89. ระบบไทยกับระบบอินเดีย


เราจะเป็นกันอยู่เช่นนี้หรือ????

                ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่เป็นซีอีโอบริษัททางด้านไอทีที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพระมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีจากประเทศอินเดียทางด้านไอ ที และอีกหนึ่งดีกรีในระดับปริญญาโทเรื่องการบริหาร จากต่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเขาจึงประสบความสำเร็จ อีกทั้งการพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วยิ่งเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เขามีพนักงานคนไทยเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่จบวิศวกรรมศาสตร์ เขาให้ข้อคิดว่า “การจบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงไม่ได้บอกว่าคนนั้นจะเป็นคนเก่ง และดี แต่เขาดูจากความสามารถทั้ง IQ และ EQ  ของปัจเจกมากกว่า ปัญหาที่พบคือคนไทยขาดความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงาน และการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไป ขาดการคิดนอกกรอบชอบฟังคำสั่งมากกว่า ไม่มีจิตอาสา  ไม่มีวินัย ไม่ชอบทำงานเป็นทีม ภาษาอังกฤษอ่อนแอ  แต่ที่จริงแล้วหลายคนมีความคิดริเริ่มดี หากได้รับการพัฒนาแล้วก็สามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ไม่น้อยหน้า

                ตรงข้ามกับพนักงานที่เป็นชาวอินเดียที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ พยายามแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป หากไม่ได้ก็ต้องพยายามอย่างไม่ลดละจนกว่าจะทำได้สำเร็จ ดิฉันไม่ได้บอกว่าเขาเก่งกว่า แต่หากเราพิจารณาดูภูมิหลังของประเทศไทยและอินเดียแล้ว เราอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พูนสุข มีทุกอย่าง ไม่ต้องดิ้นรนมากนักก็อยู่ได้ ลักษณะของคนไทยคือไม่ค่อยจริงจัง แต่หากมองดูอินเดีย ที่มีพันกว่าล้านคน หากไม่ดิ้นรนก็คงไม่มีโอกาส ไม่มีหนทางแน่นอน เพราะทรัพยากรมีจำกัด หรือลดน้อยลง แต่คนต้องกินต้องใช้เพิ่มขึ้นทุกวัน  ดังนั้นเราจะเห็นลักษณะของคนอินเดียคือกัดไม่ปล่อย หากเขาจะทำอะไร เขาจะพยายามทำจนกว่าจะรู้ผล ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า คนขับรถ เป็นต้น เพราะนั่นคือหน้าที่ที่เขาต้องทำให้สำเร็จ การที่คนมีลักษณะค่อนข้างตรงข้ามกับเราเช่นนี้ จะเป็นสิ่งที่คนไทยรับไม่ได้เพราะไม่ใช่ลักษณะของเรา  แต่ถ้าอยู่ในแวดลงที่มีการแข่งขัน ต่อรอง เราจะสู้เขาไม่ได้ คนจีนก็มีลักษณะเช่นเดียวกับคนอินเดียเพราะสถานการณ์ในประเทศคล้ายกัน 

                ประเทศไทยอยู่ระหว่างกลางสองพี่เบิ้มนี้เราจะปรับตัวอย่างไร

                ดิฉันกำลังมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง หากผลผลิตจากมหาวิทยาลัยที่ผลิตคนรุ่นใหม่ออกมาจะมีลักษณะเป็นแบบที่ได้รับฟังมาข้างต้น ซึ่งซีอีโอท่านนี้ได้เคยปรารภให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาและกระทรวงวิทย์ฯ ทราบแล้ว แต่เรื่องคงอยู่ตรงที่พูดเท่านั้น ไม่มีอะไรในกอไผ่

                ซีอีโอที่คร่ำหวอดในวงการไอ ที อีกท่านหนึ่งเปรยว่าหากอาเซียนเปิดตลาด แรงงานต่างๆ ไหลเวียนไปมาอย่างเสรี หากงานหนึ่งงานที่ต้องใช้คนสิบคนทำจึงจะสำเร็จกับการจ้างคนๆ เดียวทำ แล้วสำเร็จ นายจ้างจะจ้างใคร

               ดิฉันไม่ได้บอกว่าการศึกษาไทยล้มเหลว แต่เราน่าจะทบทวนทั้งระบบได้แล้วว่าเราจะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร  นักการเมืองที่ถือบังเหียนของประเทศอยู่ในขณะนี้เห็นปัญหาบ้างหรือไม่ แล้วจะมีนโยบายแก้ไขกันอย่างไร ข้อเท็จจริงข้างต้นไม่ว่าจะหน่วยงานใด ทั้งภาครัฐ และเอกชนก็จะพบปัญหาเดียวกัน มันเป็นปัญหาทั้งระบบ เราต้องยกเครื่องระบบการศึกษาทั้งระบบ ตอนนี้ทั้งมาเลเซีย ทั้งเวียดนามต่างก็พยายามพัฒนาในเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพราะนั่นจะเป็นกำลังที่สำคัญที่จะนำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า และยั่งยืนต่อไป

               ท่านที่รับผิดชอบประเทศชาติทั้งหลาย ท่านมาแล้วก็ไปแล้วก็มา วนเวียนไม่สิ้นสุด ท่านจะไม่ทิ้งผลงานการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลให้กับประเทศไทยบ้างหรือ

     

               

หมายเลขบันทึก: 422592เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2011 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท