เก็บมาเล่าจาก workshop CUP Management


คนเรามีความรู้มากกว่าจะเขียนออกมาได้และการเล่าเรื่องก็ให้ความรู้มากกว่าการเขียน

                  พอกลับจาก workshop KM กรมทางหลวงในตอนเย็นวันที่ 25 ก.ค.49   วันที่ 26 ก.ค.49 ดิฉันก็ได้รับโอกาสให้ไปเรียนรู้การจัด workshop เรื่อง การจัดการความรู้การบริหารจัดการเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (CUP Management) ซึ่งจัดโดย  สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) workshop ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อถอดบทเรียนคนทำงาน CUP  ผู้เข้าร่วม workshop เป็น คุณหมอ นักวิชาการ และพยาบาล  workshop นี้จัดขึ้น 2 วัน คือวันที่ 27-28 ก.ค.49 ณ ศูนย์ฝึกอบรมบ้านผู้หว่าน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม


                 ดิฉันและพี่อ้อม (ณ สคส.) มีรายชื่อเป็นคณะทำงานซึ่งต้องประชุมเตรียมงานกับทีมงานกันก่อนในตอนค่ำของวันที่ 26 นี้   เราออกจาก office สคส. เวลา 18.30 น. เดินทางโดย TAXI มุ่งหน้าไปยังศูนย์ฝึกอบรมบ้านผู้หว่าน ระหว่างเดินทางก็คิดว่า workshop ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนะ...จะเหมือนที่กรมทางหลวงรึเปล่า..และจะได้เรียนรู้อะไรจาก คุณหมอพิเชฐ บัญญัติ ที่เป็นวิทยากรบ้างนะ..เพราะหลายคนบอกว่าคุณหมอเก่งมาก..........เราถึงจุดหมายปลายทางประมาณ 2 ทุ่ม....แต่กว่าจะเริ่มหารือเตรียมงานกันได้ก็เป็นเวลา 3 ทุ่มครึ่ง แล้วก็ประชุมลวงเลยมาจนถึงตีหนึ่งของวันที่ 27 ก.ค.49     ตลอดระยะเวลาการจัด workshop ทั้ง 2 วันนั้นวิทยากรและทีมงานต้องหารือและปรับแผนกันตลอดเวลาเพื่อให้ได้ผลตรงตามเป้าประสงค์ของ สพช. คือการถอดบทเรียน  ดังนั้นวิธีการที่นำมาใช้ในการถอดบทเรียนในครั้งนี้จึงใช้ การเล่าเรื่อง (story telling) ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของ KM โดยให้ผู้เข้าร่วม workshop เล่าเทคนิกและวิธีการต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์ของตนในการทำงาน CUP ที่ใช้แล้วประสบผลสำเร็จจริงในประเด็นต่างๆ    การเล่าเรื่องนี้นอกจากจะใช้ถอดบทเรียนแล้วยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงานที่ดีวิธีหนึ่ง   ซึ่งคุณหมอพิเชฐพูดไว้ว่า 


         “คนเรามีความรู้มากกว่าจะเขียนออกมาได้และการเล่าเรื่องก็ให้ความรู้มากกว่าการเขียน”  
         “การเล่าเรื่องดึงความรู้ฝังลึกออกมาได้และใช้ได้จริง ต่างจาก discussion ที่ให้ความเห็นเยอะจึงพูดสั้นๆ และอ้างแต่ทฤษฎี”

            การดำเนินงานทั้ง 2 วันนั้นสรุปได้ดังนี้คะ 

             ในวันแรกให้ผู้เข้าร่วมเขียนเป้าหมายของการทำ CUP Management ในความคิดของตนอย่างอิสระลงบนกระดาษเปล่าที่แจกให้แล้วนำไปติดบนไวท์บอร์ด  ซึ่งสรุปประเด็นเป้าหมายของการทำ CUP Management ได้ 2 ประเด็น คือ เพื่อทีมทำงาน (พวกเราเอง) และ เพื่อประชาชน (ชาวบ้าน)    จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมเล่าเรื่องประสบการณ์จากการทำงาน CUP อย่างมีความสุขโดยให้เลือกจาก 2 ประเด็นดังกล่าว

             คุณหมอพิเชฐ ให้ข้อคิดว่า "การทำงานแบบ routine กับการทำงานแบบทุ่มเท ให้ผลลัพธ์ต่างกันรึเปล่า  และผลลัพธ์อะไรที่บอกว่าดีแล้วและเข้าถึงประชาชนแล้ว"

             ในวันแรกนี้ทีมงานให้การบ้านผู้เข้าร่วมกลับไปทำในตอนกลางคืน 2 ข้อ คือ
1. ให้ทำเกณฑ์ประเมินบทบาทของการจัดการ CUP ของตนใน 5 ระดับ พร้อมบอกด้วยว่าตนอยู่ในเกณฑ์ใด
2. เตรียมเล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ดีๆ ที่ทำจริงใน CUP โดยให้เล่าเรื่องที่ไม่ซ้ำกับที่เล่าไปแล้ว

            วันที่ 2 วิทยากรให้ผู้เข้าร่วมเล่าเรื่องที่ให้การบ้านไป โดยเล่าให้เห็นถึงภาพความเป็นจริงว่าทำอย่างไร ทำไมจึงทำอย่างนี้ และให้อธิบายเกณฑ์ประเมินที่ตั้งไว้ทั้ง 5 ระดับ   จากนั้นปิดท้ายด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทำ AAR และร่วมกันวางแผนการจัดประชุมในครั้งต่อไป

             ตลอดระยะเวลา 2 วันนี้ ดิฉันได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เช่นได้เรียนรู้การสรุปประเด็นและวิธีการพูดในแบบของคุณหมอพิเชฐ (คุณหมอใจเย็นมากขนาดประชุมดึกๆ หรือมีบางสิ่งที่ไม่ตรงใจก็ไม่เห็นความเคร่งเครียดบนใบหน้าของคุณหมอเลย)     ได้เรียนรู้การสรุปประเด็นและความเป็นตัวเองตามแบบของคุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ซึ่งเป็นวิทยากรอีกท่านหนึ่ง จาก รพ.จะนะ  และ พี่อ้อม ณ สคส. ที่ไม่ใช่คนในวงการ CUP แต่สรุปประเด็นเรื่องเล่าของผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ดีหรือเนียนมาก ซึ่งเป็นศัพท์ที่คน สคส. มักพูดกัน.........สิ่งที่ได้กลับมาจริงๆ อีกอย่างหนึ่งคือการได้เรียนรู้การเขียนเล่าบรรยากาศและขั้นตอนการจัด workshop ครั้งนี้........

 

CUP ย่อมาจาก Contracting Unit for Primary Care

 

หมายเลขบันทึก: 42216เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2006 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
การเล่าเรื่อง ก็มีพัฒนาการแล้วนะคะ ยินดีด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท