ทำให้เหมือนการจับผิดไป...
ตนเองคิดว่าจะนำวิธีของอาจารย์ไปเล่าต่อคนที่เกี่ยวข้องฟัง...
และคิดว่าห้องน้ำหรือห้องกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้ส่วนตัวองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ห้องน้ำสะอาดไม่ได้อยู่ที่แม่บ้านฝ่ายเดียว สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่ผู้ใช้ที่ต้องมีวินัย (วินัยคือการไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน คือแม่บ้าน เพื่อนที่จะมาใช้ห้องน้ำร่วมกับเรา) ทำให้ปิ้ง idea ถึงแนวทางที่จะทำความเข้าใจกับผู้ใช้(นักศึกษา)ในการใช้ห้องน้ำที่ดี...ทั้งยังเป็นการปลูกฝังวินัยที่ดีให้กับนักศึกษาด้วย...ขอบคุณคะ

     "อาจารย์ครับ คนงานเขาไม่รู้ว่าห้องน้ำสะอาดเป็นอย่างไร" ตรงประโยคนี้ และผู้บริหารคนนั้นไม่ได้เป็นอาจารย์ ผมมองว่ากลายไปเป็นเรื่องร้าย ๆ ก็ได้เช่นกันนะครับ หากเกิดการสวนกลับเชิงลบ 
     ผมคิดเชิงลบไปนิดนึง แต่เพียงอยากสะท้อนว่าหากการคิดและสวนกลับเชิงบวก (ของคนที่เกี่ยวข้องกัน) เพื่อพัฒนา เป็นคุณค่ามากครับ

ได้ไอเดียไปพัฒนาค่ะ    ขอบคุณค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ  ว่าควรจะให้ความสำคัญความสะอาดของห้องน้ำ  เพราะนอกจากเพื่อความสุขของผู้ใช้บริการแล้ว ห้องนำยังเป็นตัวบ่งบอกถึงตัวตนของเจ้าของบ้าน เจ้าของสถานที่ หรือสมาชิกที่อยู่อาศัยภายในบ้าน /ภายในองค์กรนั้นๆ ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท